ความสับสนทางการเมือง

 

(ข้อเขียนนี้เขียนและเผยแพร่ครั้งแรก เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2551)

วิกฤติการเมืองไทยในช่วง พ.ศ. 2549-2551 ได้ก่อให้เกิดความสับสนทางการเมืองอย่างหนัก

ความสับสนที่เห็นได้ชัดประการแรกคือ การแตกตัวของฝ่ายซ้ายไปอยู่ทั้งสองขั้วปฏิปักษ์ทางการเมือง อย่างที่ทราบกันดีว่า ทั้งฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็มีฝ่ายซ้ายอดีตคนเดือนตุลาและคนเดือนพฤษภา (ทมิฬ 2535) อยู่ ขณะที่ฝ่ายทักษิณ-ไทยรักไทย-พลังประชาชนและแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก็มีเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องมานั่งสาธยายแจงรายชื่อให้ฟัง ดังนั้นการจะบอกว่าฝ่ายไหนเป็นฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวาก็ดูจะสับสนพอควร เพราะทั้งสองฝ่ายมีอดีตฝ่ายซ้ายอยู่ อีกทั้ง ฝ่ายซ้ายบางคนที่เคยอยู่และทำงานให้ทักษิณ แต่ทนไม่ไหว  ย้ายมาอยู่กับพันธมิตรก็มี 

ที่สำคัญคือ ทั้งสองฝ่ายกล่าวอ้างความเป็นประชาธิปไตยด้วยกันทั้งคู่  แต่กระนั้นก็ยังพอมีประเด็นให้จับอยู่บ้าง

โดยเฉพาะจากวาทกรรม ‘ศักดินาล้าหลังกับทุนก้าวหน้า’ หรือ ‘ศักดินาล้าหลังดีกว่าทุนสามานย์’ ในช่วงหลังมาตรา 7 ซึ่งทำให้นักวิชาการบางท่านถึงกับฟันธงลงไปว่า ความขัดแย้งทางการเมืองคราวนี้เป็นเรื่องของ ‘ฝ่ายขวากับฝ่ายขวา’ เขาห้ำหั่นกัน

อ้าว! แล้วไฉนฝ่ายซ้ายถึงได้กรุณาแบ่งตัวออกไปยุ่งกับเขาด้วยล่ะ?

ถ้าความขัดแย้งหนนี้เป็นเรื่อง ‘ขวาพิฆาตขวา’ จริงๆ ตามว่า แล้วฝ่ายซ้ายในบริบทความขัดแย้งนี้มีไหม? ถ้าเชื่อว่าเป็นเรื่อง ‘ขวากับขวา’ จริงๆ ฝ่ายซ้ายตัวจริงก็น่าจะมีอยู่หนึ่งเดียวคือ ก๊กอาจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์ ซึ่งแน่ใจว่า ไม่มีใครกล้าปฏิเสธหรือโต้เถียงว่า ก๊กอาจารย์ใจเป็นซ้ายตัวจริงเสียงจริงและชัดเจนด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาวาทกรรมการต่อสู้ที่ฝ่ายที่เรียกตัวเองว่า ‘ทุนก้าวหน้า’ ใช้ จะพบว่ามีกลิ่นของความเป็นซ้ายชัดเจนเสียด้วย และเป็นซ้ายแบบเหมา เจ๋อ ตง แถมยุทธศาสตร์ของการวิเคราะห์สถานการณ์และการต่อสู้ก็เป็นเหมือนสมัยเหมา เจ๋อ ตง ต่อสู้กับระบบทุนนิยมขุนนางในจีนยังไงยังงั้น

ที่สำคัญ ต้องขอเรียนว่า คำว่า ‘ทุนขุนนาง’ นี้เป็นคำที่มาจากการประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจการเมืองอันแหลมคมของเหมาเองด้วย แต่ก็เป็นเหมาที่เป๋ๆ ชอบกล ซึ่งเคยได้ยินใครพูดว่า อาจารย์เกษียร เตชะพีระ แห่งรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ได้ประเมินปัญญาชนฝ่าย ‘ทุนก้าวหน้า’ ที่ใช้วาทกรรม ‘ทุนขุนนาง’ ของเหมาโดยเรียกว่า ‘เมาเซทุน’ !

แต่กระนั้น เมื่อพิจารณาให้ดี ก็จะพบวาทกรรมลักษณะเดียวกันนี้ในหมู่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยด้วย เพราะนักเคลื่อนไหวรุ่นใหญ่รุ่น 14 ตุลาก็เคยเกริ่นให้ฟังว่า ยุทธศาสตร์และการปราศรัยปลุกระดมของฝ่ายพันธมิตรฯ ก็มีกลิ่นอายของความเป็นซ้ายเช่นกัน ใครติดตามฟังก็คงจะพอรู้ หากพอจะมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องซ้ายๆ ในอดีตอยู่บ้าง

เรื่องมันจึงยุ่งขิงสับสนกันไปหมด ฝ่ายทุนก็พูดจาประสาซ้าย ทั้งๆ ที่ซ้ายนั้นเห็นทุนนิยมเป็นศัตรูตัวฉกาจ ขณะเดียวกัน ฝ่ายเชิดชูอุดมการณ์ ‘ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์’ ก็ใช้ภาษาแบบเดียวกัน แถมแกนนำบางคนก็เคยอยู่ฝ่ายซ้ายเต็มตัวมาก่อน  

และเหตุการณ์มันยิ่งโกลาหลอีก เมื่อแกนนำพันธมิตรฯบางคนประกาศปฏิเสธไม่ยอมรับผู้คนที่ได้ชื่อว่าทำงานใกล้ชิดสถาบันฯ และเป็นการปฏิเสธอย่างรุนแรงเสียด้วย

ในขณะที่ฝ่าย นปช. กลับประกาศว่าจะรักษาราชบัลลังก์ และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองรีบจัดการกับแกนนำพันธมิตรฯในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งก็เป็นข้อหาที่ทางฝ่ายพันธมิตรฯเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองจัดการกับเครือข่ายทางฝ่าย นปช. มาก่อนเช่นกัน

เมื่อเป็นกันอย่างนี้ คนที่ไม่ได้คลุกวงในของทั้งสองฝ่ายนี้หรือติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิดไม่กะพริบตา ย่อมอดไม่ได้ที่จะเกิดอาการ ‘สับสนทางการเมือง’ ขึ้นมาทันที! 

บางรายถึงกับออกอาการท้อหรือหน่ายแหนงทางการเมือง หรืออย่างน้อยๆ ก็ต้องมีอาการ ‘ชะงักงันทางปัญญา’ (Politically indecisive) กันบ้าง ไม่รู้ว่าจะเข้าใจสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้หรือที่ผ่านมาอย่างไรดี หรืออย่างไรถึงจะถูก ที่เคยอยู่ฝ่ายพันธมิตรฯเอง ก็พากันมึนไม่น้อยกว่าคนที่เคยอยู่ฝ่ายทักษิณ-นปช.

กระนั้นก็ดี ‘ระดับความมึน’ ก็ขึ้นอยู่กับระยะใกล้-ไกลกับศูนย์กลางการเคลื่อนไหวของแต่ละกลุ่มด้วย

กล่าวได้ว่า ก่อนหน้าที่ทางฝ่ายพันธมิตรฯจะมีการเรียกร้อง ‘นายกฯพระราชทานและมาตรา 7’ ในช่วงก่อนปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2549 พี่น้องฝ่ายซ้ายหรือนิยมซ้ายกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเดือนตุลาหรือไม่ก็ตาม ยังปักหลักอยู่กับฝ่ายพันธมิตรฯ แต่หลังจากเกิด ‘ปรากฏการณ์มาตรา 7’ ขึ้นมา พี่น้องกลุ่มดังกล่าวได้แยกตัวขอลาโรงจากเวทีพันธมิตรฯไป บ้างก็ขอไปเป็นผู้ดูอยู่เฉยๆ และประกาศตัวเป็น ‘คนสองไม่เอา’ คือ ไม่เอาทั้งสองคน ไม่เอาทั้งทักษิณ และไม่เอาทั้งสนธิ

เป็นไปได้ว่าต่อให้ ‘สองหัวดีกว่าหัวเดียว’ แต่เนื่องจาก ‘ขวา’ ไม่ใช่ ‘หัว’                 

ลำพัง ‘ขวาเดียว’ ก็จะแย่จะอยู่แล้ว ถ้าต้องถึงขั้น ‘สองขวา’ มันจะขนาดไหน หันไปทางไหนก็ขวาทั้งนั้น จึงขอไม่เอาทั้งสองขวาเลยดีกว่า เรื่องราวมันจึงกลายเป็นเรื่องของ ‘ขวากับขวา’ อย่างที่กล่าวไปตอนต้น

จุดยืนสองไม่เอานี้พบได้ในกลุ่มมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนและก๊กอาจารย์ใจ ซึ่งจะว่าไปแล้ว ก๊กของพระอาจารย์ใจได้ยืนยันชัดเจนในหลักการนี้มาตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2549 แล้ว ส่วนพี่น้องอีกส่วนหนึ่งก็ย้ายไปสังกัดฝ่ายทักษิณหรือหันไปสนับสนุนพวกทักษิณกันไปเลย เพราะเห็นว่า ถ้าต้องเลือกระหว่าง ‘มาตรา 7’ กับ ‘ทักษิณ’ แล้ว ขอเลือก ‘ทักษิณ’ ดีกว่า บางคนถึงขนาดไปเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ทำทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อโทรทัศน์ให้กับฝ่ายทักษิณเลย

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ มันก็คงจะสร้างความงงงวยพิลึกสำหรับหลายคนทีเดียว

นอกจากการเคลื่อนย้ายอพยพย้ายข้างกันไปมาของคนเดือนตุลาและฝ่ายซ้ายระหว่างกลุ่มทักษิณกับกลุ่มพันธมิตรฯแล้ว ยังมีการเคลื่อนย้ายตัวของทหารด้วย

จำได้ว่า ในคืนวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ช่วงที่กำลังเกิดรัฐประหารนั้น เสธ.แดงก็อยู่ด้วยที่สถานีเอเอสทีวี แต่มาวันนี้ปีนี้ เสธ.แดงกลับแสดงให้สาธารณชนเห็นว่า อยู่ตรงข้ามกับฝ่ายพันธมิตรฯไปเสียแล้ว! 

ในกรณีนี้ สำหรับผู้ที่ติดตามข่าวสารเบื้องลึกมาโดยตลอด ก็ย่อมจะงงกว่าคนที่ไม่ค่อยจะรู้อะไรมากนักเกี่ยวกับท่าน เสธ.แดงกับฟากพันธมิตรฯในช่วงปี พ.ศ. 2549

ล่าสุด ผมยิ่งสับสนมากขึ้น เมื่อได้ยินผู้ใหญ่ชนชั้นกลางระดับไม่สูงนักท่านหนึ่งเปรยให้ฟังว่า ท่านเห็นว่า เสธ.แดงนี่แหละคือ แจ๊ค บาวเออร์ เมืองไทย!?   

แจ๊ค บาวเออร์คือใคร?

แจ๊ค บาวเออร์ คือชื่อพระเอกหนังทีวีซีรีส์เรื่อง Twenty-Four ที่โด่งดังและได้รับรางวัลต่างๆ มากมายของอเมริกันชน

แจ๊ค บาวเออร์เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการภาคสนามของหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายของอเมริกา หรือที่เรียกย่อว่า C.T.U. (Counter Terrorist Unit) เป็นองค์กรพี่น้องกับ C.I.A. ฝ่ายปฏิบัติการภาคสนามก็คือฝ่ายบู๊นั่นเอง และพี่แจ๊คของเราต้องกระทำการหลายอย่างลับๆ ที่เสี่ยงอันตรายและฝ่าฝืนกฎบัตรกฎหมาย ด้วยความจำเป็นเพื่อความมั่นคงของชาติ ทำในสิ่งที่รัฐบาลอยากให้ทำ แต่ไม่อยากรับผิดชอบ

ศัตรูของแจ๊คจึงมีทั้งผู้ก่อการร้ายต่างชาติจนกระทั่งคนร่วมชาติด้วยกันเอง ถ้าแจ๊คทำได้ผล ก็เสมอตัว แต่ถ้าล้มเหลว ก็ต้องรับผิดชอบและต้องถูกลงโทษ หลายอย่างที่แจ๊คตัดสินใจทำลงไป เป็นการกระทำอันพลการ ถูกขัดขวางโดยหน่วยงานและรัฐบาลเองด้วย แจ๊คจึงเป็นบุคคลอันตราย แต่คนดูรู้อยู่แก่ใจว่า เขาทำลงไปเพื่อความมั่นคงของชาติ บางครั้งถึงขนาดที่ว่า แม้ปฏิบัติการของแจ๊คจะสำเร็จ แต่รัฐบาลสหรัฐก็จำเป็นต้องส่งตัวเขาไปติดคุกในจีน เพราะแจ๊คเคยบุกรุกเข้าไปปฏิบัติการบู๊ในสถานทูตจีนในสหรัฐ จนมีการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่การทูตจีน  

นอกจากนี้ ตัวแจ๊คเองต้องเสียครอบครัว เมียตายจากฝีมือผู้ร้าย แถมยังถูกลูกสาวตัดพ่อลูกอีกด้วย เพื่อนฝูงก็หวาดระแวง

เราคงเดาได้ว่า ผู้ใหญ่ชนชั้นกลางระดับไม่สูงนั้นคงมีใจอยู่ข้างทักษิณและ นปช. อย่างแน่นอน และผู้ใหญ่ท่านนั้นจะต้องดูหนังเรื่อง Twenty-Four เสียจนเกิดอาการ ‘ชื่นชม’ และ ‘อินจัด’ กับปฏิบัติการอันยิ่งใหญ่ กล้าหาญและเสียสละของแจ๊ค บาวเออร์อย่างรุนแรง ถึงขนาดเห็น เสธ.แดง เป็นแจ๊ค บาวเออร์ไปได้

แต่ที่น่าสงสัยไม่น้อยก็คือ ตัว เสธ.แดงเอง ท่านเคยดูเรื่อง Twenty-Four ด้วยหรือเปล่า?  

มันอาจจะเป็นได้ว่า นอกจากผู้ใหญ่ท่านนั้นจะเห็น เสธ.แดง เป็น แจ๊ค บาวเออร์ แล้ว ตัวเสธ.แดงเองก็อาจจะคิดว่าตัวเองเป็นแจ๊ค บาวเออร์ด้วยก็ได้

ถ้า เสธ.แดงได้ดู Twenty-Four และตัดสินใจปฏิบัติการในสิ่งที่ท่านผู้ใหญ่ท่านนั้นเข้าใจว่า เสธ.แดงได้ทำลงไปจริงๆ เพื่อชาติ ถ้าเป็นแบบนี้จริง ก็ต้องประณามหรือไม่ก็ต้องชื่นชมซีรีส์เรื่อง Twenty-Four กันล่ะ

ใครที่ยังไม่เคยดู ก็ไม่จำเป็นต้องดู เพราะถ้าดูแล้วจะติดยิ่งกว่าติดหนังสือกำลังภายในหรือซีรีย์  ต้องดูกัน 3 วัน 3 คืนไม่ถอนตาจากจอเลย ถ้าไม่ดีจริงเขาก็คงไม่สร้างติดต่อกันกว่า 5-6 ปีแล้ว เท่าที่ทราบ ฤดูกาล (season) หรือปีล่าสุด เขาเดินเรื่องให้แปลกไป นั่นคือให้แจ๊ค บาวเออร์ถูกฟ้องขึ้นศาล ถูกตั้งข้อหาจากการกระทำต่างๆ ที่เขาได้ทำไปในแต่ละ season ที่ผ่านมา แถมองค์กร C.T.U. ก็ถูกยุบไป ไม่รู้ว่าทั้งผู้ใหญ่ท่านนั้นและท่านเสธ.แดงจะรู้ไหมหนอว่า ลงเอยล่าสุด แจ๊คต้องถูกฟ้องขึ้นศาล ไม่รู้จะต้องถูกติดคุกหรือเปล่า...คิดว่าคงไม่ เพราะแจ๊คเป็นพระเอกในหนัง แต่คนที่เป็นพระเอกนอกจอนี่สิ น่าเป็นห่วง

แน่นอนว่า บางคนในฝ่ายพันธมิตรฯก็อาจจะคิดไปเช่นกันว่า บรรดาแกนนำและกลุ่มนักรบศรีวิชัยที่เข้าไปยึด NBT และทำเนียบก็คือ แจ๊ค บาวเออร์ เมืองไทย แต่เป็น ‘แจ๊ค บาวเออร์หลายคน’

นอกจากความสับสนและ ‘ความอิน’ ทางการเมืองต่างๆ ที่ว่าไปแล้ว ผมยังเจออีกในสมุดคำตอบของนักเรียนที่เรียนวิชาปรัชญาการเมืองกับผม ผมสอนเรื่อง ฌอง ฌากส์ รุสโซ เจ้าของข้อเขียน สัญญาประชาคม (the Social Contract) และวาทะอันแหลมคม ‘มนุษย์เกิดมาเสรี แต่ทุกหนแห่ง เขาอยู่ในพันธนาการ’ (Man was born free but everywhere he is in chains.) ที่ปรากฏอยู่ในหน้าแรกของหนังสือของเขา แต่ในหน้าแรกของสมุดคำตอบของนักเรียนคนนั้น ผมพบข้อความที่เธออ้างถึงรุสโซว่า ‘มนุษย์เกิดมาเสรี แต่ทุกหนแห่ง เขาอยู่ในพันธมิตร’

แม้ว่าจะอนุโลมไม่หักคะแนนเธอแต่อย่างไร แต่ผมก็ยังสับสนไม่แน่ใจว่าควรจะฟันธงลงไปว่า  ตกลงแล้ว ที่เธอเขียนมาอย่างนั้น เป็นเพราะเธอเห็นพันธมิตรฯเป็นพันธนาการ หรือว่าเธอหายใจเข้าออกเป็นพันธมิตรฯกันแน่!?

-----------

หมายเหตุ หลังจากที่เผยแพร่บทความนี้ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2551 อีกสองปีต่อมา ในวันที่ วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ได้เกิดการลอบสังหารพลตรีขัตติยะ สวัสดิผลด้วยอาวุธปืนสไนเปอร์แรงสูง ขณะที่ขัตติยะ สวัสดิผลกำลังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่างประเทศบริเวณแยกศาลาแดง ภายหลังปฏิบัติการกระชับพื้นที่ของรัฐบาล หลังจากนั้น พลตรีขัตติยะ ได้ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลหัวเฉียวและโรงพยาบาลวชิรพยาบาลตามลำดับ อย่างไรก็ตาม พลตรีขัตติยะ ได้เสียชีวิต เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ไม่ทราบว่าเป็นปฏิบัติการของใคร แต่ดูเหมือนว่าชะตากรรมของ เสธ. แดง จะไม่ต่างจากตัวละครในภาพยนตร์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อรรถกร' รับกรอกประวัติแล้ว แต่ไม่รู้นั่ง รมช.เกษตรฯ มั่นใจ 'ธรรมนัส' ให้คำปรึกษาได้

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยถึงกระแสข่าวถูกส่งชื่อเสนอเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งนี้ ว่า ตนไม่ทราบ แต่ว่าได้มีการกรอกประวัติไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ตนพร้อมทำหน้าที่

'จุรินทร์' ชี้ดิจิทัลวอลเล็ตยังคลุมเครือ เหมือนเดินบนเส้นด้าย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะทันไตรมาส 4 ตามที่รัฐบาลประกาศหรือไม่ว่า สถานการณ์วันนี้เหมือนย้อนกลับไปในจุดที่เหมือนประกาศว่าจะ

'จุรินทร์' แขวะเห็นใจนายกฯปรับครม. ต้องให้คนนอกรัฐบาลดูก่อน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงการปรับครม.เศรษฐา 1/1ว่า เรื่องนี้ตนยังตอบไม่ได้ เพราะ