เว้นวรรครัฐประหาร (ตอนที่ ๑๐): การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการยุบสภาเมื่อใกล้ครบวาระของอังกฤษ

 

ในปี ค.ศ. 2011 อังกฤษได้มีการออกพระราชบัญญัติที่เรียกว่า the Fixed-Term Parliament ที่กำหนดให้การยุบสภาก่อนครบวาระจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับเสียงเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรเป็นจำนวนสองในสาม ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบแผนประเพณีในการยุบสภาครั้งใหญ่ของอังกฤษและของโลกเลยก็ว่าได้ 

ความเป็นมาของพระราชบัญญัตินี้เริ่มขึ้นจากการเรียกร้องให้มีการแก้ไขแบบแผนในการยุบสภาโดยนักการเมืองทั้งสองฝาก อันได้แก่ โทนี เบน (Tony Benn) นักการเมืองปีกซ้ายจัดของพรรคแรงงาน และลอร์ด แฮลแชม (Lord Hailsham) จากฝั่งอนุรักษ์นิยม ซึ่งได้กล่าวถึงเหตุผลของทั้งสองไปในตอนที่แล้ว และในตอนนี้ ผู้เขียนจะได้ขยายความความเป็นมาของพระราชบัญญัตินี้ต่อไ

ต่อประเด็นที่สิทธิอำนาจในการยุบสภาเป็นของนายกรัฐมนตรี ศาสตราจารย์ทางนิติศาสตร์ โรเบิร์ต แบล็คเบิร์น (Robert Blackburn)   เห็นว่า การที่สิทธิในการยุบสภาเป็นสิทธิเฉพาะตัวนายกรัฐมนตรีนี้เริ่มเป็นประเพณีการปกครองของอังกฤษมาในในช่วงหลังสงครามโลกที่สอง  เพราะก่อนหน้านี้ ประเพณีแบบแผนการยุบสภาฯของอังกฤษถือว่าจะต้องมาจากการตัดสินใจอย่างรอบคอบร่วมกันของคณะรัฐมนตรี  

นอกจากข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากการให้อำนาจการยุบสภาฯอยู่ในมือของนายกรัฐมนตรีแต่ผู้เดียวของโทนี เบน และลอร์ดแฮลแชม   แบล็คเบิร์นยังได้ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งที่เบนและคนอื่นๆ มีความกังวล ก็คือ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับสถาบันพระมหากษัตริย์

ด้วยภายใต้แบบแผนการยุบสภาฯที่เป็นอยู่ขณะนั้น เปิดโอกาสความเป็นไปได้ที่จะนำสถาบันพระมหากษัตริย์มายุ่งเกี่ยวในปัญหาความยุ่งยากหรือความขัดแย้งทางการเมือง  เพราะในหมู่นักการเมืองและผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญของอังกฤษในปัจจุบันยังคงเห็นพ้องอย่างกว้างขวางทั่วไปในแนวคิดทฤษฎีที่ว่า องค์พระมหากษัตริย์ยังทรงมีพระราชอำนาจวินิจฉัยส่วนพระองค์ (a residual personal discretion) ในการที่จะปฏิเสธหรือยืนยันการยุบสภาฯได้  

ซึ่งต่อประเด็นดังกล่าวนี้ แบล็คเบิร์นได้กล่าวถึงพระราชอำนาจที่จะปฏิเสธหรือยืนยันการยุบสภาว่า ในทางปฏิบัติ ในช่วงเวลากว่า 150 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าองค์พระมหากษัตริย์ของอังกฤษไม่ได้ทรงเข้าไปแทรกแซงโดยการปฏิเสธคำแนะนำการยุบสภาจากรัฐมนตรี แต่พระราชอำนาจนั้นก็ยังคงอยู่   อีกทั้ง เขาชี้ให้เห็นว่า ตัวโทนี เบน เองก็ตระหนักและยอมรับในพระราชอำนาจดังกล่าวนี้ด้วยเช่นกัน โดยแบล็คเบิร์นได้อ้างจากบันทึกที่เป็นหนังสือชื่อ Out of Wilderness: Diaries 1963-1967 ของโทนี เบนเอง โดยในบันทึกดังกล่าว โทนี เบนเห็นว่า พระราชอำนาจดังกล่าวนี้ได้รับการถกเถียงอภิปรายอย่างกว้างขวางมากขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980  เพราะพรรคการเมืองที่อยู่ตรงกลาง (centre parties) ระหว่างพรรคใหญ่สองพรรค (พรรคแรงงานและพรรคอนุรักษ์นิยม)  เริ่มได้รับคะแนนเสียงมากขึ้นในการเลือกตั้ง  ส่งผลให้การเมืองอังกฤษมีแนวโน้มที่จะเกิดสภาวะที่เรียกว่า “hung parliament” ได้มากกว่าที่ผ่านมา  สภาวะ hung parliament คือ สภาวะที่พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร แม้ว่าหัวหน้าพรรคที่ชนะการเลือกตั้งนี้จะสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แต่ก็อ่อนแอ และมีโอกาสเกิดขึ้นในการเมืองอังกฤษปัจจุบันได้มากกว่าในช่วงทศวรรษ 1950 

และในสถานการณ์เช่นนี้  มีผู้ให้ความเห็นว่า องค์พระมหากษัตริย์จะทรงมีบทบาทในการใช้พระราชอำนาจวินิจฉัยส่วนพระองค์ในการประนีประนอมความขัดแย้งระหว่างการกล่าวอ้างความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคการเมืองที่ต่างไม่ได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร  นั่นคือ พระมหากษัตริย์อาจจะทรงใช้พระราชอำนาจวินิจฉัยส่วนพระองค์ในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีหรือยุบสภาฯเพื่อให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่

ในข้อเขียนเรื่อง “Power, Parliament and the People” (1982) ของโทนี เบน แสดงถึงความกังวลของเบนว่า หากองค์พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจวินิจฉัยส่วนพระองค์ไปในทางใดก็ตามที่เป็นการปฏิเสธคำแนะนำของรัฐบาล ที่ไม่ได้มาจากการลงคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎร การใช้พระราชอำนาจดังกล่าวนี้อาจจะทำให้เกิดการต่อต้านจากพรรคที่มีอำนาจอยู่ในขณะนั้น และนำพาให้อนาคตของตัวสถาบันพระมหากษัตริย์เองไปสู่ใจกลางของปัญหาข้อถกเถียงทางการเมือ

ผู้เขียนเข้าใจว่า การที่โทนี เบนกังวลว่า หากพระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจวินิจฉัยส่วนพระองค์ในการปฏิเสธคำแนะนำของรัฐบาล จะมีนัยที่พระองค์ทรงไม่เห็นด้วยกับพรรคที่เป็นรัฐบาล  แต่ถ้าคำแนะนำมาจากเสียงข้างมากในสภาฯ  ก็จะทำให้พระองค์ทรงตัดสินพระราชหฤทัยได้ง่ายกว่าและไม่ทำให้การใช้พระราชอำนาจวินิจฉัยส่วนพระองค์เป็นการเข้าข้างหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อพรรคการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในสภาฯ 

แต่กระนั้น ข้อเสนอของเบนต้องการให้องค์พระมหากษัตริย์จะต้องทรงใช้พระราชอำนาจวินิจฉัยตามเจตจำนงของสภาฯ นั่นหมายความรวมถึงเสียงข้างมากในสภาฯ ที่จะช่วยสร้างความปลอดภัยให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ไม่ต้องถูกตีความว่า ทรงเข้ามายุ่งเกี่ยวในความขัดแย้งทางการเมืองโดยเลือกหรือไม่เลือกข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  ด้วยเหตุนี้เองที่ เบนจึงได้เสนอว่า  “พระราชอำนาจทั้งหมด (all crown prerogatives) จะต้องอยู่ภายใต้การตัดสินใจของสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งอำนาจในการยุบสภาก่อนที่สภาจะครบวาระ  (all crown prerogatives to be subject to the decision of the House of Commons, including powers of dissolution before the end of a parliament.”

ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า จริงอยู่ที่ข้อเสนอดังกล่าวของเบน จะช่วยรักษามิให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องทรงเข้ามาตัดสินใจในปัญหาความขัดแย้งทั้งการเมือง  ที่มีแนวโน้มจะเกิดได้บ่อยดังในกรณี “hung parliament”  ซึ่งอาจกระทบกระเทือนต่อภาพลักษณ์ความเป็นกลางทางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญได้  แต่ข้อเสนอของเบนก็ดูเหมือนจะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์จะทรงใช้พระราชอำนาจวินิจฉัยส่วนพระองค์ที่ขัดต่อเสียงข้างมากของสภาฯได้ยากขึ้น เป็นการลดทอนพระราชอำนาจ ส่งผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีสถานะเสมือนหนึ่งเพียง “ตรายาง” ประทับรับรองให้กับเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น โดยละเลยความสัมพันธ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีพันธะผูกพันอยู่กับประชาชนทั้งมวลและประเทศชาติโดยรวม

จากที่กล่าวมานี้ ข้อเสนอของโทนี เบนก็มีเหตุมีผลอยู่ แต่ก็มีอีกด้านที่ต้องขบคิดด้วย  ท่านผู้อ่านคิดเห็นอย่างไร ถ้าหากเกิดมี “โทนี เบน เมืองไทย” ขึ้น ?

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 16: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 3)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 15: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 2)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นผลจากการทำรัฐประหารที่เริ่มขึ้นในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 14: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490