รัฐบาลต้องฟัง : 6 อดีตผู้ว่าฯ ธปท. ชี้ปัญหาหลักของชาติชัดๆ แล้ว

อดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ 6 ท่านมานั่ง “เหลียวหลัง แลหน้า” เนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปีของธนาคารแห่งประเทศไทยวันก่อน...แสดงความเห็นที่ผมคิดว่ามีคุณค่าและกระตุ้นให้รัฐบาลต้องทบทวนยุทธศาสตร์ใหม่หลายด้าน

อดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ 6 ท่านนั้นคือ

 ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์

 ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

  ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล

ดร.ธาริษา วัฒนเกส

ดร.วิรไท สันติประภพ

คำเตือนของอดีตผู้ว่าฯ พอจะสรุปได้ว่า มีความกังวลเรื่องหนี้สูง-ขาดดุลนาน

ประชานิยมไร้ขอบเขตและหลักการ

ความเป็นอิสระจากผู้มีอำนาจ

ประเด็นหลักที่ผมสรุปใจความได้จากความเห็นของทั้ง 6 ท่านคือ

ฐานะของภาครัฐน่าเป็นห่วง มีการขาดดุลการคลังติดต่อกันมานาน ภาระหนี้ก็สูงขึ้นต่อเนื่อง

ขณะที่ประเทศกำลังเจอกับวิกฤตซ้อนวิกฤตคือ โรคระบาดโควิด ตามมาด้วยสงครามยูเครน

ในกระบวนการที่ต้อง “อุ้ม” เศรษฐกิจที่มีปัญหานั้น รัฐบาลอาจจะกำลังทำให้ประชาชนเชื่อว่านโยบาย “ประชานิยมเป็นเรื่องธรรมดา”

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ในแง่ฐานะการคลังตอนนี้ก็แฝงไว้ด้วยปัญหาระยะยาวมากมาย

รัฐบาลกล้าสื่อความจริงกับประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพเพียงใดเป็นประเด็นใหญ่

อดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติท่านหนึ่งบอกว่า ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลายๆ เรื่อง ต้นเหตุจะอยู่ที่เรียลเซ็กเตอร์ หรือคนอื่นเป็นคนทำ แต่พอเสร็จแล้ว มันก็มาโผล่ที่การเงินว่า ภาคการเงินไม่มีเสถียรภาพ

แบงก์ชาติเป็น “ปลายเหตุ” แต่กลายเป็นต้องเป็นคนที่รับภาระอยู่คนเดียว จึงต้อง “ออกแรง” หนักเป็นพิเศษ เพราะปัญหาสลับซับซ้อนมากขึ้น

ข้อเสนออีกข้อหนึ่งคือ ผู้ว่าฯ ธปท.ต้องพูดคุยกับรัฐบาล แม้ว่ารัฐบาลส่วนมากจะไม่ค่อยฟัง

ท่านยอมรับว่ายิ่งตอนนี้เป็นรัฐบาลการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ก็ยิ่งจะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับการเมือง

ซึ่งเป็นเรื่องที่ “เหนื่อยมาก”...แต่ก็ต้องพยายามทำหน้าที่ให้ดีสุด

หากแบงก์ชาติต้องทำนโยบายที่เข้มงวด ซึ่งคนอื่นเขาไม่ชอบ “เราก็ต้องใจแข็งที่จะทำ...”

เพราะถ้าไม่มี ธปท.เป็นด่านสุดท้ายแล้ว ก็ไม่รู้ว่าเศรษฐกิจจะตกเหวไปอยู่ที่ไหน

หลักใหญ่ใจความคือ ธปท.จะต้องมีความเชื่อมั่นในหลักการที่ถูกต้องในสิ่งที่จะทำ มีจุดยืน และกล้าทำนโยบายที่ยากและไม่เป็นที่นิยม แต่เป็นประโยชน์กับส่วนรวม

การดำเนินนโยบายการเงินต้องมี 3 องค์ประกอบคือ

ความพอดีและความสมดุล ความคล่องตัว และความระมัดระวัง

อีกทั้ง ธปท.จะต้องสร้างองค์กรให้เป็นที่น่าเชื่อถือ มีบุคลากรที่เข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง และมีการสื่อสารที่ดีกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลาย

แน่นอนว่าความท้าทายต่อ ธปท. วันนี้คือความเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดโอกาสทางการเงินใหม่ๆ ซึ่งตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน และหลายๆ เรื่องก็ใช้การได้ดี

แต่ในฐานะที่เป็น ธปท. สิ่งที่สำคัญ คือ ต้องมองไปข้างหน้าว่าอะไรจะเกิดขึ้น และกระทบต่อสิ่งที่ ธปท.เป็นห่วงมากน้อยเพียงใด

เช่น ทำให้ภูมิทัศน์ของสถาบันการเงิน และการตอบสนองต่อผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

อีกประเด็นหนึ่งที่ได้รับการกล่าวถึงคือ เหมือนรัฐบาลไม่มีนโยบายการคลัง ใช้เงินไปเรื่อยๆ โดยไม่เคยคิดว่าจะขาดดุลการคลังเท่าไหร่ และจะขาดดุลในน้ำหนักแค่ไหนจึงจะเพียงพอ

ดังนั้นประเทศไทยในตอนนี้จะต้องเน้นเรื่องการมีนโยบายการคลังที่จริงๆ   แต่ก็ขึ้นอยู่กับผู้นำของรัฐบาลว่า จะมีความคิดในเรื่องนี้หรือไม่

ความเป็นอิสระสำหรับแบงก์ชาติเป็นสิ่งสำคัญ หนึ่งในอดีตผู้ว่าฯ ธปท.บอกว่า

 “ผมคิดว่าเป็นเรื่องของความเป็นอิสระมากกว่า ทุกคนต้องทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาอยู่แล้ว ไม่ต้องคำนึงว่าจะเป็นที่พอใจของผู้มีอำนาจหรือนักการเมือง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทำตัวเป็นอิสระโดยไม่ฟังใคร              อันนี้ต้องระวัง ต้องฟังความเห็นของผู้ที่ทำงานในการเสริมสร้างเศรษฐกิจของหน่วยงานต่างๆ และเอาความเห็นมาคิดประกอบการดำเนินการนโยบายของเรา

 “ผมต้องติงอันนี้ว่า เพราะกลัวว่าทุกคนจะเป็นอิสระแล้วไม่ฟังใคร”

อดีตผู้ว่าฯ อีกท่านหนึ่งเน้นเรื่องการปกครอง และระบบยุติธรรม

 “คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่า governance ของประเทศไม่ดี มันเกิด dis governance ตัวอย่างที่คลาสสิกมากคือ ที่ถกเถียงกันว่าเมืองไทยขาดคนที่เก่ง STEM (Science, Technology, Engineering and Mathematics)

 “แต่เอาเข้าจริงเด็กรุ่นใหม่ๆ เก่งมาก แต่ว่าไปทำงานที่ Silicon Valley บ้าง ทำงานนิวยอร์กบ้าง หลายคนก็ไปทำงานที่สิงคโปร์ เป็นต้น มันเป็นเรื่องที่กว้างกว่าเรื่องเรียลเซ็กเตอร์ แต่ต้องเป็นเรื่องการ re-think re-form governance ของประเทศด้วย”

อีกหลักการหนึ่งที่ได้รับการกล่าวถึงคือ แนวทางของ ธปท.ที่จะ ‘ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ และติดดิน’ ที่ต้องปรับให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและความท้าทายที่เผชิญ

เช่น ยืนตรง ไม่ได้หมายถึงแค่ความซื่อสัตย์ คนแบงก์ชาติไม่โกง ตรงไปตรงมาแต่เพียงอย่างเดียว

แต่เรื่องสำคัญคือ ต้องกล้าทำในสิ่งที่ควรจะทำ

โดยเฉพาะบทบาทในการเป็นผู้กำกับดูแล ธปท.จะต้องเข้าไปเปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่าง

เช่น ความบิดเบือนหลายอย่าง และในสภาวะวิกฤตแม้บางเรื่องไม่ได้อยู่ภายในเขตของ ธปท.โดยตรง แต่ถ้าไม่กล้าทำ ก็จะขว้างงูไม่พ้นคอ และผลเสียที่เกิดขึ้นจะมากกว่ามาก

ดังนั้นคำว่ายืนตรง จึงต้องตีความให้สอดรับกับความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในบทบาทของการเป็นผู้กำกับดูแล

ส่วนคำว่ามองไกลนั้น จะต้องทั้งมองไกลและมองกว้าง เพราะระบบเศรษฐกิจที่เราเผชิญอยู่มีความเชื่อมโยงสูงมาก และมีองค์ประกอบหลายปัจจัย

รวมทั้งต้องมองไกลไปถึงทางออกและแนวทางการแก้ปัญหาด้วย ซึ่งหลายครั้งเราอาจมองไกล ประมาณการเก่ง มองฉากทัศน์ต่างๆ เก่ง

แต่จะทำแค่นั้นไม่ได้ เพราะในภาวะที่เราเจอปัญหาโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ความสำคัญไปถึงการมองไกลไปสู่ทางออก

ในอีกด้านหนึ่งภารกิจของ ธปท.ไม่ใช่แค่นโยบายการเงินกับเสถียรภาพทางการเงินเท่านั้น

ในช่วงหลังๆ เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก ประเทศต่างๆ ใช้นโยบายกันน้อยมาก และจะไปอิงนโยบายการเงินเป็นส่วนใหญ่

 “มีการปั๊มเงินเข้าไปในระบบเยอะมาก ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้น แต่ผลพวงความเสียหายก็โยงมาถึงทุกวันนี้ ซึ่งเป็นการขว้างงูไม่พ้นคอ เพราะการที่มีเครื่องจักรบางตัวทำงานเพียงบางช่วง ช่วงนี้อาจจะส่งออกดี ช่วงนั้นการบริโภคดี แต่ถามว่ามีทางหรือไม่ ที่เราจะช่วยกัน ทำให้เครื่องจักรทุกตัวเดินหน้าอย่างยั่งยืน..”

นั่นไม่ใช่หน้าที่ของ ธปท.แต่ผู้เดียว เป็นเพียงเสาหลักต้นหนึ่งของประเทศ

เพราะในแง่กฎหมาย ต้องประสานกับอีก 3 สายงาน

คือ สภาพัฒน์ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ

เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาต่างๆ นอกจากปัญหาเดิมๆ ที่มีมากอยู่แล้ว เช่น หนี้ครัวเรือน

 เรื่องการติดกับดักรายได้ปานกลาง

เรื่องความเหลื่อมล้ำทางรายได้  และโจทย์ใหม่ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงทางเทคนิค เทคโนโลยี และโมเดลธุรกิจ รวมถึงเรื่อง ESG ซึ่งเป็นที่คาดหวังว่า ภาคการเงิน ธนาคารพาณิชย์ควรต้องมีบทบาทในการแก้ปัญหาโลกร้อน เป็นต้น

หากคนในรัฐบาลยอมรับเนื้อหาสาระของการเสวนาวันนั้น น่าจะทำให้เกิดการระดมสมองครั้งใหญ่เพื่อการปรับยุทธศาสตร์ของชาติได้อย่างมีนัยสำคัญยิ่ง

อยู่ที่ว่ารัฐบาลและพรรคการเมืองที่อาสามาบริหารประเทศจะยอมรับความจริงที่ว่าคนเก่งคนจริงอยู่นอกกระบวนการการเมืองของเราเป็นส่วนใหญ่!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เวียดนามกวาดล้างโกงกิน ระดับนำร่วงคนที่ 3 ในปีเดียว

เวียดนามเขย่าระดับสูงอย่างต่อเนื่อง...เป็นการยืนยันว่าจะต้อง “ชำระสะสาง” ให้สามารถจะบอกประชาชนและชาวโลกว่ายึดมั่นเรื่องธรรมาภิบาลและความโปร่งใสอย่างจริงจัง

สี จิ้นผิงบอกบลิงเกน: จีน-มะกัน ควรเป็น ‘หุ้นส่วน’ ไม่ใช่ ‘ปรปักษ์’

รัฐมนตรีต่างประเทศแอนโทนี บลิงเกนไปเมืองจีนครั้งล่าสุดเมื่อสัปดาห์ก่อนเจอกับ “เล็กเชอร์” จากประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเป็นชุด

สมรภูมิยะไข่: อีกจุดเดือด กำหนดทิศทางสงครามพม่า

หนึ่งในกองกำลังชาติพันธุ์ที่กำลังกล่าวขวัญกันอย่างกว้างขวางว่าได้ปักหลักสู้กับรัฐบาลทหารพม่าอย่างแข็งแกร่งคือ “อาระกัน” หรือ Arakarn Army (AA) ในรัฐยะไข่ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของประเทศ ติดชายแดนบังคลาเทศ

ส่องกล้องสนามรบทั่วพม่า : แพ้ไม่ถาวร, ชนะไม่เบ็ดเสร็จ

แม้ว่าการสู้รบในเมียวดี ตรงข้ามกับแม่สอดดูจะแผ่วลง เพราะมีการต่อรองผลประโยชน์สีเทากันระหว่างกลุ่มต่างๆ แต่สงครามในเขตอื่นๆ ทั่วประเทศพม่ายังหนักหน่วงรุนแรงต่อไป

เมียวดี: สงคราม, ทุนสีเทา, กาสิโน, มาเฟียและยาเสพติด

สงครามในเมียวดีตรงข้ามแม่สอดของจังหวัดตากของไทยซับซ้อนกว่าเพียงแค่การสู้รบแย่งชิงพื้นที่ระหว่างฝ่ายกองทัพพม่ากับฝ่ายต่อต้านเท่านั้น