สกพอ.เปิดศูนย์การแพทย์จีโนมิกส์ หนุนอีอีซีสู่ศูนย์กลางทางการแพทย์

 หนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ก็คือ การยกระดับทางด้านการการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อที่จะก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ระดับนานาชาติ (Medical Hub) ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มคุณภาพมาตรฐานการรักษาพยาบาลให้กับประชาชนในพื้นที่อีอีซี แต่ยังเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้เข้าประเทศอย่างมหาศาลได้อีกด้วย


ทั้งนี้ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จึงได้ผลักดันโครงการจีโนมิกส์ไทยแลนด์ หรือการศึกษาเกี่ยวกับการหาดีเอ็นเอและรหัสพันธุกรรม ซึ่งจะเป็นการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในทางการแพทย์ เพื่อช่วยในการวินิจฉัย รักษา และป้องกันโรคได้อย่างแม่นยำมากขึ้น และการเลือกแนวทางการรักษาที่เหมาะสม นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น


ล่าสุด ได้จัดตั้งศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ในพื้นที่อีอีซี ตั้งอยู่ที่ชั้น 8 อาคารเภสัชศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี นับเป็นโครงการแรกของประเทศไทยที่นำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในการวินิจฉัย รักษา และป้องกันโรคให้กับคนไทยได้อย่างแม่นยำมากขึ้นในอนาคต ช่วยลดการเสียเวลาในการรักษาและค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นลงได้
ในระยะแรกของโครงการ มีเป้าหมายนำตัวอย่างดีเอ็นเอจากอาสาสมัครคนไทย 5 หมื่นคนมาถอดรหัสทางพันธุกรรม เบื้องต้นมุ่งเป้าเป็นผู้ป่วยใน 5 กลุ่มโรค ได้แก่ 1.กลุ่มโรคมะเร็งที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี 2.โรคที่หายาก 3.โรคติดเชื้อ 4.โรคไม่ติดต่อ และ 5.กลุ่มเภสัชพันธุศาสตร์ เพื่อป้องกันการแพ้ยาและการเลือกการรักษาที่เหมาะสม


นายแพทย์พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ ที่ปรึกษาพิเศษด้านสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า ในวันที่ 18 เมษายน 2565 ทางศูนย์ฯ ได้เริ่มต้นถอดรหัสพันธุกรรมตัวอย่างดีเอ็นเอชุดแรก 200 คนที่ส่งมาจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอมาจากอาสาสมัครเป้าหมาย โดยขณะนี้สามารถเก็บตัวอย่างมาได้แล้ว 5,072 คน คาดว่าในปี 2566 จะถอดรหัสพันธุกรรมได้ 10,000 คน และจะถึงเป้าหมาย 50,000 คนได้ภายใน 5 ปี รวมทั้งยังมีเป้าหมายการผลิตบุคลากรทักษะสูงทางด้านการแพทย์จีโนมิกส์ เช่น บุคลากรการแพทย์ นักวิเคราะห์ข้อมูลพันธุกรรม ผู้ให้คำปรึกษาด้านเภสัชพันธุศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์งานถอดพันธุกรรม ประมาณ 800 คนภายใน 5 ปี


โครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ไทยมีฐานข้อมูลทางพันธุกรรมเพื่อนำไปใช้พัฒนาด้านการแพทย์ของประเทศ รวมทั้งเป็นโอกาสพัฒนายาและแนวทางการรักษาใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับประชากรในภูมิภาคนี้ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ประเทศแนวหน้าที่จะมีความรู้เป็นของตนเอง และนำความรู้ที่ได้ไปวิจัยร่วมกับประเทศอื่น เพื่อต่อยอดไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการรักษาพยาบาลใหม่ๆ ขึ้นมาได้


"การตั้งศูนย์ทดสอบฯ เพื่อจัดเก็บข้อมูลดีเอ็นเอของประชากรไทยในครั้งนี้ จะช่วยยกระดับการรักษาพยาบาลของไทยขึ้นมาสู่ระดับแนวหน้าของโลก และลดค่าใช้จ่ายในการส่งดีเอ็นเอคนไทยไปวิเคราะห์ที่ห้องแล็บในต่างประเทศ ที่สำคัญยังจะสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลและร่วมทำการวิจัยด้านพันธุกรรมกับประเทศอื่นๆ ได้ ทำให้วงการแพทย์ของไทยได้รับการพัฒนามากขึ้นและดึงดูดเงินลงทุนเข้ามาในพื้นที่อีอีซี และต่างชาติยังจะสนใจเข้ามารับบริการรักษาพยาบาล ถือเป็นการเพิ่มศักยภาพด้านเมดิคัลฮับ เช่นเดียวกับสิงคโปร์ที่มีการลงทุนเก็บข้อมูลดีเอ็นเอไปแล้ว 1 แสนคน และกำลังทำเพิ่มขึ้น ขณะที่อังกฤษ 1 แสนราย และได้ทำต่อเนื่องอีก 4 ล้านคน สำหรับไทยเริ่มที่ 5 หมื่นคนก่อน” นพ.พีรพลกล่าว


นายแพทย์พีรพล กล่าวว่า หลังจากที่ได้เดินหน้าโครงการในระยะแรกไปแล้ว ก็จะเร่งเดินหน้าโครงการในระยะต่อไป โดยในขณะนี้คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างทำแผนโครงการจีโนมิกส์ในระยะที่ 2 เพื่อขยายฐานข้อมูลการรักษาไปสู่กลุ่มโรคอื่นๆ เพิ่มเติม รวมถึงเร็วๆ นี้จะสามารถนำผลข้อมูลที่ได้จากการถอดรหัสพันธุกรรม เร่งรักษาผู้ป่วยในกลุ่มโรคมะเร็ง โรคหายากเป็นลำดับแรก เพราะส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเด็กแรกเกิด


สำหรับภาพรวมของการพัฒนาเทคโนโลยีด้านจีโนมิกส์ ในปัจจุบันทั่วโลกมีศูนย์จีโนมิกส์กว่า 10 แห่ง ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศผู้นำทางการแพทย์จีโนมิกส์ สำหรับภูมิภาคเอเชียนั้นจะมีอยู่ในประเทศญี่ปุ่น จีน และสิงคโปร์ ส่วนในอาเซียนนับว่าไทยไม่ด้อยกว่าชาติอื่น และเป็นประเทศระดับต้นๆ ของอาเซียนที่มีเทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูง
รวมทั้งยังเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ เนื่องจากอุตสาหกรรมการแพทย์จีโนมิกส์มีมูลค่าและมีอัตราการเติบโตที่สูงมาก ซึ่งตัวเลขจากฟอร์จูนบิสเนสอินไซด์ได้ระบุว่า ในปี 2563 ตลาดจีโนมิกส์โลกมีมูลค่า 23.12 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 27.81 พันล้านดอลลาร์ และคาดการณ์ว่าในอีก 7 ปีข้างหน้า หรือในปี 2571 จะมีมูลค่าสูงถึง 94.66 พันล้านดอลลาร์ หรือกว่า 3 ล้านล้านบาท มีอัตราการเติบโตร้อยละ 19.4 ต่อปี ซึ่งหากไทยเข้าสู่ห่วงโซ่ธุรกิจนี้ได้ก็จะสร้างรายได้ให้กับประเทศมหาศาล


ซึ่งในปัจจุบันมีบริษัทสตาร์ทอัปของไทยได้เริ่มดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการแพทย์จีโนมิกส์แล้วหลายราย เช่น นวัตกรรมการตรวจโครโมโซมจากเลือด เพื่อตรวจวินิจฉัยความผิดปกติทางพันธุกรรมในระดับเซลล์ หาสาเหตุของการเกิดโรค หรือความผิดปกติแฝง, การตรวจโครโมโซมจากน้ำคร่ำเพื่อตรวจหาความผิดปกติในระดับโครโมโซมของทารกในครรภ์, เทคนิคการคัดกรองดาวน์ซินโดรมและความผิดปกติของทารกในครรภ์ด้วยความแม่นยำสูง, เทคนิคการเพิ่มความสำเร็จการตั้งครรภ์ของเด็กหลอดแก้วด้วยการคัดกรองจีโนมิกส์ของตัวอ่อน เป็นต้น รวมไปถึงการพยากรณ์โอกาสการเกิดโรคมะเร็งจากความผิดปกติของดีเอ็นเอ เพื่อป้องกัน และรักษาโรคมะเร็งในกลุ่มเสี่ยงได้รวดเร็ว และการป้องกันรักษาโรคอื่นๆ อีกมากมายในอนาคต


นอกจากนี้ การที่ไทยก้าวไปสู่การวิจัยพัฒนาในด้านเทคโนโลยีจีโนมิกส์ ก็จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ต่างชาติมีความมั่นใจในศักยภาพด้านการแพทย์และนักวิจัยไทยมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการลงทุนในด้านอุตสาหกรรมการแพทย์ชั้นสูง เช่น การผลิตยา และวัคซีนชีวภาพ เครื่องมือแพทย์จีโนมิกส์ และการบริการทางการแพทย์ชั้นสูงอื่นๆ รวมทั้งยังทำให้ชาวต่างชาติสนใจและมีความมั่นใจเข้ามารับการรักษาพยาบาลในไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยไปสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในระดับนานาชาติได้ไม่ยาก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ฟุ้ง! นายกฯผลักดันเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือนแรกปี 2567

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ผลักดันแก้ปัญหา ยกระดับเศรษฐกิจไทย จนมียอดการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใหม่ทั่วประเทศ