ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 2): พิธีบรมราชาภิเษก

 

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้กล่าวถึงความเห็นของเจ้าหน้าที่การทูตฝรั่งเศสและอังกฤษที่มีต่อการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ. 2468 ส่วนของอเมริกานั้น ผู้เขียนได้นำรายงานของนายวิลเลียม รัสเซลล์ (William W. Russell) อัครราชทูตสหรัฐที่มีต่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่เกิดขึ้น ณ วันที่  25 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 (“Letter to the Secretary of State, March 3, 1926”, pp. 1-4, U.S. Documents) ถ้าใครได้ย้อนไปอ่านรายงานฉบับดังกล่าว จะพบว่า วิลเลียม รัสเซลล์มีความตื่นเต้นประทับใจและพิศวงในความรักและความผูกผันที่ประชาชนชาวไทยมีต่อพระเจ้าแผ่นดินของพวกเขา

อารมณ์ความรู้สึกของอัครราชทูตสหรัฐฯก็คงไม่ต่างจากอารมณ์ความรู้สึกของเอ็ดเวิร์ด ชิลส์ (Edward Shils) และไมเคิล ยัง (Michael Young) ที่มีต่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรที่เกิดขึ้นในวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2496  หรืออีก 27 ปีหลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ชิลส์และยังได้มีโอกาสเห็นพฤติกรรมการมีส่วนร่วมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของประชาชนชาวอังกฤษ และทั้งสองต่างก็งุนงงสงสัยไม่เข้าใจถึงเหตุผลที่ประชาชนชาวอังกฤษในสังคมสมัยใหม่ในปี พ.ศ. 2496 ต่างแข็งขันในการรับเสด็จและพากันเฉลิมฉลองยินดี และจากความสงสัยที่ติดอยู่ในใจของทั้งสอง ทำให้พวกเขาพยายามทำความเข้าใจหาเหตุผลทางวิชาการ อันเป็นที่มาของบทความเรื่อง The Meaning of the Coronation (ความหมายของพิธีบรมราชาภิเษก) ตีพิมพ์ในวารสาร Sociological Review ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2496

ในบทความชิ้นนี้ นักสังคมวิทยาทั้งสอง คือ เอ็ดเวิร์ด ชิลส์และไมเคิล ยัง ได้ขึ้นต้นด้วยประโยคที่ว่า “The heart has its reasons which the mind does not suspect.” ซึ่งผู้เขียนขอแปลว่า “เหตุผลของหัวใจ ที่ปัญญาไม่สงสัย” ชิลส์และยังได้ลงพื้นที่สำรวจการรวมตัวกันเฉลิมฉลองรื่นเริงของผู้คนในเขตตะวันออกของลอนดอน  หรือที่เป็นที่รู้จักกันในนามของ East End

ทำไมนักสังคมวิทยาถึงลงพื้นที่แถว East End ของลอนดอนเพื่อศึกษาพฤติกรรมการร่วมเฉลิมฉลองพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ?

เหตุผลสำคัญก็คือ East End เป็นที่รู้จักกันดีทั้งในอังกฤษและในโลกว่าเป็นย่านที่ที่ชนชั้นผู้ใช้แรงงานอังกฤษอาศัยอยู่กันเป็นจำนวนมาก พูดง่ายๆก็คือ เป็นถิ่นคนจน  เมื่อเป็นถิ่นคนจน ทำไมจะปิติยินดีอะไรนักหนากับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพวกราชวงศ์  เพราะถ้าพิจารณาในทางทฤษฎีสังคมวิทยาบางสำนัก  คนจนน่าจะเป็นปฏิปักษ์กับคนรวย โดยเฉพาะคนรวยที่เป็นเจ้า

เมื่อชิลส์กับยังได้มีโอกาสสัมภาษณ์คนในแถบ East End ว่าทำไมพวกเขาถึงคิดว่า การได้มีโอกาสร่วมกันให้ความสำคัญและให้เกียรติต่อพิธีกรรมแบบนั้นถึงเป็นเรื่องสำคัญนัก และสิ่งที่ทำให้นักวิชาการทั้งสองประหลาดใจอย่างยิ่งก็คือ ผู้คนใน East End ทั้งหมดที่พวกเขาได้ไปคุยด้วยก็ไม่สามารถอธิบายให้เหตุผลได้ว่า ทำไมพวกเขาถึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับงานพิธีกรรมดังกล่าว

ขณะเดียวกัน ชิลส์และยัง พบว่า สื่อทั้งหลายก็ดูจะไม่สนใจที่จะตั้งคำถามต่อพฤติกรรมของประชาชน โดยเฉพาะพวกผู้ใช้แรงงาน  และที่ชิลส์และยังเห็นว่า ยิ่งแปลก ก็คือ นักรัฐศาสตร์และนักปรัชญาก็ไม่ตั้งคำถามอะไรเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ไม่ว่าจะครั้งนี้หรือครั้งไหน ไม่เคยมีการถกเถียงอย่างจริงจังเกี่ยวกับสถาบันพิธีบรมราชาภิเษกที่น่าโอฬารยิ่งใหญ่นี้  และถ้าจะว่ากันตามองค์ความรู้ทางรัฐศาสตร์ สมเด็จพระราชินีก็คือประมุของรัฐที่ทำหน้าที่ไม่ต่างจากประธานาธิบดีในระบอบการปกครองที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ และมีนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่เป็นประมุขของฝ่ายบริหาร  แต่ทำไมสถาบันพระมหากษัตริย์อังกฤษจึงดูมีความสำคัญและความยิ่งใหญ่มากกว่าสถาบันประธานาธิบดี

ผู้เขียนเห็นว่า ถ้าหากเป็นสมัยโบราณ ก็เข้าใจได้ และก็เชื่อว่า ชิลส์และยังก็คงเห็นด้วยว่า ประชาชนในสมัยโบราณจะให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

แต่ในกลางศตวรรษที่ยี่สิบ ประชาชนไม่น่าจะเป็นเช่นนั้นแล้ว

สำหรับชิลส์และยัง  สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ปัญญาชนนักวิชาการไม่สามารถตอบหรืออธิบายปรากฎการณ์ดังกล่าว เป็นเพราะนักวิชาการปัญญาชนปฏิเสธที่จะยอมรับความรู้สึกทางศาสนาที่พวกเขามองว่าตนพวกเขาเองและคนอื่นๆมองว่าไม่มีเหตุผล

ในความเห็นของผู้เขียน สิ่งที่ยึดเหนี่ยวผู้คนไว้ด้วยกันอาจจะไม่ใช่เรื่องของเหตุผลเสมอไป และจริงๆแล้ว อาจจะไม่ใช่เหตุผลเลยด้วยซ้ำ  เมื่อการยึดเหนี่ยวเป็นเรื่องของจิตใจ สิ่งที่จะยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คนจำนวนมากไว้ด้วยกันได้ ย่อมยากที่จะเป็นเรื่องปัญญาความรู้และเหตุผล

ชิลส์และยัง ได้เขียนสรุปในตอนท้ายของบทความว่า สิ่งที่จะยึดเหนี่ยวให้สังคมเป็นสังคมได้ ก็คือ การเห็นพ้องต้องกันภายในสังคมนั้น และการเห็นพ้องต้องกันที่ว่านี้จะต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ในมาตรฐานพื้นฐานทางศีลธรรมบางอย่าง สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ได้รับความนิยมจากประชาชนคือภาพสะท้อนถึงความเห็นพ้องต้องกันดังกล่าว และ ณ ช่วงเวลาหนึ่ง พระราชพิธีบรมราชาภิเษกทำให้สังคมทั้งสังคมได้มีการประสานปฏิสัมพันธ์กันอย่างเข้มข้นกับความศักดิ์สิทธิ์ พิธีบรมราชาภิเษกเป็น “การกระทำของการมีส่วนร่วมในระดับชาติ” กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ   พิธีบรมราชาภิเษกที่เกิดขึ้นในอังกฤษในปี พ.ศ. 2496 เป็นปรากฎการณ์อันยิ่งใหญ่ของการรวมกันเป็นชาติ

เจ็ดสิบปีผ่านไป นับถึงปีนี้ พฤติกรรมของผู้คนแถว East End ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอย่างไร ?

น่าเสียดายที่เราไม่มีโอกาสได้เห็นงานวิจัยของชิลส์และยัง เกี่ยวกับพฤติกรรมของคนจนแถบ East End ต่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าชาร์ลสที่สามที่เพิ่งผ่านไป 7 เดือน (จัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2566) และห่างจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ถึง 70 ปี เพราะชิลส์ได้ถึงแก่กรรมไปในปี พ.ศ. 2538  ส่วนไมเคิล ยัง ก็เสียชีวิตไปเมื่อปี พ.ศ. 2545

การประท้วงยกเลิกสถาบันกษัตริย์ในพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าชาร์ลสที่สาม

แต่ข้อมูลเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าชาร์ลสที่สาม ในปี พ.ศ. 2566 คือ  ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 หนึ่งเดือนก่อนจะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก บริษัท YouGov ได้ทำการสำรวจความเห็นของประชาชนอังกฤษที่เป็นผู้ใหญ่จำนวน 3,000 คนเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พบว่า ร้อยละ 35 ไม่ได้สนใจอะไรมากนัก ร้อยละ 29 ไม่สนใจเลย ขณะเดียวกัน ศูนย์วิจัยทางสังคมแห่งชาติที่เป็นหน่วยงานอิสระได้ทำการสำรวจผู้สนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์ในอังกฤษ พบว่า มีจำนวนที่ตกลงไปมาก

และเมื่อ YouGov สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับความสนใจในพระบรมวงศานุวงศ์อังกฤษ (royal family) พบว่า ร้อยละ 70 ของคนที่มีอายุระหว่าง 18-35 ปี ไม่สนใจ

อย่างไรก็ตาม ทัศนคติของผู้คนที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ผันแปรไปตามกาลเวลาและโดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของพระมหากษัตริย์   ดังเห็นได้ว่า ในการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเดนมาร์กในปี พ.ศ. 2515 เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 แห่งเดนมาร์กเสด็จขึ้นครองราชย์ พบว่ามีเพียงร้อยละ 42 เท่านั้นที่ต้องการให้คงสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผลสำรวจของ Gallop ในปี พ.ศ. 2557 หลังจากสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 ทรงครองราชย์ไปได้ 42 ปี   พบว่า ร้อยละ 82 ต้องการให้คงสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อรรถกร' รับกรอกประวัติแล้ว แต่ไม่รู้นั่ง รมช.เกษตรฯ มั่นใจ 'ธรรมนัส' ให้คำปรึกษาได้

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยถึงกระแสข่าวถูกส่งชื่อเสนอเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งนี้ ว่า ตนไม่ทราบ แต่ว่าได้มีการกรอกประวัติไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ตนพร้อมทำหน้าที่

'จุรินทร์' ชี้ดิจิทัลวอลเล็ตยังคลุมเครือ เหมือนเดินบนเส้นด้าย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะทันไตรมาส 4 ตามที่รัฐบาลประกาศหรือไม่ว่า สถานการณ์วันนี้เหมือนย้อนกลับไปในจุดที่เหมือนประกาศว่าจะ

'จุรินทร์' แขวะเห็นใจนายกฯปรับครม. ต้องให้คนนอกรัฐบาลดูก่อน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงการปรับครม.เศรษฐา 1/1ว่า เรื่องนี้ตนยังตอบไม่ได้ เพราะ