'ทำไมเขาต้องทำแบบนั้น?'

    ทำเป็นเล่นไป หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ อยู่จนครบ 26 ปี แล้วทำเป็นเล่นไป ผมเขียนคอลัมน์นี้ตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 9-11 เมื่อ ค.ศ.2001 (มีช่วงที่เว้น ก็คือช่วงผมอยู่อินโดนีเซีย และเพิ่งจะเริ่มกลับมาเขียนช่วงสงกรานต์ปีนี้)

    ใครจะไปคิดว่า คนที่เรียนวิชาภาษาไทยถึงแค่ ป.4 และมีลายมือเขียนภาษาไทยเทียบเท่าเด็ก ป.1 จะมีโอกาสเขียนบทความภาษาไทยเป็นเวลายาวนานขนาดนี้? และสิ่งที่เหลือเชื่อไปกว่านั้นคือ ใครจะคิดว่ามีคนอ่านสิ่งที่คนมีลายมือเขียนภาษาไทยเทียบเท่าเด็ก ป.1 เขียน?

    โจทย์ดั้งเดิมของคอลัมน์นี้คือ ตอนนั้นคุณเปลว สีเงิน ติดต่อมาในฐานะผมเป็นลูกหลาน และอยากให้ผมพยายามอธิบายให้คนไทยเข้าใจความสัมพันธ์และความรู้สึกของคนอเมริกันจากเหตุการณ์ 9-11 มากกว่าเพียงรายงานข่าวเหมือนที่อื่น ในช่วงแรกๆ เขาให้ผมเขียนทุกวันเป็นเวลาหลายเดือนครับ พอผ่านไปเกือบหนึ่งปีลดให้เหลือ 5 วันต่อสัปดาห์ พอผ่านไปสักพักใหญ่ให้เหลือสัปดาห์ละครั้ง

    ซึ่งบอกได้เลยว่า วันไหนมีเรื่องเขียน วันไหนมีอารมณ์เขียน และสิ่งสำคัญที่สุด วันไหนมีใจจะเขียน ทุกอย่างราบรื่นและเขียนง่ายดายครับ แต่วันไหนคิดเรื่องไม่ออก ไม่มีอารมณ์ และสิ่งสำคัญที่สุด ไม่มีใจจะเขียนนั้น ให้จุดธูปกี่ดอก ให้ภาวนาถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทุกชั้น ทั้งในสวรรค์และนรกก็ตาม ยังไงๆ ไม่มีทางเขียนอะไรได้ ถ้าเป็นสมัยก่อนจะนั่งหมุนดินสอกับปากกา พยายามฝืนเขียนอะไรก็ได้ มองกระดาษว่างเปล่าบ้าง มองนอกหน้าต่างบ้าง มองเพดานบ้าง แต่ก็ยังเขียนไม่ออกอยู่ดี ถ้ายุคนี้ก็ยังมองนอกหน้าต่าง มองเพดาน แต่จะมองจอคอมพ์ แทนมองกระดาษว่างเปล่า

    ส่วนบางวันตั้งใจเขียนเรื่องหนึ่ง แต่อารมณ์พาไปอีกทางหนึ่ง ตอนเริ่มเขียนคอลัมน์ใหม่ๆ ผมติดเป็นประจำครับ เนื่องจากต้องเขียนทุกวัน ตามประสามนุษย์ มันมีอารมณ์แปรปรวนอยู่บ้าง บางวันมีพลังสูง ทำอะไรได้ทั้งนั้น บางวันหมดไฟ ไม่อยากเจอหน้าคนอื่น วันไหนที่ต้องเขียนบทความในวันที่หมดไฟและไม่อยากเจอหน้าคนอื่นนั้น เป็นวันที่ทรมาน ยิ่งเฉพาะวันไหนมี deadline เป็นช่วงไฟจี้ก้น เป็นช่วงเวลาที่ต้องก้มหน้าก้มตาเขียนฝืนความรู้สึกของเรา และเขียนอืดสุดๆ

    คำแนะนำที่คุณเปลวให้ผม ที่ยังยึดจนถึงบัดนี้ เมื่อถามว่าในวันที่เขียนไม่ออก คุณเปลวมีคำแนะนำอะไรบ้าง เขาตอบประมาณว่า “จ๊อบต้องเขียนตามอารมณ์ ถ้าวันนั้นรู้สึกโกรธ ต้องเขียนออกแนวโกรธๆ ถ้าวันนั้นรู้สึกมีอารมณ์ขัน ก็เขียนตลกๆ ไป อย่าไปฝืนอารมณ์ของเรา เพราะเมื่อเขียนตามอารมณ์ที่เป็นอยู่ จะเป็นบทความที่มาจากใจของเราแท้ๆ บทความที่ดี คือต้องให้คนอ่านสัมผัสสิ่งที่อยู่ในใจของเรา”

    ไม่ทราบว่าแฟนคอลัมน์พอจำกันได้หรือเปล่า เมื่อประมาณสองสัปดาห์ที่แล้ว ผมเขียนบทความเกี่ยวกับเหตุการณ์การกราดยิงที่จังหวัดหนองบัวลำภู และในบทความผมบอกว่าผมกำลังจะพาครอบครัวกลับบ้านเฮาช่วงโรงเรียนปิดเทอมของลูก เนื่องจากจังหวัดหนองบัวลำภูไม่ห่างจากสกลนครเท่าไหร่นัก ผมก็ตั้งใจไปอำเภอที่เกิดเหตุ ซึ่งเมื่อไปถึงที่นั่นจะทำอะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน

    ผมไม่ใช่คนที่ชอบชมสถานที่ที่มีเหตุการณ์โศกเศร้า เพื่อไปดูเฉยๆ ผมไม่ใช่คนประเภทเวลามีอุบัติเหตุบนท้องถนนจะต้องชะลอรถและมองเหตุการณ์ด้วยอารมณ์อยากรู้อยากเห็น ผมไม่ใช่ Dark ขนาดนั้นครับ แต่เหตุการณ์ที่อำเภออุทัยสวรรค์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมานั้น มันสะเทือนใจจริงๆ และถึงแม้พวกเราๆ คงเริ่มลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในฐานะเป็นเขยอีสานและมาแถวนี้อยู่แล้ว ผมมีความรู้สึกว่าต้องไปให้ได้

    ผมบอกเลยครับ เมื่อเห็นสถานที่จริง มันเหนือคำบรรยาย จากภาพที่เห็นในข่าว ไม่ว่าจะเป็นศูนย์เด็กเล็กฯ หรือวัดที่จัดงานเผา พอเห็นสถานที่จริง มันยิ่งสะเทือนใจ

    อบต.อุทัยสวรรค์ ติดถนนและเป็นบริเวณพื้นที่กว้างมาก เมื่อผ่านทางเข้า อบต.จะมีสนามหญ้ากว้างใหญ่กว่าจะถึงที่ทำการของ อบต. ข้างหลังตัวอาคารก็จะมีลานอเนกประสงค์ มีห้องน้ำ มีห้องเก็บของอื่นๆ อีกมากมาย และในมุมเล็กๆ เป็นอาคารเดี่ยวๆ ในบริเวณนั้น คือศูนย์เด็กเล็กฯ

    วันที่พวกเราไปกันตรงกับวันอาทิตย์ ไม่ได้คิดว่าจะเจอใคร หรือจะมีอะไรเปิด แต่เนื่องจากไปที่วัดมาแล้วไม่เจอใคร เลยเลี้ยวเข้าไปที่ อบต. เผื่อเจอใครสักคนหนึ่ง ไม่ใช่เพื่อรบกวนหรอกนะครับ แต่จะได้รู้ว่ามีกองทุนตรงไหน หรือรับเงินบริจาคในส่วนตรงไหนบ้าง เพราะตั้งใจจะไปทำบุญให้ครอบครัวเหยื่อทุกราย

    ปรากฏว่า พอเข้าไปเจอเจ้าหน้าที่ เมื่อถามเขาว่าพอมีตรงไหนบริจาคเงินให้กับเหยื่อเหตุการณ์บ้าง เขาชี้ไปที่หลังอาคาร อบต. ซึ่งมีเต็นท์และมีเจ้าหน้าที่นั่งอยู่ เจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งมาจากจังหวัด อีกส่วนหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ อบต.นั้น ทำหน้าที่ “รับแขก” สำหรับใครที่คิดอยากเข้ามาบริจาคเงินหรือช่วยเหลือครอบครัวเหยื่อในวันหยุดของเขา

    พอคุยไปสักพักหนึ่ง เขาชี้ไปที่อาคารข้างๆ แล้วบอกว่าที่ตรงนั้นเป็นที่เกิดเหตุ ซึ่งดูไม่ออกจริงๆ ครับ เพราะไม่ได้คิดว่าอาคารธรรมดาๆ อาคารหนึ่ง จะมีเหตุการณ์ร้ายแรงขนาดนั้นเกิดขึ้นได้ พอไปดูจากข้างนอก เห็นหน้าต่างบานหนึ่ง ที่ประตูยังแตกอยู่ เห็นมีคนถวายน้ำ ขนม และของเล่นให้กับวิญญาณของเหยื่อ เห็นพวงมาลัยตั้งอยู่หน้าประตู และธูปเทียนปักอยู่หลายจุด

    เจ้าหน้าที่ที่นั่งอยู่ ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่เขารู้จักคนที่อยู่ในเหตุการณ์ เขารู้จักเหยื่อ เขารู้จักครอบครัวของเหยื่อทุกราย เขาบอกว่าครอบครัวยังทำใจไม่ได้ และพวกเขาก็ทำใจลำบากเหมือนกัน หลังจากที่มอบเงินที่เราตั้งใจบริจาคไว้ ผมต้องค่อยๆ อธิบายให้ลูกเข้าใจว่าทำไมเราถึงมาที่นี่ และอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้เหมาะกับเด็กวัย 7 กับ 5 ขวบเข้าใจ โดยที่ไม่ให้เขาฝันร้าย ให้เกียรติเหยื่อ ให้เกียรติสถานที่ ให้เกียรติเหตุการณ์ แต่ไม่ให้โลกสวยจนเกินไปด้วย มันเป็นการอธิบายที่ยาก และในอนาคตผมจะต้องอธิบายให้เขาเข้าใจว่าทำไมเขาเคยเห็นแต่รูปคุณปู่ของเขา แต่ไม่เคยมีโอกาสได้สัมผัส อันนั้นจะเป็นการสนทนาที่ยากกว่า

    หลังจากอธิบายให้ลูกเข้าใจสถานการณ์ เขาถามขึ้นมาว่า “ทำไมเขาต้องทำแบบนั้น?” ผมกับเจ้าหน้าที่ยืนอยู่ข้างพูดพร้อมกันว่า “ไม่รู้เลย” แล้วผมกับแฟนผมชวนลูกๆ กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับวิญญาณเหยื่อทุกฝ่ายหน้าประตูที่เกิดเหตุ

    ทางเจ้าหน้าที่บอกว่า “เร็วๆ นี้จะมีการทำบุญให้พวกเขา” ซึ่ง “เร็วๆ นี้” คือวันพุธที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมาครับ

    ถ้าจะต้องสรุป คำเหมาะเมื่ออยู่ในสถานที่เกิดเหตุนั้น ผมคิดออกได้คำเดียวคือ Surreal ซึ่งคนไทยบางคนจะแปลว่า “เหนือความจริง” แต่ความรู้สึกผมมันมากไปกว่านั้นครับ มันมีความเป็น “เหลือเชื่อ” ผสมเข้าไปด้วย

    สำหรับใครที่อยากมีส่วนร่วมช่วยเหลือเจ้าหน้าที่และครอบครัวเหยื่อทุกราย ถึงแม้เหตุการณ์ผ่านมาเกือบหนึ่งเดือนเต็มก็ตาม สามารถบริจาคเงินได้ที่: กองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี บัญชีธนาคารกรุงไทย เลขที่ 662-0-40701-3

สาขาศูนย์ราชการจังหวัดหนองบัวลำภู.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Sending a Message หรือ The Calm Before the Storm?

เมื่อสัปดาห์ก่อน ช่วงเวลาที่พวกเราสนุกและพักผ่อนกันเต็มที่ช่วงสงกรานต์นั้น มีเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่มันเกิดได้ทุกเมื่อ และในที่สุดก็เกิดขึ้นจริงๆ ครับ

หลานชายคุณปู่

สวัสดีปีใหม่ไทยครับ ช่วงเขียนคอลัมน์นี้ ผมยังอยู่ที่บ้านเฮา เจออากาศทั้งร้อนมากและร้อนธรรมดา เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเขียนเรื่องการขับรถขึ้นมาบ้านเฮากับลูกสาว

หลานคุณปู่

คอลัมน์สัปดาห์นี้กับสัปดาห์หน้า น่าจะเป็นคอลัมน์เบาๆ ครับ ผมเชื่อว่าแฟนๆ ครึ่งหนึ่งน่าจะหนีร้อนในไทยไปสูดอากาศเย็น (กว่า) ที่อื่น ส่วนใครที่ไม่ไปไหน คงไม่อยากอ่านเรื่องหนักๆ

'แก๊ง'ล้มรัฐบาลได้ด้วยเหรอ? (ตอน 2)

เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเขียนเรื่องราวแก๊งที่ผมสัมผัสและรู้จักสมัยอยู่สหรัฐ สำหรับใครที่ชอบฟังเพลงแนว Gangster Rap ก็คงจะคุ้นเคยกับสิ่งที่ผมเขียนไป แต่สำหรับหลายท่านที่เติบโตคนละยุคคนละสมัยอาจไม่คุ้นเลย

'แก๊ง'ล้มรัฐบาลได้ด้วยเหรอ? (ตอน 1)

ผมมีความรู้สึกว่า ช่วงนี้มีข่าวประเภทแก๊งมีอิทธิพลในประเภทประเทศเอลซัลวาดอร์ โคลอมเบีย และเม็กซิโก มีผลต่อเสถียรภาพการเมืองระดับชาติประเทศเขา

To Shortchange กับ To Feel Shortchanged

จากการเรียกร้องของสาวๆ (สวยๆ) ไทยโพสต์ ผมขออนุญาตสวมหมวกฟุดฟิดฟอไฟวันหนึ่ง เพื่อพูดคุยและอธิบายสไตล์ของผม ถึงคำที่ปรากฏในช่วงต้นสัปดาห์จากนิตยสาร Time ครับ