ศก.จีนแผ่วฉุดส่งออกมัน-ข้าวไทย

 “จีน” ถือเป็นอีกหนึ่งประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยที่มีการส่งออกสินค้าเป็นจำนวนมาก และมีมูลค่าการส่งออกมหาศาล ทั้งสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรกรรม โดยเฉพาะข้าวและมันสำปะหลัง แต่ที่น่าสนใจคือ ตั้งแต่หลังสถานการณ์โควิด-19 เป็นต้นมา สถานการณ์เศรษฐกิจของจีนที่ยังไม่ฟื้น ซึ่งแน่นอนว่าในส่วนนี้มีผลชัดเจนกับภาคการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า “จีน” นำเข้าธัญพืชลดลงในปีนี้ ตามเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวช้า ซึ่งทำให้ความต้องการสินค้าเติบโตชะลอตัวลง ผลของราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรโลกที่ลดลงจากปีก่อน และการระบายสต๊อกธัญพืชและพืชอาหารของจีน ล้วนกดดันการส่งออกมันสำปะหลังและข้าวไทยไปจีนให้ลดลง เนื่องจากจีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรอันดับ 1 ของไทย

ซึ่งในช่วง 9 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-ก.ย.) จีนมีมูลค่าการนำเข้าธัญพืชจากโลกลดลงแล้ว 6.2% โดยเฉพาะข้าว ลดลงถึง 46% และข้าวโพดลดลง 7.6% เนื่องจากปริมาณการบริโภคธัญพืชของจีนที่โตต่ำตามภาวะเศรษฐกิจ อีกทั้งราคาธัญพืชโลกปรับลดลงราว 9.3% นำโดย ข้าวสาลี ข้าวโพด ถั่วเหลือง จากผลของฐานที่พุ่งสูงในปีก่อน รวมถึงผลการระบายสต๊อกธัญพืชและพืชอาหารของจีนจากที่เร่งสะสมไว้ในระดับสูง เพื่อความมั่นคงด้านอาหารในช่วงโควิด-19 จึงกดดันคำสั่งซื้อใหม่จากจีน

โดยปัจจัยเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปจีน โดยเฉพาะในหมวดธัญพืชอย่างข้าว และพืชอาหารอย่างมันสำปะหลัง ที่เป็นหนึ่งในสินค้าทดแทนธัญพืชให้ปรับตัวลดลง โดยไทยส่งออกข้าวไปจีน มูลค่าลดลง 29.1% และมันสำปะหลังมูลค่าลดลง 15.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ในช่วงที่เหลือของปี 2566 แม้จีนน่าจะมีความต้องการธัญพืชเพื่อผลิตป้อนอุปสงค์ในประเทศในช่วงเทศกาลปลายปี และเพื่อฟื้นฟูจากเหตุการณ์น้ำท่วมในหลายมณฑล แต่อุปสงค์โดยรวมก็น่าจะยังอยู่ในภาวะที่อ่อนแอ ประกอบกับสถานการณ์เอลนีโญที่อาจสร้างความเสียหายบางส่วนต่อผลผลิตของไทยในช่วงไตรมาส 4/2566 ทำให้ปริมาณการส่งออกมันสำปะหลังและข้าวไทยไปจีนอาจยังคงเผชิญความท้าทาย

โดยในปี 2566 คาดว่ามูลค่าการส่งออกมันสำปะหลังไทยไปจีน อาจหดตัวที่ 15% หรืออยู่ที่ 2,429 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการส่งออกข้าวไทยไปจีนอาจหดตัวที่ 28.5% หรืออยู่ที่ 276 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ จากแรงฉุดด้านปริมาณเป็นหลัก แม้ว่าราคาส่งออกมันสำปะหลังและข้าวไทยไปจีนจะยังเพิ่มขึ้นจากปีก่อนก็ตาม

ขณะที่ ระยะข้างหน้าการส่งออกมันสำปะหลังและข้าวไทยไปจีนยังคงเผชิญความท้าทายมากขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจของจีนที่เข้มข้นขึ้น ซึ่งแผนดังกล่าวเป็นแผนเกษตรสมัยใหม่ฉบับแรกและเป็นนโยบายหมายเลขที่ 1 ประจำปี 2566 อย่างเป็นทางการของจีน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารและเป้าหมายสู่การเป็นประเทศที่มีความแข็งแกร่งด้านการเกษตร ซึ่งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างการผลิตพืชเกษตรอาหารครั้งใหญ่ของจีน และคาดว่าอาจจะทำให้จีนลดการพึ่งพาการนำเข้าธัญพืชจากโลกและไทยลงเฉลี่ยราว 1.1-3.4% ต่อปี ในช่วงปี 2567-2573

เมื่อผนวกกับปัจจัยเสี่ยงภายในของไทยเอง เช่น ความสามารถในการแข่งขันของไทยที่มีแนวโน้มลดลง จากทั้งต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและประสิทธิภาพการผลิตที่ต่ำเมื่อเทียบกับคู่แข่ง รวมถึงเอลนีโญที่อาจรุนแรงขึ้น จะยิ่งซ้ำเติมให้การส่งออกไปจีนมีความท้าทายมากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ดังนั้นไทยควรเร่งปรับตัวเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในช่วงระยะกลางและระยะยาว โดยผู้ส่งออกควรหาตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพเพิ่มเติม เพื่อทดแทนตลาดจีนที่ไทยพึ่งพาสูง เช่น สหรัฐ อินเดีย ซาอุดีอาระเบีย ญี่ปุ่น เป็นต้น ขณะที่ภาคการผลิตควรมุ่งไปสู่การผลิตสินค้าเกษตรที่เน้นคุณภาพ/สร้างมูลค่าเพิ่ม มากกว่าการผลิตเชิงปริมาณ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น อย่างเทรนด์สุขภาพที่เติบโตดี เช่น ข้าวออร์แกนิก แป้งปลอดกลูเตน (Gluten-Free Flour) เป็นต้น ในส่วนของรัฐเองก็จะมีส่วนช่วยหากสามารถผลักดันกรอบการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้นได้ตามที่วางแผนไว้.

 

ครองขวัญ รอดหมวน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หวังรัฐแก้ปมค้าชายแดน

การผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้ดีนั้น จำเป็นต้องมองในทุกมิติและพัฒนาให้ครอบคลุม จะทิ้งใครหรืองานใดงานหนึ่งไว้ข้างหลัง จะเป็นตัวฉุดรั้งให้การเติบโตนั้นไม่ไปไหน

เก้าอี้ร้อนฉ่า

ถือเป็นประเด็นร้อนหลังจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) ออกมากดดัน ล่าสุดได้ยื่นหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง

เร่งแก้ “แต่ไร้ผล”

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นประเด็นที่พูดถึงกันมานานหลายปี โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ที่เมื่อความกดอากาศสูง มีกำลังอ่อนลง และเมื่อลมสงบ ประกอบกับการผกผันกลับของอุณหภูมิในอากาศ จะส่งผลทำให้เกิดสภาพอากาศร้อนด้านบนกดทับอากาศเย็นเหมือนมีฝาครอบ

จับตาบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง

ช่วงนี้หลายคนกำลังสงสัยว่าเพราะเหตุใดค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าเอา อ่อนค่าเอา ตอนนี้ราคาหลุดทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว แม้จะมีการแกว่งตัวแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า

30@30 โอกาส SME

สำหรับนโยบาย 30@30 เป็นที่พูดถึงมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 จนมาถึงปัจจุบันที่นวัตกรรมและเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทยแพร่หลายมากขึ้น และ EV ทั่วโลกกำลังตื่นตัวและก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

Digital Walletกระตุ้นค้าปลีกไม่แรง

“โครงการ Digital Wallet” เรียกว่ามีความชัดเจนจากฝั่งรัฐบาลพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไขทั้งในส่วนของประชาชนและร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ รวมไปถึงแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ แต่ก็ต้องยอมรับว่าความชัดเจนในส่วนนี้ก็ยังมีการตั้งคำถาม ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเร่งหาวิธีการเพื่อพิสูจน์ความชัดเจน และเดินหน้าโครงการตามขั้นตอนและวิธีการภายใต้กรอบของกฎหมายที่ได้ยืนยันมาโดยตลอด