“หนี้ครัวเรือน”ปัญหาที่ต้องเร่งแก้

สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่ได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น สะท้อนจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะราคาพลังงาน และอาหาร กดดันความสามารถในการใช้จ่ายของประชาชนอย่างหนัก โดยส่วนใหญ่ยังคงบอบช้ำจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายภาคส่วนได้รับผลกระทบจากการหยุดกิจการของภาคธุรกิจ ตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง และส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้ครัวเรือน ตลอดจนความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนอีกด้วย

ก่อนหน้านี้ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวเป็นบวกที่ระดับ 3% และปี 2566 ที่ระดับ 4.5% เนื่องจากเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา

แต่ก็ยังมีอีกปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม นั่นคือ “สถานการณ์หนี้ครัวเรือน” โดย ณ สิ้นไตรมาส 4/2564 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 14.58 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนที่ 90.1% ต่อจีดีพี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลของจีดีพีที่หดตัวจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 แต่ก็เชื่อว่าเมื่อเศรษฐกิจไทยสามารถกลับมาฟื้นตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยต่อจีดีพีน่าจะลดลงได้ในอนาคต

ทั้งนี้ หนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ 34.5%, เพื่อการประกอบอาชีพ 18.1% และเพื่อการซื้อทรัพย์สิน 12.4% ในขณะที่หนี้ครัวเรือนเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลมีสัดส่วนที่น้อยกว่าอยู่ที่ 27.8% ดังนั้นหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่จึงเป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้และสร้างอาชีพให้กับประชาชนในอนาคตต่อไป

ด้าน “ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (Economic Intelligence Center : EIC SCB)” ได้ออกบทวิเคราะห์ โดยระบุว่า EIC คาดการณ์สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยในปี 2565 ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า จากแรงกดดันด้านราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ตลาดแรงงานอาจฟื้นตัวไม่ทันภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน รวมถึงอาจทำให้มีการก่อหนี้ใหม่เพิ่มเติมเพื่อชดเชยสภาพคล่อง

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีมีแนวโน้มที่จะทรงตัวในปีนี้ แม้ว่าหนี้ครัวเรือนจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งในด้านปริมาณ (Real GDP) และด้านของราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น จะทำให้ Nominal GDP (จีดีพีตามราคาปัจจุบัน) ยังขยายตัวสูงในระดับที่ใกล้เคียงกับการขยายตัวของหนี้ครัวเรือน

 “EIC มองว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนมีโอกาสทรงตัวอยู่ในช่วง 89%-90% ต่อจีดีพีในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 และจะทยอยปรับลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งหลังของปี” จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเริ่มทยอยดีขึ้น ทั้งในด้านกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยวในช่วงหลังของปี และภาวะเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปีเช่นเดียวกัน จากราคาพลังงานที่คาดว่าจะทยอยลดลง

แม้ว่าตัวเลขหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอาจไม่เพิ่มสูงขึ้น แต่ EIC มองว่าภาวะหนี้ครัวเรือนยังคงเปราะบางและน่ากังวล จากอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ตลาดแรงงานที่ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ รวมถึงค่าแรงที่ครัวเรือนได้รับอาจเพิ่มขึ้นตามไม่ทันราคาสินค้าและบริการ นั่นจึงอาจเป็นเหตุผลให้ในระยะต่อไปการช่วยเหลือจากภาครัฐยังคงจำเป็น!! ในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน

เนื่องจากปัญหาดังกล่าวยังเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย โดยยังจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข เนื่องจากภาระหนี้ที่ยังสูงจะทำให้การใช้จ่ายของครัวเรือนมีจำกัด และสร้างแรงกดดันสำคัญต่อการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งถือเป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจไทยในยามที่เศรษฐกิจกำลังจะฟื้นตัว ส่งผลต่อเนื่องให้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ดี ภาครัฐควรมีมาตรการจัดการแบบยั่งยืน โดยมุ่งเน้นทั้งการจัดการหนี้ปัจจุบัน ลดการก่อหนี้ที่เกินตัวเพิ่มเติมในอนาคต รวมถึงการส่งเสริมในด้านรายได้และการจ้างงาน ซึ่งจะสนับสนุนความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนในปัจจุบันและในระยะข้างหน้า เช่น การส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในภาคธุรกิจผ่านการอุดหนุนการจ้างงาน เพื่อให้แรงงานมีรายได้ต่อเนื่อง การมีนโยบายเพิ่มรายได้ต่อหัวของประชากรในระยะยาว ผ่านการปรับหรือเพิ่มทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดเพื่อเพิ่มผลิตภาพ ที่จะส่งผลต่อโอกาสในการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น.

ครองขวัญ รอดหมวน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อัปเกรดอุตฯเหล็กรับมาตรการCBAM

การเดินหน้ามาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) นั้น ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวอย่างมากของกลุ่มผู้ผลิต

อวดชาวโลกสีสันสงกรานต์2567

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี จะมีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน ประชาชนส่วนใหญ่นิยมเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัด และเดินทางกลับภูมิลำเนา แต่กรุงเทพมหานครก็ได้จัดกิจกรรมอย่างยิ่งใหญ่ โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมเชิญชวนชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าร่วมงาน “Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567” บริเวณถนนราชดำเนินกลางและท้องสนามหลวง ระหว่างวันที่ 11–15 เมษายนนี้

เร่งกระตุ้นอสังหาฯ

อสังหาริมทรัพย์เป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทย เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่มีห่วงโซ่ยาว ตั้งแต่ภาคการผลิตต่างๆ เช่น เหล็ก ซีเมนต์ การท่องเที่ยว ตลอดจนการเงิน หากภาพรวมอสังหาฯ ดีย่อมส่งผลบวกต่ออุตสาหกรรมใกล้เคียง แต่หากลบก็กระทบธุรกิจอื่นๆ ได้เช่นกัน แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกที่ผลักดันให้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น แต่ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ และภาวะหนี้ครัวเรือนที่บั่นทอนกำลังซื้อในประเทศ ส่งผลกับภาคอสังหาฯ อย่างเห็นได้ชัด

Gen AI ความท้าทายยุคใหม่

การก้าวตามเทคโนโลยีใหม่อย่าง Generative AI ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วอาจเป็นเรื่องที่ท้าทายและน่ากลัว โดยไม่มีใครรู้เลยว่าบริษัทที่ใช้แนวทาง "รอดูไปก่อน" จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังในขณะที่ระบบดิจิทัลเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเริ่มต้นของโควิด-19

'หนี้ครัวเรือน'แนวโน้มชะลอแต่สัดส่วนยังสูง

“หนี้ครัวเรือน” เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายจับตา โดยจากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่ระบุว่า ภาพรวมหนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท

เศรษฐกิจไทยจะไปทางไหนต่อ

ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยเวลานี้เหมือนคนป่วยโรคเรื้อรัง ที่อาการแค่ดีขึ้นเล็กน้อย แต่รักษายังไม่หายขาด ส่งผลให้การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ยังคงติดๆ ขัดๆ นับตั้งแต่ผ่านพ้นจากวิกฤตโควิดมากว่า 2 ปี