ทักษิณ นักโทษเทวดา คอรัปชั่นความยุติธรรม คปท.เดินหน้า ขยับต่อ

กรณีของทักษิณ มันคือการคอรัปชั่นความยุติธรรม ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาในประเทศ มันไม่มีที่นักโทษที่โดนศาลตัดสินจำคุกคดีทุจริตคอรัปชั่นที่เป็นคดีร้ายแรง แต่สุดท้าย ไม่เคยถูกคุมขัง มีการใช้กระบวนการอุ้มออกมาอยู่นอกเรือนจำ มันเป็นการโกงกระบวนการยุติธรรม ที่คนไทยส่วนใหญ่รับไม่ได้ และเป็นการทำลายระบบนิติรัฐในสายตานานาประเทศด้วย

กรณี "นักโทษชาย ทักษิณ ชินวัตร"ที่กระแสสังคมมองว่า ได้รับสิทธิพิเศษเหนือกว่านักโทษคนอื่น ในการได้นอนที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ มาร่วมสี่เดือนกว่า

เรื่องที่เกิดขึ้น ถือว่าทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรม-การบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม และระเบียบต่างๆ ของกรมราชทัณฑ์ที่เป็น กระบวนการยุติธรรมปลายน้ำอย่างมาก  จนเห็นได้ชัด เรื่องนักโทษ ทักษิณ ทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ติดลบไปด้วยกับเรื่องของทักษิณ เพราะถูกมองว่าฝ่ายการเมืองเข้าไปช่วยเหลือทักษิณ เพื่อให้ได้รับสิทธิพิเศษดังกล่าว จนถูกเรียกว่า "นักโทษเทวดา"

กลุ่มการเมืองที่ออกมาเคลื่อนไหวตรวจสอบกรณีทักษิณ อย่างเข้มข้นตลอดสี่เดือนกว่าที่ผ่านมา หลังทักษิณ เข้าไปนอนรพ.ตำรวจเมื่อกลางดึกคืนวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ที่เป็นวันเดียวกับที่เดินทางกลับมารับโทษ นั่นก็คือ"กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.)"ที่มี สองแกนนำคือ พิชิต ไชยมงคล และนัสเซอร์ ยีหมะ เป็นหัวหอกหลักในการเคลื่อนไหวเรื่องทักษิณ เช่นการนัดเคลื่อนไหวชุมนุมกันในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ข้างทำเนียบรัฐบาล เป็นต้น

"ไทยโพสต์"นั่งสัมภาษณ์พูดคุยกับทั้งสองคน ถึงบทบาทการเคลื่อนไหวของคปท.ต่อกรณีดังกล่าว ซึ่งทั้งสองคนยืนยันว่าหลังจากนี้ จะยังคงเคลื่อนไหวในการตรวจสอบเรื่อง นักโทษทักษิณ ต่อไป

พิชิต ไชยมงคล

เริ่มที่"พิชิต-แกนนำคปท."บอกว่า บทบาทของคปท.ที่ผ่านมา ทางคปท. มีจุดกำเนิดในการตรวจสอบรัฐบาลตั้งแต่อยู่แล้ว ตั้งแต่ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เช่นการตรวจสอบโครงการทุจริตจำนำข้าว

สมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทางคปท.ก็มีการออกมาท้วงติงการบริหารประเทศของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ไม่ใช่ว่า คปท.หายไป แต่ช่วงนั้นเคลื่อนไหวในนาม กลุ่มคณะหลอมรวมประชาชนและกลุ่มประชาชนคนไทย ที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง ออกมาท้วงติงการทำงานของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ต่อเนื่อง ผนวกกับ แนวทางของคปท.คือการเสนอแนวคิด-แนวทาง"การปฏิรูปประเทศไทย"เนื่องจากการเมืองเดิม ทำให้เกิดวังวนเดิมของการเล่นพรรคเล่นพวก โจทย์ใหญ่ของคปท.คือเสนอ"การปฏิรูปการเมือง-ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม"

“พิชิต”กล่าวต่อไปว่า สำหรับรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จะพบว่า ในช่วงรอยต่อ การเปลี่ยนผ่าน จากรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ไปเป็นรัฐบาลเศรษฐา ก็พอดี ทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับเข้าประเทศเมื่อ 22 สิงหาคม 2566 โดยหลังทักษิณ เดินทางเข้ามา และรัฐบาลเศรษฐา กำลังเริ่มจัดตั้งรัฐบาล ฟอร์มครม. ทางคปท.ก็มีการออกมาตั้งคำถามว่า เมื่อเพื่อไทยขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ในเมื่อตัวทักษิณ ก็เป็นที่รู้กันว่า มีความใกล้ชิดกับเพื่อไทย แล้วฝ่ายรัฐบาลเพื่อไทย จะมีท่าทีอย่างไรกับทักษิณ ซึ่งสุดท้าย ก็อย่างที่เห็นกัน ตามที่คปท.คิดไว้อยู่ก่อนแล้วว่า จะมีการสั่งการ -แทรกแซง ให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เข้ามาดูแลจัดการอย่างที่เห็นกัน

..และจากที่คปท.เริ่มจากการตั้งคำถามถึงการเลือกปฏิบัติกับทักษิณ ชินวัตร จากคนไม่กี่คน และไม่กี่กลุ่ม แต่ตอนนี้ การตั้งคำถามดังกล่าวถึงรัฐบาล ก็เริ่มเป็นเสียงที่ดังขึ้น และเมื่อรัฐบาลพยายาม เงียบ ไม่แสดงท่าทีอะไร เสียงตั้งคำถามถึงรัฐบาลต่อกรณีทักษิณ ก็ดังขึ้นเรื่อยๆ จนนำมาสู่การเคลื่อนไหวของคปท.ในประเด็นนักโทษทักษิณ

-เท่าที่เห็น พบความผิดปกติในการเลือกปฏิบัติหรือการช่วยเหลือทักษิณ จากเจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานภาครัฐ อย่างไรบ้าง?

นัสเซอร์ -ความพยายามช่วยเหลือทักษิณ ของกรมราชทัณฑ์ มันผิดปกติตั้งแต่วันแรก ที่ทักษิณ เดินทางกลับมาเมื่อ 22 สิงหาคม 2566 ที่เห็นได้ชัดเจนว่า มีการดูแลประคบประหงมทักษิณ เป็นพิเศษ จากทั้งตำรวจ เช่น การพาตัวทักษิณ นั่งรถพิเศษ จากดอนเมืองไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งรถที่นั่งไป ไม่ใช่รถของเรือนจำที่ใช้ตามปกติเวลาเคลื่อนย้ายนักโทษ ทังที่ตัวทักษิณ คือนักโทษชาย แต่กลับเลือกปฏิบัติที่แตกต่างจากนักโทษคนอื่น

..แล้วพอตกกลางคืน ก็อ้างว่า ทักษิณ ป่วย ต้องพาไปนอนโรงพยาบาลตำรวจ จนถึงปัจจุบัน ทั้งหมด คือข้อสังเกตุที่คปท.บอกมาตลอดว่ามันมี"กระบวนการสมคบคิด"กันเพื่อต้องการช่วยทักษิณไม่ให้รับโทษติดคุกในเรือนจำใช่หรือไม่ ซึ่งคปท.ออกมาแสดงท่าทีเรื่องทักษิณทันที ในวันที่ 23 สิงหาคม 2566 หลังมีการเคลื่อนย้ายทักษิณไปนอนที่โรงพยาบาลตำรวจ ไม่ใช่ว่า คปท.เพิ่งออกมาเคลื่อนไหวเรื่องทักษิณ ก่อนครบกำหนด 120 วันของการที่ทักษิณ ไปนอนที่รพ.ตำรวจ เพราะเราเห็นว่ากรณีของทักษิณ มันผิดปกติ มันไม่เหมือนนักโทษคนอื่นๆ

เมื่อกรณีของทักษิณ ได้รับการปฏิบัติไม่เหมือนนักโทษคนอื่นๆ ก็ต้องมาตั้งคำถามว่า แล้วแบบนี้ มันไม่ยุติธรรมกับนักโทษคนอื่นๆ หรือไม่ มันเท่าเทียมกับนักโทษคนอื่นหรือไม่

พิชิต-กรณีของทักษิณ ที่เข้ามาด้วยลักษณะพิเศษ เข้ามาด้วยเครื่องบินส่วนตัว โดยไม่ได้ถูกคุมขังไปเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเลย มีการปล่อยให้ทักษิณ เดินออกมาทักทายแฟนคลับที่มารอต้อนรับที่สนามบิน ซึ่งไม่มีนักโทษคนไหน ได้รับสิทธิ์แบบนี้ แต่มันก็มีข้อดี คือทำให้คนได้เห็นว่า ตอนเข้ามา ทักษิณ มีร่างกายแข็งแรง ปกติดีทุกอย่าง นั่งได้ เดินได้ ไม่ต้องมีใครคอยประคองแบบผู้ป่วย แต่ปรากฏว่า เข้าไปได้ไม่กี่ชั่วโมง ไม่ทันถึงหนึ่งคืน ก็เคลื่อนย้ายตัวทักษิณ ไปที่รพ.ตำรวจ โดยอ้างว่าป่วยกระทันหัน

ผมกับ นัสเซอร์ เราสองคนเคยอยู่ในเรือนจำ ลำพังแค่การจะเบิกนักโทษออกจากแดน เอาเฉพาะในแดนของตัวเองแค่เวลากลางวัน ยังทำได้ยากเลย แต่นี้ เบิกนักโทษออกนอกเรือนจำในเวลากลางคืน นี้คือความผิดปกติอย่างเห็นได้ชัด ถ้าคุณไม่มีการเตรียมกันมา ไม่มีการวางแผนกันมา การที่จะเบิกตัวนักโทษออกมารักษาตัวนอกเรือนจำในเวลากลางคืน มันแทบจะเป็นไปไม่ได้

ความผิดปกติข้อที่สอง คือ ที่ผ่านมา ไม่มีการออกมาชี้แจงอาการป่วย อย่างเป็นทางการว่า ทักษิณ ป่วยเป็นอะไร แพทย์ ไม่มีการยืนยัน คำชี้แจงของกรมราชทัณฑ์หลังจากวันที่ 22 ส.ค. 2566 ก็คือ มีอาการเครียด และเฝ้าระวังกับอาการป่วย นั่นแสดงว่า ทักษิณ ไม่ได้ป่วย แล้วทำไม ต้องย้ายออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำ เพราะว่าอาการเครียด กับการเฝ้าระวังอาการป่วย โดยดูจากใบรับรองแพทย์เดิม ก็สามารถนอนรักษาตัวที่รพ.ของกรมราชทัณฑ์ในเรือนจำฯได้ แม้จะมีคำถามจากสังคมที่ดังขึ้น แต่ก็เงียบกันหมด จนมาชี้แจงเมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน 2566 ถึงมีการแถลงเรื่องอาการป่วยของทักษิณ และต่อมา เมื่อกำลังเข้าสู่ช่วง จะครบ 30 วัน หลังจากไปนอนที่รพ.ตำรวจ ก็ให้ แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวทักษิณ ออกมาบอกว่า พ่อเข้ารับการผ่าตัด โดยก็ไม่ได้บอกรายละเอียดว่า ผ่าตัดอะไร โดยตอนนั้น หมอใหญ่รพ.ตำรวจ ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดอะไร บอกแค่ว่ามีการผ่าตัดจริง แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าผ่าตัดอะไร

และหลังจากนั้น ก็ไม่ได้มีการชี้แจงอะไรเพิ่มเติมอีก แม้คปท.จะเคลื่อนไหวทั้งการไปยื่นหนังสือ มีการไปสอบถามทั้งที่กรมราชทัณฑ์ -กระทรวงยุติธรรม แต่ก็ไม่มีการชี้แจงใดๆ อ้างแต่ว่าเป็นสิทธิของผู้ป่วย มันทำให้ ทั้งคปท.และคนในสังคม ยิ่งสงสัยเรื่องนี้มากขึ้นไปเรื่อยๆ

นัสเซอร์ ยีหมะ

-การที่ทักษิณ กลับมา ในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ตอนเช้าก่อนที่ เศรษฐา จะได้เสียงโหวตจากสมาชิกรัฐสภาให้เป็นนายกฯในช่วงเย็นวันเดียวกันนี้ คิดว่า มีดีลพิเศษ อะไรหรือไม่ ทำให้ ทักษิณ มั่นใจว่าเพื่อไทยจะได้เป็นรัฐบาล ถึงได้เดินทางกลับก่อนผลโหวตนายกฯจะออกมา ?

นัสเซอร์ -คปท.ก็ไม่ได้ถึงกับขนาดยืนยันว่า นี้คือ "ดีล" ระหว่างการให้เศรษฐา เป็นนายกฯ และดีลให้ทักษิณได้กลับมา แต่เราก็ตั้งข้อสังเกตุว่า เหตุมันประจวบเหมาะ ถ้าเรามองแบบประชาชนว่า เหตุมันประจวบเหมาะ เหมือนกับมีการเกี๊ยะเซี๊ยะ คือมีการเตรียมการไว้ก่อนหน้าทักษิณจะกลับมาแล้ว ตั้งแต่บินเข้ามาแล้วพาไปส่งที่ศาลฎีกา ฯจากนั้นพาตัวเข้าไปที่เรือนจำพิเศษ กรุงเทพมหานคร โดยให้ไปอยู่ในที่แห่งหนึ่งหลายชั่วโมง แล้วตกดึกก็พาตัวทักษิณออกจากเรือนจำพาไปรพ.ตำรวจ ทั้งหมดคือข้อสงสัย

จนทางกรมราชทัณฑ์และเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร รวมถึงรพ.ตำรวจต้องออกมาชี้แจงผ่านสื่อถึงข้อสงสัยต่างๆ แต่ไม่ได้แถลงภายใต้ข้อเท็จจริงที่สมเหตุสมผล เพราะหากแถลงแบบสมเหตุสมผล แบบนักโทษคนอื่น หรือแบบผู้ป่วยคนอื่น ก็จะไม่มีใครสงสัย แต่นี้มันตั้งแต่เริ่มต้น มันมีข้อน่าสงสัย คนเขาสงสัยถึงขนาดว่า ทักษิณ ไม่ได้ป่วยจริง แต่ใช้ช่องว่างของระเบียบกรมราชทัณฑ์โดยอ้างว่าทักษิณป่วย เพื่อพาตัวทักษิณ ออกมานอกเรือนจำ

พิชิต-การที่ ทักษิณ เลือกที่จะเข้ามาวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ที่เป็นวันโหวตนายกฯ ผมคิดว่า ถ้าไม่มีการดีลกันตั้งแต่ต้น ทักษิณ จะไม่เดินทางเข้ามาเมื่อ 22 สิงหาคม 2566

เพราะมีข้อสังเกตหลายอย่าง เช่น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ที่กำกับดูแลกระทรวงยุติธรรม ในช่วงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ (แทนนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่ลาออกจากรมว.ยุติธรรม) ได้พูดเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษฯ ดังนั้น ที่ทักษิณ เลือกกลับมา 22 สิงหาคม ปีที่แล้ว หากไม่มีการดีลกันไว้ก่อน จนมั่นใจว่า เศรษฐา จะได้เป็นนายกฯ ตัวของ ทักษิณ คงไม่กลับมา เพราะว่าสว.ที่โหวตให้เศรษฐา จนเสียงเกิน 375 เสียง ส่วนใหญ่ก็มาจากการคัดเลือกของพลเอกประยุทธ์ การมาของทักษิณในวันดังกล่าว จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นการวางแผนร่วมกันระหว่างฝ่ายที่มีอำนาจกับฝ่ายทักษิณ ในช่วงเปลี่ยนผ่านอำนาจโดยเลือกที่จะมาในช่วงโหวตนายกฯ

มีการสมรู้ร่วมคิด วางแผนช่วยเหลือ"ทักษิณ" ไม่ต้องติดคุกแม้แต่วันเดียว

-คิดว่ามีความพยายามช่วยเหลือทักษิณ จากฝ่ายการเมืองและข้าราชการที่เกี่ยวข้องหรือไม่ เช่น เรื่องการออกระเบียบกรมราชทัณฑ์เรื่องการคุมขังนอกเรือนจำ เมื่อ 6 ธันวาคม 2566?

พิชิต-ก็มีลักษณะแบบสมรู้ร่วมคิด ในการที่จะช่วยเหลือทักษิณ พอสมควรในขั้นตอนต่างๆ ซึ่งหากไม่มีการเตรียมการมาก่อน จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าจะถามว่า มีการออกระเบียบเพื่อเอื้ออำนวยกันหรือไม่ ก็ขอตั้งข้อสังเกตุว่า กรมราชทัณฑ์กำลังใช้กรณีของทักษิณ เป็นตัวตั้งไว้ก่อน แล้วไปหาระเบียบมาอธิบายเพื่อให้ทักษิณอยู่นอกเรือนจำได้ ซึ่งระเบียบที่ช่วยได้เร็วที่สุด ก็คือ ระเบียบของการรักษาตัวนอกเรือนจำที่เป็นระเบียบเดิมตอนปี 2563  ซึ่งจะทำให้รักษาตัวนอกเรือนจำได้ ก็ต้องป่วยหนัก ถึงขั้นวิกฤต

แต่ตอนทักษิณ เดินทางเข้ามา ที่มีคนเห็นกัน ไม่ได้ป่วยหนักถึงขั้นวิกฤต แต่การจะวิกฤตได้ ก็ต้องอ้างใบรับรองแพทย์เดิม ที่เคยรักษาตัวก่อนหน้านี้(ที่ต่างประเทศ) แต่อย่างที่แพทย์แถลงเมื่อ 23 สิงหาคม 2566 โดยอ้างใบรับรองแพทย์เดิมจากสิงคโปร์ -สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มันเอื้ออำนวยตั้งแต่วินาทีแรกด้วยระเบียบเดิม

พอผ่านไป 30 วัน มีการผ่าตัด ซึ่งผ่าตัดจริงหรือไม่จริง ไม่รู้ แต่ก็เป็นสตอรี่ในการอยู่ต่อ เพื่อจะได้รักษาตัวนอกเรือนจำ จนเมื่อไปครบ 60 วัน ก็ขอรักษาต่อ พอไปครบ 120 วัน จะอยู่ต่อไม่ได้แล้ว ก็เลยจะพยายามผลักดันระเบียบใหม่ ตามพรบ. ที่ออกมาก่อนหน้านี้  คือ ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 ที่ออกมาเมื่อ 6 ธันวาคม 2566 ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ก็บอกเองตอนไปชี้แจงกับคณะกรรมาธิการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎรฯ ที่ต้องรีบมาประกาศออกระเบียบดังกล่าว ทั้งที่สามารถออกมาได้ตั้งแต่ปี 2563 แต่ที่มาเร่งออกตอนนี้เพราะว่า มีผู้ใหญ่สั่งการให้เร่งออกมา เพื่อรองรับกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อันนี้เขาอธิบายในกรรมาธิการฯ ที่คุณวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ไปยื่นเรื่องให้คณะกรรมาธิการตำรวจฯ พิจารณาเรื่องนี้ ได้ออกมาอธิบายกับสื่อ ซึ่งผู้ใหญ่คนนั้นคืออธิบดีกรมราชทัณฑ์ ณ ปัจจุบัน

มันจึงอธิบายได้ว่ามีความพยายาม จะใช้ระเบียบทุกข้อ ที่จะสามารถใช้ได้ เพื่อมารองรับอาการป่วยของทักษิณ เพื่อให้ไปอยู่นอกเรือนจำ โดยไม่ได้สนใจว่าจะเป็นระเบียบเก่าหรือระเบียบใหม่ แต่เอาทักษิณ เป็นตัวตั้ง แล้วพยายามหาระเบียบทุกข้อ หาช่องว่างของกฎหมายทุกอย่างมาบังคับใช้กับทักษิณ ชินวัตร

นัสเซอร์ -คือโดยระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 มันรองรับเรื่องของปัญหาความแออัดของเรือนจำทั่วประเทศ ซึ่งระเบียบบอกว่า กรณีของนักโทษที่ไม่จำเป็นต้องขังอยู่ในเรือนจำ สามารถนำตัวมาขังข้างนอกได้ ซึ่งในระเบียบก็กำหนดสถานที่ไว้เช่น วัด มัสยิด โรงพยาบาล หรือสถานที่ราชการอื่นๆ ที่ราชการกำหนดร่วมกับกรมราชทัณฑ์ ที่หมายถึงว่า ตัวระเบียบมันดี เราไม่ได้ขัดข้องเรื่องระเบียบฯ แต่ที่คปท.ตั้งข้อสังเกตุก็คือ ทำไมระเบียบดังกล่าวมารีบออกในช่วงที่ นักโทษชาย ทักษิณ ใกล้ครบกำหนด 120 วัน นี้ต่างหากคือคำถามของเรา

เพราะระเบียบดังกล่าว ก็ล้อมาจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วย รวมถึงความเห็นของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แต่ต่อมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็ออกมาชี้แจงเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2566 หลัง กรมราชทัณฑ์อ้างความเห็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เคยให้ความเห็นเรื่องนี้มาก่อนหน้านี้เมื่อสักช่วง 1-2 ปี แต่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชี้แจงว่า มีการให้ความเห็นเรื่องดังกล่าวไว้นานแล้วก่อนหน้านี้ อันนี้คืออีกหนึ่งข้อสงสัยว่าทำไม กรมราชทัณฑ์จึงหยิบฉวยเรื่องนี้มาทำระเบียบดังกล่าวในช่วงนี้

-เดิมที ตอนที่มีการเผยแพร่ระเบียบกรมราชทัณฑ์ฯดังกล่าวออกมา ก็มีการคาดหมายกันว่า ทักษิณ อาจจะได้รับการพิจารณาให้ไปคุมขังนอกเรือนจำ จะได้กลับบ้านในช่วงก่อนปีใหม่ แต่สุดท้าย ก็ยังไม่มีอะไรออกมา ประเมินว่า เพราะเหตุใด หรือเพราะยังเกรงกระแสสังคมจะวิจารณ์เลยไม่มีการทำอะไร?

พิชิต-พอออกประกาศ ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 ก็จะต้องมีการออกข้อบังคับเพื่อพิจารณาว่านักโทษคนใด จะมีลักษณะเข้ากับระเบียบดังกล่าว

ถึงตอนนี้ พบว่า ยังไม่มีการออกข้อบังคับมา ผมเข้าใจว่า การที่ข้อบังคับยังไม่ออก ทั้งที่สามารถเขียนได้ภายในวันเดียว อย่างก่อนหน้านี้ เราก็ไปคุยกับผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ และผู้บริหารของกระทรวงยุติธรรม เขาก็บอกว่า ข้อกำหนดเหล่านี้ แค่ 1-2 วันก็สามารถเขียนเสร็จได้ แต่สุดท้าย ที่ทักษิณ ยังไม่ได้ออกไป อาจเพราะกระแสสังคมมีคำถามกับเรื่องนี้มาก ทำให้หากมีการเร่งออกมาอย่างรวดเร็ว แรงต้านจะตีกลับไปที่กรมราชทัณฑ์ ทั้งที่ข้อบังคับดังกล่าว สามารถเขียนได้เลย ว่านักโทษลักษณะแบบไหน ใครจะเข้าหลักเกณฑ์บ้าง แต่เกณฑ์ตามระเบียบดังกล่าว ทักษิณ เข้าเกณฑ์หมด สามารถออกมาอยู่ข้างนอกได้เลย เพียงแต่ก็มีกฎเกณฑ์ควบคุมอยู่

ตอนนี้  ก็เป็นทางสองแพร่งของทักษิณ คือหาก "คณะทำงานพิจารณาการคุมขังในสถานที่คุมขัง"ที่ตั้งขึ้นมาตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ที่ออกมาเมื่อ 6 ธ.ค. 2566 ที่มีรองอธิบดีที่กำกับดูแลกองทัณฑวิทยาเป็นประธานถ้ามีการประชุมกันแล้วมีการประกาศหลักเกณฑ์ออกมา หากทักษิณ ไปเลือกเข้าหลักเกณฑ์นี้ ก็อาจมีการประกาศให้รพ.ตำรวจ เป็นสถานที่คุมขังนอกเรือนจำ ต่อก็ได้ หรือจะประกาศให้บ้านจันทร์ส่องหล้า เป็นพื้นที่คุมขังนอกเรือนจำก็ได้ หรือจะเป็นโรงพยาบาล พระรามเก้าก็ได้ ก็คือเปลี่ยนจากรพ.ตำรวจที่เป็นที่รักษาตัว ให้เป็นที่คุมขังตามระเบียบฯ เพื่อจะได้ไม่ต้องเข้าเรือนจำ เพียงแต่เลือกที่จะรักษาตัวต่อที่รพ.ตำรวจ ด้วยระเบียบตัวเดิม หรือกักตัวนอกเรือนจำ ตามระเบียบใหม่ ก็อยู่ที่กระแสสังคม เพื่อรอให้ถึง 22 ก.พ. 2567 ที่ถึงตอนนั้นก็จะครบประมาณหกเดือนเพื่อไปเข้าหลักเกณฑ์การพักโทษ ซึ่งอยู่ที่กระแสสังคม แต่ทักษิณ จะไม่เลือกที่จะกลับไปเข้าเรือนจำแม้แต่วันเดียว

ผมเชื่อว่า ทักษิณ น่าจะเลือกใช้ระเบียบการคุมขังนอกเรือนจำ ที่ออกมาเมื่อ 6 ธ.ค. 2566 โดยประกาศให้รพ.ตำรวจ เป็นพื้นที่กักตัวเพื่อเฝ้าดูอาการป่วย  ไม่ใช่พื้นที่รักษาตัวแล้ว ที่พอเข้าสู่การกักตัว ก็ไม่ต้องมีเรื่องของใบรับรองแพทย์อะไรต่างๆ แบบที่ผ่านมาแล้ว จะเป็นการตัดความยุ่งยากของแพทย์ไปได้ด้วย และหลัง 22 ก.พ. ที่จะถึงนี้ ทักษิณ จะได้รับการพักโทษโดยที่ไม่ได้อยู่ที่เรือนจำ 

นัสเซอร์ -การพักโทษเป็นเบสิกพื้นฐานของนักโทษอยู่แล้วแต่ก่อนที่คุณจะได้รับการพักโทษ เขาควรต้องมาอยู่ในคุก เช่นสมมุติทนกระแสสังคมไม่ไหว สองสัปดาห์สุดท้ายก่อนพักโทษ ก็กลับมาเรือนจำฯ นอนในคุกเสีย แต่จากที่เขาทำตอนนี้ ดูเหมือนทักษิณ จะต้องการทำในสิ่งที่เขาเคยประกาศว่าจะไม่ยอมติดคุกแม้แต่วันเดียว

-คิดว่าในส่วนของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หากกรณีทักษิณ สุดท้าย ได้รับการพักโทษ ไม่ต้องติดคุกแม้แต่วันเดียวไปจนถึงวันที่ครบหนึ่งปี จะทำให้เกิดกรณีแบบเดียวกัน กับยิ่งลักษณ์ ได้หรือไม่?

พิชิต- การที่ นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกฯพูดถึงเรื่องของยิ่งลักษณ์เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา (การเดินทางกลับมารับโทษและการขอพระราชทานอภัยโทษ) มันเหมือนกับการโยนหินถามทาง ซึ่งกรณีของทักษิณ จะเป็นโมเดลให้กับยิ่งลักษณ์ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะภายใต้ระเบียบตัวใหม่ของกรมราชทัณฑ์ เพราะทักษิณเข้ามาเบิกทางไว้แล้ว ใช้ระเบียบตัวเดิม รักษาตัวนอกเรือนจำ และมาเปิดทางระเบียบใหม่ฯ การคุมขังนอกเรือนจำ ก็เป็นไปได้มากที่ยิ่งลักษณ์ จะกลับมาด้วยเงื่อนไขเดียวกับทักษิณ โดยใช้ระเบียบการคุมขังของกรมราชทัณฑ์สองระเบียบดังกล่าว ทำให้ก็จะได้ไม่ต้องอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียวตามพี่ชาย

นัสเซอร์-กระบวนการของยิ่งลักษณ์ ก็จะเดินตามรอยทักษิณ คือกลับมารับโทษ แล้วขอพระราชทานอภัยลดโทษ แล้วก็ไปใช้ระเบียบตัวใหม่ที่ให้คุมขังนอกเรือนจำ เพราะถือว่าเป็นบุคคลพิเศษ อันนี้ยกตัวอย่างสมมุติ เพราะา "คณะทำงานพิจารณาการคุมขังในสถานที่คุมขัง"ใช้คนแค่แปดคนพิจารณา เป็นแปดอรหันต์ที่มีแค่รองอธิบดีที่ใหญ่ที่สุดแต่พิจารณานักโทษทั้งประเทศ ดูแล้วมันไม่สมเหตุสมผล ซึ่งดูแล้วสุ่มเสี่ยงที่จะใช้อำนาจเลยเถิด

รัฐบาลด้อยค่า พลังของพี่น้องประชาชนเกินไป ต้องบอกว่า การปลุกขึ้นหรือไม่ขึ้น  ไม่ได้วัดจากจำนวนคนที่มาร่วมเคลื่อนไหวชุมนุม แต่อยู่ที่สังคม คิดแบบเดียวกันกับสิ่งที่เราพูดหรือไม่ วันนี้คนในสังคม ผมคิดว่าเกินกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ คิดตรงกับพวกเรา คปท. แค่นี้ ผมคิดว่ามันปลุกขึ้นแล้ว ...รอยแผลเป็นกรณีของทักษิณ จะส่งผลต่อรัฐบาลเพื่อไทย ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเศรษฐา หรือการที่ แพทองธาร อาจจะรอขึ้นมาเป็นนายกฯ ในอนาคต

-หลังเสร็จการนัดชุมนุมเคลื่อนไหว ในช่วงสุดสัปดาห์นี้แล้ว ทางคปท.จะเคลื่อนไหวเรื่องนักโทษชาย ทักษิณ อย่างไรต่อไป?

พิชิต-จะมีการเคลื่อนไหวทั้งเรื่องการติดตามคำร้องที่คปท.เคยไปยื่นเรื่องไว้กับป.ป.ช. ที่ได้ยื่นเรื่องขอให้ป.ป.ช.ตั้งกรรมการไต่สวนดำเนินการกับข้าราชการ เช่น ผู้บริหารในกรมราชทัณฑ์หรือนายแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ทางคปท.จะเดินทางไปยังสำนักงานป.ป.ช.ในวันอังคารที่ 16 ม.ค.

โดยเรื่องนี้ ข้าราชการประจำ อาจต้องกลายเป็นแพะรับบาป รับโทษมีคดี เพราะมีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มีความเสียหายเกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรม รวมถึงการเคลื่อนไหวล่ารายชื่อประชาชน สองหมื่้นชื่อ เพื่อยื่นต่อประธานรัฐสภา แล้วให้ประธานรัฐสภายื่นต่อประธานศาลฎีกา โดยหากการไปพบกับเลขาธิการป.ป.ช.วันที่ 16 ม.ค. ถ้าสุดท้าย ไม่มีความคืบหน้าในการไต่สวนคำร้องตามที่คปท.ยื่นไป ยังไม่มีการตั้งกรรมการอะไรมาไต่สวน คปท.ก็จะเคลื่อนไหวล่ารายชื่อประชาชน เพื่อส่งต่อประธานศาลฎีกา เพื่อให้มีการตั้งองค์คณะฯ มาไต่สวนกรรมการป.ป.ช.

โดยการจะตั้งองค์คณะมาไต่สวนป.ป.ช. ของศาลฎีกา เป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 236 ที่กระบวนการจะมาจากสองทางคือ หนึ่ง จากสมาชิกรัฐสภา ทั้งส.ส.-สว. หรือสมาชิกของทั้งสองสภา จํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือ 2.ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจํานวนไม่น้อยกว่าสองหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อส่งถึงประธานรัฐสภา เพื่อกล่าวหาป.ป.ช. ที่หาก สมาชิกรัฐสภาไม่ดำเนินการ  ประชาชนสามารถเข้าชื่อเสนอได้ 

-คิดว่ากรณีของทักษิณ ป.ป.ช.ทำไมถึงยังไม่ได้ขยับอะไร มองว่าช้าเกินไปหรือไม่?

นัสเซอร์ -องค์กรป.ป.ช.ระยะหลังสังคมมองว่าเป็นองค์กรที่ไม่ได้ปลอดจากการเมือง  คือเอนเอียงไปในทางการเมืองไม่ได้เพื่อปกป้องชาติ ประชาชนจริงๆ กรณีของนักโทษชาย ทักษิณ เป็นกรณีคดีทุจริตต่อชาติบ้านเมือง ไม่ใช่คดีขโมยโทรศัพท์ของราชการ หรือคดีแอบใช้รถหลวง ซึ่งป.ป.ช.รีบเร่งตลอดเวลาเกิดเรื่องแบบนี้ แต่กรณีของทักษิณ ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ตัดสินว่ามีความผิดในเรื่องทุจริตคอรัปชั่น อันเกี่ยวข้องกับป.ป.ช.โดยตรง

การไปที่สำนักงานป.ป.ช.วันที่ 16 ม.ค. จึงเป็นการไปเร่งรัดและสอบถามความคืบหน้าในเรื่องที่คปท.ได้ยื่นคำร้องไปก่อนหน้านี้ เพราะจริงๆ เรื่องของทักษิณ มีหลายกลุ่มไปยื่นเช่น ศรีสุวรรณ จรรยา หรืออดีตส.ส.วัชระ เพชรทอง ที่แสดงให้เห็นว่า การที่มีหลายกลุ่มบุคคลไปยื่นให้ป.ป.ช.สอบสวนเรื่องนี้ เป็นเพราะเคสของนายทักษิณ เป็นเรื่องสำคัญและกระทบกับความรู้สึกของประชาชน

พิชิต-ตอนเราไปยื่นเรื่องให้ป.ป.ช.เข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ เขาอ้างว่าคำร้องที่ยื่นมามีเยอะ เขาต้องทำงานแบบไล่ตามลำดับเลขคดี ซึ่งผมว่ามันฟังไม่ขึ้น แต่คปท.มองว่าเรื่องของทักษิณ เป็นความเสียหายในกระบวนการยุติธรรม ที่เป็นเรื่องเร่งด่วนในสังคม ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องพิเศษที่น่าจะสามารถตั้งอนุกรรมการไต่สวนได้ทันที

save กระบวนการยุติธรรม ปลุกขึ้นแล้ว สังคมเอาด้วย

-มองว่าการที่ฝ่ายทักษิณ ไม่สนใจกระแสสังคม จนนอนพักอยู่ที่รพ.ตำรวจเกิน 120 วันทั้งที่คนไม่พอใจจำนวนมาก เป็นเพราะทักษิณอาจคิดว่า กระแสสังคมที่ไม่พอใจมีไม่มาก ม็อบอะไรต่างๆ ก็ปลุกไม่ขึ้น จุดไม่ติดหรือไม่?

นัสเซอร์-มองว่า ก็เป็นเรื่องปกติ คือต้องยอมรับว่า เก้าปีที่ผ่านมาของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ กลุ่มการเมืองที่ออกมาเคลื่อนไหวในช่วงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ เป็นกลุ่มการเมืองที่สวิงไปยังฝั่งที่เราก็เห็นกันอยู่คือฝั่งม็อบสามนิ้ว และกลุ่มที่เคยเคลื่อนไหวตรวจสอบรัฐบาลทักษิณและยิ่งลักษณ์  รัฐบาลเพื่อไทย ในช่วงที่ผ่านมา ก็พักการตรวจสอบไปพอสมควร หลายกลุ่มหยุดพักไปโดยปริยายเพราะช่วงนั้นก็คือ ทุกคนก็สาละวนกับการที่บอกว่า จะไม่ทำให้ไปวุ่นวายกับกรณีที่อยากให้พลเอกประยุทธ์จัดการหรือว่าดูแลบ้านเมืองในช่วงสามนิ้วมาม็อบ และต่อมาในช่วงปลายรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ที่มี กลุ่มคณะหลอมรวมฯ ที่เริ่มออกมาเคลื่อนไหวตรวจสอบรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ แต่คนก็ยังอยากให้โอกาสรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ในการบริหารประเทศให้สุดทาง

พอมาในยุคนี้ ช่วงหนึ่งร้อยกว่าวันที่คปท.เคลื่อนไหวและพูดเรื่องนักโทษชาย ทักษิณ ก็เหมือนกับการปลุกพื้นจิตใจ ปลุกฟื้นกระบวนการขึ้นมาใหม่ ให้คนที่เคยต่อสู้ ได้เห็นว่า ภารกิจหน้าที่การงานในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และการตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นของผู้บริหารบ้านเมือง มันยังไม่จบ ปรากฏการณ์ของนักโทษชายทักษิณ คือปรากฏการณ์ของการจัดการปัญหาเหล่านี้ ของภาคประชาชนมันไม่สะเด็ดน้ำ

ต่อคำถามว่าทำไมถึงปลุกไม่ขึ้น ผมคิดว่าอย่าไปมองปรากฏการณ์กปปส.แล้วมาอธิบายการพูดถึงนักโทษชายทักษิณ มันคนละปัจจัย อันนี้ไม่ใช่การปลุกประชาชน แต่เป็นการออกมายืนหยัดในหลักของบ้านเมือง ปลุกกระบวนการยุติธรรม ความเป็นธรรม แต่เราต้องใช้เวลา

พิชิต-แต่ผมว่าปลุกขึ้น รัฐบาลด้อยค่า พลังของพี่น้องประชาชนเกินไป ต้องบอกว่า การปลุกขึ้นหรือไม่ขึ้น  ไม่ได้วัดจากจำนวนคนที่มาร่วมเคลื่อนไหวชุมนุมแต่อยู่ที่สังคม คิดแบบเดียวกันกับสิ่งที่เราพูดหรือไม่ วันนี้คนในสังคม ผมคิดว่าเกินกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ คิดตรงกับพวกเรา คปท. แค่นี้ ผมก็คิดว่ามันปลุกขึ้นแล้ว และสิ่งที่คนในสังคมจะสามารถมีส่วนร่วมกับคปท.มันมีได้หลายรูปแบบเช่นในโซเชียลมีเดีย ก็ร่วมกันติดแฮชแท็ก#save กระบวนการยุติธรรม และร่วมกันลงชื่อกับคปท.ในกรณีการขอให้มีการตั้งองค์คณะไต่สวนป.ป.ช. และมาร่วมกิจกรรมกับคปท.บนท้องถนนก็ได้ เรามีกิจกรรมทางเลือก ไม่ได้มีแค่การชุมนุม ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้

นัสเซอร์-การชุมนุม ไม่จำเป็นต้องเริ่มจากปริมาณ การชุมนุมที่สำคัญ มีน้ำหนัก และแหลมคมที่สุด ก็คือ เหตุและผล และประเด็นในการเคลื่อนไหว เพราะฉะนั้นแล้ว สังคมไทยต้องเรียนรู้ใหม่ กับการเคลื่อนไหวทางสังคมว่าปริมาณ ไม่ใช่ตัวชี้วัด แต่อยู่ที่ ประเด็น และเหตุผลต่างหาก หากคนที่เขาอยู่บ้าน แต่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหว ก็สามารถแอ็คชั่นอยู่ที่บ้านก็ได้

เตือนจนท.รัฐ-ข้าราชการ ช่วย"ทักษิณ"ไม่ต้องนอนคุก บั้นปลายชีวิต อาจจบไม่สวย

-จะมีเสียงเตือนไปถึง พวกเจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการประจำรวมถึงฝ่ายการเมือง ที่อาจจะไปช่วยเหลือทักษิณอะไรหรือไม่ เพราะอย่าง รมว.ยุติธรรม ก็ยังบอกกลางสภาฯ ว่า ทักษิณ คือผู้สร้างสันติภาพ?

นัสเซอร์- ตั้งแต่ทักษิณ กลับมา ดูจะไม่ค่อยสันติภาพในประเทศ มีแต่จะทำลายสันติสุข จากเมื่อก่อน คนจะไม่ค่อยมานั่งพูดกันเรื่องข้อกฎหมาย ความยุติธรรม เพราะก่อนหน้านี้ คนยังรู้สึกว่า ทุกคนถูกปฏิบัติอย่างเท่าเทียม แต่วันนี้ที่ทักษิณ เดินทางกลับมาหนึ่งร้อยกว่าวัน คนเขาเห็นแล้วว่าการปฏิบัติต่อทักษิณ มันไม่ยุติธรรม กับนักโทษคนอื่นๆ

ผมคิดว่า ข้าราชการประจำ หรือคนที่ช่วยเหลือนักโทษชาย ทักษิณ ต้องไปดูอุทาหรณ์ในอดีต เช่น อดีตกรรมการการเลือกตั้ง ยุคสามหนา ที่เคยช่วยเหลือพรรคการเมืองบางพรรค ในช่วงการเลือกตั้งในอดีต จนถูกศาลอาญาตัดสินจำคุก หรืออดีตข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ ที่เคยมีส่วนร่วมช่วยเหลือการทุจริตโครงการจำนำข้าว และอีกหลายกรณีที่ข้าราชการประจำต้องถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดในการทำหน้าที่ เช่น อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ธาริต เพ็งดิษฐ์ (ความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา) 

ถามว่าวันนี้ อดีตข้าราชการที่ต้องรับโทษ ทำให้ญาติมิตรต้องมานั่งเสียใจ แต่นักการเมืองก็ยังเสวยสุขกันเหมือนเดิม อยากถามว่า พวกคุณจะไปยอมรับใช้เขา จนสุดท้าย บั้นปลายอาจต้องรับโทษไปอยู่ในคุก มันไม่สนุกหรอก  

พิชิต-สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการ อยากให้ดูประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ อย่างที่ นัสเซอร์ ยกตัวอย่าง ทั้งข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ที่ไปร่วมมือช่วยเหลือการทุจริตรับจำนำข้าวหรืออดีตกกต. ที่เคยไปช่วยเหลือบางพรรคการเมืองในช่วงเลือกตั้ง ก็จะพบว่าข้าราชการ ก็มักจะเป็นหนังหน้าไฟของฝ่ายการเมืองและต้องไปติดคุกจริงมาโดยตลอด เมื่อดูจากประวัติศาสตร์การรับใช้นักการเมืองที่ผ่านมา อย่างที่เห็นกัน ไม่ว่าจะเป็นเช่น พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ อดีตประธานกกต. นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีดีเอสไอ

การที่รมว.ยุติธรรม พ.ต.อ.ทวี บอกว่า ทักษิณ คือผู้สร้างสันติภาพ เพราะที่ผ่านมา ก็อย่างที่เห็นกัน สมัยทักษิณ บริหารประเทศ ก็มีแต่ทำให้เกิดความขัดแย้ง และการคอรัปชั่น จนทำให้ประชาชนออกมาเคลื่อนไหวการเมืองบนท้องถนน ก็มาจากการบริหารประเทศของนายทักษิณ ที่มีจุดเริ่มต้นจากการทุจริตคอรัปชั่น

ดังนั้น ทักษิณ จึงไม่ใช่ผู้สร้างสันติภาพ แต่เป็นต้นชนวนเหตุของความขัดแย้งทางการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา ระบอบทักษิณ ทำให้เกิดวิกฤตการเมืองในช่วงเวลาที่ผ่านมา ดังนั้น เขาจึงไม่ใช่ผู้สร้างสันติภาพ แต่เขาเป็นผู้ทำลายสันติภาพด้วยการทุจริตคอรัปชั่น

-เห็นก่อนหน้านี้ คปท.มีการเดินสาย หาแนวร่วมต่างๆ เช่น นพ.วรงค์ ประธานพรรคไทยภักดี หรือนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ทางคปท.จะมีการหาแนวร่วมมาร่วมเคลื่อนไหวเรื่องทักษิณอย่างไร?

พิชิต-คนที่ออกมาพูดเรื่องเกิดความไม่ยุติธรรม ในกรณีนายทักษิณ มีจำนวนมาก คปท.เดินทางไปพบพูดคุย ก็เพื่อสร้างความร่วมมือในประเด็นต่างๆ อย่างเช่นที่ไปพบ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ก็ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางกฎหมาย เพราะเขาก็เป็นนักกฎหมาย ก็มีการเสนอแนวทางการล่ารายชื่อ ที่ก็จะเป็นเจ้าภาพร่วมกัน ทั้งคปท.และเครือข่ายของคุณนิพิฎฐ์ ส่วนที่ไปคุยกับหมอวรงค์ ที่เป็นฝ่ายพรรคการเมือง โดยหลักแล้วหมอวรงค์ ก็เห็นด้วยในหลักการที่ว่าต้องทำให้เรื่องความยุติธรรม ต้องเกิดความเท่าเทียม

ในการพูดคุยหาแนวร่วม ก็มีการคุยกันถึงเรื่องว่า ต่อไป จะต้องชูเรื่อง การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ เพราะที่ผ่านมา กระบวนการอาจมีความบิดเบี้ยว อย่างช่วงนี้ก็มีข่าวเกี่ยวกับเรื่องการสั่งคดีของฝ่ายอัยการ มันจึงต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ที่จะต้องเป็นนโยบายของพรรคการเมืองที่ร่วมกับประชาชนในการเดินหน้าเรื่องนี้ ให้ต่อเนื่องหลังก่อนหน้านี้ คปท.ก็เคยเสนอแนวคิดเรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไว้ก่อนแล้วเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งหมอวรงค์ ก็เห็นด้วยกับเรา  หรืออย่างที่ไปคุยกับ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ก็ทำให้เห็นว่ามีกระบวนการทางการแพทย์ ที่เอื้ออำนวยให้ทักษิณ ชินวัตร ได้อยู่บนชั้น 14 รพ.ตำรวจ โดยไม่มีการตรวจอย่างเข้มงวดจากทางการแพทย์

นัสเซอร์-ประเด็นเรื่องความยุติธรรม กระบวนการยุติธรรม มันไม่ใช่แค่เรื่องทักษิณเรื่องเดียว แต่เราต้องการทำให้กรณีของทักษิณ จุดประเด็นให้คนในสังคมได้เห็น ว่าหากให้กระบวนการทางการเมืองเข้ามาจัดการกับกระบวนการยุติธรรมได้แบบนี้ แล้วต่อไป ประเทศมันจะอยู่กันยังไง ประชาชนก็ต้องมาช่วยกัน การไปแสวงหาความร่วมมือจึงเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับการขับเคลื่อนทำงานต่อในอนาคตของคปท.

ในตอนท้าย "พิชิต-แกนนำคปท."ย้ำว่า กรณีของนักโทษชาย ทักษิณ ถึงตอนนี้ กลายเป็นรอยแผลให้รัฐบาลเพื่อไทยในเวลานี้ไปแล้ว ที่ตอนนี้กลายเป็นแผลอักเสบของรัฐบาลไปแล้ว เพราะจากที่เศรษฐา ทวีสิน นายกฯเคยประกาศตอนรัฐบาลแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภาว่าจะบริหารประเทศโดยยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรม แต่กลายเป็นว่า มีการอุ้มทักษิณ ไปนอนที่รพ.ตำรวจจนถึงปัจจุบัน โดยที่ไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนให้สังคม นี้คือการทำลายกระบวนการยุติธรรม ด้วยอำนาจรัฐเอง โดยใช้ระบบราชการเป็นเครื่องมือ

"รอยแผลเป็นกรณีของทักษิณ จะส่งผลต่อรัฐบาลเพื่อไทย ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเศรษฐา หรือการที่ แพทองธาร อาจจะรอขึ้นมาเป็นนายกฯ ในอนาคต

เรื่องของทักษิณ จะกลายเป็นรอยแผลของพรรคเพื่อไทยต่อไป และยิ่งหากปล่อยไว้แบบนี้เรื่อยๆ แล้ว จะให้ ยิ่งลักษณ์ ใช้วิธีการเดียวกันนี้เหมือนพี่ชาย ในการหวังจะกลับเข้ามา ก็จะยิ่งทำให้รัฐบาลมีความอ่อนแอ เกิดความไม่ชอบธรรมเกิดขึ้น ถ้าไปถึงจุดนั้น คปท.ก็พร้อมยกระดับในการตรวจสอบรัฐบาล

กรณีของทักษิณ คปท.ยังแค่เรียกร้องให้อยู่บนมาตรฐานของกระบวนการยุติธรรม แต่หากยัดดื้อดึง มีการใช้กรณีแบบทักษิณ ไปใช้กับยิ่งลักษณ์ ถ้าคิดจะกลับเข้ามา คปท.ก็พร้อมยกระดับในการตรวจสอบรัฐบาลต่อไป"

กรณีของทักษิณ จะทำให้ในอนาคต การที่หวังจะขึ้นเป็นนายกฯของแพทองธาร ด้อยค่าลง เพราะกรณีของทักษิณ มันทำให้ความสง่างามของเศรษฐา มีปัญหา สง่างามไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ตราบใดที่คนยังคาใจอยู่แบบนี้ แพทองธาร คะแนนนิยมจะยิ่งลดลงเรื่อยๆ ถ้ายังไม่เคลียร์เรื่องนี้ให้ชัดเจน เพราะมันจะเป็นว่า พ่อมาปูทางให้เดิน ภายใต้การเหยียบย่ำ กระบวนการยุติธรรม

นัสเซอร์-เวลาที่ผ่านมาร้อยกว่าวันของนักโทษชายทักษิณ ที่ไปนอนรพ.ตำรวจ ก็คือ หนึ่งร้อยกว่าวันในความล้มเหลวของรัฐบาลเศรษฐา เพราะตอนนี้ รัฐบาลเศรษฐา เป็นจำเลยของกรณีดังกล่าว โดยเฉพาะนายกฯ ที่พยายามเลี่ยงจะพูดถึงตลอดเวลา ลอยตัวเหนือปัญหา โดยหากเศรษฐา ยังลอยตัวเหนือปัญหา แล้วยิ่งหากยิ่งลักษณ์ จะกลับมาแล้วใช้วิธีการเดียวกับทักษิณอีก จะทำให้ คปท.ยิ่งต้องเพิ่มดีกรีของการตรวจสอบมากยิ่งขึ้น คิดว่าประชาชนคงไม่อยู่นิ่งเฉย โดยทาง คปท.จะต้องมีมาตราการที่เข้มข้นกว่าที่เป็นอยู่

ถามปิดท้ายว่า ถึงตอนนี้ ประชาชนยังเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมได้หรือไม่ หลังเกิดกรณีของทักษิณ "พิชิต-แกนนำคปท."ระบุว่า เรื่องความเชื่อมั่น คนอาจมีคำถามกับความเชื่อมั่น คนมีคำถามเรื่องนี้เยอะ ก็อาจทำให้ความเชื่อมั่นลดน้อยลง แต่ประชาชน ก็ยังเคารพ กระบวนการยุติธรรม สิ่งที่คปท.ทำคือ เราเคารพกระบวนการยุติธรรม และอยากให้คนเคารพกระบวนการยุติธรรม และต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยแม้ความเชื่อมั่นอาจจะน้อยลงหลังเกิดกรณีทักษิณ แต่เราก็ยังเคารพกระบวนการยุติธรรม และเรียกร้องให้ ทักษิณ ยิ่งลักษณ์ เคารพกระบวนการยุติธรรมด้วย

"กรณีของทักษิณ คือประวัติศาสตร์ของการเมืองไทยและกระบวนการยุติธรรมไทย เพราะมันคือการคอรัปชั่นความยุติธรรม ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาในประเทศเลย มันไม่มีที่นักโทษที่โดนศาลตัดสินจำคุกคดีทุจริตคอรัปชั่นที่เป็นคดีร้ายแรง การที่นักโทษที่โดนศาลตัดสินว่าทำความผิดในคดีร้ายแรง แต่สุดท้าย ไม่เคยถูกคุมขัง ใช้กระบวนการอุ้มออกมาอยู่นอกเรือนจำ มันเป็นการโกงกระบวนการยุติธรรม ที่คนไทยส่วนใหญ่รับไม่ได้ และเป็นการทำลายระบบนิติรัฐในสายตานานาประเทศด้วย"พิชิต ระบุไว้

โดยวรพล กิตติรัตวรางกูร

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

งบ68ทร.ซื้อเครื่องบินลำเลียง “เรือดำน้ำ-ฟริเกต”ไปถึงไหน?

ฟันธงกันว่าปิดจ๊อบปรับคณะรัฐมนตรี “เศรษฐา 2” ที่โรงแรมหรูกลางกรุงไปแล้ว โดยมี ทักษิณ ชินวัตร นั่งหัวโต๊ะคุยรอบสุดท้ายโดยไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยน ว่ากันว่า โผนี้ชื่อของ เกรียง กัลป์ตินันท์ กับ สุทิน คลังแสง ยังเหนียว

'ทวี' พร้อมให้ตรวจสอบ ลั่น! 'อะไรที่กฎหมายไม่เขียนให้เราทำได้เราก็จะไม่ทำ'

ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว. ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีกรณีที่ถูก นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี ร้