๑๔ ตุลาฯ ที่เกิดขึ้นก่อน ๑๔ ตุลาฯ (ตอนที่ ๒๑)

 

 

ในสามตอนที่ผ่านมาผู้เขียนได้กล่าวเทียบเคียงแนวคิดเรื่อง parasite (หรือที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเรียกว่า “พวกหนักโลก”) ของชาร์ล ฟูริเยต์นักคิดสังคมนิยมยุคแรกเริ่มกับของมาร์กซและเอ็งเงิลส์ เพื่อให้ผู้อ่านได้พิจารณาว่า ตกลงแล้ว ความคิดของหลวงประดิษฐ์ฯในเค้าโครงเศรษฐกิจเป็นสังคมนิยมแบบฟูริเยต์หรือเป็นลัทธิคอมมิวนิสต์ของมารก์ซและเอ็งเงิลส์    อีกทั้งยังได้เปรียบเทียบระบบการทำนารวมในเค้าโครงเศรษฐกิจกับระบบการทำนารวมของสตาลินในโซเวียตรัสเซียไปแล้วด้วย

               มาในตอนนี้ ผู้เขียนจักได้กล่าวถึงความคิดของผู้ที่เป็นอาจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อว่ามีอิทธิพลต่อหลวงประดิษฐ์ฯในครั้งที่ศึกษาอยู่ที่ฝรั่งเศสและมีอิทธิพลต่อการเขียนเค้าโครงเศรษฐกิจของเขาด้วย         ซึ่งเขาได้ร่างเค้าโครงเศรษฐกิจโดยอิงกับคำบรรยายที่เขาได้เรียนที่ปารีส    ตำราเศรษฐศาสตร์สองเล่มที่เขาใช้ในช่วงที่เขาศึกษาอยู่และมีอิทธิพลต่อเขาอย่างยิ่ง คือ  Cours d’ Economie ของศาสตราจารย์ชาร์ล จี๊ด (Charles Gide   ส่วนชื่อหนังสือในฉบับแปลภาษาอังกฤษคือ Political Economy) และ Histoire des Doctrines Economiques ที่เขียนโดยชาร์ล จี๊ด และ ชาร์ล รีสต์ (Charles Rist)  แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าศาสตราจารย์จี๊ดเป็นอาจารย์ที่สอนหลวงประดิษฐ์ฯ แต่ชัดเจนว่า ตำราของศาสตราจารย์จี๊ดมีอิทธิพลต่อหลวงประดิษฐ์ฯแน่นอน เพราะนอกจากหลวงประดิษฐ์ฯจะกล่าวอ้างอิงศาสตราจารย์จี๊ดโดยตรงแล้ว เขายังให้มีการแปลตำราของศาสตราจารย์จี๊ดและเผยแพร่ในหมู่สมาชิกของคณะราษฎร 

ศาสตราจารย์จี๊ดถือเป็นนักเศรษฐศาสตร์สังคมนิยมยุคแรกของฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงระดับเดียวกันกับ แซง ซีมอง (Saint-Simon), ฟูริเยต์ (Fourier) ปรูดอง (Proudhon) และหลุยส์ บลังค์ (Louis Blanc)   และไม่ได้มีชื่อเสียงในฐานะนักเศรษฐศาสตร์แนวคอมมิวนิสต์ และในงานของจี๊ดก็มีการใช้คำว่า parasite เช่นกัน  

หลวงประดิษฐ์ฯเองก็ยืนยันอยู่ตลอดว่า เค้าโครงเศรษฐกิจของเขานั้นไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์  โดยเขายืนยันว่า “โครงการนี้ไม่ใช่หลักคอมมูนิสต์ “ แต่เป็น “ลัทธิผสมหลายอย่างที่ได้คัดเลือกเอาที่ดีมาปรับปรุงให้สมกับฐานะของประเทศสยาม แต่เหตุสำคัญอาศัยหลักโซลิดาริสต์ ไม่ใช่คอมมิวนิสต์”    “เรามีทั้งแคปปิตอลลิสต์และโซเชียลลิสต์รวมกัน ถ้าหากพวกคอมมิวนิสต์มาอ่าน จะติเตียนมากว่ายังรับรองพวกมั่งมีให้มีอยู่” 

ในความเห็นของนักวิชาการตะวันตกที่พิจารณาเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯต่างมีความเห็นต่างๆกัน

ในความเห็นของเดวิด วัยอาจ (David Wyatt: 1982) เห็นว่าเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯมีคลุมเครือไม่ชัดเจนและมีความเป็นอุดมคติ โดยวัยอาจใช้คำว่า utopia ซึ่งมีความหมายหมายถึงสังคมในฝันหรือในอุดมคติที่ไม่มีอยู่จริง และวัยอาจเห็นว่า แนวทางเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯเป็นแบบแผนอย่างสังคมนิยม (socialistic scheme) โดยต้องการให้รัฐบาลนำที่ดินและแรงงานมาเป็นของรัฐ และทำให้ราษฎรทุกคนรวมทั้งชาวไร่ชาวนาในประเทศเข้าสู่ระบบราชการเป็นข้าราชการ และมีโครงการที่จะทำนาในระบบอุตสาหกรรม [1]

ในความเห็นของจูดิธ สโตว์ (Judith Stowe: 1991) เห็นว่า ในการร่างเค้าโครงเศรษฐกิจ หลวงประดิษฐ์ฯดูจะไม่ตระหนักถึงดุลอำนาจทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปที่เกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ยังคงร่างเค้าโครงเศรษฐกิจประสาคนหนุ่มไฟแรง (ขณะนั้น เขามีอายุเพียง 33 ปี/ผู้เขียน) โดยมุ่งมั่นที่จะทำในสิ่งที่ตั้งใจไว้ แม้จะยากลำบากก็ตาม [2] ซึ่งผู้เขียนตีความว่า ในสายตาของสโตว์ นอกจากเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯจะมีความเป็นอุดมคติมาก ปัญหาที่หลวงประดิษฐ์ฯไม่ตระหนักคือ การเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจทางการเมือง

และในสายตาของแทร์วิล (B.J. Terweil: 2005) เขาจัดให้แนวคิดของหลวงประดิษฐ์ฯเป็นพวกหัวรุนแรงที่มีความคิดเป็นอุดมคติมาก (more radical idealists) [3]

สุดท้ายคือความเห็นของลาโปมาเรเด (Baron de Lapomarede: 1934) อดีตผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เขาได้เขียนบทความเรื่อง “The Setting of the Siamese Revolution”  ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2477 [4] ซึ่งในขณะที่เขาเขียนนั้น เขายังไม่ทราบว่าปัญหาความขัดแย้งต่อเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯจะลงเอยอย่างไร 

ลาโปมาเรเดกล่าวว่า เขาคาดเดาว่า เค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯน่าจะได้ความคิดมาจากแซงต์ ซิมองและปรูดอง และโดยหลักๆมีการประยุกต์แนวคิดเรื่องการสหกรณ์ของศาสตราจารย์ชาร์ล จี๊ด ในความเห็นของลาโปมาเรเด การปฏิวัติสยามโน้มเอียงไปทางสำนักสังคมนิยมฝรั่งเศส ซึ่งเขาเห็นว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเป็นเช่นนั้น เพราะหลวงประดิษฐ์ฯจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยปารีส แต่ขณะเดียวกัน ก็ไม่ใช่จะเป็นไปไม่ได้ที่คณะราษฎรของหลวงประดิษฐ์ฯจะมีนโยบายที่ดินที่ได้รับอิทธิพลจากอุดมการณ์ของซุนยัดเซน ซึ่งหลักการสำคัญสองประการของซุนยัดเซนคือความเสมอภาคในทรัพย์สินและการควบคุมทุนอย่างเข้มงวด

ต่อประเด็นที่ว่าหลวงประดิษฐ์ฯเป็นคอมมิวนิสต์นั้น อันที่จริง เมื่อย้อนกลับไปในวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2475 หกเดือนก่อนจะเกิดปัญหาความขัดแย้งเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจ ได้มีใบปลิวกระจายไปตามถนนต่างๆในกรุงเทพ พิจิตร อุดร หนองคาย สกลนครและนครพนม และเมืองต่างๆที่มีชุมชนชาวเวียดนาม  ใบปลิวเขียนขึ้นในนามของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (the Communist Party of Siam) มีข้อความทั้งในภาษาไทย ภาษาจีนและภาษาอังกฤษโดยมีข้อความขึ้นต้นว่า “ชาวนา คนงานและประชาชนที่ถูกกดขี่ของสยาม รัฐบาลทรราชประชาธิปกได้ถูกโค่นล้มลงในแค่คืนเดียว และแทนที่โดยรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่รัฐบาลใหม่นี้ เป็นรัฐบาลของประชาชน เพื่อประชาชน โดยประชาชนหรือ ?”  และตามมาด้วยการวิพากษ์วิจารณ์สมาชิกคณะราษฎรหลายคนที่ถูกโจมตีว่ามุ่งแต่ผลประโยชน์ส่วนตัว ใบปลิวลงท้ายว่า “ลุกขึ้นเถิด ประชาชนแห่งสยาม ! คณะราษฎรเป็นนักปฏิวัติจอมปลอม ไม่มีทางทำใดพวกเราได้ดีอะไร ชาวรัสเซียเท่านั้นที่เป็นประชาชนกลุ่มเดียวในโลกในขณะนี้ที่มีเสรีภาพและมีความสุขที่แท้จริง เพราะพวกเขาได้กำจัดพวกพระเจ้าซาร์ พวกเจ้าและนักปฏิวัติจอมปลอม และยึดประเทศให้อยู่ในมือของพวกเขา ประชาชนแห่งสยาม เราจงเดินตามรอยเท้าของพี่น้องของเราในรัสเซีย รวมตัวกันต่อต้านกษัตริย์ พวกเจ้าและคณะราษฎร นักปฏิวัติจอมปลอม และลัทธิจักรวรรดินิยม จงสถาปนารัฐบาลโซเวียตแห่งสยามขึ้นเพื่อเราจะได้อิสรภาพและเสรีภาพอันแท้จริง”  [5]

ใบปลิวนั้นมุ่งโจมตีไปที่หลวงประดิษฐ์ฯโดยมีการกล่าวชื่อของเขาโดยตรง โดยกล่าวหาว่าหลวงประดิษฐ์ฯคือสมาชิกคณะราษฎรที่มุ่งแต่ผลประโยชน์ส่วนตัวที่สร้างความเสียหายต่อผลประโยชน์ของประชาชนทั่วไป [6] 

แต่คำถามที่เกิดขึ้นคือ ทำไมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสยามถึงมุ่งโจมตีไปที่หลวงประดิษฐ์ฯโดยกล่าวหาว่าเขาไม่ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนจริง แต่กลับมุ่งผลประโยชน์ส่วนตัว และเป็นนักปฏิวัติจอมปลอม ?

_________________________________________

[1] David K. Wyatt, Thailand A Short History, 1st edition 1982,  2nd edition, (Bangkok: Silkworm: 2003), p. 236.

[2] Judith A. Stowe, Siam becomes Thailand: A Story of Intrigue, (Honolulu: University of Hawaii Press: 1991), p. 36.

[3] B.J. Terweil, Thailand’s Political History: From the 13th century to recent times, (Bangkok: River Books: 2005), p. 260.

[4] Baron de Lapomarede, “The Setting of the Siamese Revolution,” Pacific Affairs , Sep., 1934, Vol. 7, No. 3 (Sep., 1934), pp. 251-259

[5] Bangkok Times Weekly Mail, Oct. 3, 7 and 13, 1932 cited in Judith A. Stowe, Siam becomes Thailand: A Story of Intrigue, (Honolulu: University of Hawaii Press: 1991), p. 47.

[6] Judith A. Stowe, Siam becomes Thailand: A Story of Intrigue, (Honolulu: University of Hawaii Press: 1991), p. 47.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 19: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 6)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 18: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 5)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 17: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 27 สิงหาคม 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 4)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490