การเนรเทศ-การลี้ภัยทางการเมือง และการการอภัยโทษ (ตอนที่ 4)

 

จะว่าไปแล้ว การที่คุณทักษิณ ชินวัตรออกจากประเทศไปเมื่อ 15 ปีที่แล้ว และคุณยิ่งลักษณ์หนีออกจากประเทศไปทางช่องทางธรรมชาติ ก็ไม่ต่างจากการออกไปตามกลไกที่เรียกว่า  ostracism

อย่างที่ได้กล่าวไปในตอนที่หนึ่ง ว่า ostracism คือกลไกการเนรเทศ ที่เป็นกลไกตามกฎหมายที่เกิดขึ้นในประชาธิปไตยเอเธนส์เมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีที่แล้ว  เข้าใจว่าผู้นำทางการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยของเอเธนส์ได้คิดค้นกลไกการเนรเทศนี้ขึ้นมาเพื่อกำจัดคู่แข่งทางการเมืองที่ถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย นอกจากนี้ ยังคาดว่าการเนรเทศจะช่วยลดความแตกแยกในรัฐและป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งวุ่นวายด้วย

ผู้ที่ถูกเนรเทศจะต้องออกไปเอเธนส์เป็นเวลา 10 ปี  แต่ไม่โดนยึดทรัพย์สินและไม่เสียสถานะความเป็นพลเมือง แต่สามารถกลับมาใช้ทรัพย์สินของตนและเป็นพลเมืองได้หลังจากต้องออกไปอยู่นอกเอเธนส์เป็นเวลา 10 ปีเสียก่อน

ขณะเดียวกัน ยามบ้านเมืองมีวิกฤต ที่ประชุมสภาพลเมืองของเอเธนส์ก็สามารถลงมติอภัยลดโทษย่นระยะเวลาเนรเทศไม่ต้องครบ 10 ปี และเรียกตัวผู้ที่ถูกเนรเทศบางคนให้กลับมารับใช้บ้านเมือง 

คราวที่แล้ว ได้กล่าวถึง อริสทีดีส (Aristides)  ผู้เป็นหนึ่งในบรรดาผู้ถูกเนรเทศและถูกเรียกตัวกลับมา บุคลิกภาพนิสัยใจคอของอริสทีดีส ถือว่าเป็นคนรักความยุติธรรม ไม่เข้าข้างใคร ถ้าใครทำผิด แม้ผู้นั้นจะเป็นเพื่อน อีกทั้งคนฝ่ายตรงข้ามของเขา หากไม่ผิด เขาก็จะออกมาปกป้อง จากพฤติกรรมดังกล่าวของเขาทำให้ผู้คนในเอเธนส์ต่างเรียกขานเขาว่า “อริสทีดีส ผู้เที่ยงธรรม” (Aristides the Just)  เขาได้เป็นนิยมรักใคร่ของผู้คนทั่วไป

แต่แน่นอนว่า คนแบบนี้ย่อมตกเป็นเป้าแห่งความอิจฉาริษยาหมั่นไส้ และแน่นอนว่าคนที่เขม่นอริสทีดีสมากที่สุดจะเป็นใครอื่นเสีย นอกจากเทมีสโทคลิส (Themistocles)  ที่เป็นคู่แข่งกับอริสทีดิสมาตั้งแต่วัยหนุ่ม จากการแข่งรักหักสวาทหมายปองเด็กหนุ่มคนเดียวกัน  และเมื่อโตขึ้น ทั้งสองได้เป็นแม่ทัพในการนำทหารเข้าต่อสู้กับพวกเปอร์เซีย และมีชื่อเสียงด้วยกันทั้งคู่  แต่ทั้งสองต่างมีนโยบายความมั่นคงที่แตกต่างกันอีก  อรีสทีดีสไม่ต้องการให้เอเธนส์ไปยุ่งเกี่ยวกับสงครามทางทะเล  ส่วนเทมีสโทคลิส ต้องการให้เอเธนส์ลงทุนกับการต่อเรือรบเป็นจำนวนมากเพื่อนำเอเธนส์ไปสู่การเป็นมหาอำนาจทางทะเล

เมื่อมาถึงจุดนี้ ความวุ่นวายย่อมเกิดขึ้นในการเมืองเอเธนส์ ประชาชนอาจจะต้องเลือกนโยบายของคนใดคนหนึ่ง ทั้งคู่ถือว่าเป็น “อินฟลูเอนเซอร์” ในการเมืองเอเธนส์ แต่เทมีโทคลิสจะมีแต้มเหนือกว่า เพราะเป็นคนเล่นการเมืองเป็น ส่วนอริสทีดีส อย่างที่กล่าวไปแล้ว เป็นคนตรง เที่ยงธรรม ไม่ช่วยเพื่อนหาเพื่อนผิด และไม่ทำร้ายศัตรูหากศัตรูไม่ได้ ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้มันสวนทางความคิดที่อยู่ในใจของคนส่วนใหญ่ ดังที่ไซมอนสีดิส (Simonides) กวีเอกสมัยนั้นได้กล่าวไว้ว่า การช่วยมิตรของเราและทำร้ายศัตรูของเราถือเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

วิธีการที่เทมีโทคลิสใช้โจมตี (ป้ายสี) อริสทีดีส คือ กล่าวหาว่าเขาเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยของเอเธนส์ ด้วยเหตุผลที่ว่า เขาไม่เห็นด้วยกับการที่เอเธนส์จะเติบโตเข้มแข็งผ่านการขยายอำนาจทางทะเล  ซึ่งหากเอเธนส์เข้มแข็งเป็นมหาอำนาจ ประชาธิปไตยก็จะเข้มแข็งไปด้วย และเหตุผลที่อริสทีดีสไม่ต้องการให้ประชาธิปไตยเอเธนส์เข้มแข็ง ก็เพราะเขามาจากตระกูลคนชั้นสูงของเอเธนส์ !     

ทำไมการมาจากตระกูลชนชั้นสูงของเอเธนส์จึงเป็นประเด็น ?

เอเธนส์เพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยในปี 508 ก่อนคริสตกาล ดังนั้น ในปี 482 เอเธนส์จึงเป็นประชาธิปไตยมาได้เพียง 26 ปีเท่านั้น ถือว่ายังไม่ตั้งมั่น ซึ่งก็ถือว่าไม่ห่างไกลความจริง เพราะในช่วงแรกๆที่เอเธนส์เริ่มเป็นประชาธิปไตย ยังมีพวกที่ต้องการล้มประชาธิปไตยและกลับไปปกครองแบบเดิม ซึ่งแบบเดิมที่ว่านี้มีสองแบบ แบบแรกคือ การปกครองที่เรียกว่า turannos หรือที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ได้ทรงแปลมาจาก tyrant ในภาษาอังกฤษ และ tyrant มาจาก turannos ในภาษากรีกโบราณ โดยในช่วงศตวรรษที่เจ็ดและหกก่อนคริสตกาล ได้เกิดปรากฏการณ์ turannos ในนครรัฐกรีกโบราณต่างๆเป็นจำนวนมาก และในช่วงเวลาดังกล่าว turannos ยังไม่ได้มีความหมายในแง่ลบในฐานะที่เป็นการปกครองที่ไม่ดี หรือเป็นการปกครองของผู้ปกครองที่ไม่ดี  แต่ turannos เริ่มมีความหมายในแง่ลบก็ในช่วงที่เอเธนส์เข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย   จริงๆแล้ว ในช่วงที่เอเธนส์อยู่ภายใต้การปกครองของทรราชที่ชื่อว่า ไพซีสตราโตส กล่าวได้ว่า เป็นการปกครองที่ละมุนละม่อมและอยู่ในกรอบกฎหมาย มีเมตตา ให้ทุนสำรองแก่คนจนยืมเพื่อไปประกอบอาชีพ  ได้จัดให้มีผู้พิพากษาท้องถิ่นขึ้น,  และตัวเขาได้เดินทางหมุนเวียนไปตามชนบทเพื่อตรวจสอบและแก้ปัญหาข้อพิพาท เพื่อผู้คนจะได้ไม่ต้องละทิ้งการทำไร่ไถนาโดยต้องเดินทางเข้าในเมือง อีกทั้งยังทำการปฏิรูปที่ดินอีกด้วย  แต่พอถึงรุ่นลูกของไพซีสตราโตส ไม่สามารถได้รับความนิยมได้เท่าพ่อ จึงเริ่มมีการต่อต้านและเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยในที่สุด

แบบที่สอง คือ การปกครองของเอเธนส์ที่ดำรงมาก่อนหน้า turannos ซึ่งเป็นการปกครองโดยกลุ่มชนชั้นสูง

ในช่วงแรกของการใช้กลไกการเนรเทศ ผู้ที่พัวพันและต้องการหวนกลับสู่ turannos จะถูกเนรเทศเพราะเป็นปฏิปักษ์กับพัฒนาการประชาธิปไตย  แต่พอพ้นรุ่นที่เคยพัวพันกับ turannos คราวนี้ ก็มาสร้างวาทกรรมให้รังเกียจคนที่มาจากตระกูลอภิชนอย่างอริสทีดิส  เพราะเทมีโทคลิสเป็น “อินฟลูเอนเซอร์” ทางการเมืองรุ่นแรกๆที่มาจากตระกูลสามัญชนคนธรรมดาแบบเดียวกับคนส่วนใหญ่ของเอเธนส์

เมื่อเป็นดังนี้ ก็คงจะเดาออกว่า เมื่อที่ประชุมสภาพลเมืองเอเธนส์เริ่มกระบวนการเนรเทศ (ostracism) ผลการลงคะแนนจะออกมาเป็นอย่างไร !

อรีสทีดีส ผู้เที่ยงธรรม ถูกลงมติให้ออกไปจากเอเธนส์ในปี 482 ก่อนคริสตกาล

ในช่วงที่มีการรณรงค์เกี่ยวกับการเนรเทศ มีเรื่องเล่าว่า มีชาวเอเธนส์คนหนึ่งกำลังจะลงคะแนนให้เนรเทศอริสทีดีส และในการลงคะแนน เขาจะต้องสลักชื่ออริสทีดิสลงไปบนแผ่นดินเหนียว (ตามรูป)

แต่เนื่องจากเขาไม่รู้หนังสือ (คนส่วนใหญ่ของเอเธนส์เป็นคนไม่รู้หนังสือ)  บังเอิญอริสทีดีสเดินมา ชาวเอเธนส์ผู้นั้นไม่รู้ว่าเป็นอริสทีดิส เพราะเขาไม่เคยเห็นหน้าหรือรู้จักอริสทีดีสมาก่อน เพียงแต่เคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับตัวอริสทีดีส ชายคนนั้นจึงวานให้อริสทีดีสช่วยเขียนชื่อ “อริสทีดีส” ลงไปบนแผ่นดินเหนียวนั้น (การวานให้คนช่วยเขียน ในการลงคะแนนเนรเทศถือเป็นเรื่องปกติในการเมืองเอเธนส์) อริสทีดิสจึงถามชายคนนั้นว่า “ทำไมถึงต้องการเนรเทศอริสทีดีส เขาไปทำอะไรท่านหรือ ?”

ชายคนนั้นตอบว่า “เปล่าเลย และข้าก็ไม่รู้จักเขาด้วยซ้ำ แต่ข้ารู้สึกรำคาญที่เวลาไปไหนมาไหน ข้าจะต้องได้ยินผู้คนเรียกเขาว่า ผู้เที่ยงธรรม”

หลังจากนั้น อริสทีดิสก็ช่วยชายคนนั้น โดยการ

จากเรื่องเล่าข้างต้น ตีความได้ว่า ประชาชนชาวเอเธนส์ผู้นั้น ลงคะแนนเนรเทศอริสทีดีสไปตามกระแส โดยที่จริงๆแล้ว ตัวเองก็ไม่รู้ว่าอริสทีดีสเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยและประชาชนชาวเอเธนส์อย่างไร !

แต่หลังจากที่อริสทีดีสถูกเนรเทศไปได้เพียง 2-3 ปี  ที่ประชุมสภาพลเมืองเอเธนส์ได้ลงมติอภัยลดโทษและเรียกตัวเขาให้กลับมาช่วยแก้วิกฤตบ้านเมือง

วิกฤตอะไร ? ถึงต้องเรียกตัวคนที่ถูกเนรเทศกลับมา

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ศิริกัญญา' มอง 'ขุนคลังคนใหม่' ทำงานได้เต็มที่ ไม่ต้องแบ่งเวลามาเป็นเซลส์แมนประเทศ

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในส่วนของกระทรวงการคลัง ว่า ปรากฎว่ามีรัฐมนตรีในกระทรวงการคลังถึง 4 คน ซึ่งน่าจะมากที่สุดในประวัติศาสตร์ อันที่จริงกรมในกระทรวงก็มีไม่ได้มากคงแบ่งกันดูแลคนละกรมครึ่ง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 8)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

'อรรถกร' รับกรอกประวัติแล้ว แต่ไม่รู้นั่ง รมช.เกษตรฯ มั่นใจ 'ธรรมนัส' ให้คำปรึกษาได้

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยถึงกระแสข่าวถูกส่งชื่อเสนอเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งนี้ ว่า ตนไม่ทราบ แต่ว่าได้มีการกรอกประวัติไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ตนพร้อมทำหน้าที่