BCGโมเดลเปลี่ยนโลก

โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี เป็นความหวังของภาครัฐที่จะใช้ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ รวมถึงขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่อีอีซีทุกมิติเพื่อประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนเป็นสำคัญ และผลักดันให้ประเทศไทยก้าวพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งในปี 2565 ที่ผ่านมาถือเป็นอีกปีที่ประสบความสำเร็จเพราะมีการลงทุนจากต่างชาติมากถึง 358,833 ล้านบาท 

แต่ด้วยเทรนด์โลกที่เปลี่ยนแปลง หันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศไปสู่การเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม ด้วยการส่งเสริมการใช้ BCG Economy Model ภายใต้การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เป็นกลไกที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล เพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน

ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจ BCG จะเป็นฐานเศรษฐกิจหลักของประเทศที่สามารถสร้างมูลค่ากว่า 4.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 24% ของจีดีพีประเทศไทยใน 5 ปีข้างหน้า และเกิดการจ้างงานกว่า 16.5 ล้านคน

ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี จึงได้เร่งผลักดันการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มุ่งเน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย BCG Model ให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน คู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศได้อย่างทั่วถึง อยู่ระหว่างการดำเนินการร่างแผนปฏิบัติการส่งเสริมการลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียน ผ่านการวิเคราะห์ศักยภาพอุตสาหกรรม

โดยมียุทธศาสตร์ 4 ด้าน ได้แก่ ยกระดับห่วงโซ่การผลิตตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน, การปรับแนวทางธุรกิจใหม่ ภายใต้หลักการเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียน, ส่งเสริมเทคโนโลยีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน และขยายความร่วมมือเพื่อผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียน

รวมทั้งปรับแผนการส่งเสริมการลงทุนเพื่อดึงดูดเทคโนโลยี BCG จากทั่วโลกให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ 3 จังหวัดซึ่งตั้งอยู่ในอีอีซี ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา มุ่งเน้นใน 3 คลัสเตอร์อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมฐานชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมยานยนต์และโลจิสติกส์ โดยชูในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อจัดการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และยกระดับสภาพแวดล้อมการลงทุนในด้านเศรษฐกิจสีเขียว

นอกจากนี้ยังสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ และกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด การส่งเสริมการใช้ซ้ำ และให้ความสำคัญกับการจัดการของเสียจากการผลิตและบริโภค ด้วยการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิตและบริโภคแล้วเข้าสู่กระบวนการแปรสภาพเพื่อกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งต่างจากระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมที่เน้นการใช้ทรัพยากร การผลิต และผลกำไรเป็นสำคัญ

จากนโยบายดังกล่าวจะเห็นว่า ในช่วง 3 ไตรมาสของปี 2565 ที่ผ่านมามีการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวกับ BCG โดยการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีสูงกว่า 4.35 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, อุตสาหกรรมพลังงาน และอุตสาหกรรมการเกษตรและแปรรูปอาหาร โดยอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ และอุตสาหกรรมพลังงานมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

พื้นที่อีอีซีถือเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของเศรษฐกิจ BCG ด้วยปัจจัยด้านวัตถุดิบที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นทางการเกษตรในพื้นที่ ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรม และระบบการขนส่ง จึงดึงดูดให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากผู้ประกอบการชั้นนำของโลก ทั้งจากประเทศญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐ

อย่างไรก็ดี รัฐบาลได้วางเป้าในปี 2569 ว่าจะต้องทำให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียวไม่ต่ำกว่า 40% ซึ่งถือเป็นความท้าทายของภาครัฐที่จะต้องสร้างแรงดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ไทยมุ่งไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วยโมเดล BCG ได้อย่างยั่งยืน.

บุญช่วย ค้ายาดี

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“ตลาดรถยนต์ไทย”ช่วงเปลี่ยนผ่าน

ประเทศไทย ถือเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาตลาดรถยนต์ทั้งในและต่างประเทศก็เริ่มมีทิศทางการฟื้นตัวที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย “สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

จัดทัพกำชับนโยบายอุตสาหกรรม

จากการดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรม ผ่านมาหลายเดือนก็เริ่มเห็นนโยบายที่ชัดเจนขึ้น และการบูรณาการการทำงานของหลายๆ หน่วยงานไปพร้อมๆ กัน จากสิ่งแรกที่เห็นคือการปรับปรุงนโยบายของกระทรวงภายใต้คำว่า MIND “ใช้หัวและใจ” ทำงาน โดยแบ่งเป็น 4 มิติ ได้แก่

ปีนี้ได้ใช้แน่รถไฟฟ้าสายใหม่

จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันมีการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ หลายสายทาง โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง และสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี

เมื่อเศรษฐกิจไทยมองเห็นแสงสว่าง

มีข่าวดีสำหรับคนไทยและเศรษฐกิจไทย เมื่อทางกระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ออกมาแถลงข่าวถึง ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) ในเดือน ก.พ.2566 ซึ่งพบว่ามีตัวเลขอยู่ที่ 108.05 เทียบกับ ม.ค.2566 ลดลง 0.12% และเมื่อเทียบกับ เดือน ก.พ.2565 เพิ่มขึ้น 3.79% ชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือน