จับตาสถานการณ์“เอลนีโญ”ปี67

ช่วงที่ผ่านมา หลายฝ่ายต่างจับตาถึงสถานการณ์เอลนีโญว่าอาจมีความรุนแรง ยาวนาน และสร้างความเสียหายให้กับหลายภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเกษตร กับสถานการณ์การขาดแคลนน้ำ เพราะมีหลายหน่วยงานประเมินว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งสูง โดยปริมาณน้ำฝนในปี 2566-2567 อาจลดลงมากกว่า 5% ของปริมาณน้ำฝนปกติ

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่า ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญในปีนี้หลายชนิดมีแนวโน้มลดลง ซึ่งสาเหตุหลักมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้ฝนมาล่าช้าและปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปีก่อน โดยในช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค.2566 เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ปริมาณน้ำฝนน้อยลง ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืช

ขณะที่ “KKP Research” โดยกลุ่มธุรกิจเกียรตินาคินภัทรได้ออกบทวิเคราะห์ โดยระบุว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญไม่แย่อย่างที่คาด จากน้ำในเขื่อนที่สูง แต่จับตาสถานการณ์ปีหน้าอาจแย่ลง ซึ่งสาเหตุที่ปรากฏการณ์เอลนีโญในปีที่ผ่านมาไม่ได้รุนแรงอย่างที่หลายฝ่ายกังวลเนื่องจากขาดปัจจัยอื่นๆ หนุนเสริม ได้แก่ ช่วงเวลาของการเกิดเอลนีโญที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูฝนพอดี ทำให้พอมีน้ำฝนในพื้นที่ต่างๆ บ้าง แม้ว่าจะน้อยลงจากปกติ แต่ยังไม่ถึงขั้นฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลาหลายเดือนติดต่อกันเหมือนเอลนีโญในฤดูแล้ง

นอกจากนี้ยังมีปริมาณน้ำในเขื่อนอยู่ในระดับสูง จากปริมาณน้ำฝนที่มากกว่าปกติ เนื่องจากปรากฏการณ์ลานีญาในช่วงปลายปีก่อน ทำให้พื้นที่เกษตรโดยเฉพาะในเขตชลประทานมีน้ำเพียงพอเพาะปลูกไปได้

ทั้งนี้ ปัจจุบันผลผลิตภาคเกษตรกรรมโดยเฉลี่ยยังไม่ได้รับผลกระทบอย่างที่คาด และยังคงเติบโตได้เมื่อเทียบกับปีก่อน หากเปรียบเทียบกับการเติบโตของผลผลิตภาคเกษตรปรับฤดูกาลของเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 เทียบกับปีก่อนหน้า พบว่ายังเติบโตได้ 4.8% ขณะที่ผลผลิตภาคเกษตรในเดือน พ.ค.-ก.ย.2566 ยังเติบโตได้ 1.57% เช่นกัน แต่ไม่ใช่ว่าทุกภูมิภาคหรือทุกสินค้าเกษตรจะได้รับผลกระทบจากเอลนีโญเท่ากัน

โดยสินค้าเกษตรที่จะได้รับผลกระทบจากเอลนีโญ ถ้าพิจารณาฤดูกาลเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว จะพบว่ากลุ่มพืชไม้ยืนต้น เช่น ปาล์มน้ำมันและยางพาราที่มีผลผลิตออกมาตลอดทั้งปีและต้องการน้ำในการเพาะปลูกน้อยกว่า จะไม่ค่อยได้รับผลกระทบโดยตรงมากนัก ในทางตรงกันข้าม กลุ่มพืชไร่ที่เพาะปลูกแบบปีต่อปีและต้องการน้ำค่อนข้างมาก โดยเฉพาะข้าวนาปรังและมันสำปะหลัง ที่มีรอบการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้าจะได้รับผลกระทบมากกว่า

ขณะเดียวกัน ผลกระทบของเอลนีโญต่อประเทศอื่นทำให้เริ่มมีมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันการขาดแคลนอาหารในอนาคตบ้างแล้ว และทำให้ราคาสินค้าเกษตรเริ่มปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะข้าว จะเป็นโอกาสของเกษตรกรไทย เพราะไทยบริโภคข้าวเพียง 55% ของการผลิตข้าวทั้งหมดประมาณ 20 ล้านตันในแต่ละปี และสามารถส่งออกข้าวที่เหลืออีก 45% หรือประมาณ 6-8 ล้านตัน ดังนั้นจากสถานการณ์ของผลผลิตเกษตรที่แม้จะไม่ได้เติบโตขึ้นอย่างมาก แต่ก็ไม่ได้หดตัวอย่างรุนแรง กลับยังได้รับอานิสงส์จากการที่สามารถส่งออกข้าวในราคาที่สูงขึ้นด้วย

 “จากแนวโน้มเอลนีโญที่ลากยาวเข้าสู่ฤดูแล้งในช่วงปลายปีนี้ ต่อเนื่องจนถึงกลางปี 2567 อาจจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคเกษตรในปีหน้าได้ค่อนข้างมาก จากฝนที่อาจทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะข้าวนาปรังที่จะเริ่มเพาะปลูกในช่วงปลายปีนี้ และเริ่มเก็บเกี่ยวไปจนถึงกลางปีหน้า ขณะที่น้ำในเขื่อนแม้ว่าในช่วงกลางปีที่ผ่านมาจะลดต่ำลงจนน่าเป็นห่วง แต่ในช่วงเดือนที่ผ่านมาฝนตกมากกว่าที่คาด ได้เติมน้ำในเขื่อนหลายแห่งจนอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะภาคะวันออกเฉียงเหนือ”

อย่างไรก็ดี ด้วยปัจจัยหนุนเสริมทั้งสองประการ KKP Research คาดการณ์ว่าผลผลิตภาคเกษตรในปีนี้จะสามารถยืนระยะต่อไปได้ แต่จะไม่ได้ขยายตัวได้อย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ปีหน้าผลผลิตอาจชะลอตัวลงเล็กน้อยจากความเสี่ยงที่เอลนีโญจะยาวนานกว่าที่คาด แต่ด้วยน้ำในเขื่อนระดับสูงซึ่งเพียงพอจะช่วยบรรเทาผลกระทบไปได้ส่วนหนึ่ง ส่วนรายได้ของภาคเกษตรในปีนี้และปีต่อไปคาดว่าจะอยู่ในระดับที่ดีกว่าปีก่อน จากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้นมากชดเชยผลผลิตที่ไม่ได้เติบโตสูงมาก.

 

ครองขวัญ รอดหมวน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หวังรัฐแก้ปมค้าชายแดน

การผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้ดีนั้น จำเป็นต้องมองในทุกมิติและพัฒนาให้ครอบคลุม จะทิ้งใครหรืองานใดงานหนึ่งไว้ข้างหลัง จะเป็นตัวฉุดรั้งให้การเติบโตนั้นไม่ไปไหน

เก้าอี้ร้อนฉ่า

ถือเป็นประเด็นร้อนหลังจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) ออกมากดดัน ล่าสุดได้ยื่นหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง

เร่งแก้ “แต่ไร้ผล”

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นประเด็นที่พูดถึงกันมานานหลายปี โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ที่เมื่อความกดอากาศสูง มีกำลังอ่อนลง และเมื่อลมสงบ ประกอบกับการผกผันกลับของอุณหภูมิในอากาศ จะส่งผลทำให้เกิดสภาพอากาศร้อนด้านบนกดทับอากาศเย็นเหมือนมีฝาครอบ

จับตาบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง

ช่วงนี้หลายคนกำลังสงสัยว่าเพราะเหตุใดค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าเอา อ่อนค่าเอา ตอนนี้ราคาหลุดทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว แม้จะมีการแกว่งตัวแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า

30@30 โอกาส SME

สำหรับนโยบาย 30@30 เป็นที่พูดถึงมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 จนมาถึงปัจจุบันที่นวัตกรรมและเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทยแพร่หลายมากขึ้น และ EV ทั่วโลกกำลังตื่นตัวและก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

Digital Walletกระตุ้นค้าปลีกไม่แรง

“โครงการ Digital Wallet” เรียกว่ามีความชัดเจนจากฝั่งรัฐบาลพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไขทั้งในส่วนของประชาชนและร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ รวมไปถึงแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ แต่ก็ต้องยอมรับว่าความชัดเจนในส่วนนี้ก็ยังมีการตั้งคำถาม ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเร่งหาวิธีการเพื่อพิสูจน์ความชัดเจน และเดินหน้าโครงการตามขั้นตอนและวิธีการภายใต้กรอบของกฎหมายที่ได้ยืนยันมาโดยตลอด