ไทยยังเนื้อหอม ต่างชาติแห่เที่ยว-ลงทุน

แม้ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกในขณะนี้อาจจะไม่ค่อยสู้ดีนัก โดยหลายฝ่ายประเมินกันว่าจีดีพีของโลกในปี 66 น่าจะโตได้ราวๆ 2% เท่านั้น ซึ่งตอนนี้ก็สะท้อนให้เห็นผ่านกำลังซื้อที่ลดลงทั่วโลก จนล่าสุดตัวเลขการส่งออกของไทยลดลงต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 7 แล้ว

แต่ไทยก็ยังโชคดีที่แม้ว่าโลกจะเกิดปัญหา แต่เรามีรายได้ที่ยังฟื้นตัว นั่นก็คือ เรื่องของการท่องเที่ยว ซึ่งหากจะนับคร่าวๆ ช่วง 5 เดือนจนถึงปัจจุบัน ไทยเรามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาทะลุ 10 ล้านคนแล้ว ซึ่งนักท่องเที่ยวเหล่านี้ก็เดินทางเข้ามาจับจ่ายใช้สอยในประเทศไทย จนทำให้ตลาดในประเทศมีความคึกคักขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจบริการและสินค้า และตลอดทั้งปีนี้ หลายฝ่ายมองไว้ว่าไทยจะมีชาวต่างชาติมาเยือนมากกว่า 20-25 ล้านคนอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี ยังมีอีกประเด็นที่น่าสนใจที่สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของต่างชาติ นั่นก็คือ การลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งแม้ว่าในขณะนี้ไทยยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของการเมือง และยังไม่รู้แน่ชัดว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ และเมื่อไหร่ ซึ่งประเด็นนี้อาจจะกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติพอสมควร

แต่ล่าสุด ในประเด็นนี้ นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ออกมาระบุชัดเจนว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับสัญญาณว่าจะมีนักลงทุนรายใหญ่ย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศไทย ซึ่งบีโอไอมองว่าไทยยังเป็นประเทศที่มีเสน่ห์ในการลงทุนของนักลงทุน โดยยุทธศาสตร์การส่งเสริมลงทุนใหม่ของบีโอไอไม่เพียงแต่ส่งเสริมให้นักลงทุนรายใหม่เข้ามาลงทุนในไทยเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับการรักษาฐานการผลิตของผู้ประกอบการรายเดิมที่ลงทุนในไทยมาอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันยังมีประเด็นข่าวดีที่น่าสนใจจาก นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เปิดเผยว่า “เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2566 คณะกรรมการฯ ได้มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 274 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 87 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 187 ราย เงินลงทุนทั้งสิ้น 45,392 ล้านบาท

โดยการลงทุนในครั้งนี้ช่วยจ้างงานคนไทยรวม 2,999 คน ซึ่งชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 63 ราย (23%) เงินลงทุน 15,873 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา 48 ราย (18%) เงินลงทุน 2,456 ล้านบาท สิงคโปร์ 46 ราย (17%) เงินลงทุน 6,356 ล้านบาท จีน 19 ราย (7%) เงินลงทุน 11,479 ล้านบาท และฮ่องกง 12 ราย (4%) เงินลงทุน 2,991 ล้านบาท

จากข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นว่าต่างชาติยังมีความเชื่อมั่นในไทย แม้ว่าในขณะนี้อาจจะมีประเด็นที่อ่อนไหว ทั้งในเรื่องค่าจ้างแรงงาน หรือเรื่องปัญหาการเมืองก็ตาม

และเมื่อมาดูฟากอสังหาฯ ชาวต่างชาติก็ยังสนใจพำนักที่ไทย ซึ่งพบว่าจากข้อมูลตลาดอสังหาริมทรัพย์ไตรมาส 1 ปี 2566 ของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ระบุว่า การโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมของชาวต่างชาติมีจำนวน 3,775 หน่วย เพิ่มขึ้น 79.2% คิดเป็นมูลค่า 17,128 ล้านบาท ขยายตัว 67.6% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยประเทศจีนครองแชมป์การโอนกรรมสิทธิ์สูงสุด 1,747 หน่วย คิดเป็น 46% ของจำนวนหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ของคนต่างชาติทั้งหมด มีมูลค่า 8,191 ล้านบาท หรือ 48% ของมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์คนต่างชาติทั้งหมด ยังพบว่า 3 ประเทศคือ รัสเซีย อินเดีย และเมียนมา มีสัดส่วนการซื้อคอนโดฯ ไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ในเชิงมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ ไตรมาส 1/2566 รัสเซียขึ้นเป็นอันดับ 2 ด้วยสัดส่วน 8% หรือคิดเป็นมูลค่า 1,364 ล้านบาท ขยับจากปี 2563 ที่มีสัดส่วน 3% มูลค่า 1,141 ล้านบาท ราคาซื้อเฉลี่ย 3.5 ล้านบาท/หน่วย ขณะที่เมียนมามียอดการโอนเชิงมูลค่าอยู่ลำดับ 7 มูลค่า 497 ล้านบาท แต่ราคาซื้อคอนโดฯ ต่อหน่วยสูงสุด 6.5 ล้านบาท/หน่วย ส่วนอินเดีย เชิงมูลค่าอยู่ลำดับ 10 มูลค่า 292 ล้านบาท.

 

ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หวังรัฐแก้ปมค้าชายแดน

การผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้ดีนั้น จำเป็นต้องมองในทุกมิติและพัฒนาให้ครอบคลุม จะทิ้งใครหรืองานใดงานหนึ่งไว้ข้างหลัง จะเป็นตัวฉุดรั้งให้การเติบโตนั้นไม่ไปไหน

เร่งแก้ “แต่ไร้ผล”

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นประเด็นที่พูดถึงกันมานานหลายปี โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ที่เมื่อความกดอากาศสูง มีกำลังอ่อนลง และเมื่อลมสงบ ประกอบกับการผกผันกลับของอุณหภูมิในอากาศ จะส่งผลทำให้เกิดสภาพอากาศร้อนด้านบนกดทับอากาศเย็นเหมือนมีฝาครอบ

จับตาบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง

ช่วงนี้หลายคนกำลังสงสัยว่าเพราะเหตุใดค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าเอา อ่อนค่าเอา ตอนนี้ราคาหลุดทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว แม้จะมีการแกว่งตัวแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า

Digital Walletกระตุ้นค้าปลีกไม่แรง

“โครงการ Digital Wallet” เรียกว่ามีความชัดเจนจากฝั่งรัฐบาลพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไขทั้งในส่วนของประชาชนและร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ รวมไปถึงแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ แต่ก็ต้องยอมรับว่าความชัดเจนในส่วนนี้ก็ยังมีการตั้งคำถาม ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเร่งหาวิธีการเพื่อพิสูจน์ความชัดเจน และเดินหน้าโครงการตามขั้นตอนและวิธีการภายใต้กรอบของกฎหมายที่ได้ยืนยันมาโดยตลอด

อัปเกรดอุตฯเหล็กรับมาตรการCBAM

การเดินหน้ามาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) นั้น ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวอย่างมากของกลุ่มผู้ผลิต

'หนี้ครัวเรือน'แนวโน้มชะลอแต่สัดส่วนยังสูง

“หนี้ครัวเรือน” เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายจับตา โดยจากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่ระบุว่า ภาพรวมหนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท