คุณทักษิณ ชินวัตร จะกลายเป็นวีรบุรุษของสังคมไทย

 

(บทความนี้เคยเผยแพร่ครั้งแรก เดือนเมษายน พ.ศ. 2555)

วันที่ 5 ธันวาคม 2548 อาจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวในสื่อฉบับหนึ่งว่า หากมีการใช้อำนาจนอกระบบในการแก้ไขวิกฤติการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นในขณะนั้น ผลที่ตามมาคือ “คุณทักษิณ ชินวัตร จะกลายเป็นวีรบุรุษของสังคมไทย ถึงไม่กลายไปในบัดดลก็จะกลายไปในอนาคต”

ซึ่งอาจทำให้สังคมไทยพร้อมจะหันไปหาทางเลือกที่เป็น “แนวการบริหารที่รวบอำนาจ ไม่โปร่งใส ไร้หลักการและไม่อาจเชื่อได้ในความซื่อสัตย์สุจริต......(เหมือนสฤษดิ์ ธนะรัชต์)”

คำกล่าวของอาจารย์นิธิ อาจหมายความได้ว่า หากคุณทักษิณได้กลายเป็นวีรบุรุษทางการเมือง ได้รับความนิยมชมชื่นอย่างท่วมท้น ก็อาจจะนำไปสู่การยินยอมให้คุณทักษิณเป็นผู้นำที่มีอำนาจเด็ดขาดในการบริหารโดยไม่ต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลใดๆ

จากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549  คำกล่าวของอาจารย์นิธิก็เป็นจริงขึ้นมา “ถึงไม่กลายไปในบัดดล ก็จะกลายไปในอนาคต”

ขณะนี้ (พ.ศ. 2555) คุณทักษิณได้กลายเป็นวีรบุรุษของสังคมไทยไปเรียบร้อยแล้ว แม้ว่าจะไม่ได้เป็นวีรบุรุษของประชาชนทั้งหมด แต่ก็เป็นวีรบุรุษของคนหลายสิบล้าน ซึ่งเป็นจำนวนมากพอที่จะส่งผลให้พรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง

และความเป็นวีรบุรุษของคุณทักษิณที่ได้รับความนิยมชมชื่นอย่างท่วมท้น อาจารย์นิธิกล่าวต่อไปว่า “ก็อาจจะนำไปสู่การยินยอมให้คุณทักษิณเป็นผู้นำที่มีอำนาจเด็ดขาดในการบริหารโดยไม่ต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลใดๆ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง (เลือกตั้ง พ.ศ. 2554)  ได้เพราะคุณทักษิณ ด้วยสโลแกน “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” รวมทั้งการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นคืนความยุติธรรมให้กับวีรบุรุษที่ชื่อทักษิณ แม้ว่าจะยังไม่เกิด “การยินยอมให้คุณทักษิณเป็นผู้นำที่มีอำนาจเด็ดขาดในการบริหารโดยไม่ต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลใดๆ” อย่างที่อาจารย์นิธิคาดการณ์ไว้

แต่การยินยอมให้พรรคเพื่อไทยครองอำนาจเด็ดขาดในการบริหารโดยไม่ต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลใดๆ ดูจะใกล้ความจริงเข้าทุกขณะ ทั้งนี้มิพักต้องคิดถึงตอนที่คุณทักษิณ วีรบุรุษตัวจริงเจ้าของพรรคเพื่อไทยกลับมามีและใช้อำนาจทางการเมืองในเมืองไทยอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา

ด้วยเหตุนี้ รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จึงถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้คุณทักษิณกลายเป็นวีรบุรุษ นำมาซึ่งการเกิดขึ้นของกระแสพี่น้องเสื้อแดง ทั้งส่วนที่รักคุณทักษิณมาก่อน กับอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ได้รัก แต่เกลียดรัฐประหารมากกว่า เมื่อชั่งน้ำหนักแล้ว ระหว่างนักการเมืองฉ้อฉลแต่มาจากการเลือกตั้งกับรัฐประหาร พวกเขารับอย่างแรกได้มากกว่า เพราะรัฐประหารอาจจะนำไปสู่การทุจริตฉ้อฉลได้ไม่แพ้กัน หรือบางทีอาจมากกว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง

ขณะที่อีกด้าน คนส่วนหนึ่งยอมรับรัฐประหาร   ก็เพราะยอมรับการเมืองภายใต้ระบอบรัฐประหารได้มากกว่าการเมืองในระบอบทักษิณ

ในแง่หนึ่ง หากไม่มีรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เชื่อว่าคุณทักษิณคงไม่ยิ่งใหญ่ได้ขนาดนี้

เป็นไปได้อย่างยิ่งว่า ความยิ่งใหญ่ของคุณทักษิณและชัยชนะครั้งแล้วครั้งเล่าในการเลือกตั้งหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 อาจทำให้ผู้นำการทำรัฐประหารอย่าง พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ต้องหาทางให้ตัวเองอยู่รอดปลอดภัย จนต้องกลับลำกลายเป็นผู้นำการปรองดอง  ที่ดูจะเอื้อแก่คุณทักษิณเป็นสำคัญ คำถามก็คือ ในการทำรัฐประหารครั้งก่อนๆ ผู้นำการทำรัฐประหารต้องเผชิญกับการหาทางอยู่รอดเหมือนพลเอกสนธิหรือไม่?

พลเอกสุจินดา คราประยูร ไม่ต้องเผชิญการล้างแค้นจาก พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ แต่พลเอกสุจินดาต้องพบกับกระแสประชาชนที่ลุกฮือต่อต้านการสืบทอดอำนาจ ยามเมื่อพลเอกสุจินดาเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากที่เคยยืนยันหลังทำรัฐประหารว่าจะไม่เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 หลังจากที่พลเอกสุจินดา และ พลตรีจำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่เก้า)  พลเอกสุจินดายอมลาออก เรื่องทุกอย่างก็จบลง

แต่หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549  แม้ว่าพลเอกสนธิจะไม่มีทีท่าต้องการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่กระแสต่อต้านรัฐประหารอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็เกิดขึ้นต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

อีกทั้งความแตกแยกรุนแรงก็ได้ดึงเอาสถาบันสูงสุดเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งภายใต้วาทกรรม ‘อำมาตย์-ไพร่’ ซึ่งฝ่ายต่อต้านอำมาตย์เป็นผู้กำชัยชนะทางการเมือง ทั้งในการเลือกตั้งและกระแสนอกการเลือกตั้ง แม้ฝ่ายพรรคเพื่อไทยจะยืนยันว่า “ไม่แก้แค้น” แต่ใครจะรับประกันได้ ไม่เหมือนสมัยเหตุการณ์พฤษภาทมิฬที่ยังมีผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองเป็นเสาหลักให้ต้องเคารพเกรงใจกัน

พลเอกสนธิก็อาจไม่ต่างจาก คุณเนวิน ชิดชอบ ที่ต้องหาทางว่า ทำอย่างไรจึงจะไม่ถูกคิดบัญชี ซึ่งคุณเนวินออกมายืนยันแล้วว่าจะไม่เล่นการเมือง (อย่างน้อยก็พักใหญ่) แต่หากพลเอกสนธิเป็นตัวการแต่ผู้เดียวจริงๆ ในการทำรัฐประหารครั้งนั้น แค้นนี้สำหรับคุณทักษิณต่อพลเอกสนธิใหญ่หลวงนัก มากกว่าคุณเนวินหลายเท่า เพราะคุณทักษิณไม่มีแผ่นดินอยู่ ทรัพย์สินเงินทองถูกยึด ครอบครัวต้องพลัดพราก และเสียหน้าทางการเมืองมหาศาล โดยเฉพาะกับต่างประเทศ (ที่คุณทักษิณต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะกู้หน้าตัวเองกลับมา)

เท่าที่เคยได้ยินมา มีคนเล่าว่า คุณทักษิณมีบัญชีดำในใจอยู่ 150 รายชื่อที่ต้องคิดบัญชี (ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีชื่อคุณเนวิน) คนที่เล่าเรื่องนี้ให้ผมฟัง บอกผมให้ลองทายดูว่ารายชื่อของใครอยู่ในอันดับหนึ่งของคุณทักษิณ

บางคนเอ่ยถึงบางชื่อที่ผู้เล่าบอกว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะคิดบัญชีกับชื่อดังกล่าว แต่เอาเข้าจริง ชื่อนั้นก็ไม่ใช่อันดับหนึ่งอยู่ดี คนที่ร่วมฟังอยู่ก็ลองเดากันไปต่างๆ นานา เช่น พลตรีจำลอง ศรีเมือง สนธิ ลิ้มทองกุล พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน พลเอกสพรั่ง กัลยาณมิตร ปรากฏว่าผิดหมด...ไม่มีใครถูก

ในที่สุด ชื่อ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ก็โผล่ขึ้นมา ทั้งๆ ที่น่าจะถูกเสนอขึ้นมาตั้งแต่แรกแล้ว!

แต่เชื่อหรือไม่ว่า คำตอบนี้ก็ยังไม่ถูกอีก

ในที่สุด ผู้เล่าก็ถูกขอร้องให้เฉลย…คำตอบที่ไม่มีใครเดาถูกเลยก็คือ แก้วสรร อติโพธิ????

เหตุผลก็คือ คุณทักษิณไม่เคยคาดฝันว่าหลังรัฐประหารจะเกิด คตส. ขึ้น และในช่วงที่มีการสรรหาคนมาเป็นกรรมการ คตส. ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่อาจารย์แก้วสรรจะเข้าไปเป็นกรรมการ แต่ในที่สุด ก็ได้

ลำพังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่ไม่มี คตส. หรือมีอาจารย์แก้วสรรใน คตส. ย่อมทำให้คุณทักษิณกลายเป็นวีรบุรุษไปได้โดยไม่มีปัญหาใดๆ

แต่ผลงานของอาจารย์แก้วสรรใน คตส. เท่านั้นที่ทำให้วีรบุรุษทักษิณมีภาพเป็นมหาโจรทางการเมืองในเวลาเดียวกัน

ขณะที่คุณทักษิณและพรรคเพื่อไทยมีอำนาจอิทธิพลทางการเมืองสูงสุดในขณะนี้ คนหนึ่งกลับลำ ส่วนอีกคนหนึ่งเดินหน้าท้าชนต่อไป 

ดังนั้น ดูมันจะไม่เป็นเรื่องง่ายนักที่จะสรุปว่า พลเอกสนธิทำรัฐประหารคนเดียว หรือมีใครอยู่เบื้องหลัง?

‘ลับ ลวง พราง’ ยังคงเป็นวลีที่ใช้ได้สำหรับพลเอกสนธิ นั่นคือ สิ่งที่คนคิดอาจจะไม่ใช่

แต่ไม่ว่าจะทำคนเดียว หรือมีใครอยู่เบื้องหลัง แต่คนที่ไม่มีใครสามารถสั่งได้คือ แก้วสรร อติโพธิ  ที่เป็น ‘Unknown Factor’ ในแผนการทำรัฐประหาร

จึงต้องติดตามดูกันต่อไป ถ้าใครบางคนตายเสียก่อนที่เราจะตาย ก็คงได้รู้ความจริงกัน...หรืออาจจะไม่รู้เลยก็ได้!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อรรถกร' รับกรอกประวัติแล้ว แต่ไม่รู้นั่ง รมช.เกษตรฯ มั่นใจ 'ธรรมนัส' ให้คำปรึกษาได้

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยถึงกระแสข่าวถูกส่งชื่อเสนอเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งนี้ ว่า ตนไม่ทราบ แต่ว่าได้มีการกรอกประวัติไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ตนพร้อมทำหน้าที่

'จุรินทร์' ชี้ดิจิทัลวอลเล็ตยังคลุมเครือ เหมือนเดินบนเส้นด้าย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะทันไตรมาส 4 ตามที่รัฐบาลประกาศหรือไม่ว่า สถานการณ์วันนี้เหมือนย้อนกลับไปในจุดที่เหมือนประกาศว่าจะ

'จุรินทร์' แขวะเห็นใจนายกฯปรับครม. ต้องให้คนนอกรัฐบาลดูก่อน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงการปรับครม.เศรษฐา 1/1ว่า เรื่องนี้ตนยังตอบไม่ได้ เพราะ