กลเกมซากเรือ BRP Sierra Madre

BRP Sierra Madre เดิมเป็นเรือรบสหรัฐที่ยกให้ฟิลิปปินส์ ปี 1999 ฟิลิปปินส์จมเรือดังกล่าวใกล้แนวสันดอนโธมัสที่ 2 (Second Thomas Shoal) หรือแนวสันดอนอยุนงิน (Ayungin Shoal) แถบหมู่เกาะสแปรตลีย์ (Spratly Islands) หรือหมู่เกาะหนานซา (Nansha) กลายเป็นซากเรือกลางทะเล เป็นเสมือนป้อมปราการหรือฐานที่มั่นทางทะเล นับจากนั้นเป็นต้นมารัฐบาลฟิลิปปินส์ส่งทหารจำนวนหนึ่งประจำการบนเรือดังกล่าวเป็นครั้งคราวเพื่อย้ำความเป็นเจ้าของน่านน้ำแถบนั้น

ความขัดแย้งรอบนี้เริ่มต้นเมื่อรัฐบาลเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ (Ferdinand Marcos Jr.) ส่งทหารจำนวนหนึ่งประจำการบนซากเรือ

ภาพ: เรือยามฝั่งจีนฉีดน้ำใส่เรือฟิลิปปินส์
เครดิตภาพ: https://globalnation.inquirer.net/217528/pcg-water-cannons-for-putting-out-fires-at-sea-not-harassment

ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อเรือยามฝั่งจีนพยายามสกัดกั้นเรือลำเลียงฟิลิปปินส์ที่แล่นเข้ามาส่งเสบียง เรือจีนใช้เครื่องฉีดน้ำฉีดใส่เรือฟิลิปปินส์เมื่อ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์ประท้วงจีนทำเกินกว่าเหตุ ส่วนจีนโต้ว่าทำตามขั้นตอนสากล เกิดการตอบโต้ไปมาหลายรอบ แต่ไม่มีเหตุรุนแรงใดๆ เพิ่มเติม

เป็นเขตพื้นที่ของจีนหรือของใคร:

จีนเรียกร้องอีกครั้งให้ฟิลิปปินส์ย้ายซากเรือที่ใช้เป็นฐานที่มั่นทางทะเล ชี้ว่าเป็นเขตพื้นที่ของตน การส่งกำลังบำรุงดังกล่าวเท่ากับทำให้ทหารเหล่านี้ประจำการถาวรในอาณาเขตจีนจึงยอมไม่ได้

ด้านฟิลิปปินส์ยืนยันว่าซากเรืออยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) ของตน ไม่มีเหตุผลที่ต้องถอนกำลังออกจากเรือ การคงทหารจำนวนหนึ่งบนเรือดังกล่าวเป็นครั้งคราวเพื่อย้ำความเป็นเจ้าของน่านน้ำแถบนั้น โดยอ้างคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ (international arbitral tribunal) พิพากษาว่าการที่ทางการจีนอ้างความเป็นเจ้าของโดยใช้เส้นประ 9 เส้น (nine-dash line) นั้นเป็นโมฆะ (invalid) ไม่สามารถใช้สิทธิ์ จากประวัติศาสตร์ (historic rights) อ้างความเป็นเจ้าของต่อทรัพยากรในขอบเขตพื้นที่เส้นประ 9 เส้น การอ้างสิทธิ์ของจีนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลเห็นว่าการเดินเรือและการทำประมงในทะเลจีนใต้ในอดีตของจีนแสดงถึงเสรีภาพในการใช้ทะเลหลวงมากกว่าสิทธิจากประวัติศาสตร์ อีกทั้งไม่มีหลักฐานว่าในอดีตจีนควบคุมน่านน้ำของทะเลจีนใต้หรือป้องกันรัฐอื่นเข้ามาหาประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ และพิพากษาว่าสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ของจีนในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเลของฟิลิปปินส์นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย (เท่ากับศาลยืนยันรับรอง EEZ ของฟิลิปปินส์)

แต่รัฐบาลจีนไม่ยอมรับคำพิพากษานี้ กลายเป็นประเด็นที่พร้อมจะปะทุขึ้นมา

ไม่ย้ายซากเรือ BRP Sierra Madre:

จีนชี้ว่ารัฐบาลฟิลิปปินส์ยินดีย้ายซากเรือ BRP Sierra Madre มานานแล้วแต่ไม่ทำเสียที ด้านฟิลิปปินส์ตอบกลับว่าไม่เคยมีข้อตกลงดังกล่าวแต่อย่างใด

เรื่องนี้ทางการฟิลิปปินส์ยืนยันว่าไม่มีหลักฐานเรื่องการย้ายซากเรือ (อาจมีการพูดคุยแต่ไม่เป็นทางการ) ดังนั้นจึงไม่ยอมรับว่ามีข้อตกลงย้ายซากเรือ

เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ตนไม่สนใจว่าเคยพูดเรื่องการย้ายเรือ BRP Sierra Madre หรือไม่ “ถ้ามี ข้าพเจ้าขอยกเลิกข้อตกลงนั้นตอนนี้” เป็นการประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลของตนจะไม่ถอย ยืนยันทะเลจีนใต้ในส่วนที่เป็นของตน ทั้งยังแสดงว่ารัฐบาลตนถอยห่างจากความเป็นมิตรกับจีนด้วย

ถ้อยคำของประธานาธิบดีมาร์กอส จูเนียร์ ประกาศชัดว่าฟิลิปปินส์จะไม่ทิ้งฐานที่มั่น Ayungin Shoal เด็ดขาด และควรจะยืนยันท่าทีนี้เพราะนี่คือการรักษาอธิปไตยที่ไม่มีรัฐบาลใดยอมได้

อย่างไรก็ตาม ข้อถกเถียงคือควรทำให้เป็นประเด็นขัดแย้งหรือไม่ เพราะไม่ว่าจะมีซากเรือหรือไม่ รัฐบาลฟิลิปปินส์ทุกชุดยืนยันเขต EEZ ของตน ยึดคำพิพากษาของคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ

รัฐบาลมาร์กอส จูเนียร์ หวังอะไรจากเหตุการณ์ครั้งนี้

ฟิลิปปินส์ยั่วยุ ถูกใช้เป็นเครื่องมือ:

ตั้งแต่ต้นจีนเห็นว่าการกระทำของฟิลิปปินส์เป็นการยั่วยุทำให้เกิดประเด็นขัดแย้ง เพื่อเปิดทางให้ประเทศที่ 3 เข้ามาพัวพัน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อความสงบเรียบร้อยในภูมิภาค ขยายความว่าสหรัฐหวังใช้เหตุนี้สร้างความแตกแยก ใช้ฟิลิปปินส์เป็นเครื่องมือ พูดให้ชัดคือรัฐบาลมาร์กอส จูเนียร์ ถูกใช้เป็นเครื่องมือหรือยินยอมถูกใช้เป็นเครื่องมือ

ทันทีที่เกิดเหตุเรือจีนฉีดน้ำใส่เรือฟิลิปปินส์เมื่อ 5 สิงหาคม 2023 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐออกแถลงการณ์สนับสนุนฟิลิปปินส์ทันที ชี้ว่าจีนขัดขวางเสรีภาพการเดินเรือในน่านน้ำสากล ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศดังเช่นหลายครั้งที่แล้วมา บั่นทอนความสงบเรียบร้อยของภูมิภาค ย้ำคำพิพากษาของคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศว่าทะเลจีนใต้ไม่ใช่ของจีนตามที่จีนอ้างแต่อย่างใด

ย้ำสหรัฐยึดมั่นสนธิสัญญาความมั่นคง 1951 U.S. Philippines Mutual Defense Treaty ที่ทำไว้กับฟิลิปปินส์

รัฐบาลสหรัฐได้แสดงบทบาทพระเอกในทะเลจีนใต้อีกครั้ง

ตอกย้ำจีนไม่ใช่เจ้าของทะเลจีนใต้:

ทุกครั้งที่เกิดเหตุอ้างความเป็นเจ้าของพื้นที่ทับซ้อน รัฐบาลสหรัฐกับฟิลิปปินส์จะยกคำพิพากษาของคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ จีนขัดขวางเสรีภาพการเดินเรือในน่านน้ำสากล บั่นทอนความสงบเรียบร้อยของภูมิภาค เป็นความชอบธรรมที่สหรัฐจะเข้ามามีบทบาท ดูแลความสงบเรียบร้อยในย่านนี้ ตามนโยบายทะเลจีนใต้ที่เสรีและเปิดกว้าง

นักวิเคราะห์บางคนคิดว่าเหตุการณ์นี้อาจกระตุ้นแนวคิดฟิลิปปินส์กับสหรัฐลาดตระเวนร่วมให้เป็นจริงเร็วขึ้น น่าคิดว่ารัฐบาลทั้งคู่จะเห็นชอบหรือไม่ ที่ผ่านมาสหรัฐยังไม่เห็นชอบ อ้างเรือรบตนเป็นเรือใหญ่ไม่เหมาะกับภารกิจที่ใช้เรือเล็ก อาจนำสู่การเผชิญหน้ากับจีนโดยไม่จำเป็น หากตีความว่าเป็นเรื่องระหว่างฟิลิปปินส์กับจีนมากกว่า

บททดสอบรัฐบาลมาร์กอส จูเนียร์ ว่าอยู่ฝ่ายใด:

เหตุการณ์นี้ช่วยบ่งชี้ว่ารัฐบาลมาร์กอส จูเนียร์ ใกล้ชิดฝั่งใดมากกว่า ที่ผ่านมาพยายามเข้าหาทั้ง 2 ทางโดยเอนเอียงเข้าหาสหรัฐมากกว่าจากข้อตกลงความมั่นคง ความร่วมมือทางทหารฉบับใหม่ Enhanced Defense Cooperation Agreement (EDCA) มีอายุ 10 ปี อนุญาตให้ทหารสหรัฐปรากฏตัวในประเทศฟิลิปปินส์ สามารถใช้ฐานทัพบางแห่งเป็นท่าเทียบเรือและเป็นฐานบินชั่วคราว แต่ถ้าจะตีความว่าอยู่ฝั่งสหรัฐแบบเต็มร้อยคงไม่ถูกต้อง ทั้งยังระมัดระวังไม่กระทบสัมพันธ์จีนจนเกินเหตุ ฟิลิปปินส์ยังมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับจีน การพาตัวเองให้อยู่ระหว่างความขัดแย้งรุนแรงระหว่างมหาอำนาจไม่ใช่ทางเลือกที่ต้องการเช่นกัน

สังเกตว่า รัฐบาลมาร์กอส จูเนียร์ ระวังไม่สร้างความตึงเครียดเกินจำเป็น ให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ไม่กระทบความสัมพันธ์จนเกินควร เช่นเดียวกับที่จีนปล่อยให้ฟิลิปปินส์สามารถส่งกำลังบำรุงแก่ทหารที่อยู่บนซากเรือในเวลาต่อมา

ในอีกมุมหนึ่ง ตรงข้ามกับการยับยั้งชั่งใจ รัฐบาลมาร์กอส จูเนียร์ ต้องแสดงความเข้มแข็ง ความแข็งกร้าวของประเทศแม้ฟิลิปปินส์ด้อยกว่าจีนทุกด้าน อย่างน้อยต้องแสดงให้มวลชนรับรู้บ้าง ให้รัฐบาลไบเดนรับทราบบ้าง ความขัดแย้งเขตเศรษฐกิจจำเพาะไม่ใช่เรื่องใหม่ ซากเรือ BRP Sierra Madre ทำหน้าที่เป็นหมากที่ใช้ดำเนินเรื่องอีกครั้ง

ความเข้าใจสำคัญคือ ไม่ว่าอย่างไรจีนจะยึดมั่นว่าทะเลจีนใต้เป็นของตนตามแนวเส้นประ 9 เส้น เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์จะอ้างเขตเศรษฐกิจจำเพาะของตน ต่างกันที่รัฐบาลฟิลิปปินส์แต่ละชุดจะทำให้ซากเรือ BRP Sierra Madre เป็นประเด็นหรือไม่ ต้องการให้รุนแรงแค่ไหน แน่นอนว่า 2 ประเทศจะไม่ทำสงครามเพราะเรื่องนี้

ที่ควรวิเคราะห์คือเหตุผลเบื้องหลังของเหตุการณ์ ในอนาคตซากเรือ BRP Sierra Madre จะทำหน้าที่อีกครั้ง เป็นนิยายเรื่องเก่าที่ผู้กำกับคนใหม่นำมาแสดงอีกรอบ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อดีตบิ๊กข่าวกรองเตือนสติ! อย่าหลับตาพูดลืมตาดูสถานการณ์โลกด้วย

นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ

อิสราเอลโจมตีกงสุลอิหร่านและการตอบโต้

ฮามาสทำศึกกับอิสราเอลได้ครึ่งปี เกิดสงครามตัวแทนระหว่างอิสราเอลกับกองกำลังที่อิหร่านสนับสนุน คราวนี้ถึงรอบอิหร่านปะทะกับอิสราเอลโดยตรงแล้ว

BRICSขยายตัวหมายถึงอะไรบ้าง

BRICS ที่ขยายตัว ชี้ว่ามีประเทศที่หันเข้าสู่ฝ่ายตรงข้ามสหรัฐมากขึ้น แต่ทั้งนี้บางประเทศเพียงอยากมีมิตรหลากหลาย ร่วมมือกับประเทศที่ไม่อยู่ขั้วสหรัฐ

ไบเดนสนับสนุนเนทันยาฮูมากแค่ไหน

ถ้าพุ่งความสนใจ สถานการณ์ล่าสุดดูเหมือนว่ารัฐบาลไบเดนขัดแย้งเนทันยาฮู แต่หากมองภาพใหญ่จะพบว่านับวันพื้นที่ปาเลสไตน์ลดน้อยลงทุกที และกำลังจะเป็นเช่นนี้อีกที่กาซา

ข้อมติให้กาซาหยุดยิงเพื่อใคร

รัฐบาลสหรัฐเสนอร่างมติให้กาซาหยุดยิง เป็นมิติใหม่ที่ใช้ UNSC กดดันอิสราเอล แต่เรื่องนี้มีความแหลมคมซ่อนอยู่ แท้จริงแล้วเป็นการช่วยอิสราเอลมากกว่า