การประชุมสภาผู้แทนราษฎรหลังการสละราชสมบัติของรัชกาลที่เจ็ด (๗๔): การกำหนดจำนวนผู้ลงนามของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

 

หลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2477 ได้ลงมติเห็นสมควรให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลเป็นพระมหากษัตริย์ด้วยเสียง 127 ต่อ 2 เสียง ต่อจากนั้น ได้มีการประชุมเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่หรือรัชกาลที่แปดยังทรงเป็นยุวกษัตริย์มีพระชันษาเพียง 10 ชันษา   อีกทั้งยังประทับอยู่นอกราชอาณาจักรด้วย

สมาชิกในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการอภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับเกณฑ์การตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยมีการยกกฎมณเฑียรบาลและรัฐธรรมนูญขึ้นมาว่า จะใช้อะไรเป็นตัวตั้ง จนในที่สุดก็ตกลงกันได้ว่าให้แต่งตั้งเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยมีจำนวนสามท่าน  ต่อมาได้มีการลงมติเลือกคณะผู้สำเร็จราชการทั้งสามท่าน ได้แก่  พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ  (๑๑๒ คะแนน)   กรมหมื่นอนุวัตน์ฯ (๙๗ คะแนน) และ ๓. เจ้าพระยายมราช (๗๖ คะแนน)

ต่อมา ที่ประชุมได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับกำหนดเวลาในการดำรงตำแหน่งของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยไม่ได้กำหนดให้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จะต้องมีวาระดำรงตำแหน่งนานเท่าไร แต่สภาผู้แทนราษฎรในฐานะที่ผู้แต่งตั้งย่อมมีสิทธิ์จะถอดถอนและตั้งใหม่ได้  ขณะเดียวกัน ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการลงมติให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ดำรงตำแหน่งประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ต่อมาได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอให้รัฐบาลประกาศรายงานการประชุมการลงมติแต่งตั้งต่างๆที่ได้กล่าวไปข้างต้นให้ประชาชนได้รับทราบเพื่อหายข้อข้องใจ  แต่มีสมาชิภสภาผู้แทนราษฎรบางท่านเห็นควรให้มีการพิจารณาตัดถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมออก และควรจะประกาศแต่เพียงผลของการประชุมเท่านั้น และได้มีการตั้งคำถามถึงจำนวนในการลงนามของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ว่า ให้ลงนามเพียงผู้ที่เป็นประธาน หรือต้องลงนามทั้งคณะ หรือเพียงสองในสาม

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “บัดนี้ สมาชิกที่เสนอว่า ควรให้ประธานฯลงนามนั้นถอนแล้ว ทีนี้ คงมีแต่ว่าจะให้ลงนามอย่างน้อย ๒ คนหรืออย่างไรก็ตาม”

นายมงคล รัตนวิจิตร์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า

“ในฐานะที่ข้าพเจ้าเสนอให้ลง ๓ คน การที่ทำงานนั้น เราเอาเสียงข้างมาก เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่า ร่วมกันเป็นเอกฉันท์ลงนามสามคน ในกรณีที่เอาเสียงข้างมากลงนาม ๒ คนก็ได้”

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “เพราะฉะนั้น เป็นอันว่าที่ประชุมนี้ตกลงว่าอย่างน้อยต้องเป็น ๒ คน”

หลวงวรนิติปรีชา ผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า “ถ้าสภาฯนี้จะตกลงกันว่า อย่างน้อย ๒ คนแล้ว ข้าพเจ้าไม่ขัดข้อง แต่ถ้าหากตกลงทั้ง ๓ คนแล้ว จะเซ็นนามทั้ง ๓ คน ก็ดูเหมือนว่าไม่ขัดข้องอะไร” ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “อย่างน้อย ๒ คนอย่างไรเล่า มีสมาชิกเสนอญัตติด่วนและมีผู้รับรองถูกต้องแล้ว คือ ของนายทองอยู่ พุฒพัฒน์ ว่า ‘ข้าพเจ้าขอเสนอญัตติด่วนให้สภาฯ งดการประชุมวันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ นี้หนึ่งวัน เฉพาะตอนบ่ายและกลางคืน ทั้งนี้เพราะสมาชิกรู้สึกอิดโรยมาก เนื่องจากการประชุมในตอนเช้า’”

นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดธนบุรี กล่าวว่า “ตามที่ท่านประธานฯกล่าว และข้าพเจ้าได้ญัตตินั้นไว้ รู้สึกว่าการประชุมวันนี้ออกจะเป็นการดึกดื่นมาก และเวลานี้ ก็เกือบเก้าทุ่มแล้ว และด้วยเหตุฉะนี้ รู้สึกอิดโรยกันมาก เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าขอเสนอให้งดเว้นการประชุมเสียหนึ่งวัน คือ พรุ่งนี้”

นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอเสนอแปรญัตติว่า ให้งดเฉพาะตอนกลางคืน และตอนกลางวันนั้น เราจำเป็นต้องตื่นอยู่แล้ว ตอนกลางคืน เราควรจะได้พักผ่อนและข้าพเจ้าจะต้องมาทำงานอยู่แล้ว ข้าพเจ้

พระพินิจธนากร รับรอง

นายสนิท เจริญรัฐ ผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอแปรญัตติว่า ให้งดเฉพาะตอนกลางวัน และตอนกลางคืนประชุมกันต่อไป”

หลวงรณสิทธิพิชัย นายฮั้ว ตามไท รับรอง

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้น มีญัตติเป็นสามราย เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจะให้ลงมติ ท่านผู้ใดเห็นว่าควรจะงดแต่เวลากลางวัน โปรดยกมือขึ้น”

มีสมาชิกยกมือ ๘ นาย

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “ท่านผู้ใดเห็นว่าควรจะงดแต่เวลากลางคืน โปรดยกมือขึ้น   มีสมาชิกยกมือ ๒๒ นาย

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “ท่านผู้ใดเห็นว่า ควรงดทั้งกลางวันและกลางคืน โปรดยกมือขึ้น”

มีสมาชิกยกมือ ๗๐ นาย เป็นอันว่าที่ประชุมให้ลงมติให้งดการประชุมในวันที่ ๗ ทั้งกลางวันและกลางคืน

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “ก่อนที่จะปิดประชุม ข้าพเจ้าขอเสนอโทรเลขที่จะถวายไปตามที่ท่านที่ปรึกษาทรงมานี้ (ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ/ผู้เขียน)

พระยาอภิบาลราชไมตรี  กล่าวว่า “ข้าพเจ้ามีความข้องใจอยุ่นิดหนึ่ง ก่อนที่จะปิดประชุมในเรื่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราองค์ใหม่นี้  คือ ในการประชุมนี้ ยังไม่ได้อภิปรายกันถึงเรื่องพระปรมาภิไธย ข้าพเจ้าไม่รู้จะขนานพระนามว่าอย่างไร คือตามระเบียบที่ข้าพเจ้านึกก็คือว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงสละราชสมบัติไปแล้วนั้น ได้ใช้พระนามเดิมของท่าน เมื่อก่อนที่ท่านจะได้มีพระบรมราชาภิเษก เมื่อมีพระบรมราชาภิเษกแล้ว ใช้ว่าพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ แล้วก็มียืดยาวอีกต่อไป และในที่นี้ เราจะขนานนามว่าพระองค์เจ้าอานันทมหิดลก่อนเป็นพระเจ้าแผ่นดินอยู่นั้น หรือว่าจะเปลี่ยนอย่างหนึ่งอย่างใด ข้าพเจ้าอยากจะขอทราบ”

นายกรัฐมนตรี (พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา/ผู้เขียน) ขออนุมัติต่อประธานสภาฯ ให้หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ทรงแถลง

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ อนุมัติ

หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ทรงกล่าวว่า

“ตามประเพณีของไทย ซึ่งไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญและซึ่งตรงกับขนบธรรมเนียมกับต่างประเทศนั้น ก็คือ ประกาศที่จะประกาศไปนี้ใช้คำว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ส่วนพระนามก็คงเป็นพระนามเดิม เหมือนกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ รัชกาลที่ ๗ ได้เสวยราชย์ก็ประกาศเช่นนั้นเหมือนกัน คือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา ต่อเมื่อราชาภิเษกแล้ว จึงได้เป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วก็มีพระปรมาภิไธยยืดยาวมาทีหลัง และในต่างประเทศก็มีเหมือนกัน”

หลวงวรนิติปรีชา ผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า

“เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติแล้ว ปัญหาจึงมีต่อไปว่า รัฐบาลนี้ ซึ่งเป็นรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะต้องลาออกตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งออกไปแล้วหรือไม่ ขอให้รัฐบาลแถลงก่อน”

นายกรัฐมนตรีขออนุมัติต่อประธานสภาฯให้หม่อมเจ้าวรรณฯทรงแถลง

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ อนุมัติ

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 20: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 7)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 19: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 6)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 18: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า