มาตรฐานกระทงไร้มลพิษ

27 พ.ย.นี้จะเป็นวันลอยกระทงของประเทศไทย เทศกาลที่หลายๆ คนรอคอย เพราะถือเป็นการร่วมสืบสานประเพณีไทยที่มีมาอย่างช้านาน และยังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ทั้งยังถือเป็น Soft Power อีกอย่างหนึ่งที่จะสนับสนุนการท่องเที่ยวให้เพิ่มมากขึ้นในช่วงท้ายปี โดยในงานลอยกระทงของแต่ละที่นั้นจะมีกิจกรรมที่แตกต่างกันไป แต่จุดมุ่งหมายหลักคือ การนำกระทงไปลอยในแหล่งน้ำ ตามความเชื่อว่าเป็นการขอขมาแม่พระคงคา และอีกมุมมองหนึ่งเป็นการลอยเพื่อปล่อยความทุกข์และสิ่งไม่ดีให้ไหลไปตามน้ำเพื่อเตรียมต้อนรับสิ่งดีๆ ก่อนวันขึ้นปีใหม่

แม้ว่าปัจจุบันการลอยกระทงลงในแหล่งน้ำอาจจะถูกมองว่าเป็นปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากจะสร้างขยะให้เพิ่มมากขึ้น และสร้างมลพิษต่อแหล่งน้ำนั้นๆ แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะเลิกกิจกรรมนี้ได้จากความเชื่อและความคิดเห็นของคนบางกลุ่ม เนื่องจากเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และยังกระตุ้นเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้อย่างดี ซึ่งการแก้ปัญหาเบื้องต้นอาจจะยังไม่ใช่การเลิกลอยกระทงในแหล่งน้ำ แต่อาจจะต้องไปดูแลและปรับเปลี่ยนในกระบวนการอื่นๆ แทน อย่างเช่น เรื่องของการเลือกใช้วัตถุดิบในการผลิตกระทงที่จะส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำ

โดยที่ผ่านมาในปี 2565 สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้มีการรายงานจำนวนกระทงที่เก็บได้ ปี 2565 มีจำนวน 572,602 ใบ เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่จัดเก็บได้ 403,203 ใบ เพิ่มขึ้นจำนวน 169,367 ใบ คิดเป็น 42% โดยประเภทที่จัดเก็บได้ทำจากวัสดุธรรมชาติ 548,086 ใบ หรือ 95.7% และทำจากโฟม 24,516 ใบ หรือ 4.3% และจากข้อมูลแสดงให้เห็นว่ากระทงจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 มีสัดส่วนลดลงจาก 96.5% เป็น 95.7% ส่วนสัดส่วนของโฟมเพิ่มขึ้นจาก 3.5% เป็น 4.3% ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าจับตามองที่สุด เพราะในส่วนนี้อาจจะยังเป็นบ่อปัญหาที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้

ซึ่งในปี 2566 นี้เอง เทศกาลลอยกระทงยังเป็นงานที่น่าจับตามองอย่างมากว่าจะสามารถกระตุ้นเม็ดเงินในเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด เนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองในไทยเริ่มกลับมาสู่ภาวะปกติ สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ทำให้ประชาชนในสังคมเริ่มกลับมาทำกิจกรรมต่างๆ ได้เทียบเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิดแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องออกมาพิจารณาแผนงานที่จะช่วยดูแลให้ในช่วงเทศกาลปีนี้เดินหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่น

ขณะเดียวกัน ปัญหาการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกมากล่าวถึงการเลือกใช้วัสดุในการทำกระทง โดยนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า วอนให้ประชาชนเลือกใช้กระทงที่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่างๆ เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย ซึ่งนอกจากจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการอุดหนุนสินค้าไทยและกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจในระดับชุมชนด้วย

 “กระทงจากวัสดุธรรมชาติที่ผลิตโดยผู้ผลิตชุมชนที่ผ่านการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นสินค้าที่กระทรวงอุตสาหกรรมให้การรับรองว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความประณีตสวยงาม ไม่มีกลิ่นสารเคมี สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ สำหรับบางพื้นที่ที่มีประเพณีการปล่อยโคมลอยในเทศกาลลอยกระทง ก็ขอแนะนำให้ปล่อยโคมลอยที่ได้มาตรฐาน มผช.ด้วย รวมทั้งให้ยึดถือปฏิบัติตามประกาศมาตรการป้องกันและการรักษาความปลอดภัยของส่วนราชการในพื้นที่อย่างเคร่งครัด” นางสาวพิมพ์ภัทรากล่าว

ทั้งนี้ ด้านนายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีผู้ผลิตกระทงเปลือกข้าวโพดที่ได้มาตรฐาน มผช. จำนวน 7 ราย ได้แก่ 1.กลุ่มแม่บ้านเกาะพิมูลพัฒนา 2.นางสตรีรัตน์ ชูอินทร์ 3.กลุ่มกระทงแฟนซีจากเปลือกข้าวโพด 4.นางเตือนคนึง ราชา 5.วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตกระทงตำบลลานดอกไม้ตก 6.กลุ่มกระทงเปลือกข้าวโพดบ้านลานดอกไม้ตกหมู่ที่ 1 และ 7.นางวิรัตน์ ทวนธง และมีผู้ผลิตโคมลอยที่ได้มาตรฐาน มผช. จำนวน 1 ราย ได้แก่ นางชไมพร วงศ์สถาน

จึงขอเชิญชวนประชาชนคนไทยร่วมกันสนับสนุนสินค้าไทย เพื่อกระจายรายได้และสร้างความยั่งยืนให้กับสินค้าชุมชน เนื่องจากกระทงจากวัสดุธรรมชาติที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน มผช. เป็นสินค้าที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม มีความประณีต สวยงาม ไม่มีกลิ่นสารเคมี และย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ.

 

ณัฐวัฒน์ หาญกล้า

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หวังรัฐแก้ปมค้าชายแดน

การผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้ดีนั้น จำเป็นต้องมองในทุกมิติและพัฒนาให้ครอบคลุม จะทิ้งใครหรืองานใดงานหนึ่งไว้ข้างหลัง จะเป็นตัวฉุดรั้งให้การเติบโตนั้นไม่ไปไหน

เร่งแก้ “แต่ไร้ผล”

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นประเด็นที่พูดถึงกันมานานหลายปี โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ที่เมื่อความกดอากาศสูง มีกำลังอ่อนลง และเมื่อลมสงบ ประกอบกับการผกผันกลับของอุณหภูมิในอากาศ จะส่งผลทำให้เกิดสภาพอากาศร้อนด้านบนกดทับอากาศเย็นเหมือนมีฝาครอบ

จับตาบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง

ช่วงนี้หลายคนกำลังสงสัยว่าเพราะเหตุใดค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าเอา อ่อนค่าเอา ตอนนี้ราคาหลุดทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว แม้จะมีการแกว่งตัวแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า

Digital Walletกระตุ้นค้าปลีกไม่แรง

“โครงการ Digital Wallet” เรียกว่ามีความชัดเจนจากฝั่งรัฐบาลพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไขทั้งในส่วนของประชาชนและร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ รวมไปถึงแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ แต่ก็ต้องยอมรับว่าความชัดเจนในส่วนนี้ก็ยังมีการตั้งคำถาม ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเร่งหาวิธีการเพื่อพิสูจน์ความชัดเจน และเดินหน้าโครงการตามขั้นตอนและวิธีการภายใต้กรอบของกฎหมายที่ได้ยืนยันมาโดยตลอด

อัปเกรดอุตฯเหล็กรับมาตรการCBAM

การเดินหน้ามาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) นั้น ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวอย่างมากของกลุ่มผู้ผลิต

'หนี้ครัวเรือน'แนวโน้มชะลอแต่สัดส่วนยังสูง

“หนี้ครัวเรือน” เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายจับตา โดยจากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่ระบุว่า ภาพรวมหนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท