มาฆบูชาโลก ณ เวฬุวันมหาวิหาร ชมพูทวีป (พ.ศ.๒๕๖๗)

เจริญพรศรัทธาสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในห้วงเวลาระหว่าง ๒๒-๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ได้เดินทางไปประกอบศาสนกิจอันสำคัญยิ่งในชมพูทวีป บนแผ่นดินเกิดพระพุทธศาสนา เนื่องใน วันมาฆบูชาโลก ซึ่งปีนี้ตรงกับ วันเสาร์ที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ เป็น “วันมาฆบูชาปูรณมี”

เมื่อกล่าวถึงวันมาฆบูชาในพระพุทธศาสนา.. เราทั้งหลายจะนึกถึง เวฬุวันมหาวิหาร วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าประทับท่ามกลางพระอรหันตสาวก ๑,๒๕๐ รูป เพื่อประทานพระโอวาทปาติโมกข์แด่คณะสงฆ์ ด้วยพระประสงค์ให้องค์กรสงฆ์เข้มแข็ง มั่นคง ในการทำหน้าที่สืบเนื่องอายุพระพุทธศาสนา

พระพุทธองค์ทรงรู้แจ้งในโลก (โลกะวิทู) จึงได้ทรงวาง หลักการ อุดมการณ์ ข้อปฏิบัติ เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้กับคณะสงฆ์ จึงได้ประทานพระโอวาทปาติโมกข์ภายหลังจากการตรัสรู้เพียง ๙ เดือน ทำให้พระพุทธศาสนาได้สืบเนื่องอายุมาจนถึงวันนี้ ยาวนานมากกว่าสองพันปี ผ่านไปหลายช่วงอายุของมนุษย์เรา

การให้ความสำคัญในวันมาฆบูชาของคณะสงฆ์ จึงนับเป็นเรื่องที่ควร.. เพื่อจะได้ทบทวนบทบาท หน้าที่ ของความเป็นภิกษุในพระศาสนา ว่า.. ได้สร้างภูมิรู้ในสารธรรมมาฆบูชา คือ พระโอวาทปาติโมกข์ บ้างหรือไม่..

เพราะความไม่เข้าใจในสาระสำคัญของพระโอวาทปาติโมกข์นี้แหละ.. จึงทำให้องค์กรพระสงฆ์แตกแยกเป็นนิกายต่างๆ มากกว่า ๑๘ นิกาย เพียงแค่ร้อยปีหลังพุทธปรินิพพาน

จึงไม่ต้องกล่าวถึงความไม่ตรงทางของพระสงฆ์ในปัจจุบัน ที่ส่วนใหญ่ยังเดินไปด้วยความสำคัญมั่นหมายของตน ว่า.. นี้คือความถูกต้อง.. โดยขาดความรู้ความเข้าใจในพระธรรมวินัยที่แท้จริง...

ยิ่งคณะสงฆ์พากันหลงทางละทิ้งพระพุทธพจน์ ด้วยความเชื่อในคณาจารย์ ได้ปลอมปนทิฏฐิของตนและหมู่คณะเข้ามาในพระธรรมวินัย จนเกิดพระสัทธรรมเนื้องอกขึ้นมากมาย ผ่านทางภาษาบาลีที่ตีความกันเองอย่างขาดญาณ .. ปัญญา จึงยิ่งเห็นความล้มเหลวขององค์กรสงฆ์ในความมีอยู่ของ พระพุทธศาสนา

การขาดญาณ.. ปัญญา.. ที่นำไปสู่ สัญญา สังขาร.. ก่อเกิดทิฏฐิ อันเป็นเหตุให้เกิดความวิปลาสในธรรม.. อย่างไม่ตั้งใจ.. ไม่รู้ไม่เข้าใจ จึงเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก อันเป็นภัยร้ายที่มาแต่ภายในพระศาสนา

จึงได้เห็นร่องรอยความหายนะขององค์กรพระศาสนา ที่เกิดจากการประพฤติปฏิบัติอย่างไม่เคารพในพระธรรมวินัย.. ไม่ให้ความสำคัญแด่พระโอวาทปาติโมกข์ของผู้อ้างตนว่าเป็นภิกษุในพระศาสนา.. จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่นำไปสู่การไม่ให้ความสำคัญในวันมาฆบูชา...

สมัยที่ได้เดินทางไปสู่ชมพูทวีปในครั้งแรก จึงเกิดความสังเวช เมื่อเวฬุวันมหาวิหาร ที่กลายเป็นสวนป่าเวฬุวันของฮินดูในปัจจุบัน ถูกทอดทิ้งจากชาวพุทธ.. ไร้การเหลียวแล ทั้งๆ ที่เป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าประทับถึง ๕ พรรษา ได้แก่ พรรษาที่ ๒-๓-๔-๑๗ และ ๒๐ โดยเฉพาะความเป็นเมืองหลวงของพระพุทธศาสนา.. ที่พระพุทธองค์ทรงตั้งเป็นศูนย์กลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา..

การที่ทรงเลือก เวฬุวันมหาวิหาร เป็นสถานที่ประกาศพระโอวาทปาติโมกข์ตามพุทธวิสัย จึงไม่ใช่เรื่องธรรมดาที่ชาวพุทธควรให้ความสำคัญยิ่งในการศึกษา.. หากเราชาวพุทธรักที่จะเข้าใจพระพุทธศาสนาด้วยความศรัทธาเลื่อมใสที่แท้จริง..

ในสมัยนั้น เวฬุวันมหาวิหาร เมื่อถึงวันมาฆบูชา ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ กลับตั้งอยู่ในความมืด ไร้เสียงสวดมนต์บูชาพระพุทธองค์ โดยเฉพาะในยามค่ำ ที่ควรจุดแสงเทียน ทำประทักษิณรอบลานพระโอวาทปาติโมกข์ ที่ตั้งอยู่ใจกลางสวนป่าเวฬุวัน

แตกต่างจาก พระศรีมหาโพธิ์ ที่พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธองค์ ที่ทุกคนให้ความสนใจกันมากที่สุด โดยเฉพาะเนื่องใน วันวิสาขบูชาโลก ที่สหประชาชาติประกาศเป็นวันสำคัญของชาวโลก ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่แปลกที่ชาวพุทธทั่วโลกได้ให้ความสำคัญที่สุด เนื่องในความเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธองค์

แต่ที่แปลกคือ การที่คณะสงฆ์ให้ความสำคัญในวันมาฆบูชาน้อยมาก แม้ในประเทศพุทธศาสนาเถรวาท.. จึงไม่ต้องกล่าวถึงพุทธมหายาน.. ที่ไม่รู้จัก พระโอวาทปาติโมกข์.. ไม่รู้ความสำคัญของ เวฬุวันมหาวิหาร เลย

จึงไม่แปลกอีกเช่นกันที่คณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนา แม้จะอ้างว่ามาจากพระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน จะมีการศึกษาปฏิบัติแตกต่างกันไป จนนำไปสู่การแตกแยกเป็นนิกายต่างๆ ให้ปรากฏเกิดขึ้นที่สืบมาถึงวันนี้

ครั้งหนึ่งได้เข้าประชุมร่วมกับผู้นำพุทธศาสนานานาชาติที่อินเดีย จัดขึ้นโดยรัฐบาลอินเดีย ด้วยนโยบายทางการเมืองของ นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี.. จึงได้มีโอกาสพูดในที่ประชุมผู้นำองค์กรพุทธศาสนานานาชาติจากทั่วโลก ที่มี องค์ทะไล ลามะ เป็นประธาน.. เพื่อให้เข้าใจถึงความสำคัญของพระโอวาทปาติโมกข์ ที่เปรียบดุจธรรมนูญแม่บทของพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนา และได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของ เวฬุวันมหาวิหาร ที่ชาวพุทธไม่ควรทอดทิ้งให้เป็นเพียงแค่สวนป่า อุทยานของชาวฮินดู ที่มาเดินออกกำลังกาย.. เที่ยวพักผ่อนหย่อนใจของหนุ่มสาว.. โดยเฉพาะลานพระโอวาทปาติโมกข์ ที่กลายเป็นสถานที่ตากผ้าของคนงานสวนป่าเวฬุวันในสมัยนั้น...

จำได้ว่า ในการพูดเรื่องวันมาฆบูชา.. พระโอวาทปาติโมกข์และเวฬุวันมหาวิหารในครั้งนั้น ทำให้ท่านองค์ทะไล ลามะ ได้ตื่นตัวหันไปถามผู้ติดตามอย่างสนใจยิ่งในความสำคัญของเวฬุวันมหาวิหาร ซึ่งต่อมานำไปสู่การขอสร้าง สถูปแบบทิเบตในสวนป่าเวฬุวัน ที่เกิดปรากฏภายหลังการพูดเรื่องวันมาฆบูชา ณ เวฬุวันมหาวิหาร ในครั้งนั้น

ด้วยการฟื้นฟูวันมาฆบูชาโลกให้คืนกลับมาบนแผ่นดินเกิด ณ เวฬุวันมหาวิหาร เป็นเรื่องที่ควรทำอย่างยิ่ง นับว่าเป็นภารกิจของการสืบอายุพระพุทธศาสนาที่เกิดมาอย่างมี พันธกิจ... จึงนำไปสู่การเดินทางเข้าจำพรรษาบนภูเขารัตนคีรีในปีพุทธศักราช ๒๕๕๒ ของอาตมา (พระอาจารย์อารยวังโส) เป็นการจำพรรษาบนภูเขาที่สูงเหนือภูเขาคิชฌกูฏ อันเป็นที่ตั้งของ ศานติเจดีย์ ซึ่งสร้างขึ้นโดยผู้นำพุทธศาสนา นิกายนิชิเรน.. จากญี่ปุ่น

ในพรรษาดังกล่าวของอาตมา บนแผ่นดินพระนครราชคฤห์ แคว้นมคธในอดีต.. ต้องใช้ความเพียรสูงมากในการเดินขึ้นลงภูเขา ไปบิณฑบาตถึงบริเวณด้านหน้าสวนป่าเวฬุวัน.. จนสืบเนื่องเข้าไปฉันภัตตาหาร ประกอบศาสนกิจ โดยมีพระภิกษุที่ติดตามไปจำพรรษาที่ วัดไทยสิริราชคฤห์ จำนวน ๓ รูป มาร่วมประกอบศาสนกิจ โดยเฉพาะการลงอุโบสถ ฟังสวดปาติโมกข์ ทุกกึ่งเดือน.. ตามพระธรรมวินัยที่พระสงฆ์ต้องปฏิบัติ

และนั่นก็คือ.. ที่มาของการขออนุญาตเข้าพักในเวฬุวันมหาวิหาร.. เพื่อจัดงานวันมาฆบูชาโลกอย่างเป็นทางการ ที่ได้รับ Official Permit จากหน่วยงานป่าไม้ของรัฐบาลท้องถิ่น รัฐพิหาร/อินเดีย ให้สามารถจัดงานวันมาฆบูชาในสวนป่าเวฬุวันหรือเวฬุวันมหาวิหารได้ โดยจัดขึ้นครั้งแรกในปีพุทธศักราช ๒๕๕๓

การจัดงานมาฆบูชาโลกครั้งแรก ต้องใช้กำลังพอสมควร เพราะมีพระสงฆ์จากเถรวาทและมหายาน เดินทางมาร่วมจำนวนมาก โดยมี พระสังฆราชาจากศรีลังกา พุทธศาสนา นิกายสยาม-อุบาลีวงศ์ มาเป็นองค์ประธาน..

หลังจากนั้น การจัดงานในปีต่อมาก็จะเบาลงบ้าง.. จนเข้าสู่ภาวะปกติที่สามารถจัดเป็นธรรมดาๆ เนื่องในวันสำคัญทางพุทธศาสนา ที่หน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมของรัฐบาลอินเดีย ได้ยอมรับและประกาศเป็นวันสำคัญ ที่นำไปสู่การเชิญตัวแทนองค์กรพุทธศาสนาทั่วโลก เดินทางมาเยี่ยมเยียนสถานที่สำคัญของพุทธศาสนาในรัฐพิหาร ซึ่งหนึ่งในสถานที่สำคัญของพุทธศาสนานั้น ได้แก่ เวฬุวันมหาวิหาร และวันสำคัญของพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง คือ วันมาฆบูชา.. ที่ก่อนหน้านี้ แม้ชาวพุทธอินเดียก็ไม่เคยได้ยินคำว่า..​ วันมาฆบูชาของพุทธศาสนา!!

ในห้วงเวลาไวรัสโควิด-๑๙ แพร่ระบาด จึงได้หยุดการเดินทางไปจัด งานมาฆบูชาที่เวฬุวันมหาวิหาร.. แต่ยังคงสนับสนุนให้เกิด การจัดงานเชิงสัญลักษณ์ของวันมาฆบูชา ณ เวฬุวันมหาวิหาร เพื่อไม่ให้ขาดตอน จนสูญเสียโอกาส

จนเข้าสู่ปีพุทธศักราช ๒๕๖๗.. ที่มีความพร้อมคืนกลับมา ให้สามารถเดินทางมาประกอบศาสนกิจวันมาฆบูชาได้อีกครั้ง ณ เวฬุวันมหาวิหาร จึงได้เห็นภาพคณะสงฆ์.. ศรัทธาญาติโยมจากประเทศไทยและชาวพุทธในอินเดีย ได้ร่วมกันประกอบศาสนกิจดังกล่าว เนื่องในวันมาฆบูชา.. โดยมี รัฐมนตรีแห่งรัฐบาลท้องถิ่น รัฐพิหาร เดินทางมากล่าวต้อนรับและประกาศสนับสนุนการให้ความสำคัญกับเวฬุวันมหาวิหาร ที่ปัจจุบันมีการสวดประกาศเขตอุโบสถ ผูกพัทธ์ ฝังลูกนิมิต สมบูรณ์ ควรค่าแก่พุทธสถานแห่งแรก ที่พระพุทธองค์ทรงกระทำปาริสุทธิอุโบสถ ท่ามกลางพระอรหันตสาวก จำนวน ๑,๒๕๐ รูป ในวันเพ็ญเดือนสาม ก่อนเข้าสู่พรรษาที่ ๒ ของพระพุทธองค์ ที่ต่อมาเรียกว่า วันมาฆบูชา..

การได้มาปรับปรุง ซ่อมแซม ตบแต่ง ทาสี พระอุโบสถโอวาทปาติโมกข์ ณ เวฬุวันมหาวิหาร เพื่อจัดงานวันมาฆบูชาโลก ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๗ นับเป็นมหากุศล ที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก จริงๆ .. จึงควรแก่การนำมาบอกกล่าวให้สาธุชนได้มีส่วนร่วม.. ด้วยการ  อนุโมทนา..สาธุการ!!.

เจริญพร

[email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กกต.เริ่มขยับ พร้อมงัด 'กฎเหล็ก' คุมเข้มเลือก สว. 2567

ความเคลื่อนไหวการได้มาซึ่ง "สมาชิกวุฒิสภา" (สว.) ชุดใหม่ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา

พนัส อดีตสว.-อดีตสสร. คัดเลือกสภาสูง 2567 ฝ่ายประชาธิปไตยมีสิทธิลุ้น

ความเคลื่อนไหวการได้มาซึ่ง"สมาชิกวุฒิสภา"(สว.) ชุดใหม่ ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ....

อย่าใหญ่เกินธรรมชาติ .. พ่อมหาจำเริญ!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. ภาวะโลกร้อน (Global warming) .. อันเกิดเนื่องเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังอยู่ใต้ห้วงวิกฤตการณ์อันเนื่องจากการกระทำของคนเรา

“มิจฉาธรรม .. ในอสัตบุรุษที่น่ากลัวยิ่ง”

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา สงกรานต์ร้อนที่เข้าสู่จุลศักราช ๑๓๘๖ เถลิงศกตรงกับ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๗ นับว่าร้อนแล้ง ตรงกับคำพยากรณ์ที่พร้อมเกิดพายุร้อนได้ในทุกพื้นที่ เป็นการแสดงสภาวะผันผวนที่เนื่องมาจากวิกฤตร้อนของโลก (Climate Change) ที่หลายฝ่ายเฝ้าสังเกตการณ์ด้วยความเป็นห่วงว่า มนุษยชาติจะผ่านวิกฤตโลกร้อนไปได้หรือไม่..

สู่.. โครงการพระคืนสู่ป่า น้อมถวายเป็นพระราชกุศลฯ

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในห้วงเวลาที่อากาศร้อนจัด จนเข้าสู่วิกฤตการณ์ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสานของประเทศ

สู่.. โครงการพระคืนสู่ป่า.. ครั้งที่ ๑/๒๕๖๗!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ในภาวะที่เข้าสู่วิกฤตการณ์โลกร้อน.. ด้วยภาวะการเปลี่ยนแปลงแบบผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติปกติ (Climate Change) อันเป็นผลจากการกระทำของมนุษยชาติ ทั้งในทางตรงและทางอ้อม จึงได้ถือโอกาสคิดทำโครงการนำพระคืนสู่ป่า.. เพื่อศึกษาวงจรธรรมชาติของชีวิตที่เนื่องกับสิ่งแวดล้อม อันประกอบด้วยสรรพสิ่งต่างๆ ที่เกาะเกี่ยวเนื่องกันอย่างมีความสมดุล (Nature Cycle in Balance)