ห่วง“แรงงานภาคเกษตรไทย”หาย!

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับ “ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน” ในหลายอุตสาหกรรม ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบที่ชัดเจนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้แรงงานส่วนใหญ่ต้องกลับภูมิลำเนา รวมไปถึงแรงงานต่างด้าวบางส่วนด้วย ส่งผลกระทบอย่างหนักกับภาคอุตสาหกรรมที่ยังมีความจำเป็นต้องใช้แรงงาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการที่กำลังฟื้นตัว ซึ่งจากข้อมูลของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า เมื่อช่วงเดือน ก.พ.2566 นั้น ไทยมีแรงงานต่างด้าวทั้งหมด 1.4 ล้านคน ลดลง 52% จากช่วงก่อนโควิด-19

ไม่เพียงแต่แรงงานในภาคอุตสาหกรรมเท่านั้นที่กำลังเป็นปัญหา แต่ “แรงงานในภาคเกษตร” ก็กำลังประสบปัญหาไม่ต่างกัน โดย ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ได้ออกบทวิเคราะห์ ระบุว่า

ภาคเกษตรไทยกำลังติดหล่มการพัฒนาจากข้อจำกัดในการสร้างมูลค่าเพิ่ม ทำให้มีรายได้และกำไรไม่เพียงพอในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยภาคเกษตรต่ำกว่านอกภาคเกษตรอย่างมีนัยสำคัญ มีสิ่งจูงใจให้คนรุ่นใหม่ละทิ้งภาคเกษตร ในขณะที่แรงงานเกษตรในปัจจุบันมีอายุเฉลี่ยสูงที่ใกล้ออกจากตลาดแรงงานเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ตามข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติชี้ว่า เศรษฐกิจภาคการเกษตรของไทยในปี 2565 มีมูลค่าราว 1.53 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 8.8% ของจีดีพี โดยในปี 2566 ttb analytics ประมาณการว่ามูลค่าเศรษฐกิจภาคการเกษตรคาดว่าจะลดลงเหลือเพียง 8.6% ของจีดีพี สัญญาณของสัดส่วนเศรษฐกิจภาคการเกษตรที่ปรับตัวลดลงเล็กน้อย อาจดูไม่สะท้อนภาพ แต่ถ้ามองลึกลงไปจะพบว่า บทบาทเศรษฐกิจภาคการเกษตรมีทิศทางลดลงต่อเนื่อง หากเมื่อเทียบกับปี 2555 ที่เศรษฐกิจภาคเกษตรไทยเคยมีสัดส่วน 11.5% ของจีดีพี ที่มูลค่า 1.42 ล้านล้านบาท

โดยเมื่อพิจารณาเพียงผิวเผินอาจมองเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากสินค้าอุตสาหกรรมและภาคบริการจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าสินค้าเกษตร แต่หากเมื่อมองถึงอัตราการขยายตัว พบว่า ภาคเศรษฐกิจการเกษตรไทย “ยังติดกับดักการสร้างมูลค่าเพิ่ม” ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจภาคเกษตรไทยขยายตัวเพียง 7.7% ในขณะที่ประเทศต่างๆ มีการขยายตัวในอัตราที่สูง เช่น ออสเตรเลีย ขยายตัว 51.5% อินเดีย ขยายตัว 82.7% และเวียดนาม ขยายตัว 53.2% และรวมถึงประเทศที่เน้นบทบาทของการผลิตภาคอุตสาหกรรม เช่น จีน ขยายตัว 68.5% และเยอรมนี ที่ขยายตัว 51%

สัญญาณการเติบโตที่ต่ำในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาของภาคเกษตรไทย แสดงถึงข้อจำกัดในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรที่สามารถเพิ่มรายได้ สร้างกำไรที่สูงขึ้นย้อนกลับไปหาเกษตรกรเพื่อใช้ยังชีพและเลี้ยงดูครอบครัว รวมถึงกำไรยังถือเป็นส่วนสำคัญของเกษตรกรที่จะนำมาใช้เพื่อลงทุนพัฒนาต่อยอด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการประกอบธุรกิจในมิติต่างๆ เช่น การซื้อที่ดินเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ซื้อเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลงทุนสร้างแหล่งกักเก็บน้ำในช่วงน้ำเยอะสำรองไว้ใช้ในช่วงน้ำน้อย เป็นต้น

ดังนั้น บนสถานการณ์ที่ภาคการเกษตรไทย ไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มที่จะทำให้รายได้ย้อนกลับไปสู่เกษตรกรได้เหมาะสม ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยของแรงงานภาคการเกษตรในปี 2565 อยู่ที่เพียง 1.28 แสนบาทต่อคนต่อปี ในขณะที่กลุ่มแรงงานนอกภาคเกษตรมีรายได้เฉลี่ยถึง 5.8 แสนบาทต่อคนต่อปี ย่อมส่งผลให้คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มละทิ้งภาคการเกษตรและหันเข้ามาทำงานในกลุ่มนอกภาคการเกษตรจากผลตอบแทนที่สูงกว่า

นอกจากนี้ในเชิงโครงสร้างยังพบว่า เกษตรกรไทยที่เป็นกลุ่มแรงงานในภาคการเกษตรมีอายุเฉลี่ยสูงถึง 62 ปี จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลต่อเนื่องว่าระยะถัดไปที่กลุ่มเกษตรกรเหล่านี้ออกจากตลาดแรงงาน บนเงื่อนไขของแรงงานรุ่นใหม่เลือกไม่ทำงานในภาคเกษตรจากผลตอบแทนที่ต่ำกว่า รวมถึงกลุ่มที่อยู่ในครอบครัวเกษตรและมีประสบการณ์ที่ครอบครัวทำการเกษตรมาตลอดชีวิต แต่ยังไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ ก็คงไม่อยากจะเดินตามรอยครอบครัวที่ทำมาในอดีต

ด้วยเหตุนี้ ttb analytics จึงมองว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องช่วยกันยกระดับพัฒนาเศรษฐกิจการเกษตรไทย เพื่อให้มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเพียงพอเพื่อดึงดูดให้คนรุ่นใหม่มีความสนใจที่ยังทำงานในภาคการเกษตรก่อนที่ต่อไปประเทศไทยจะไม่มีเกษตรกร.

 

ครองขวัญ รอดหมวน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หวังรัฐแก้ปมค้าชายแดน

การผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้ดีนั้น จำเป็นต้องมองในทุกมิติและพัฒนาให้ครอบคลุม จะทิ้งใครหรืองานใดงานหนึ่งไว้ข้างหลัง จะเป็นตัวฉุดรั้งให้การเติบโตนั้นไม่ไปไหน

เก้าอี้ร้อนฉ่า

ถือเป็นประเด็นร้อนหลังจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) ออกมากดดัน ล่าสุดได้ยื่นหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง

เร่งแก้ “แต่ไร้ผล”

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นประเด็นที่พูดถึงกันมานานหลายปี โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ที่เมื่อความกดอากาศสูง มีกำลังอ่อนลง และเมื่อลมสงบ ประกอบกับการผกผันกลับของอุณหภูมิในอากาศ จะส่งผลทำให้เกิดสภาพอากาศร้อนด้านบนกดทับอากาศเย็นเหมือนมีฝาครอบ

จับตาบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง

ช่วงนี้หลายคนกำลังสงสัยว่าเพราะเหตุใดค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าเอา อ่อนค่าเอา ตอนนี้ราคาหลุดทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว แม้จะมีการแกว่งตัวแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า

30@30 โอกาส SME

สำหรับนโยบาย 30@30 เป็นที่พูดถึงมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 จนมาถึงปัจจุบันที่นวัตกรรมและเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทยแพร่หลายมากขึ้น และ EV ทั่วโลกกำลังตื่นตัวและก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

Digital Walletกระตุ้นค้าปลีกไม่แรง

“โครงการ Digital Wallet” เรียกว่ามีความชัดเจนจากฝั่งรัฐบาลพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไขทั้งในส่วนของประชาชนและร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ รวมไปถึงแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ แต่ก็ต้องยอมรับว่าความชัดเจนในส่วนนี้ก็ยังมีการตั้งคำถาม ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเร่งหาวิธีการเพื่อพิสูจน์ความชัดเจน และเดินหน้าโครงการตามขั้นตอนและวิธีการภายใต้กรอบของกฎหมายที่ได้ยืนยันมาโดยตลอด