“ธุรกิจสถานีชาร์จอีวี”เตรียมบูม

ต้องยอมรับว่า “ตลาดรถอีวี” ในประเทศไทยเติบโตอย่างเห็นได้ชัด อย่างล่าสุดยอดจองรถในงาน Moter Expo 2023 รวมทั้งสิ้นกว่า 4.47 หมื่นคัน และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในจำนวนนี้มียอดจองรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 38% จากปีก่อนอยู่ที่ราว 14% เท่านั้น เรียกว่าเป็นการเติบโตชัดเจน

แน่นอนว่าในระยะต่อๆ ไปจะมีปริมาณรถอีวีบนท้องถนนเพิ่มขึ้น และคำถามที่ตามมาคือ “สถานีชาร์จ” จะมีเพียงพอต่อความต้องการใช้ที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือไม่ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ได้ออกบทวิเคราะห์ระบุว่า คาดว่ายอดจดทะเบียนสะสมยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังจากภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนการใช้ยานยนต์ดังกล่าว ทั้งในแง่ของการให้เงินอุดหนุนในการซื้อ และการลดภาษีสรรพสามิต ทำให้มีความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV มากขึ้น นำมาซึ่งความต้องการในการใช้บริการสถานีและเครื่องอัดประจุไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

แต่อย่างไรก็ดี ปัจจุบันไทยยังมีสถานีและเครื่องอัดประจุไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อความต้องการในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องเพิ่มเครื่องอัดประจุไฟฟ้า เพื่อรองรับการใช้บริการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต

โดยจากข้อมูลพบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด 1,482 สถานี ซึ่งมีเครื่องอัดประจุไฟฟ้าทั้งหมด 4,628 หัวชาร์จ (ข้อมูล ณ 22 พ.ค.2566) โดยสถานีเหล่านั้นกระจุกตัวอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงภาคตะวันออกเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วนราว 41% และ 24% ของจำนวนสถานีทั้งหมดตามลำดับ

สถานีและเครื่องอัดประจุไฟฟ้ายังคงไม่เพียงพอที่จะรองรับความต้องการใช้บริการของยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดในอนาคต จึงจำเป็นต้องเพิ่มเครื่องอัดประจุไฟฟ้า โดยเฉพาะแบบ Fast Charger ซึ่งเป็นรูปแบบที่ภาครัฐส่งเสริมให้ติดตั้งและตอบโจทย์พฤติกรรมการอัดประจุไฟฟ้าของผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของไทย

ทั้งนี้ Krungthai COMPASS ประเมินว่า ในปัจจุบันภูมิภาคของประเทศไทยส่วนใหญ่มีสถานีและเครื่องอัดประจุไฟฟ้าเพียงพอที่จะรองรับการให้บริการยานยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV แต่ยังมีบางภูมิภาคที่ขาดสถานีและเครื่องอัดประจุไฟฟ้า ได้แก่ ภาคเหนือและภาคใต้ ขณะที่ในปี 2573 คาดว่าความต้องการใช้บริการสถานีและเครื่องอัดประจุไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นตามยอดจดทะเบียนสะสมของยานยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ของไทย ซึ่งประเมินว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 1.01 แสนคันในปีนี้ เป็น 1.29 ล้านคันในปี 2573

จึงต้องเพิ่มเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบ Fast Charger ราว 10,294 หัวชาร์จ หรือ 5,147 เครื่องจากปัจจุบัน เพื่อให้บริการแก่ยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายของภาครัฐที่จะเพิ่มเครื่องอัดประจุไฟฟ้าดังกล่าวอีก 10,205 หัวชาร์จจากปัจจุบันภายในปี 2573 และเมื่อพิจารณาตำแหน่งที่ตั้งของเครื่องอัดประจุไฟฟ้าดังกล่าวเป็นรายจังหวัด พบว่า จังหวัดที่ควรติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบ Fast Charger เพิ่มเติมเพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการใช้บริการในปี 2573 เป็นจังหวัดที่ขาดเครื่องอัดประจุไฟฟ้าในการให้บริการจำนวนมากในปีดังกล่าว ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ชลบุรี สงขลา ขอนแก่น และอุบลราชธานี โดยควรติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้าทุกๆ ไม่เกิน 160 กิโลเมตร เนื่องจากเป็นระยะในการขับขี่ที่ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ของไทยมีแนวโน้มที่จะใช้บริการอัดประจุไฟฟ้า

โดยหากผู้ประกอบธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้าของไทยขยายการลงทุนเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบ Fast Charger ตามการประเมินในข้างต้น คาดว่าจะก่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนในธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้า ประมาณ 1.17 หมื่นล้านบาท อีกทั้งยังส่งผลให้รายได้รวมของธุรกิจการให้บริการอัดประจุไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 230 ล้านบาทในปี 2565 เป็น 1.11 หมื่นล้านบาทในปี 2573 ภายใต้สมมุติฐานที่ว่าสัดส่วนของผู้ให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าอยู่ที่ราว 40% ของยานยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ของไทยทั้งหมด

ซึ่งในระยะข้างหน้า หากผู้ประกอบการเพิ่มเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบ Fast Charger ตามการประเมินข้างต้น นอกจากจะช่วยหนุนธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้าแล้ว ยังสร้างรายได้ให้กับธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานีอัดประจุไฟฟ้า เช่น ธุรกิจจัดจำหน่ายและติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้า และธุรกิจรับเหมาก่อสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า เป็นต้น.

ครองขวัญ รอดหมวน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หวังรัฐแก้ปมค้าชายแดน

การผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้ดีนั้น จำเป็นต้องมองในทุกมิติและพัฒนาให้ครอบคลุม จะทิ้งใครหรืองานใดงานหนึ่งไว้ข้างหลัง จะเป็นตัวฉุดรั้งให้การเติบโตนั้นไม่ไปไหน

เก้าอี้ร้อนฉ่า

ถือเป็นประเด็นร้อนหลังจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) ออกมากดดัน ล่าสุดได้ยื่นหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง

เร่งแก้ “แต่ไร้ผล”

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นประเด็นที่พูดถึงกันมานานหลายปี โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ที่เมื่อความกดอากาศสูง มีกำลังอ่อนลง และเมื่อลมสงบ ประกอบกับการผกผันกลับของอุณหภูมิในอากาศ จะส่งผลทำให้เกิดสภาพอากาศร้อนด้านบนกดทับอากาศเย็นเหมือนมีฝาครอบ

จับตาบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง

ช่วงนี้หลายคนกำลังสงสัยว่าเพราะเหตุใดค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าเอา อ่อนค่าเอา ตอนนี้ราคาหลุดทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว แม้จะมีการแกว่งตัวแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า

30@30 โอกาส SME

สำหรับนโยบาย 30@30 เป็นที่พูดถึงมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 จนมาถึงปัจจุบันที่นวัตกรรมและเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทยแพร่หลายมากขึ้น และ EV ทั่วโลกกำลังตื่นตัวและก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

Digital Walletกระตุ้นค้าปลีกไม่แรง

“โครงการ Digital Wallet” เรียกว่ามีความชัดเจนจากฝั่งรัฐบาลพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไขทั้งในส่วนของประชาชนและร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ รวมไปถึงแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ แต่ก็ต้องยอมรับว่าความชัดเจนในส่วนนี้ก็ยังมีการตั้งคำถาม ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเร่งหาวิธีการเพื่อพิสูจน์ความชัดเจน และเดินหน้าโครงการตามขั้นตอนและวิธีการภายใต้กรอบของกฎหมายที่ได้ยืนยันมาโดยตลอด