2567 ประเทศไทย กับ AI ไม่ใช่กระแสวูบวาบ แต่จะอยู่กับเราตลอดไป

ในปี 2567 เชื่อว่าจะมีการนำ AI มาใช้ในประเทศไทยค่อนข้างมาก ...ปีนี้ จะได้เห็นแน่ AI บูม ในการนำมาใช้วิเคราะห์ทางธุรกิจ วิเคราะห์ตลาด การปรับปรุงกระบวนการทางการแพทย์ การนำมาใช้ประโยชน์ในด้านการศึกษา การสร้างงาน สร้างอาชีพ จะมีการใช้งาน AI ในด้านต่างๆ เข้มข้นมากขึ้น และต่อไปในอนาคต เราไปที่ไหน ก็จะเห็นแต่ AI... AI ไม่ใช่กระแสวูบวาบ แต่บอกได้เลย AI มันจะอยู่กับเราตลอดไป

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่ทำให้ตอนนี้ เรื่องของ AI (Artificial Intelligence) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ดูจะเริ่มใกล้ตัวคนเรา เข้ามามากขึ้นทุกที จนทำให้ต่อไปในอนาคต  คำว่า สังคมปัญญาประดิษฐ์ ดูจะเป็นเรื่องที่อยู่ไม่ไกลจากตัวเรา

และในปีนี้ 2567 การใช้งาน AI ก็ได้เริ่มแพร่หลายมากขึ้น เห็นได้ชัด หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ต่างใช้ AI มากขึ้น จนตอนนี้ การใช้ AI เกิดขึ้นในหลายวงการ แม้แต่บางวงการเช่น วงการผลิตสินค้าเกษตร หรือวงการสื่อสารมวลชน ก็เริ่มใช้งาน AI มากขึ้น

 จึงถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจในการเฝ้ามองปรากฏการณ์ความก้าวหน้าในการใช้งาน AI ในสังคมไทย

“ไทยโพสต์”สัมภาษณ์พิเศษ”ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)” NIA : National Innovation Agency, Thailand ถึงทิศทางการใช้งาน AI ในประเทศไทย ในปีนี้ 2567 และอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร

โดยทาง “ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ”ให้ข้อมูลว่า สำหรับประเทศไทย AI เป็นเทรนด์มาได้สักระยะหนึ่งแล้ว หลัง Big data เริ่มมีความสำคัญ มีการนำ data มาวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ จนมีคนคิดค้นหรือคิดแนวทางในการนำ AI มาทำงานต่างๆ แทนมนุษย์ เพราะ AI อาจจะมี capacity ที่มากกว่ามนุษย์เยอะ

...พูดง่ายๆ AIก็เหมือนเอาสมองคนหลายๆ คนมารวมกัน แต่เป็นสมองที่เยอะมากๆ เพราะมนุษย์หนึ่งคน คิดได้ไม่เท่าAI ทำให้  AI จึงเหมือนกับการนำดาต้าทั้งหมด -สมองคนมารวมกันทั้งหมด ทำให้ความฉลาด ความถูกต้องแม่นยำ จึงมีมากกว่า

 เพราะอย่างสมองคนเรา คนๆหนึ่ง ก็จะมีความจำได้ระดับหนึ่งว่าเราจำอะไรได้บ้าง คนหนึ่งจะเก่งด้านนี้ อีกคนอาจจะเก่งอีกด้านหนึ่ง หรือคนหนึ่ง จำเรื่องนี้ได้ดี แต่อีกคนก็จะจำอีกเรื่องได้ดี แต่ของAI คือจะนำหลายอย่างมารวมกันได้ มันอยู่ที่คนดีไซน์ว่าจะให้ AI รวมเรื่องอะไร ไปดึงข้อมูลอะไรมาวิเคราะห์

AI ของต่างประเทศ ก็มีหลายประเทศที่ทำออกมาหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นของสหรัฐอเมริกา จีน หรือยุโรป ตอนนี้บ้านเราก็มีการทำเรื่อง AI แต่ก็ยังติดขัดบางด้านเช่นเรื่องภาษา เพราะด้วยความที่ information หรือ data ส่วนใหญ่ในโลกนี้เป็นภาษาอังกฤษ หากเราใช้เพียงแค่ภาษาไทย ฐานข้อมูลก็จะแคบ องค์ความรู้จะน้อย การใช้วิเคราะห์จะลำบาก ในอนาคต ตัวดาต้าทั้งหมด หากเราต้องการให้คนต่างประเทศ รู้ข้อมูลอะไรเกี่ยวกับประเทศไทย เราก็อาจจะต้องสร้างข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้เขาสามารถเอาข้อมูลไปใช้ได้ หรือไม่เราก็ต้องมาพัฒนาAI ภาคภาษาไทย ที่ก็มีคนทำอยู่ อย่างพวก Chat GPT ภาษาไทย แต่ก็จะเห็นได้ว่า จะไปได้ช้ากว่าอะไรที่เป็นภาษาอังกฤษ

สำหรับการนำ AI มาใช้ประโยชน์ในงานด้านต่างๆ  อย่างทาง สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เราก็ได้รับจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)ให้ในส่วนของงบประมาณ มาให้ทุนเกี่ยวกับ AIด้วย โดยAI ที่เราเห็นมีการนำมาใช้ประโยชน์ต่างๆ เราจะเห็นได้ทั้งการใช้ประโยชน์ด้านการศึกษา การแพทย์ การวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ การเกษตร รวมถึง"สื่อมวลชน"ก็ใช้ประโยชน์จาก AI ได้ คือเป็นเครื่องมือที่เราจะใช้กับงานอะไรก็ได้ ขึ้นอยู่ว่าเราจะนำมาใช้กับอะไร

2567 การใช้งานAI จะบูมมากในประเทศไทย

“ดร.กริชผกา"กล่าวต่อไปว่า หลายคนก็มีข้อกังวล กลัวว่า AI จะเข้ามาแทนที่มนุษย์ แต่หลายเรื่องAI ก็แทนมนุษย์ไม่ได้ เอาง่ายๆ AI แทนคนได้หรือไม่ อย่างเรามีเพื่อนที่สนิทมากคนหนึ่ง แล้วAIจะมาแทนเพื่อนคนนั้นได้หรือไม่ เอไอ จะมาแทนการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ไม่ได้ เพราะต่อให้เราปฏิสัมพันธ์กับAI แต่มันก็เป็นปฏิสัมพันธ์แบบประดิษฐ์ขึ้นมา เราจะเห็นหนังหลายเรื่องที่คนพยายามจะปฏิสัมพันธ์กับ AI แต่มันก็ยังไม่ใช่ human จริงๆ มันไม่มี human touch เหมือนกับมนุษย์

เพราะมนุษย์จะมี  human touch  มีความรู้สึกมากกว่า แต่ถามว่า AI เขาช่วยอะไรหรือไม่ ก็คือAI ช่วยงานมนุษย์ได้ แต่แทนที่มนุษย์ทุกอย่างไม่ได้

หลายๆ คนกลัว AI จะทำให้ตกงาน ก็อยากบอกว่า ไม่ต้องกลัว หากเราเรียนรู้ที่จะใช้เทคโนโลยี AI เพราะยังไง เทรนด์ของโลกทิศทางมันก็มาแบบนี้ คนไทยก็ต้องเรียนรู้ว่า AI ทำอะไรได้บ้าง แล้วก็ใช้ประโยชน์จาก AI ให้มากที่สุด แล้วด้วยความที่เราเป็นมนุษย์ เราควรต้องคอนโทรลหลายอย่าง เพื่อให้มัน operate ไปได้ แต่ในระยะยาวข้างหน้า อีกสิบปี ยี่สิบปี AI ก็อาจคอนโทรลมนุษย์ก็ได้ ถ้ามันไปถึงจุดที่เราไม่ได้ควบคุมไว้

"สำหรับในปี 2567 เชื่อว่าจะมีการนำ AI มาใช้ในประเทศไทยค่อนข้างมาก”

... เพราะมูลค่าทางธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะใช้ AI ไม่ว่าจะเป็นเช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ -อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ มูลค่ามากกว่าหกพันล้านบาท และแนวโน้มก็จะสูงขึ้น

อย่างที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เปิดให้ทุนกับแผนงานเรื่องการส่งเสริมดิจิทัลแพลตฟอร์ม ระบบปัญญาประดิษฐ์ทั้งภาครัฐและเอกชน พบว่าแต่ละปี จะมีคนมาขอทุนโครงการกับเราประมาณ 400 โครงการ แสดงว่ามีแนวโน้มที่จะนำ AI ไปใช้งานกันมาก

ที่พบการใช้ AI ในประเทศไทย ก็มีหลายวงการ อาทิ  เกษตรอาหาร การแพทย์ การศึกษา ธุรกิจ อีคอมเมิร์ซ อย่างการแพทย์ ก็มีการใช้  AI อ่านฟิล์มเอ็กซ์เรย์ปอด อย่างในช่วงโควิด ก็มีการใช้ AI เพื่อดูว่าผู้มาตรวจติดเชื้อโควิดหรือไม่ นี้คือการใช้ AI มาช่วยในการวิเคราะห์ได้ ที่ทำให้สะดวกและเร็วขึ้น

จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นด้านธุรกิจ การแพทย์ การศึกษา AI เป็นเครื่องมือสำคัญที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งที่ผ่านมา ด้านการเกษตร ก็มีการนำ AI มาใช้กัน ด้านการวิเคราะห์ทางธุรกิจก็ใช้แล้ว แต่อนาคตวันข้างหน้าจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

"ปี 2567 จะได้เห็นแน่ AI จะบูม ในการนำมาใช้วิเคราะห์ทางธุรกิจ วิเคราะห์ตลาด การปรับปรุงกระบวนการทางการแพย์ การนำมาใช้ประโยชน์ในด้านการศึกษา การสร้างงาน สร้างอาชีพ

ในปีนี้ 2567 จะมีการใช้งาน AI ในด้านต่างๆ เข้มข้นมากขึ้น และต่อไปในอนาคต เราไปทุกที่ ไปที่ไหน ก็จะเห็นแต่ AI แน่นอน

อย่างช่วงที่ผ่านมา ตอนปี 2566 โดยเฉพาะช่วงหกเดือนหลัง ของปี 2566 จะมีการจัดสัมมนา -เสวนา เรื่อง AI กันหลายเวทีมาก เพราะเทรนด์มันมาจริงๆ ดังนั้นในปีนี้ 2567 เรื่อง AI จะเป็นหัวข้อสำคัญที่คนจะพูดถึงกันมาก ไม่ว่าจะเป็นมิติทางเทคโนโลยี มิติทางธุรกิจ รวมถึงมิติกฎ ระเบียบและข้อบังคับต่างๆที่ภาครัฐและเอกชน จะพูดถึงเรื่องนี้กันมากขึ้น"

-ที่ผ่านมา ภาครัฐ ให้ความสำคัญและมีการสนับสนุนเรื่อง AI มากน้อยแค่ไหน?

ภาครัฐ ก็ให้การสนับสนุน โดยเฉพาะด้านการวิจัย การใช้ประโยชน์จาก AI อย่างงบประมาณที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ได้มาเพื่อให้เป็นงบด้านการทำวิจัย ในปี 2567 ที่ได้จาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)ก็ประมาณ 150 ล้านบาท ส่วนหากถามว่าได้น้อยหรือไม่ ก็ต้องดูว่า หลาย ๆคนที่ลงทุนด้าน AI ไม่ใช่ภาครัฐ ตอนนี้เอกชน ลงทุนด้าน AI  กันเยอะ ส่วนภาครัฐ ถ้าจะลงทุนจริงๆ ก็จะเป็นหน่วยงานที่ทำด้าน data เรื่องข้อมูลต่างๆ

โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เราให้ทุนผู้ประกอบการไปทำ AI  ทำให้สเกลจึงแตกต่างกัน ก็เหมือนกับเราเป็นปลายน้ำที่ส่งเสริมอุตสาหกรรม เราก็จะให้ผู้ประกอบการไป แต่ปีต่อไป คิดว่างบของ AI  น่าจะสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม สำนักงานฯมีการทำAI  ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ มาประมาณสามปีแล้ว เพื่อศึกษาเรื่องการใช้ AI  กับการเกษตรว่าทำอะไรได้บ้าง แต่เป็นการทำเครือข่ายและสร้าง สตาร์ทอัพ มาตอบโจทย์ว่า AI จะช่วยด้านการเกษตรอย่างไรได้บ้าง ซึ่งที่ผ่านมา การใช้ AI  กับการเกษตร ก็นำไปใช้ในเรื่องการวิเคราะห์แนวโน้มของผลิตภัณฑ์ แนวโน้มของผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตร วิเคราะห์ data ข้อมูลต่างๆ ที่ช่วยเรื่องการเกษตรได้เยอะ ทำให้เกิดความแม่นยำ

ประเทศไทยพร้อมหรือยัง ออกกฎหมายควบคุม AI?

-ปัจจุบัน มีกฎ ระเบียบอะไรในการควบคุมติดตาม การทำงานของ AI  บ้างหรือยัง?

ในประเทศไทย ยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่อง AI  อย่างชัดเจน แต่ถ้าที่อื่นเช่น สหภาพยุโรป (European Union) มีการร่างกฎหมายเกี่ยวกับ  AI

 ซึ่งเหตุผลที่เขาต้องทำ ก็เพราะเขามองว่าต่อไปเทคโนโลยี มันจะไป ไกลค่อนข้างมาก แล้วเขาเกรงว่ามันจะเกิดผลกระทบ ในด้านจริยธรรม และความเป็นเจ้าของในเรื่องไอทีต่างๆ ที่ AI ทำขึ้น EU จึงมีการร่างกฎหมายเพื่อเป็นแนวปฏิบัติว่า AI  ควรจะต้องควบคุมอย่างไรบ้าง แต่ว่าของสหภาพยุโรป ทำกฎหมายควบคุมได้ เพราะเทคโนโลยีของเขาไปไกล แต่ของบ้านเรา เทคโนโลยีเรายังไม่ได้ไปถึงขนาดของ EU

เราอาจยังต้องเปิดพื้นที่ให้มีการวิจัย การพัฒนามากขึ้น แล้วเราอาจคอนโทรลเรื่องของจริยธรรม เพราะ AI  ก็เหมือนเครื่องมือ หากเราใช้ทางดี ก็ทำดี แต่ถ้าเราใช้ทำสิ่งไม่ดี มันก็เกิดสิ่งไม่ดีขึ้นได้ ตอนนี้ AI  ยังไม่ได้ฉลาดที่จะคอนโทรลทุกอย่างได้ ยังมีมนุษย์ที่ต้องทำหลายอย่างเข้าไป ความน่ากลัวของ AI อย่างที่คนเห็นกันในหนัง คิดว่ามันยังอีกไกลเพราะหากดูในหนัง AI  ฉลาดมาก คอนโทรลโลกได้เลย คือมันอาจเกิดขึ้นได้ แต่มันยังอีกไกลมาก 

ดังนั้น สิ่งที่เราควรทำปัจจุบันคือการเรียนรู้ การใช้ประโยชน์จาก AI ให้เต็มที่ อย่าไปกลัวว่า AI จะทำให้เกิดอะไร แต่ว่าเราก็คอนโทรลเรื่องของจริยธรรม เรื่องข้อมูลส่วนบุคคล ให้มันไม่รั่วไกล ที่ตรงนี้เป็นกฎหมายพื้นฐานที่ของประเทศไทยเรามีอยู่แล้ว

-ข้อเป็นห่วงเรื่อง AI  จะละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ลักษณะเป็นอย่างไร?

เนื่องจาก ระบบ AI  จะฉลาด และใช้งานมากในเรื่อง data ซึ่ง data หลายอย่างก็เป็นเรื่อง sensitive โดยเฉพาะหากไปเกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคล ปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่าหลายบริษัท ที่อาจจะมีข่าวเช่น ข้อมูลรั่วไหล เพราะอาจถูกแฮกข้อมูล หรือถูกดูดใช้จากที่อื่น แล้วนำไปเผยแพร่สู่สาธารณชน ซึ่งอันนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องระวังเช่นกัน แต่สิ่งที่หลายคนกังวลอีกอย่างก็คือ ถ้าหลายอย่างถูกควบคุมด้วย AI  แล้วเกิดระบบมันมีข้อผิดพลาดขึ้นมา ใครจะรับผิดชอบ AI  หรือว่าคนที่เป็นเจ้าของ AI

ซึ่ง ณ เวลานี้ ก็ต้องเป็นเจ้าของ และคนที่ควบคุม AI  ที่จะมีส่วนในการที่ต้องรับผิดในส่วนดังกล่าว เพราะ ณ ตอนนี้เราไม่ได้มองว่า AI  คือบุคคลใด บุคคลหนึ่ง

ดังนั้น คนที่เป็นเจ้าของ คนที่คอนโทรล คนที่ควบคุม ก็ต้องมีหน้าที่ในการรับผิดชอบ ซึ่งปัจจุบันในยุโรป ก็เป็นลักษณะดังกล่าว คือ คนที่เป็นเจ้าของ คนที่ควบคุม ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ AI  ทำออกมา หากมันเกิดอะไรขึ้นมา

-การอยู่ร่วมกันของคนในสังคม ในยุคสังคมปัญญาประดิษฐ์ ต่อไปจะเป็นอย่างไร?

ในปัจจุบันนี้ พูดง่ายๆ ตรงๆ ก็คือ เราต้องอยู่กับมัน เราต้องอยู่กับเทคโนโลยี และเราต้องอยู่กับ AI แต่ถามว่าอยู่อย่างไร ก็คือ เราต้องอยู่อย่างบาลานซ์ ขาข้างหนึ่ง ก็คือ ต้องให้เทคโนโลยี นวัตกรรม เติบโตไป ส่วนขาอีกข้างหนึ่ง ก็ต้องส่งเสริมเรื่องการควบคุมจริยธรรม การใช้ประโยชน์จาก AI หากเราสามารถทำทั้งสองขาให้เดินไปแบบนี้ได้ นวัตกรรมก็จะเติบโต สังคมเศรษฐกิจ ก็ได้ประโยชน์จาก AI ผลกระทบก็จะน้อยลง เราต้องทำทั้งสองขา

จริงหรือไม่ AI มา ทำให้คนตกงาน

-ในอนาคตจะเกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นหรือไม่ เพราะก็คงมีคนที่เข้าไม่ถึง AI เช่นกลุ่มเกษตรกร หรือกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก ที่ไม่มีทุนมากเช่นพวกสตาร์ทอัพ แล้วจะเกิดการทิ้งคนบางกลุ่มไว้ข้างหลังหรือไม่?

พูดง่ายๆเราจะให้เกษตรกร มาใช้ตรงนี้คงยาก แต่เรามีสตาร์ทอัพที่ใช้ AI ไป service เกษตรกร ก็แสดงว่า เกษตรกร ก็เข้าถึง AI แต่ใช้ service ผ่าน สตาร์ทอัพ เพราะหากให้เกษตรกรมาใช้ AI โดยตรง คงลำบากมาก เพราะเขาต้องมาเรียนรู้วิธี ต้องมาวิเคราะห์ข้อมูล แต่เราจะมีสตาร์ทอัพที่จะมาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูล

อย่างเช่น พื้นที่เพาะปลูกตรงนี้ ควรใช้ยาฆ่าแมลง เท่าใด หรือนำAIมาวิเคราะห์ผลการผลิตจากสภาพอากาศแบบนี้ จะเป็นอย่างไร หรือหากจะนำสินค้าเกษตรไปขนส่ง โลจิสติกส์ จะใช้วิธีการรูปแบบใดจะดีที่สุด หรือข้อมูลทางธุรกิจ แนวโน้มทางการตลาด ของสินค้าอุปโภคบริโภคจะเป็นอย่างไร จะให้เกษตรกร วิเคราะห์เองก็ลำบาก แต่หากเราบอกว่า แนวโน้มปีนี้ 2567 ผลผลิตทุเรียน จะดี หรือสินค้าเกษตร น่าจะส่งออกไปขายต่างประเทศได้มากขึ้น เช่นตลาดใหม่อย่าง ซาอุดีอาระเบีย ไม่ใช่แค่ส่งออกไปที่จีน อย่างเดียว แบบนี้ AI  ก็วิเคราะห์ออกมาให้ได้ พอเราวิเคราะห์ข้อมูลออกมา เราก็ส่งให้สตาร์ทอัพหรือเกษตรกรนำไปใช้ในการผลิต เพาะปลูกได้ ก็จะช่วยตอบโจทย์ได้

"โดยหลักการ เราไม่ควรทิ้งใครไว้ ทุกคนควรต้องใช้ประโยชน์จาก AI ได้ เพียงแต่จะใช้ทางตรงหรือทางอ้อม แค่นั้นเอง ก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะสร้างผู้ประกอบการ สร้างสตาร์ทอัพขึ้นมา แล้วก็ service ให้กับภาคเกษตรกร ภาคสังคม ภาคประชาชน รวมถึงภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ก็ทำได้หมด"

สำหรับการใช้ AI ในประเทศไทย หากถามว่าภาคส่วนใดใช้เยอะมากสุด พบว่า คือภาคธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะธุรกิจเกี่ยวกับ Internet of Things (IoT) โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับ data จะใช้ AI เยอะมาก รวมถึงพวกธนาคาร ก็ใช้ AI  เยอะมากในการวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้าหรือทางการเงิน ส่วนธุรกิจขนาดกลางและธุรกิจขนาดเล็ก ก็เริ่มใช้เช่นกัน รวมถึงสตาร์ทอัพที่เรา SUPPORT ส่วนเงินลงทุน ในการจะนำ AI  มาใช้ในองค์กรแต่ละแห่งนั้น จะใช้เท่าใดนัก

หากดูจากปัจจุบัน จะพบว่าตอนนี้ หลายแห่งใช้ AI  กันเยอะ เปรียบเทียบก็เช่น ถ้าองค์กรมีงบน้อย แก้วก็เล็ก ถังวิเคราะห์ AI  ก็เล็ก แต่ถ้ามีงบมาก ก็จะเป็นอ่าง แต่ถ้ายิ่งมีงบมาก ก็ยิ่งเป็นสระน้ำเลย แต่ถ้ายิ่งมีงบมากขึ้นไปอีก ก็ยิ่งเป็นสระที่ใหญ่ ที่มี information จัดดึงข้อมูลมาได้

 AI จึงมีหลายขนาด    แล้วแต่ งบประมาณที่แต่ละแห่งจะมี อย่าง HUAWEI  ทำ Huawei Cloud AI  ก็เป็นระดับหมื่นล้าน ส่วนภาครัฐของไทย ก็ทำ AI หลายหน่วยงาน แต่ไม่ถึงกับมีทุกกระทรวง คือทุกกระทรวงมีทำ แต่ไม่ได้ทำในขนาดใหญ่มาก อย่างในงานของทหาร ก็มีการใช้ อย่างของสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ ที่ทำ ก็เป็นพวกงานทดลอง งานวิจัยเป็นส่วนใหญ่ พวกการแพทย์ เกษตร เป็นต้น

ส่วนการเรียนการสอนเรื่อง  AI พบว่า สถาบันอุดมศึกษา ปัจจุบัน ก็มีหลายแห่ง เปิดสอนเกี่ยวกับเรื่อง AI โดยเฉพาะ และตอนนี้น่าจะเป็นคณะที่มีคนเรียนเยอะสุดคือวิชาสาขาด้าน AI ก็มีการเปิดสอนเป็นสาขาเฉพาะ เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(สาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ หลักสูตรนานาชาติ) ,คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นต้น

"ในบริบทสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นในทางวิชาการ ทางเทคโนโลยี ทางภาคธุรกิจ หรือภาครัฐ ไม่ว่าจะอยู่ในมิติไหนก็ตาม รวมถึงประชาชน AI จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตของเรา ในฐานะที่เราอาจจะอยู่ในฐานะผู้ใช้งาน อาจจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบ หรือจะเป็นผู้สร้าง AI ขึ้นมาก็ตาม เรื่อง AI จึงเป็นอีกหนึ่งบริบทที่จะเกี่ยวข้องกับคนในทุกๆมิติ”

อยากให้มอง AI ว่าจะเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคต AI จะมีประโยชน์อย่างไร หากเราใช้งานอย่างเหมาะสม และในภาครัฐเอง การจะดูเรื่องการควบคุม ก็ต้องดูว่าจะควบคุมกำกับดูแลแบบไหน ส่วนภาคสื่อ จะใช้ AI ให้เกิดประโยชน์อย่างไร จะคอนโทรลเรื่องจริยธรรมอย่างไร รวมถึงประชาชน จะใช้ประโยชน์จาก AI แบบไหน จากที่ทุกวันนี้เราใช้ประโยชน์จาก Chat GPT จะเห็นได้ว่า เราก็ใช้ประโยชน์จาก AI เยอะ แต่ท้ายที่สุด เราก็ต้องมาวิเคราะห์อยู่ดีว่า สิ่งที่ AI  ได้ generate มาถูกต้องหรือไม่

ดังนั้น การคิด วิเคราะห์ จึงอยู่ในมนุษย์ ที่จะใช้งานตรงนี้อยู่ AI  จึงใช้เป็นแค่เครื่องมือให้เกิดประโยชน์ ตอนนี้มนุษย์ จึงยังควบคุม AI  อยู่ ยังไม่ใช่ AI ควบคุมมนุษย์ ส่วนเรื่องที่เป็นห่วงว่าจะเกิดผลกระทบกับการจ้างงานนั้น อยากบอกว่า คนเราสามารถ Upskill- Reskill ตัวเองได้ เราควรเรียนรู้วิธีที่จะใช้ประโยชน์จาก AI ดีกว่า อย่าไปกลัว AI เลย เมื่อเรารู้ว่า AI มีประโยชน์อย่างไร เราก็ต้องเรียนรู้วิธีการที่จะใช้งานมัน

ดังนั้นอย่าไปกังวลเรื่องว่าจะตกงานอะไร เราต้องเรียนรู้ให้เท่าทันเทคโนโลยี แล้วใช้เทคโนโลยีนั้นให้เกิดประโยชน์กับการทำงานจะดีที่สุด

"AI ไม่ใช่กระแสวูบวาบแน่นอน แต่จะเป็นกระแสที่อยู่ในโลกนี้ตลอดไป บอกได้เลย AI มันจะอยู่กับเราตลอดไป"

โดยวรพล กิตติรัตวรางกูร

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เอ็มจี นำร่องเทคโนโลยี AI เข้ามาเริ่มใช้จริง ในงานมอเตอร์โชว์

บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรถยนต์ เอ็มจี ในประเทศไทย

ดีอี-BDI เดินหน้าผลักดันการใช้ Big Data และ AI สู่ Data-Driven Nation ตั้งเป้าปี 67 สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 3,000 ล้านบาท

กรุงเทพฯ 21 กุมภาพันธ์ 2567- กระทรวงดีอี – BDI แถลงบทบาทใหม่ เดินหน้าหนุนใช้ Big Data และ AI ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมยุคดิจิทัล

Skooldio และ Degree Plus จับเทรนด์ปี 2566 ส่งหลักสูตรทักษะสมัยใหม่ AI และ Longevity ได้วัยทำงานเรียนล้นหลาม!

Skooldio และ Degree Plus ผู้นำด้านบริการทักษะดิจิทัลและทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในเครือ LEARN Corporation ผู้ให้บริการพัฒนาการเรียนรู้ทุกช่วงวัย

AI กับการเทรด Forex

การเข้ามาของเทคโนโลยี AI ที่หลายคนกำลังให้ความสนใจอย่างเช่น ChatGPT, Generative AI อาจเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ