การเปิดเรียนในยุคโควิด-19

ในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ นับได้ว่าเป็นการเปิดภาคการเปิดเรียนครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ทำให้นักเรียนสามารถกลับไปเรียนที่โรงเรียนได้ตามปกติ (On-Site) แน่นอนว่าย่อมเป็นปัจจัยบวกกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุปกรณ์การเรียนและสิ่งที่ต้องใช้สำหรับการไปเรียน

มีการคาดการณ์จากแบรนด์รองเท้าผ้าใบอย่างนันยางว่า ภาพรวมตลาดรองเท้าผ้าใบนักเรียนในปี 2565 จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง ที่ผ่านมาตัวเลขมูลค่าตลาดรวมของรองเท้านักเรียนก่อนวิกฤตโควิด-19 อยู่ที่ 5,000 ล้านบาท หากพิจารณาเฉพาะตลาดรองเท้าผ้าใบนักเรียนจะพบว่า นันยางครองส่วนแบ่งตลาดอยู่ประมาณ 43% ในปัจจุบัน และเชื่อมั่นว่าน่าจะขยายส่วนแบ่งได้เพิ่มขึ้นในปี 2565 เพราะช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจำนวนผู้เล่นในตลาดลดน้อยลงจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ

มุมมองจากนายจักรพล จันทวิมล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ระบุว่า นันยางได้เตรียมความพร้อมรับมือการเปิดเรียนที่โรงเรียนเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี ในส่วนของภาคการศึกษานั้น กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการก็ได้วางมาตรการเตรียมความพร้อมสำหรับเปิดเรียนเต็มรูปแบบภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2565 เนื่องจากปัจจุบันมียอดผู้ติดเชื้อลดลง และกำลังพิจารณาให้เป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งเชื่อมั่นว่าการใช้ชีวิตของนักเรียนไทยจะกลับไปเรียนที่โรงเรียนตามเดิมและอยู่ร่วมกับโควิดในวิถีใหม่

นอกจากนี้ เด็กมีการเติบโตขึ้นตามวัย ขนาดเท้าใหญ่ขึ้น ดังนั้นรองเท้าที่เคยใส่ไปโรงเรียนเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ก็อาจจะไม่สามารถนำมาใส่ได้อีก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กหรือนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาที่มีพัฒนาการร่างกายรวดเร็ว โดยปกติเด็กจะเปลี่ยนขนาดรองเท้าใหญ่ขึ้นอย่างต่ำปีละ 1 เบอร์

ขณะเดียวกันในช่วงเวลานี้ของทุกปี ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานในวัยเรียนจะมีภาระค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษา แต่เนื่องจากตั้งแต่ต้นปี 2565 ที่ผ่านมา ราคาสินค้าหลายประเภทและพลังงานเร่งตัวสูงขึ้น ขณะที่การจ้างงานและรายได้ภาคครัวเรือนยังอ่อนแอ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการใช้จ่ายของผู้ปกครองบางกลุ่มที่มีความอ่อนไหวกับหลายๆ ปัจจัยด้วยกัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า สิ่งที่ผู้ปกครองมีกังวลมากที่สุดคือ ปัญหาเรื่องของราคาสินค้าและพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและการใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของบุตรหลาน ผู้ปกครองกว่า 70.8% แสดงความกังวลและมีปัญหาด้านสภาพคล่องทางการเงินในการใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของบุตรหลานในการเปิดเทอมปี 2565 เนื่องจากในภาวะปัจจุบัน ผู้ปกครองบางกลุ่มยังคงเผชิญกับปัญหาหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่ตนเองหรือสมาชิกในครอบครัวยังหางานไม่ได้ ชั่วโมงการทำงานยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ ยอดขายของธุรกิจที่ลดลง มีภาระที่ต้องผ่อนชำระเงินกู้ อีกทั้งยังต้องพบเจอกับภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยกลุ่มผู้ปกครองที่มีความกังวลหรือมีปัญหาด้านสภาพคล่อง ส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง และเป็นกลุ่มที่มีภาระการผ่อนชำระสินเชื่อมากกว่า 1 บัญชี หรือเงินกู้ยืมจากแหล่งอื่น

สำหรับแหล่งเงินที่ผู้ปกครองนำมาใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของบุตรหลาน โดยส่วนใหญ่จะมาจากเงินออมและมาจากแหล่งเงินอื่นๆ เช่น บัตรเครดิต ยืมญาติ/เพื่อน เป็นต้น คิดเป็นสัดส่วน 41.8% รองลงมาคือ ผู้ปกครองใช้เงินออมของตนทั้งหมดคิดเป็นสัดส่วน 30.4% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด

แต่ก็มีผู้ปกครองส่วนหนึ่งที่มีเงินออมไม่เพียงพอเพื่อนำมาใช้จ่ายในการชำระค่าเทอมและซื้ออุปกรณ์การเรียน ชุดนักเรียน และอื่นๆ จำเป็นต้องพึ่งพาแหล่งเงินจากที่อื่น 27.8% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด เช่น ยืมญาติ เพื่อน ใช้สินเชื่อจากสถาบันการเงินอย่างบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด ผู้ปกครองบางรายพึ่งโรงรับจำนำ กู้นอกระบบ และผู้ปกครองบางรายเลือกที่จะขอผ่อนชำระหรือผ่อนผันกับทางโรงเรียนกลุ่มตัวอย่างกว่า 82.6% มองว่า ในช่วงเวลานี้ทางการควรมีมาตรการเพื่อมาช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา หรือด้านอื่นๆ

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า มูลค่าการใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของบุตรหลานของผู้ปกครองในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2565 นี้ อาจมีมูลค่าประมาณ 26,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 2.0% เมื่อเทียบกับผลสำรวจในช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่มูลค่าการใช้จ่ายยังต่ำกว่าในช่วงผลสำรวจปี 2563.

รุ่งนภา สารพิน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อัปเกรดอุตฯเหล็กรับมาตรการCBAM

การเดินหน้ามาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) นั้น ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวอย่างมากของกลุ่มผู้ผลิต

Gen AI ความท้าทายยุคใหม่

การก้าวตามเทคโนโลยีใหม่อย่าง Generative AI ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วอาจเป็นเรื่องที่ท้าทายและน่ากลัว โดยไม่มีใครรู้เลยว่าบริษัทที่ใช้แนวทาง "รอดูไปก่อน" จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังในขณะที่ระบบดิจิทัลเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเริ่มต้นของโควิด-19

'หนี้ครัวเรือน'แนวโน้มชะลอแต่สัดส่วนยังสูง

“หนี้ครัวเรือน” เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายจับตา โดยจากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่ระบุว่า ภาพรวมหนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท

เศรษฐกิจไทยจะไปทางไหนต่อ

ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยเวลานี้เหมือนคนป่วยโรคเรื้อรัง ที่อาการแค่ดีขึ้นเล็กน้อย แต่รักษายังไม่หายขาด ส่งผลให้การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ยังคงติดๆ ขัดๆ นับตั้งแต่ผ่านพ้นจากวิกฤตโควิดมากว่า 2 ปี

ไทยจะเป็นฮับเอทานอล

ประเทศไทยหลังจากที่ผลัดเปลี่ยนรัฐบาลชุดนี้ ก็ตั้งเป้าการทำงานที่หลากหลายและแปลกตามากขึ้น แน่นอนว่าหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแล

เดินให้สุดทำอย่างจริงจัง

ปัจจุบันพบปัญหาถังก๊าซหุงต้มในท้องตลาดเสื่อมสภาพและหมดอายุตกค้างอยู่ในระบบจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการลักลอบนำถังก๊าซหุงต้มมาเติมในสถานีบริการ LPG เป็นระยะ ซึ่งนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว