ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 5: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

 

ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475  พันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ได้มีรายงานไปถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (กองทัพบกและกองทัพเรือ) (กองบัญชาการกองทัพบกแผนกที่ 2 หน่วยข่าวกรอง)  ดังนี้           

“สืบเนื่องจากโทรเลขฉบับที่ 1 ของหน่วยข่างกรองวันนี้ ข้าพเจ้ามีความยินดียิ่งที่จะเรียนให้ท่านทราบถึงเหตุการณ์สำคัญยิ่งยวดซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นที่บางกอกในวันเดียวกันนี้

เช้าวันนี้ เวลา 8.45 นาฬิกา ขณะที่ข้าพเจ้ามาถึงสำนักงานในสถานอัครราชทูตฝรั่งเศส        ข้าพเจ้าก็ได้รับแจ้งจากผู้ให้ข้อมูลว่าเกิดการปฏิวัติเมื่อเวลาประมาณตี 4 โดยมีกองทัพบกและกองทัพเรือเป็นผู้นำการปฏิวัติ บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ถูกจับกุม และกองทัพเข้าควบคุมพระราชวังดุสิต (พระราชวังใหม่)

ข้าพเจ้าเพิ่งเดินทางผ่านตัวเมืองมา (ข้าพเจ้าอาศัยอยู่ไม่ไกลจากพระราชวังดุสิตนัก) ทุกอย่างอยู่ในความสงบ

หลังจากเข้าพบอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม ซึ่งเพิ่งทราบข่าวเช่นกัน ข้าพเจ้าก็กลับไปยังพระราชวังดุสิตทันที แม้แต่รอบๆเขตพระราชฐาน ทุกอย่างก็อยู่ในความสงบ ขณะนั้น รถเสีย เมื่อข้าพเจ้ามองไปทางลานพระราชวัง จึงสังเกตเห็นผ้าใบรถบรรทุกที่จอดเรียงรายกันอยู่ในลาน ขณะเดียวกันนั้น รถหุ้มเกราะติดปืนกลคันหนึ่ง (กองทัพสยามมีอยู่ 10 คัน) ปรากฏขึ้นเบื้องหน้าข้าพเจ้า ตามด้วยรถบรรทุกที่ขนทหารเรือและทหารบกอาวุธครบครันมาเต็มคันรถ  ดูเหมือนจะมุ่งตรงไปยังพระบรมมหาราชวัง ในรถยนต์คันหนึ่งที่จอดอยู่บริเวณนั้น ทหารเรือนายหนึ่งประกาศคำแถลงการณ์ก่อตั้ง ‘คณะราษฎร’ ซึ่งตัดสินใจจะสถาปนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือระบอบสาธารณรัฐโดยจะยกเลิกสิทธิต่างๆ และริบทรัพย์สินบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนนำความเจริญและความผาสุกมาสู่ปวงชน

สรุปแล้ว ข้าพเจ้าได้เห็นรถบรรทุกผ่านไปราว 20 คัน

เมื่อข้าพเจ้าแน่ใจว่า เหตุการณ์สำคัญกำลังจะเกิดขึ้น จึงจับรถแท็กซี่กลับไปรายงานต่อท่านอัครราชทูตฝรั่งเศส จากนั้น เดินทางไปที่วังของพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นนายทหารในกองทัพสยาม ท่านพำนักอยู่ที่วังโดยไม่ทราบข่าวคราวใดๆเลย และรู้สึกประหลาดใจอย่างยิ่ง เนื่องจากท่านอยู่กับนายทหารระดับสูงหลายนาย รวมทั้งหม่อมเจ้าวงศ์นิรชร เทวกุล เจ้ากรมตำรวจภูบาล จนกระทั่งตี 2   จากนั้นข้าพเจ้ากลับไปยังพระราชวังดุสิต ซึ่งทหารควบคุมสถานการณ์อยู่ และไม่อนุญาตให้เข้าไปข้างใน ถนนแต่ละสายถูกกั้นโดยกำลังตำรวจ-ทหาร (ตำรวจอยู่ใต้อาณัติทหาร) ไม่ติดอาวุธเพียง 1 นาย กับทหารเรือพร้อมดาบปลายปืน ทหารเรือนายหนึ่งยืนยันเรื่องการปฏิวัติกับข้าพเจ้า โดยเฉพาะเรื่องการจับกุมบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์  ในจำนวนนี้มีสมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระบรมเชษฐาในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้สืบราชสันตติวงศ์ลำดับต่อมา และเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นายกสภาหอพระสมุดและราชบัณฑิตยสภา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม  พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอลงกฏ กรมหมือนอดิศรอุดมศักดิ์  รองเสนาบดีกระทรวงกลาโหม และนายพันเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตรมงคล กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ (พระสหายร่วมรุ่นกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่โรงเรียนเสนธิการทหารบกฝรั่งเศส)                         

ข้าพเจ้ากลับไปที่สถานอัครราชทูตอีกครั้งและหารือกับท่านอัครราชทูต เมื่อเราร่างข้อความโทรเลขถึงกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสเสร็จ จึงได้ทราบว่าโทรเลขโดนตัด (เป็นเรื่องบังเอิญ เพราะโทรเลขกลับมาใช้งานได้อีกครั้งช่วง 16 นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาที่ข้าพเจ้าส่งโทรเลขฉบับที่ 1 ของหน่วยข่างกรองถึงท่าน)

พอตกบ่าย ข้าพเจ้ากลับมาที่พระราชวังดุสิตอีกครั้ง พระราชวังยังถูกทหารควบคุม โดยแยกเป็นกลุ่มๆ จำนวนไม่มากนัก (ราว 100 นาย) ทหารพูดคุยอย่างเป็นกันเองกับผู้คนที่เริ่มหนาตาขึ้น บรรดาพ่อค้าแม่ค้าเร่มาตั้งแผงขายของ ผู้คนต่างยิ้มแย้มแจ่มใสราวกับมาร่วมงานรื่นเริงทั่วไป กลุ่มนักเรียนนักศึกษาเข้าไปภายในพระราชวังได้ โดยแต่ละคนมีทหารเรือติดอาวุธ 2 นายตามประกบ เพื่อเข้าฟังคำประกาศของคณะราษฎร (แนบฉบับแปลมาด้วย)

จากนั้น ข้าพเจ้าเดินทางต่อไปยังกองบัญชาการ ประตูหลักถูกปิด แต่ทหารจำข้าพเจ้าได้ จึงได้เข้าไป และได้รับการต้อนรับจากพันเอก พระศิลปะศาสตราคม แผนกที่ 2 ผู้ดูจะเป็นหัวหน้าเวร เขาบอกข้าพเจ้าว่าไม่รู้เรื่องราวใดๆเลย และไม่ได้รับข่าวใดๆเป็นการส่วนตัวด้วยเช่นกัน แต่ร้อยเอกนายหนึ่ง ซึ่งเขาแนะนำให้ข้าพเจ้ารู้จักในฐานะผู้ช่วยของเขา เดินเข้ามาและส่งสายตาเชิงไถ่ถาม พันเอกกระซิบตอบเพียงว่า ‘จับได้แล้ว’ จึงเชื่อได้ว่าที่จริงแล้ว เขารู้เรื่องที่เกิดขึ้น                   

พันเอก พระศิลปะศาสตราคม กล่าวกับข้าพเจ้าว่า เขาเชื่อว่านายทหารชั้นสูงเป็นผู้นำการปฏิวัติ

จนถึงบัดนี้ ทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี น่าจะมีเพียงพลตรี พระยาสุรเสนา และพลเอก พระยาสีหราชเดโช เสนาธิการทหารบก ‘ซึ่งขัดขืน’ ที่ตกเป็นเหยื่อของเหตุการณ์นี้ ถึงแม้หนังสือพิมพ์เดลิเมล์ (ฉบับสยาม) จะลงข่าว แต่พันเอก พระศิลปะศาสตราคม ก็ยืนกรานปฏิเสธเรื่องนี้กับข้าพเจ้า   

ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ที่หัวหิน สถานตากอากาศชายทะเล บนเส้นทางรถไฟบางกอก-สิงคโปร์ อยู่ห่างจากบางกอกลงไปทางใต้ราว 200 กิโลเมตร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร เสนาบดีกระทรวงกลาโหม ตามไปสมทบเมื่อ 2 วันก่อน เพื่อร่วมชมการใช้ปืนกลวิกเคอร์ส (Vickers) ที่ประเทศอังกฤษนำมาแสดงให้กองทัพสยามชม บ่ายวันนี้ จะมีเรือรบลำหนึ่งนำหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อให้พระองค์ทรงยอมรับการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใน 1 ชั่วโมง และทูลเชิญเสด็จฯกลับพระนคร

ไม่มีการต่อต้านหรือคัดค้านใดๆทั้งสิ้น เป็นไปได้ที่จะเชื่อคำยืนยันที่ข้าพเจ้าได้รับมาว่า ทั้งกองทัพบกและกองทัพเรือน่าจะเป็นผู้นำก่อการปฏิวัติครั้งนี้ แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ทหารเรือและทหารม้าพบเห็นได้อยุ่ทั่วไปในแนวหน้า หัวหน้าผู้ก่อการน่าจะเป็นพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา รองจเรทหารบก ผู้ช่วยของหม่อมเจ้าฉัตรมงคล โสณกุล คณะปฏิวัติมีคำสั่งไปถึงที่ประชุมของตำรวจนครบาลว่า มีการแต่งตั้งพันตำรวจเอก พระยาบุเรศร์ผดุงกิจ มาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาล แทนพลตำรวจเอก พระยาอธิกรณ์ประกาศที่ถูกจับกุมตัว และมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ

ในเวลานี้ เมืองสงบเงียบ

แต่อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนการปฏิวัติครั้งนี้เตรียมการไว้อย่างยอดเยี่ยมและจัดระเบียบอย่างดี จึงอดประหลาดใจไม่ได้ว่า การรวมตัวดังกล่าว อันประกอบด้วยทหารบกและทหารเรือเป็นส่วนใหญ่หรือทั้งหมด สามารถกระทำการโดยที่ความลับไม่รั่วไหลแต่อย่างใด  ระหว่างที่จัดพิมพ์คำประกาศหลายพันแผ่นและใช้รถตระเวนแจกจ่ายตามถนนหนทางต่างๆ ช่วงบ่ายวันนี้ ตามแต่ละสี่แยก ล้วนมีทหารหรือพลเรือนอ่านคำประกาศให้ชาวบ้านฟัง

ชีวิตดำเนินไปตามปกติ ระบบโทรศัพท์ไม่ถูกตัดเลยแม้แต่นาทีเดียว การสัญจรไม่ว่าทางเรือ รถไฟ และรถรางก็แล่นตามปกติ ตามกระทรวงต่างๆ เจ้าหน้าที่ระดับล่างก็ยังปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ สรุปแล้ว ดูเหมือนว่า ทั้งประชาชนและทหารคิดเห็นตรงกันอย่างเป็นเอกฉันท์

อย่างไรก็ตาม การปฏิวัติครั้งนี้ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกประหลาดใจ นับแต่เดือนกุมภาพันธ์ ข้าพเจ้าทำรายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์ส่งถึงท่านเป็นประจำ  รายงานว่า ด้วยข่าวลือที่ล้วนแต่พ้องกับเหตุการณ์ในขณะนี้ ซึ่งเป็นข่าวที่ไม่อาจหลงหูหลงตาผู้สังเกตการณ์คนหนึ่งที่คุ้นเคยกับการใช้ภาษาที่รัดกุมตามธรรมเนียมในตะวันออกไกลมาเป็นเวลานาน [1]

ข้าพเจ้าและท่านอัครราชทูตเห็นพ้องต้องกันว่า จะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และรายงานเหตุการณ์ให้ท่านทราบอยู่เสมอ เท่าที่การสี่อสารทางไปรษณีย์จะเอื้ออำนวย

พร้อมกับรายงานฉบับนี้ ข้าพเจ้าแนบบทความสำคัญของหนังสือพิมพ์เดลิเมล์ ที่ข้าพเจ้าไม่มีเวลามากพอที่จะแปลให้ท่าน โดยฝากไปกับนักบินของสายการบินแอร์-ออริยองต์ (Air-Orient) ซึ่งจะบินมาบางกอกในวันนี้

อองรี รูซ์”

----------------

ข้อความทั้งหมดข้างต้น มาจาก การปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕ ในทัศนะของพันโท อองรี รูซ์, Henri Roux เขียน พิมพ์พลอย ปากเพรียว แปล, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน: 2564) หน้า 3-5, 10-11, 13, 5.              

[1] พันโท อองรี รูซ์มีความสามารถทางด้านภาษา สามารถพูดได้หลายภาษา ได้แก่ เยอรมัน สเปน ลาว เวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาไทย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อรรถกร' รับกรอกประวัติแล้ว แต่ไม่รู้นั่ง รมช.เกษตรฯ มั่นใจ 'ธรรมนัส' ให้คำปรึกษาได้

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยถึงกระแสข่าวถูกส่งชื่อเสนอเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งนี้ ว่า ตนไม่ทราบ แต่ว่าได้มีการกรอกประวัติไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ตนพร้อมทำหน้าที่

'จุรินทร์' ชี้ดิจิทัลวอลเล็ตยังคลุมเครือ เหมือนเดินบนเส้นด้าย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะทันไตรมาส 4 ตามที่รัฐบาลประกาศหรือไม่ว่า สถานการณ์วันนี้เหมือนย้อนกลับไปในจุดที่เหมือนประกาศว่าจะ

'จุรินทร์' แขวะเห็นใจนายกฯปรับครม. ต้องให้คนนอกรัฐบาลดูก่อน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงการปรับครม.เศรษฐา 1/1ว่า เรื่องนี้ตนยังตอบไม่ได้ เพราะ