รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นผลจากการทำรัฐประหารที่เริ่มขึ้นในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เป็นการรัฐประหารครั้งที่สองนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 (นับเป็นครั้งที่สอง หากไม่นับการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่าเป็นการรัฐประหาร) การรัฐประหารครั้งแรกคือ การรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476
ระยะเวลาระหว่างรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งแรกกับรัฐประหาร 8 พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งที่สองคือ 14 ปี แม้ว่าจะทิ้งช่วงเป็นเวลา 14 ปี แต่ระหว่างรัฐประหารทั้งสองครั้งนี้ ได้เกิดการพยายามทำรัฐประหารขึ้น 3 ครั้ง
ครั้งแรกคือ กบฏบวรเดช (11 ตุลาคม พ.ศ. 2476) โดย คณะกู้บ้านกู้เมือง มีพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นหัวหน้า
ครั้งที่สองคือ กบฏนายสิบ (3 สิงหาคม พ.ศ. 2478) โดย สิบเอกสวัสดิ์ มะหะมัด เป็นหัวหน้า
และครั้งที่สามคือ กบฏพระยาทรงสุรเดช หรือ กบฏ 18 ศพ หรือ กบฏ พ.ศ. 2481 (29 มกราคม พ.ศ. 2482) มี พันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นหัวหน้า
การพยายามทำรัฐประหารที่ล้มเหลว 3 ครั้งในช่วง 14 ปีมีความเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารที่สำเร็จในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 หรือไม่ ?
การตอบคำถามข้อนี้ เราต้องไปพิจารณาถึงสาเหตุการพยายามทำรัฐประหารทั้งสามครั้งก่อนหน้ารัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490
มูลเหตุสำคัญของการกบฏบวรเดช มี 6 ประการคือ
หนึ่ง เกิดจากความหวาดระแวงภัยคอมมิวนิสต์
สอง มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างหนัก
สาม ภาวะตีบตันทางการเมืองในระบบรัฐสภา
สี่ ต้องการให้มีการจัดระบอบการปกครองประเทศให้เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงตามอุดมการณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ห้า ความขัดแย้งระหว่างคณะทหารหัวเมืองกับคณะราษฎร หก การกระทบกระทั่งในมูลเหตุส่วนตัวของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช กฤดารและพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม กับ บรรดาผู้นำในคณะราษฎร
ต่อจากกบฏบวรเดชเป็นเวลาเกือบสองปี ได้เกิด “กบฏนายสิบ” ขึ้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2478เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่า ไม่มีข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกบฏนายสิบนี้ นอกเหนือไปจากข้อมูลของฝ่ายรัฐบาลที่เริ่มต้นจากการที่พันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมได้รับแจ้งเบาะแสมาจากผู้ใต้บังคับบัญชาที่สืบรู้มาว่ามีผู้สมคบคิดกันวางแผนจะยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองกลับสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์และวางแผนกำจัดบุคคลสำคัญบางคนในคณะรัฐบาล
และเช่นกัน กบฏพระยาทรงสุรเดช ก็ไม่ต่างจากกรณีกบฏนายสิบ นั่นคือ “ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีความผิดจริงหรือไม่ หากแต่หลวงพิบูลสงครามเชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านั้นมีแนวคิดต่อต้านตน” (ฐานข้อมูลสถาบันพระปกเกล้าhttp://wiki.kpi.ac.th/index.php?title =พันเอก_พระยาทรงสุรเดช_(เทพ_พันธุมเสน) )
กล่าวได้ กบฏที่เกิดขึ้น 3 ครั้งก่อนการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่นำไปสู่การเกิด รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 เป็นกบฏจริงอยู่เพียงครั้งเดียว นั่นคือ กบฏบวรเดช ส่วนอีกสองครั้งนั้น เป็นกบฏในจินตนาการของพันเอก หลวงพิบูลสงคราม
ในหนังสือ “ท.ส. เจ้าคุณทรงสุรเดช: สารคดีเบื้องหลังประวัติศาสตร์การเมือง” ของ สำรวจ กาญจนสิทธิ์ อดีตนายทหารหลายเหล่าทัพ ผู้เป็นศิษย์และเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาที่สนิทของ พันเอก พระยาทรงสุรเดช ได้เล่าถึง บทที่สิบ อันเป็นบทที่ว่าด้วย “ยุคทมิฬ ศาลพิเศษ” หลักการสำคัญในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษคือ ให้สิทธิรัฐบาลตั้งกรรมการศาล จ่าศาล และอัยการศาลได้ตามแต่รัฐบาลจะแต่งตั้งบุคคลใดก็ได้ ให้ทำหน้าที่ฟ้องร้อง พิจารณาคดี และพิพากษาตัดสิน คำตัดสินของศาลพิเศษให้ถือเป็นเด็ดขาด ไม่มีการอุทธรณ์ฎีกา และผู้ต้องหาหรือจำเลยจะจัดหาทนายช่วยแก้ต่างมิได้
การให้อำนาจศาลพิเศษอย่างมากมายล้นเหลือและเด็ดขาดเช่นนั้น ผู้รับมอบอำนาจคือ รัฐบาล กรรมการศาลจะกระทำการใดๆได้ทั้งสิ้น แม้ว่าจะผิดกระบวนความยุติธรรมของโลกนี้ เช่น จำเลยจะขอคัดสำนวนฟ้องเพื่อทราบความผิด จะได้คิดหาเหตุผลความจริง แถลงหักล้าง ก็กระทำมิได้ ถ้ากรรมการปฏิเสธ กรรมการจะไม่เชื่อฟังคำพยานจำเลย แม้ว่าจะมีเหตุผลหักล้าง พยานโจทก์แตกสิ้นเชิงก็ได้ ทั้ง ๆ ที่ธรรมดาสามัญชนเห็นว่า ปราศจากความจริง
ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 ผู้เสนอให้ที่ประชุมฯพิจารณาร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษคือ น.อ. หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ร.น. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นบุคคลสำคัญในฝ่ายของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) มีผู้กล้านำอภิปรายคัดค้าน 3 คน และสามคนนั้น คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 ที่มาจากการเลือกตั้ง ได้แก่ นายจำลอง ดาวเรือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม พระยาอมรวิสัยสรเดช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง และนายอินทร สิงหเนตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่
นายจำลองได้อภิปรายว่า “ข้าพเจ้าไม่เห็นมีความจำเป็นต้องใช้พระราชบัญญัตินี้ อำนาจกรรมการดูมีมากนัก ศาลธรรมดาก็มีอยู่แล้ว ซึ่งปรึกษาพิจารณาโทษได้ทุกอย่าง เรื่องที่มีผู้กล่าวหาเช่นนี้ ศาลควรให้จำเลยมีทางต่อสู้อย่างขาวสะอาด เพราะจำเลยอาจมีความบริสุทธิ์ก็ได้ แต่เป็นด้วยความอิจฉาริษยา หรือความมุ่งร้ายส่อเสียดผู้อื่น ทำให้ต้องถูกกล่าวหาว่าเป็นจำเลยในเรื่องนี้ก็อาจเป็นได้ จึงควรให้ความยุติธรรม ด้วยเขาไม่มีการต่อสู้เต็มที่ พูดในแง่ความเด็ดขาดความศักดิ์สิทธิ์แล้วก็เป็นการสมควร แต่ในแง่ความยุติธรรม และความเป็นประชาธิปไตย ไม่จำเป็นต้องมีศาลพิเศษ การพูดดังนี้ ข้าพเจ้ามิได้มีความประสงค์เป็นอย่างอื่นเลย นอกจากรักษาไว้ซึ่งความยุติธรรม
พระยาอมรวิสัยสรเดชอภิปรายว่าโดยตั้งคำถามว่า การกบฏยังมิได้มีการลงมือกระทำ และรัฐบาลมิได้ประกาศกฎอัยการศึก อยากทราบว่าจะให้จำเลยมีทนายแก้ต่างเพื่อความขาวกระจ่างไหม ? นายอินทร สิงเนตร อภิปรายว่า ร่างพระราชบัญญัตินี้ไม่ควรรับหลักการ ด้วยจะเป็นการตัดรอนสิทธิของผู้ต้องหาอย่างมาก เมื่อ ร.ศ. 130 เคยมีศาลพิเศษมาคราวหนึ่ง แต่ครั้งนั้นเป็นสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช ครั้งนี้ผิดกว่าครั้งที่แล้วมาก การที่พูดเช่นนี้ ไม่ใช่ว่าเป็นทนาย หรืออยากเป็นทนายให้พวกกบฏ แต่เป็นสิทธิเสรีภาพของมนุษยชนเหล่านั้น รัฐธรรมนูญต้องการให้เราได้สิทธิเสรี เรามีศาลสามศาล แต่ต้องมามีศาลเดียว ถ้าจะออกกฎหมายฉบับนี้ไป จะทำให้รัฐบาลนี้เสียไปด้วย เขาจะหาว่ารัฐบาลนี้กลัวจำเลยหาทนายมาสู้ และต้องการมัดมือพวกกบฏให้อยู่
สำรวจ กาญจนสิทธิ์ได้กล่าวต่อไปว่า “เมื่อมีผู้อภิปรายมากขึ้น ทางรัฐบาลเห็นว่าจะเป็นทางเสียเปรียบ ผู้แทนฯ ประเภทที่ 2 คนหนึ่ง (ผู้แทนฯ ประเภทที่ 2 มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี/ผู้เขียน) ซึ่งเป็นพวกรัฐบาลจึงเสนอให้ปิดการอภิปราย และชนะด้วยคะแนนเสียง 56 ต่อ 40 นายจำลองเสนอให้ลงมติด้วยการลงคะแนนลับ ผลสุดท้าย สภาผู้แทนราษฎรแห่งชาติ ก็ลงมติรัฐหลักการพระราชบัญญัติศาลพิเศษ ด้วยคะแนนเสียง 101 ต่อ 39 ตามความมุ่งหมายของรัฐบาล”
ในเรื่องการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ พ.ศ. 2481 นี้ ท่านผู้อ่านอาจจะนึกสงสัยว่า หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ในฐานะที่เป็นนักกฎหมายและเป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อการที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นประชาธิปไตย จะไม่วิพากษ์วิจารณ์หรือขัดขวางมิให้รัฐบาลของพันเอก หลวงพิบูลสงครามกระทำการที่ผิดหลักกฎหมายและความยุติธรรมเลยหรืออย่างไร ?
ไม่ปรากฏหลักฐานว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมแสดงความเห็นคัดค้านแต่อย่างไร
ต่อประเด็นการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ พ.ศ. 2481 นี้ ศาสตราจารย์ ดร. ชัยอนันต์ สมุทวนิช อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เขียนไว้ในปี พ.ศ. 2517 ว่า
“ข้าพเจ้าเคารพนับถือท่านอาจารย์ปรีดี ฯ ในความซื่อสัตย์ ความเอาใจใส่ในกิจการบ้านเมืองของท่าน และมองเห็นคุณงามความดีของท่านที่มีต่อประเทศไทยในสมัยที่ท่านยังมีอำนาจอยู่หลายประการ
แต่ท่านอาจารย์ปรีดี ฯ ควรยอมรับว่า คณะราษฎรนั้นล้มเหลว นักปฏิวัติที่ประณามระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่เมื่อได้อำนาจแล้ว ทำตัวยิ่งกว่าเจ้านั้น เป็นนักปฏิวัติที่เราควรยกย่องให้มีชื่ออยู่ในประวัติศาสตร์หรือ ข้าพเจ้าไม่ได้หมายถึงท่านอาจารย์ปรีดี ฯ แต่เพียงผู้เดียว ชื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม อาจติดอยู่ในฐานะนักชาตินิยม ชื่อหลวงประดิษฐ์มนูธรรม จะต้องถูกจารึกไว้ในประวัติการเทศบาลไทย ประวัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประวัติการยกเลิกสนสัญญาต่างประเทศที่ไม่เป็นธรรม การกอบกู้เอกราชของชาติในสงครามโลกครั้งที่สอง ฯลฯ
แต่ในความเห็นของข้าพเจ้า ท่านและคณะราษฎรไม่อาจอ้างนามนักปฏิวัติหรือนักอภิวัฒน์ได้เลย ท่านไม่อาจกล่าวได้โดยไม่ตะขิดตะขวงใจว่า ท่านบูชาเสรีภาพ สิ่งที่ผู้อื่นทำต่อท่าน เช่น พระยามโน ฯ ออก พ.ร.บ. คอมมิวนิสต์เพื่อขจัดท่าน ท่านอาจารย์กับพรรคพวกก็ออก พ.ร.บ. จัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476 จัดตั้งศาลพิเศษในปี พ.ศ. 2476, 2478 และ 2481 เพื่อขจัดศัตรูของท่านเช่นกัน ข้อที่ผิดพลาดที่สุดก็คือ ท่านได้ขจัดผู้ที่มีจิตใจที่มีอุดมการไม่แตกต่างไปจากท่านเลย ออกไปจากวงการเมืองหลายคนโดยวิธีที่ไม่เป็นธรรม ข้าพเจ้ายังข้องใจไม่หายว่า ในเมื่อท่านอาจารย์ ฯ เองก็เป็นนักกฎหมาย เหตุไฉนท่านจึงสนับสนุนให้มีการจัดตั้งศาลเถื่อน ๆ เช่น ศาลพิเศษ ซึ่งเป็นการขัดกับหลักนิติธรรมอย่างที่สุดในยุคนั้น
ถ้าท่านอาจารย์ ฯ ตอบว่า นั่นเป็นเรื่องของคนอื่น ซึ่งท่านไม่อาจห้ามปรามได้ ท่านอาจารย์ ฯ ก็คงไม่แตกต่างไปจากกลุ่ม ‘ข้าราชการ-ขุนนางและปัญญาชนปฏิกิริยา’ ซึ่งไม่เคยลุกขึ้นประนามระบบที่ตนเองเห็นว่า ไม่เป็นธรรมในสมัยที่สามผู้มีอำนาจล้นฟ้าปกครองเมืองไทยอยู่อย่างมากมายนัก
ท่านอาจารย์ ฯ ยังเป็นที่นับถือของคนจำนวนมากในเมืองไทย และเป็นที่เกลียดชังของคนจำนวนไม่น้อย ข้าพเจ้าได้เคยกล่าวไว้ในหนังสือ ‘โต้ท่านปรีดี ฯ’ แล้วว่า ข้าพเจ้าไม่ได้เป็นบุคคลที่รวมอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง คือไม่ได้เป็นทั้งพวก Pridimania (คลั่งปรีดี) หรือ Pridiphobia (เกลียดกลัวปรีดี) ดังนั้น ข้อเขียนของข้าพเจ้าจึงมิได้เกิดขึ้นด้วยมูลเหตุจูงใจอย่างอื่นเลย นอกจากจะลองพยายามพลิกความเชื่อเก่าๆ เกี่ยวกับคณะราษฎรเสียที ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่า เป็นความรู้สึกภายในจิตใต้สำนึกของข้าพเจ้าที่มีมาเป็นเวลาช้านานแล้ว”
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อดีตบิ๊กเพื่อไทย หวังจะไม่ใช่ขบวนรถไฟเที่ยวสุดท้าย!
นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่ิไทย โพสต์เฟซบุ๊กว่า “วันนี้ นายกฯ อดีตนายกฯ สส พรรคแกนนำรัฐบาล นั่งรถไฟ
เผยเบื้องหลัง 'คนดังต้านระบอบทักษิณ' รวมตัว ประเดิมงานแรกลุย ป.ป.ช.
นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ โพสต์เฟซบุ๊กว่า เพื่อประเทศชาติและความยุติธรรม
'วรงค์' เซ็งเสียเวลา 1 ชั่วโมง อุตส่าห์ตั้งใจฟัง 'อิ๊งค์' แถลงผลงาน
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานที่ปรึกษาพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กว่า#แถลงนโยบายไม่ใช่ผลงาน
'ทักษิณ' สื่อสารถึง 'สนธิ' : 'การทำอย่างเดิม ก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนเดิม'
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
'ณัฐวุฒิ' ดับกลางอากาศ! 'เจี๊ยบ-สาวกส้ม' แห่แชร์คลิปตาสว่างหลงเชื่อ 'ไอ้เต้น' มา 20 ปี
นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล หรือ “เจี๊ยบ” อดีตสส.ก้าวไกล โพสต์คลิปวิดีโอความเห็นของผู้ที่เคยสนับสนุน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกฯ
เอาแล้ว! เปิดชื่อ 'บิ๊กเนม' รวมตัวก่อการโค่นระบอบทักษิณ3?
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตสส.พัทลุง โพสต์รูปภาพพร้อมข้อความระบุว่า ”นัดกินข้าวคุยกัน