การเนรเทศ-การลี้ภัยทางการเมือง และการการอภัยโทษ (ตอนที่ 5)

 

การออกไปจากประเทศไทยของคุณทักษิณเมื่อสิบกว่าปีก่อน ดูไม่ต่างจากการถูกเนรเทศโดยมติของพลเมืองส่วนใหญ่ในประชาธิปไตยเอเธนส์เมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีที่แล้ว ซึ่งกลไกการเนรเทศของประชาธิปไตยเอเธนส์นี้ รู้จักกันในหมู่ผู้ศึกษาประชาธิปไตยเอเธนส์ว่า ostracism  ที่คนที่ถูกเนรเทศจะต้องออกไปจากเอเธนส์เป็นเวลาสิบปีถึงจะกลับมาได้

ขณะเดียวกัน การกลับมาและได้รับการอภัยลดโทษของนักโทษชายเด็ดขาด ทักษิณ ก็ดูจะไม่ต่างจากการที่ที่ประชุมสภาพลเมืองเอเธนส์ลงมติเรียกตัวผู้ถูกเนรเทศกลับมาและให้อภัยลดโทษเช่นกัน สาเหตุที่ที่ประชุมสภาพลเมืองเอเธนส์เรียกตัวผู้ถูกเนรเทศกลับมานั้นเป็นเพราะบ้านเมืองมีวิกฤต จำเป็นต้องเรียกผู้ถูกเนรเทศที่มีความสามารถกลับมาช่วยกู้บ้านกู้เมือง   ส่วนสาเหตุที่นักโทษชายเด็ดขาดทักษิณกลับมาและได้รับการอภัยลดโทษเพราะต้องการให้กลับมาแก้ไขวิกฤตบ้านเมือง ผู้เขียนไม่ทราบ  แต่ถ้าใช่ ก็จะคล้ายกับของเอเธนส์

ถ้าใช่ ก็หมายความว่า ปรากฎการณ์แบบนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกในประวัติศาสตร์การเมือง

เอเธนส์เริ่มวางกติกาการเนรเทศมาตั้งแต่เริ่มมีประชาธิปไตยในราว 508 ก่อนคริสตกาล และเริ่มมีการเนรเทศตั้งแต่ 487 ก่อนคริสตกาล ผู้ที่ถูกเนรเทศได้แก่ ฮิปปาร์โคส (487)  เมกาคลึส  (486)  แซนธิปโปส (484)  และในปี 482 อรีสธีดิส (Aristides)  ผู้ซึ่งประชาชนเคยขนานนามเขาว่า  “the Just” หรือ “ผู้เที่ยงธรรม” 

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ฉายา “ผู้เที่ยงธรรม” ของเขามาจากการที่เขาเป็นคนตรง ไม่เข้าข้างใคร ใครผิดก็ว่าผิด ใครถูกก็ว่าถูก คนที่ทำผิด แม้จะเป็นเพื่อน เขาก็ไม่เอาไว้  ส่วนคนที่เป็นศัตรูกับเขา หากไม่ผิด เขาก็จะออกมาปกป้อง

ตอนแรกๆ ชาวบ้านทั่วไปก็สรรเสริญชื่นชมเขา และถือว่าเขาเป็น “อินฟลูเอนเซอร์” คนหนึ่งในการเมืองเอเธนส์ ขณะเดียวกัน เมื่อมีคนชื่นชมมาก ก็มีคนหมั่นไส้อิจฉา แถมคนตรงแบบเขา ย่อมเสียมิตร ส่วนศัตรูก็คงไม่คิดว่าเป็นหนี้บุญคุณอะไรต่อเขา และเมื่อเขามีความขัดแย้งกับเทมีโทคลีส (Themistocles) ผู้เป็น “อินฟลูเอนเซอร์” ที่ทรงอำนาจอิทธิพล  เทมีโทคลีสก็จัดการเขี่ยเขาออกไปจากเส้นทางอำนาจ โดยปั่นกระแสให้ผู้คนลงคะแนนเนรเทศเขาออกไปจากเอเธนส์

แต่เวลาผ่านไปเพียงสองปี ที่ประชุมสภาพลเมืองเอเธนส์ก็เปลี่ยนใจ เรียกตัวเขากลับพร้อมอภัยโทษให้  สาเหตุคือ เอเธนส์ต้องเผชิญกับการรุกรานของกองทัพเปอร์เซีย ที่เป็นคู่ปรับเจ้าเก่า ที่ไม่ใช่เป็นคู่ปรับเฉพาะกับเอเธนส์ แต่กองทัพเปอร์เซียเป็นที่หวาดผวาสำหรับนานารัฐกรีกทั้งปวง

อรีสทีดิสมีความสามารถอะไรถึงต้องได้รับการเรียกตัวกลับ ?

อรีสทีดีสเป็นหนึ่งใน 11 แม่ทัพกรีกในการนำการต่อสู้กับกองทัพเปอร์เซียและสามารถเอาชนะได้ในที่รู้จักกันในนามของ  “ศึกมาราธอน” (the Battle of Marathon) ในปี 490 ก่อนคริสตกาล

ในบรรดาแม่ทัพ 11 คนนี้ เป็นแม่ทัพชาวเอเธนส์เสีย 7 คน และหนึ่งในนั้นคือ อรีสทีดีส

การยาตราทัพของเปอร์เซียเพื่อเข้าโจมตีนครรัฐกรีกต่างๆในปี 480 ก่อนคริสตกาล ถือเป็นสงครามครั้งที่สามระหว่างเปอร์เซียกับชาวกรีก  สงครามครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 492  แม้ว่าในสงครามครั้งนี้ ฝ่ายเปอร์เซียจะสามารถพิชิตนครรัฐกรีกได้สองแห่ง แต่เกิดปัญหาความผิดพลาดทำให้เปอร์เซียต้องถอนกำลังกลับไป ส่วนครั้งที่สองคือ ศึกมาราธอน ที่แม่ทัพชาวกรีกสามารถร่วมแรงร่วมใจกันทัดทานกองทัพเปอร์เซียที่นำโดยกษัตริย์ดาริอุส (Darious) ได้

ส่วนสงครามครั้งที่สามนี้ จอมทัพของฝ่ายเปอร์เซียคือ เซอร์เซส (Xerxes) ผู้สืบบัลลังก์เปอร์เซียต่อจากดาริอุสผู้พ่อ และทัพเปอร์เซียที่ยกมาโจมตีชาวกรีกครั้งนี้ถือเป็นการกรีฑาทัพที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของเปอร์เซีย

ดังนั้น สำหรับชาวกรีก ศึกกับเปอร์เซียในปี 480 นี้ถือว่าใหญ่หลวงนัก ! และด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นที่จะต้องเรียกตัวอรีสทีดีส ผู้เป็นหนึ่งในแม่ทัพที่เคยนำทัพเอาชนะเปอร์เซียในศึกมาราธอนกลับมา

นอกจากเหตุผลที่ที่ประชุมสภาพลเมืองลงมติเรียกตัวอรีสทีดีสและอภัยโทษให้เขาเพราะอยากให้เขากลับมาช่วยทำศึกสงครามรับมือกับพวกเปอร์เซียที่เดินทัพผ่านนครรัฐเทสซาลี (Thessaly) และนครรัฐบีโอเทีย (Boeotia) แล้ว  ซึ่งเหลืออีกประมาณร้อยกว่ากิโลเมตรก็จะถึงนครรัฐเอเธนส์  อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ กลัวว่าอริสทีดีสจะไปเข้ากับพวกเปอร์เซีย เพราะคนสำคัญของเอเธนส์ที่ถูกเนรเทศไปก่อนหน้านี้มักจะไปคบหากับพวกเปอร์เซีย ด้วยเหตุลที่ถูกบ้านเกิดเมืองนอนปฏิเสธ ก็หันไปคบหาข้าศึกให้รู้แล้วรู้รอดไป

แต่ตามข้อมูลของพลูทาร์ชที่บันทึกประวัติของอริสทีดีสกล่าวว่า การคาดการณ์ว่าอริสทีดีสจะแปรพักตร์ไปร่วมกับพวกเปอร์เซียเพื่อถล่มเอเธนส์นั้นเป็นการมองเขาผิด เพราะก่อนหน้าที่จะมีการลงมติเรียกตัวเขากลับ อริสทีดีสยึดมั่นในจุดยืนที่จะปกป้องเอเธนส์จากเปอร์เซียอย่างเสมอต้นเสมอปลาย

อริสทีดีสได้เป็นหนึ่งในแม่ทัพเอเธนส์ที่นำทัพร่วมกับแม่ทัพของนครรัฐกรีกอื่นๆเข้าต่อสู้กับการรุกรานครั้งที่สามของพวกเปอร์เซีย  และในสงครามครั้งที่สามนี้ ได้เกิดศึกสองครั้งสำคัญ นั่นคือ “ศึกที่ซาลามีส” (the Battle of Salamis) กับ “ศึกที่พลาเทีย” (the Battle of Plataea)  ซึ่งอริสทีดีสได้มีบทบาทนำสำคัญในการทำศึกทั้งสองนี้

และโดยเฉพาะใน “ศึกที่พลาเทีย”  แม่ทัพเปอร์เซียได้แต่งทูตมาเจรจาความกับอริสทีดีส และเขาได้ตอบทูตเปอร์เซียกลับไปว่า “ตราบใดที่พระอาทิตย์ยังขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตก เราจะไม่มีวันยอมเจรจาอะไรกับกษัตริย์เซอร์เซส” และถ้อยคำดังกล่าวนี้ของอริสทีดีสได้ถูกบันทึกและเก็บรักษาไว้จนถึงปัจจุบัน

หลายคนอาจจะสงสัยว่า  เทมีโทคลีส คู่แค้นของอริสทีดีสมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อการกลับมาของอริสทีดีส ?

ก่อนที่เทมีโทคลีสจะมีปฏิกิริยาอะไร อริสทีดีสได้กล่าวกับเทมีโทคลีสว่า

“เทมีโทคลีส ถ้าเรายังคิดเป็น เราสองคนจะต้องหยุดความบาดหมางไร้สาระเหมือนเด็กๆที่เราสองคนเคยมีมา  จากนี้ไป เราจะต้องเริ่มแข่งขันกันในวิถีแห่งเกียรติยศในอันที่รักษาบ้านเมือง โดยท่านทำหน้าที่บัญชาการ ส่วนข้าจะทำหน้าที่ให้คำแนะนำและช่วยเหลือท่าน ข้าตระหนักว่าท่านเป็นบุรุษผู้เดียวที่จะรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเรา....”

หลังจากได้ฟังคำของอริสทีดีส  เทมีโทคลีสได้ตอบว่า

“อริสทีดีส ข้าจะไม่เลือกที่จะให้ท่านอยู่เหนือข้า แต่ข้าขอนับถือสิ่งที่ท่านกล่าวมา ข้าถือว่าท่านเป็นตัวอย่างที่ข้าต้องเอาเยี่ยงอย่าง ข้าจะพยายามทำตามในสิ่งที่ท่านแนะนำมา และจะทำให้ดีกว่าท่านในอนาคตด้วย”

การที่ที่ประชุมสภาพลเมืองตัดสินใจเรียกตัวเขากลับและอภัยโทษให้นั้นถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะในที่สุดแล้ว ชนชาวกรีกทั้งหลายก็สามารถรอดพ้นจากการถูกบดขยี้โดยกองทัพที่มีไพร่พลมหาศาลของเปอร์เซีย

อริสทีดีสก็ยังเป็นอริสทีดีส “ผู้เที่ยงธรรม” เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง  เขาชวนให้เทมีโทคลีสคู่แค้นของเขามองข้ามความขัดแย้งส่วนตัว และชวนให้ร่วมมือกันเพื่อปกป้องเอเธนส์ให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์สงครามกับเปอร์เซีย

แต่ก็ไม่ใช่คนที่ถูกเนรเทศและเรียกตัวกลับมาจะเป็นแบบอริสทีดีสทุกคน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ศิริกัญญา' มอง 'ขุนคลังคนใหม่' ทำงานได้เต็มที่ ไม่ต้องแบ่งเวลามาเป็นเซลส์แมนประเทศ

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในส่วนของกระทรวงการคลัง ว่า ปรากฎว่ามีรัฐมนตรีในกระทรวงการคลังถึง 4 คน ซึ่งน่าจะมากที่สุดในประวัติศาสตร์ อันที่จริงกรมในกระทรวงก็มีไม่ได้มากคงแบ่งกันดูแลคนละกรมครึ่ง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 8)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

'อรรถกร' รับกรอกประวัติแล้ว แต่ไม่รู้นั่ง รมช.เกษตรฯ มั่นใจ 'ธรรมนัส' ให้คำปรึกษาได้

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยถึงกระแสข่าวถูกส่งชื่อเสนอเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งนี้ ว่า ตนไม่ทราบ แต่ว่าได้มีการกรอกประวัติไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ตนพร้อมทำหน้าที่