ต้นทุนโจทย์ท้าทายธุรกิจอาหาร

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ยังอยู่ในภาวะที่เปราะบาง โดยเฉพาะปัจจัยลบด้านราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ปัญหาเงินเฟ้อ ได้ส่งผลให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นตาม ดังนั้น ในปี 2565 ธุรกิจร้านอาหารต้องเผชิญกับโจทย์ต้นทุนในการทำธุรกิจที่ปรับตัวขึ้นพร้อมกันในแทบทุกประเภทวัตถุดิบในการประกอบอาหาร ค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคอย่างค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม หรือ LPG และค่าจ้างแรงงาน  

ซึ่งจากการประเมินของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ทั้งปี 2565 ต้นทุนการทำธุรกิจร้านอาหารปรับเพิ่มขึ้นโดยรวมเฉลี่ยกว่า 14% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในปี 2564 ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารหลายรายจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาอาหาร เพื่อรักษาความสามารถในการทำธุรกิจ โดยราคาอาหารเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 10% จากปี 2564

และในปี 2566 ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารน่าจะยังต้องเผชิญกับต้นทุนในการทำธุรกิจร้านอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะแนวโน้มราคาก๊าซหุงต้มและค่าไฟในประเทศที่ยังมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้นตามราคาพลังงานโลก ในปี 2566 ยังทรงตัวระดับสูง และมีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้นหากสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนยังยืดเยื้อ ส่งผลต่อเนื่องมายังราคาวัตถุดิบที่คงปรับเพิ่มขึ้นตาม ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารอาจจำเป็นต้องปรับราคาอาหารเพิ่มขึ้นอีก แต่คงทำได้จำกัดเนื่องจากกำลังซื้อโดยรวมยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และการแข่งขันในธุรกิจที่สูง

โดยผลกระทบจากการปรับขึ้นของต้นทุนจะมีความแตกต่างกันในแต่ละประเภทของร้านอาหาร และรูปแบบของการให้บริการ ซึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากจะเป็นกลุ่มที่มีราคาขายไม่สูง มีกำไรต่อหน่วยที่ต่ำ เน้นปริมาณการขาย เช่น กลุ่มร้านอาหารข้างทาง รวมทั้งกลุ่มร้านอาหารประเภทให้บริการเต็มรูปแบบ สวนอาหารขนาดใหญ่ ซึ่งร้านอาหารกลุ่มนี้จะมีค่าใช้จ่ายที่สูง ทั้งค่าจ้างแรงงาน ค่าสาธารณูปโภค ที่โดยเฉลี่ยจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าร้านอาหารประเภทอื่น รวมถึงผู้ประกอบการบางรายมีค่าใช้จ่ายในเรื่องของค่าเช่าพื้นที่

นอกจากนี้ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันในธุรกิจที่สูง รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไปตามเทรนด์ที่เกิดขึ้น ส่งผลต่อแผนการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ แม้ว่าจะมีร้านอาหารที่ปิดตัวลงเป็นระยะ แต่ก็มีร้านอาหารเปิดใหม่เข้าสู่ตลาดต่อเนื่องเช่นกัน ไม่ว่าจะผู้ประกอบการใหญ่เข้ามาในธุรกิจร้านอาหารเพิ่มขึ้น และมีการนำแบรนด์อาหารใหม่ๆ จากต่างประเทศเข้ามาทำตลาด

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการรายเล็กมีการเปิดร้านอาหารจำนวนมาก ทำให้เกิดการแข่งขันที่สูง กอปรกับพฤติกรรมของผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนไปตามกระแสนิยมและมีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้การทำธุรกิจจึงต้องมีการปรับตัวที่รวดเร็ว

จากปัจจัยดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเติบโตของธุรกิจอาหารยังอยู่บนพื้นฐานของความระมัดระวัง โดยคาดว่าในปี 2566 ธุรกิจร้านอาหารน่าจะเติบโต 2.7%-4.5% หรือมีมูลค่า 4.18-4.25 แสนล้านบาท มูลค่ารวมจะยังต่ำกว่าก่อนโควิด ขณะที่การฟื้นตัวของธุรกิจร้านอาหารแต่ละประเภทการให้บริการจะมีความต่างกันไปตามปัจจัยเฉพาะของตลาด

ดังนั้นท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางธุรกิจร้านอาหารที่ยังมีปัจจัยท้าทาย โดยเฉพาะแนวโน้มต้นทุนยังมีความผันผวนสูง เพื่อให้ธุรกิจสามารถผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ การควบคุมต้นทุนยังเป็นสิ่งสำคัญ โดยที่อาจไม่ต้องลงทุนเพิ่มเติม และต้องผสมผสานระหว่างช่องทางการขายผ่านทั้งออนไลน์ หรือ Delivery และออฟไลน์ผ่านหน้าร้าน เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้หลายช่องทาง รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการรับออเดอร์อาหาร การสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันของทางร้าน.

บุญช่วย ค้ายาดี

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เดินให้สุดทำอย่างจริงจัง

ปัจจุบันพบปัญหาถังก๊าซหุงต้มในท้องตลาดเสื่อมสภาพและหมดอายุตกค้างอยู่ในระบบจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการลักลอบนำถังก๊าซหุงต้มมาเติมในสถานีบริการ LPG เป็นระยะ ซึ่งนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว

ดันสงกรานต์ไทยสู่เทศกาลโลก

หลังจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงมหาดไทย จับมือจัดงาน “Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567”

เน้นเชิงรับมากกว่าเชิงรุก

ก๊าซหุงต้ม หรือก๊าซปิโตรเลียมเหลว (Liquefied Petroleum Gas) หรือก๊าซ LPG ด้วยคุณสมบัติพิเศษของมันก็คือ การที่มีสารโพรเพนและบิวเทนอยู่ในตัว ซึ่งสารสองนี้เป็นสารที่ติดไฟง่าย

เจาะลึกพฤติกรรมนักท่องเที่ยวชาวไทย

ในช่วงที่ผ่านมาได้มีผลการวิจัยของมินเทล (Mintel) พบว่า ผู้บริโภคชาวไทยหันมาใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้นในการหาแรงบันดาลใจด้านการท่องเที่ยว และแบ่งปันประสบการณ์ท่องเที่ยวของตนเอง

วิกฤตเลวร้ายกว่าต้มยำกุ้ง?

ตกเป็นประเด็นอีกครั้ง สำหรับเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจของไทย เพราะล่าสุด 'ทักษิณ ชินวัตร' อดีตนายกรัฐมนตรีได้มาพูดย้ำว่า ประเทศไทยตอนนี้มันยากกว่าสมัยช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง เพราะมีความซับซ้อนและยากมากกว่า และมองว่าการแก้ไขมันต้องมีการเปลี่ยน เพราะโลกมันเปลี่ยนไม่เหมือนเดิม

จับชีพจร“ท่องเที่ยวไทย”เริ่มฟื้นตัว

“ท่องเที่ยว” ถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมสำคัญในการขับเคลื่อนและกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ เรียกได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมหลักๆ ที่สร้างรายได้มหาศาลให้ประเทศตลอดช่วงที่ผ่านมา