ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 3)

 

ผู้เขียนขอนำความเห็นของต่างชาติที่มีต่อเรื่องราวการเมืองไทยตั้งแต่ช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงการเมืองหลังเหตุการณ์กบฏบวรเดช โดยใช้งานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือเรื่อง “ฝรั่งมองไทยในสมัยรัชกาลที่ 7: ตะวันออกที่ศิวิไลซ์ ?” ของผู้ช่วยศาตราจารย์ ดร. ธีระ นุชเปี่ยม อดีตคณบดี คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

หลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ไม่นาน อุปทูตสหรัฐอเมริกาได้ทำรายงานลงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ไปยังกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯว่า

“อาจจะเร็วเกินไปที่จะคาดคะเนอย่างแน่ชัดว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงดำเนินการอย่างใด แต่พระราชกรณียกิจอย่างเป็นทางการทั้งหมดของพระองค์ดูจะชี้ไปในแนวทางของการนำพระราชวงศ์ชั้นสูงกลับมาอยู่ในตำแหน่งสำคัญที่จะทำให้พระองค์ทรงได้รับวางพระทัยได้ในรัฐบาล หลังจากที่เจ้านายเหล่านี้ไม่ทรงปรากฏพระองค์ [ในตำแหน่งหน้าที่เช่นนั้น] มาเป็นเวลานานในรัชกาลก่อน ยังจะมีการปรับเปลี่ยนในคณะเสนาดบี และการปฏิรูปทางเศรษฐกิจอย่างขนานใหญ่ก็กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ด้วย” (Letter to the Secretary of State, November 30, 1925, p. 2, U.S. Documents)             

ส่วนรายงานของสถานอัครราชทูตอังกฤษกล่าวว่า

“....การเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว....นำไปสู่การเปลี่ยนกลับไปสู่การปกครองระบบดั้งเดิมโดยพระราชวงศ์ชั้นสูง เชื่อกันว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับที่จะเสด็จขึ้นครองราชย์ก็ด้วยความเข้าใจว่า พระองค์จะได้ทรงได้รับการสนับสนุนและคำแนะนำจากพระปิตุลาและพระเชษฐา และพระราชกรณียกิจสำคัญประการแรกของพระองค์ก็คือ การจัดตั้งอภิรัฐมนตรีสภาประกอบด้วยพระราชวงศ์ชั้นสูง 5 พระองค์….”  และ “….มีการล้างบุคคลในระบอบเดิมออกไปหมดสิ้นภายในเวลาไม่นานนัก พระองค์เจ้าไตรทศ [พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย] ยังทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ อันเป็นตำแหน่งที่ทรงได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งในช่วงปลายรัชกาลก่อน แต่ก็ไม่มีใครเห็นว่าทรงเป็นบุคคลในระบอบเดิม  เช่นเดียวกับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศุภโยคเกษม เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ [ทรงดำรงตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1922] (พ.ศ. 2465/ผู้เขียน)  (Annual Report, 1926, pp. 2, 3)       

และในรายงานวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2469 ของอัครราชทูต วอเตอร์โลว์ (S.P. Waterlow) ที่มีไปยังเซอร์ออสเตน แชมเบอร์เลน (Sir Austen Chamberlain รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ) มีข้อความว่า “กำลังมีความก้าวหน้าเกิดขึ้นในระบบการบริหารงานยุติธรรม การเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลระดับสูงที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางดีขึ้น และศาลของสยาม แม้กระทั่งในช่วงเปลี่ยนผ่านขณะนี้ ก็ยังอาจถือว่าดีกว่าศาลของประเทศตะวันออก [เอเชีย] อื่นใดที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การปกครองของยุโรป โดยอาจยกเว้นญี่ปุ่นและรัฐในอินเดียบางแห่ง” ( (F 3158/78/40) “Mr. Waterlow to Sir Austen Chamberlain, 30 June 1926, p. 1) และ “มีความเห็นแตกต่างกันไปว่า การเปลี่ยนแปลงในทุกกรณีนี้ ได้มีการคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมที่สุดหรือไม่ แต่เรื่องหนึ่งที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน คือ ทุกคนที่ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งเข้ามาใหม่นั้นดีกว่าผู้ที่อยู่ในตำแหน่งนั้นๆมาก่อนมาก” (Annual Report, 1926, p. 16)

รายงานของอัครราชทูตอังกฤษได้กล่าวด้วยว่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว “ไม่มีกระทรวงไหนอยู่ในสภาพเสื่อมเสียมากไปกว่ากระทรวงยุติธรรม ความไม่ซื่อตรงของตัวเสนาบดีเอง คือ เจ้าพระยาอภัยราชาฯ [เจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร (หม่อมราชวงศ์ลบ สุทัศน์) เป็นที่ปรากฎอื้อฉาว การเลื่อนชั้นตำแหน่งไม่ได้เป็นไปตามคุณธรรม แต่ใช้การเล่นพรรคเล่นพวก และศาลต่างๆยกเว้นเพียงหนึ่งหรือสองกรณีเท่านั้นตกอยู่ในสภาพหย่อนยานในเรื่องประสิทธิภาพทั่วทั้งราชอาณาจักร ผู้พิพากษาบางคนตามอย่างเจ้านายของตนในการปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่ซื่อตรง....” (Annual Report, 1926, p. 16)     

ส่วนรายงานของอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม กล่าวว่า

“…ในส่วนของคณะเสนาบดีและวิธีการปกครองประเทศของสยาม ก็มีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ในรัชกาลก่อน มักมีปัญหาจากการที่ข้าราชสำนักแตกแยกเป็น 2 ฝ่ายและบานปลายจนกลายเป็นความขัดแย้งรุนแรงในช่วงปลายรัชกาล ระหว่างกลุ่มเจ้านายเชื้อพระวงศ์กับกลุ่มข้าราชบริพารคนโปรดของกษัตริย์ โดยที่ฝ่ายหลัง ซี่งได้รับการสนับสนุนจากพระมหากษัตริย์มักได้รับชัยชนะและบีบบังคับอีกฝ่ายหนึ่ง สำหรับกลุ่มข้าราชบริพารคนโปรด ส่วนใหญ่เป็นพวกที่ไร้ความสามารถ ละโมบโลภมาก ด้อยปัญญา อิจฉาคนที่เก่งกว่าตน พร้อมแต่จะสืบทอดธรรมเนียมอันเลวร้ายของระบบการปกครองเผด็จการแบบเอเชีย...แต่ก็มีความฉลาดเพียงพอที่จะทำให้สิ่งที่ดำมืดไม่งดงามกลายเป็นมีสีสันสวยสดงดงามในสายตาของกษัตริย์  ตรงข้ามกับกลุ่มเจ้านายเชื้อพระวงศ์ ซึ่งส่วนใหญ่เฉลียวฉลาด ผ่านการอบรมมาอย่างดีแบบตะวันตก มีวิสัยทัศน์เปิดกว้างกับอารยธรรมต่างชาติ (และอารยธรรมของเราก็ดีวันดีคืน) สยามกำลังจะก้าวไปสู่เส้นทางการเมืองและการบริหารที่เหมาะสม การผลัดแผ่นดินในครั้งนี้ก็คือ ชัยชนะและการเอาคืนของฝ่ายเจ้านายเชื้อพระวงศ์ ถือเป็นการเปลี่ยนระบอบการปกครองอย่างแท้จริงและเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมยินดี ไม่ว่าจะมองจากแง่มุมใดก็ตาม” (Lettre de M. Pila, Ministre  plénipotentiaire au Gouverneur général de l'Indochine du 17 décembre 1925)

อัครราชทูต ซิดนีย์ วอเตอร์โลว์

ขณะเดียวกัน ในรายงานวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2469 ของอัครราชทูต วอเตอร์โลว์ (S.P. Waterlow) ที่มีไปยังเซอร์ออสเตน แชมเบอร์เลน (Sir Austen Chamberlain รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ) ก็ได้ชี้ถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ว่า

“…ไม่ช้าก็เร็ว ก็จะต้องถึงขั้นตอนที่ความก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปกว่านี้จะเป็นไปไม่ได้ หากไม่มีการประสานงานที่ดีขึ้นของหน่วยงานต่างๆของรัฐบาล ขณะนี้ เรื่องนี้เองที่เป็นความสำเร็จที่ได้มายากที่สุด เพราะเสนาบดีต่างเป็นเจ้านายในราชวงศ์ ซึ่งไม่ได้ทรงมีความคิดที่ลงรอยกันเท่าใดนัก....จึงอาจกล่าวได้ว่า เมื่อจำเป็นต้องมีการประสานงาน ก็จะทำไม่ได้ และหากทำไม่ได้ ก็จะก่อให้เกิดปฏิกิริยาขึ้นได้ แม้ว่าปัญหาเช่นนี้จะเป็นเรื่องของอนาคตก็ตาม” ( (F 3158/78/40) “Mr. Waterlow to Sir Austen Chamberlain, 30 June 1926, p. 2) และ “การชิงดีชิงเด่นระหว่างกันเองของเจ้านายในราชวงศ์อาจจะสร้างความปั่นป่วนไม่เป็นระบบขึ้นในวงการรัฐบาล และด้วยเหตุที่การชิงดีชิงเด่นเช่นนี้คุกรุ่นอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว จึงเป็นไปได้ที่จะทำให้การปฏิรูปที่จำเป็นต่างๆต้องชะลอไปโดยไม่มีกำหนด”  (Annual Report, 1926, pp. 3-4)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อรรถกร' รับกรอกประวัติแล้ว แต่ไม่รู้นั่ง รมช.เกษตรฯ มั่นใจ 'ธรรมนัส' ให้คำปรึกษาได้

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยถึงกระแสข่าวถูกส่งชื่อเสนอเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งนี้ ว่า ตนไม่ทราบ แต่ว่าได้มีการกรอกประวัติไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ตนพร้อมทำหน้าที่

'จุรินทร์' ชี้ดิจิทัลวอลเล็ตยังคลุมเครือ เหมือนเดินบนเส้นด้าย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะทันไตรมาส 4 ตามที่รัฐบาลประกาศหรือไม่ว่า สถานการณ์วันนี้เหมือนย้อนกลับไปในจุดที่เหมือนประกาศว่าจะ

'จุรินทร์' แขวะเห็นใจนายกฯปรับครม. ต้องให้คนนอกรัฐบาลดูก่อน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงการปรับครม.เศรษฐา 1/1ว่า เรื่องนี้ตนยังตอบไม่ได้ เพราะ