ลุ้น'ส่งออกไทยปี67'ฟื้นตัว

 “ภาคการส่งออก” ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์ในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่ในช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา ดูเหมือนจะเจอสถานการณ์กดดันที่ทำให้ภาคการส่งออกไม่สามารถเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ มีบางช่วง บางเดือนที่จะเห็นการส่งออกของไทยขยายตัวติดลบ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากปัจจัยภายนอก ขณะที่ข้อมูลจาก “กระทรวงพาณิชย์” พบว่า การส่งออกในเดือน พ.ย.2566 นั้น มีมูลค่าที่ 23,479.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 4.9% ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ส่วนภาพรวมการส่งออกในช่วง 11 เดือนของปี 2566 กลับพบว่าหดตัว 1.5%

ทั้งนี้ หากการส่งออกของไทยในเดือน ธ.ค.2566 มีมูลค่าที่ 25,654 ล้านเหรียญสหรัฐ ก็จะส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกของไทยในปี 2566 ที่ผ่านมา ยังมีโอกาสขยายตัวได้ที่ 0% แต่หากมูลค่าอยู่ที่ 23,000 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกของไทยในปีดังกล่าวจะหดตัวที่ 0.8% โดยกระทรวงพาณิชย์เองยังเชื่อว่าการส่งออกของไทยทั้งปีจะหดตัวไม่ถึง 1.5% โดยประเมินว่าที่สุดแล้วน่าจะหดตัวที่ 1%

ส่วนทิศทางการส่งออกของไทยในปี 2567 นี้ กระทรวงพาณิชย์คาดว่าจะปรับตัวได้ดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจากที่เงินเฟ้อชะลอลงกลับสู่เป้าหมาย วัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มจะยุติลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว พร้อมกับความเชื่อมั่นในการบริโภคและลงทุนที่กลับมา โดยกระทรวงพาณิชย์ปักธงเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ไว้ที่ 1.99% หรือคิดเป็นมูลค่าราว 10 ล้านล้านบาท

ขณะที่ภาคเอกชนอย่าง “สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก” ระบุว่า คาดแนวโน้มการส่งออกในปี 2566 นั้น มีมูลค่า 22.85 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือหดตัว 1% ตามกรอบที่เคยได้ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ ขณะที่แนวโน้มการส่งออกของไทยในปีนี้ คาดการณ์ว่าจะขยายตัวที่ 1-2% ภายใต้ปัจจัยเฝ้าระวังสำคัญ 5 เรื่อง ได้แก่ 1.การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท 2.อัตราดอกเบี้ยนโยบายในหลายประเทศยังทรงตัวระดับสูง

3.ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อการค้าและเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะสถานการณ์วิกฤตในทะเลแดง บริเวณช่องแคบ บับ อัล-มันเดบ ซึ่งเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าหลักไปทวีปยุโรปและตะวันออกกลาง 4.ดัชนีภาคการผลิต (PMI) ยังทรงตัวในระดับต่ำ ทั้งในสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น รวมถึง 5.ความกังวลเรื่องต้นทุนภาคการผลิตที่ยังมีแนวโน้มไม่แน่นอน อาทิ ค่าไฟฟ้า ค่าแรงขั้นต่ำ และค่าระวางเรือเส้นทางยุโรปที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น เป็นต้น

ด้าน “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” มีมุมมองว่า แนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 2567 นั้น จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากปีก่อนหน้า สอดคล้องกับทิศทางการค้าโลกที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้ในปี 2567 ตามวัฏจักรของอุปสงค์สินค้าต่างๆ และฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า ท่ามกลางปัจจัยท้าทายต่างๆ ที่อาจเข้ามากดดันการฟื้นตัวของส่งออกไทยในระยะข้างหน้า ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจในตลาดคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะจีนและสหรัฐฯ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ความผันผวนของค่าเงินจากการปรับทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลัก รวมถึงภัยแล้งที่ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินว่า ภาพรวมการส่งออกของไทยในปี 2567 จะกลับมาขยายตัวได้ในแดนบวกที่ 2% เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่คาดว่าอาจจะหดตัวราว -1.3% ซึ่งหดตัวลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าที่ -2.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ส่วน “ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics” นั้น ประเมินว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 2567 น่าจะพลิกกลับมาขยายตัวได้ที่ราว 2% จากอานิสงส์ในเรื่องของฐานที่ต่ำในปีที่ผ่านมา รวมถึงปริมาณการค้าโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น ตลอดจนวัฏจักรการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่เริ่มกลับมาขยายตัวได้ดี

ด้าน “ศูนย์วิจัยกรุงศรี” ให้มุมมองว่า ภาคการส่งออกยังมีแนวโน้มเติบโตต่ำ และยังคงเผชิญแรงกดดันจากความอ่อนแอของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า แต่ก็ประเมินว่าการส่งออกของไทยในปี 2567 นี้ จะกลับมาขยายตัวได้ที่ 2.5% จากปัจจัยเฉพาะ อาทิ วัฏจักรการฟื้นตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ปัจจัยหนุนจากการรักษาความมั่นคงทางด้านอาหาร ตลอดจนความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาค (Regionalization) เป็นต้น การทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น คาดว่าจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มจาก 1.3% ในปี 2566 เป็น 2% ในปีนี้.

 

ครองขวัญ รอดหมวน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หวังรัฐแก้ปมค้าชายแดน

การผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้ดีนั้น จำเป็นต้องมองในทุกมิติและพัฒนาให้ครอบคลุม จะทิ้งใครหรืองานใดงานหนึ่งไว้ข้างหลัง จะเป็นตัวฉุดรั้งให้การเติบโตนั้นไม่ไปไหน

เก้าอี้ร้อนฉ่า

ถือเป็นประเด็นร้อนหลังจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) ออกมากดดัน ล่าสุดได้ยื่นหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง

เร่งแก้ “แต่ไร้ผล”

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นประเด็นที่พูดถึงกันมานานหลายปี โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ที่เมื่อความกดอากาศสูง มีกำลังอ่อนลง และเมื่อลมสงบ ประกอบกับการผกผันกลับของอุณหภูมิในอากาศ จะส่งผลทำให้เกิดสภาพอากาศร้อนด้านบนกดทับอากาศเย็นเหมือนมีฝาครอบ

จับตาบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง

ช่วงนี้หลายคนกำลังสงสัยว่าเพราะเหตุใดค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าเอา อ่อนค่าเอา ตอนนี้ราคาหลุดทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว แม้จะมีการแกว่งตัวแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า

30@30 โอกาส SME

สำหรับนโยบาย 30@30 เป็นที่พูดถึงมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 จนมาถึงปัจจุบันที่นวัตกรรมและเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทยแพร่หลายมากขึ้น และ EV ทั่วโลกกำลังตื่นตัวและก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

Digital Walletกระตุ้นค้าปลีกไม่แรง

“โครงการ Digital Wallet” เรียกว่ามีความชัดเจนจากฝั่งรัฐบาลพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไขทั้งในส่วนของประชาชนและร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ รวมไปถึงแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ แต่ก็ต้องยอมรับว่าความชัดเจนในส่วนนี้ก็ยังมีการตั้งคำถาม ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเร่งหาวิธีการเพื่อพิสูจน์ความชัดเจน และเดินหน้าโครงการตามขั้นตอนและวิธีการภายใต้กรอบของกฎหมายที่ได้ยืนยันมาโดยตลอด