โรงแรมภูเก็ตรับมือท่องเที่ยวฟื้น

ต้องยอมรับว่าจังหวัดภูเก็ตถือเป็นจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทยในการรองรับนักท่องเที่ยวในกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง (Luxury) โดยในปี 2562 ภูเก็ตสร้างรายได้ให้กับภาคการท่องเที่ยวไทยกว่า 4.4 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นจังหวัดที่สร้างรายได้มากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากกรุงเทพฯ คิดเป็นสัดส่วน 16% ของรายได้ภาคการท่องเที่ยวไทย ทั้งนี้ จากข้อมูลในปี 2562 นักท่องเที่ยวหลักของจังหวัดภูเก็ตคือชาวจีน โดยมีสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังภูเก็ตโดยรวม 

ธนา ตุลยกิจวัตร นักวิเคราะห์ Krungthai COMPASS ระบุว่า ภูเก็ตถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวยุโรป เช่น รัสเซีย เยอรมนี อังกฤษ รวมถึงชาวออสเตรเลีย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 60% ของจำนวนนักท่องเที่ยวยุโรปและออสเตรเลียทั้งหมด โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวถือเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และมีระยะเวลาการพำนักในประเทศไทยค่อนข้างนานถึง 14-17 วัน 

ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปอยู่ในระดับ 60,000-76,000 บาท ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวมที่อยู่ในระดับ 41,240 บาท ค่อนข้างมาก จึงไม่น่าแปลกใจที่ธุรกิจโรงแรมในภูเก็ตจะมุ่งเน้นไปที่นักท่องเที่ยวในกลุ่มกำลังซื้อสูงเป็นหลัก สะท้อนจากจำนวนห้องพักของโรงแรมในภูเก็ตที่เกือบครึ่งหนึ่งเป็นห้องพักในระดับ First Class และ Luxury  

อย่างไรก็ดี ด้วยข้อจำกัดด้านการเดินทางจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวในภูเก็ตอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สู้ดีนัก สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังภูเก็ตในปี 2564 ลดลงกว่า 92% เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีจำนวนเหลือเพียง 0.2 ล้านคน ส่งผลให้มูลค่าตลาดการท่องเที่ยวของภูเก็ตในปี 2564 ลดลงเหลือเพียง 0.2 แสนล้านบาทเท่านั้น

ทั้งนี้ ภูเก็ตยังคงเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังภูเก็ตในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565 เป็นจำนวนถึง 4.1 ล้านคน เพิ่มขึ้น 462% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังภาครัฐได้ผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศอย่างต่อเนื่องหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 เริ่มคลี่คลายลง ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2565 ที่ผ่านมา อาทิ การยกเลิกระบบ Test & Go และ Thailand Pass ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวในภูเก็ตเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น 

จากปัจจัยข้างต้นนับว่าตลาดภูเก็ตยังมีศักยภาพมาก แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีการปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์ โดย Krungthai COMPASS ประเมินแนวทางการปรับตัวของธุรกิจโรงแรมในภูเก็ตออกเอาไว้คือ ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจโรงแรมในภูเก็ตอยู่แล้ว ควรปรับรูปแบบการให้บริการให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวในยุคนิวนอร์มอล โดยเฉพาะจากนโยบายการทำงานแบบ Work from Anywhere ของหลายองค์กรทั่วโลก ทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่ม Workation มีแนวโน้มเติบโตขึ้นในอนาคต เนื่องจากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะมีระยะเวลาพำนักนานกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป ดังนั้น นอกจากสิ่งจำเป็นพื้นฐานอย่าง WIFI ที่มีประสิทธิภาพแล้ว ผู้ประกอบการอาจปรับเปลี่ยนรูปแบบห้องพักและสิ่งอำนวยความสะดวกบางส่วนเพิ่มเติมอีกด้วย            

นอกจากนี้ การขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มใหม่ๆ เพื่อช่วยกระจายความเสี่ยงท่ามกลางสถานการณ์ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวอินเดีย ซึ่งถือเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง และมีโอกาสจะกลายเป็นกลุ่มลูกค้าสำคัญของภาคการท่องเที่ยวภูเก็ต สะท้อนจากตั้งแต่ประเทศไทยยกเลิกระบบ Test & Go ในเดือน พ.ค.2565 จนถึงปัจจุบัน (ต.ค.2565) นักท่องเที่ยวชาวอินเดียเป็นสัญชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยสูงสุดเป็นอันที่ 2 รองจากมาเลเซีย โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวอินเดียรวม 6.5 แสนคน และเลือกเดินทางมาท่องเที่ยวที่ภูเก็ต 1.5 แสนคน คิดเป็นสัดส่วน 23% ของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวอินเดียที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยทั้งหมด

ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนิวเดลี ประเทศอินเดีย ที่ระบุว่า นักท่องเที่ยวชาวอินเดียที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยกลุ่ม Luxury กลุ่ม Millennials และกลุ่ม Leisure ซึ่งมีระยะเวลาเข้าพักเฉลี่ยราว 3-7 คืน นิยมเดินทางมาท่องเที่ยวที่ภูเก็ต

อีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้ธุรกิจโรงแรมในภูเก็ตสามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้นคือ การพัฒนาโรงแรมให้เข้ากับเทรนด์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ นักท่องเที่ยวกลุ่ม Wellness Tourism ถือเป็นกลุ่มที่มีคุณภาพและมีแนวโน้มเติบโตดี รวมถึงค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวต่อคนต่อทริปค่อนข้างสูง 

สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนพัฒนาโรงแรมใหม่ในภูเก็ตเพื่อดำเนินการในช่วงปี 2566-67 ควรศึกษาความเป็นไปได้อย่างรอบคอบ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้ตามที่ประเมินไว้ เนื่องจากในช่วง 1-2 ปีนี้ อัตราเข้าพักโดยรวมของโรงแรมในภูเก็ตจะยังไม่กลับไปอยู่ในระดับเดียวกับในอดีต ในปี 2566-67 จะยังอยู่ในระดับ 52-58% ซึ่งยังต่ำกว่าระดับ 75% ในปี 2562 อยู่พอสมควร ส่งผลให้การปรับเพิ่มราคาห้องพักของผู้ประกอบการในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ยังน่าจะทำได้อย่างค่อนข้างจำกัด ดังนั้นผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าซื้อกิจการโรงแรมเพื่อมาปรับกรุงและดำเนินการในปี 2566-2567 จึงควรศึกษาความเป็นไปได้ในหลายๆ ด้าน 

จะเห็นได้ว่าแม้ภูเก็ตจะมีศักยภาพทางด้านการท่องเที่ยวมากแค่ไหน แต่สิ่งสำคัญเลยคือผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจโรงแรมในภูเก็ตต้องปรับรูปแบบการให้บริการให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวให้ทันกับยุคสมัย และมองหาโอกาสในการสร้างรายได้ใหม่ๆ ควบคู่กันอีกด้วย.

รุ่งนภา สารพิน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Gen AI ความท้าทายยุคใหม่

การก้าวตามเทคโนโลยีใหม่อย่าง Generative AI ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วอาจเป็นเรื่องที่ท้าทายและน่ากลัว โดยไม่มีใครรู้เลยว่าบริษัทที่ใช้แนวทาง "รอดูไปก่อน" จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังในขณะที่ระบบดิจิทัลเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเริ่มต้นของโควิด-19

'หนี้ครัวเรือน'แนวโน้มชะลอแต่สัดส่วนยังสูง

“หนี้ครัวเรือน” เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายจับตา โดยจากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่ระบุว่า ภาพรวมหนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท

เศรษฐกิจไทยจะไปทางไหนต่อ

ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยเวลานี้เหมือนคนป่วยโรคเรื้อรัง ที่อาการแค่ดีขึ้นเล็กน้อย แต่รักษายังไม่หายขาด ส่งผลให้การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ยังคงติดๆ ขัดๆ นับตั้งแต่ผ่านพ้นจากวิกฤตโควิดมากว่า 2 ปี

ไทยจะเป็นฮับเอทานอล

ประเทศไทยหลังจากที่ผลัดเปลี่ยนรัฐบาลชุดนี้ ก็ตั้งเป้าการทำงานที่หลากหลายและแปลกตามากขึ้น แน่นอนว่าหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแล

เดินให้สุดทำอย่างจริงจัง

ปัจจุบันพบปัญหาถังก๊าซหุงต้มในท้องตลาดเสื่อมสภาพและหมดอายุตกค้างอยู่ในระบบจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการลักลอบนำถังก๊าซหุงต้มมาเติมในสถานีบริการ LPG เป็นระยะ ซึ่งนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว

ดันสงกรานต์ไทยสู่เทศกาลโลก

หลังจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงมหาดไทย จับมือจัดงาน “Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567”