พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน

พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ตั้งอยู่ที่ตำบลห้วยทรายเหนือ อำเภอชะอำจังหวัดเพชรบุรี เป็นโบราณสถาน ที่มีสถาปัตยกรรมที่สวยงามมากที่สุดแห่งหนึ่ง และมีเรื่องราวที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ อยู่ในความรับผิดชอบดูแลของตำรวจตระเวนชายแดน

พระราชนิเวศน์ หมายถึงที่ประทับชั่วคราวของพระมหากษัตริย์ มีความสำคัญรองมาจากพระราชวัง เป็นที่ประทับเวลาแปรพระราชฐานเป็นการชั่วคราว

เมื่อปี พ.ศ.2466 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้โปรดให้สร้างพระราชนิเวศน์มฤคทายวันเป็นพระราชวังฤดูร้อน ทรงออกแบบและควบคุมการก่อสร้างด้วยพระองค์เอง

โดยมีเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้อำนวยการก่อสร้าง นายแอร์โกเล มันเฟรดี ชาวอิตาลี สถาปนิกในราชสำนัก กรมโยธาธิการ เป็นผู้ร่างแบบถวาย ใช้เวลาก่อสร้างเพียง 1 ปี ก็เสร็จเรียบร้อย

พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยประยุกต์ (เรือนไทยผสมยุโรป) สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง

เป็นพระตำหนักสองชั้น ใต้ถุนสูง รองรับด้วยเสาคอนกรีต จำนวน 1,080 ต้น หลังคาทรงปั้นหยา มุงหลังคาด้วยกระเบื้องว่าว มีทางเดินเชื่อมต่อกันตลอดด้วยระเบียงทั้งชั้นบนและชั้นล่าง หันหน้าขนานกับชายทะเล

ประกอบด้วยอาคาร 16 หลัง แบ่งเป็น 3 หมู่ใหญ่ มีนามเรียงกันจากชั้นในสุดมาจนถึงประตูพระราชนิเวศน์ด้านหน้า ดังนี้

หมู่พระที่นั่งสมุทรพิมาน มีสองหมู่ คือหมู่ใหม่ด้านหน้า เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเป็นอาคารหลังใหญ่สุดเป็นห้องบรรทม ห้องแต่งพระองค์ ห้องทรงพระอักษร และห้องสรง ส่วนห้องเสวยเป็นศาลารูปสี่เหลี่ยม มีลูกกรงรอบไม่กั้นฝา

ในส่วนหมู่เดิม เคยเป็นที่ประทับของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ระหว่างมีพระครรภ์สมเด็จพระภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

หมู่พระที่นั่งพิศาลสาคร เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระวรราชชายา และที่พำนักของพระสุจริตสุดา พระสนมเอก นอกจากพระที่นั่งแล้ว ยังมีเรือนเล็กๆ เป็นที่อยู่ของข้าราชการฝ่ายใน

หมู่พระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ เป็นห้องโถงโปร่งอเนกประสงค์ ใช้เป็นโรงละคร เคยจัดแสดงละครมาแล้ว 2 ครั้ง คือเรื่องพระร่วงและวิวาห์พระสมุทร ซึ่งเป็นละครร้องสลับรำ พระราชนิพนธ์ของพระองค์และร่วมแสดงด้วย และเป็นที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญ ตลอดจนการชุมนุมในโอกาสต่างๆ

พระองค์พระราชทานนามพระนิเวศน์แห่งนี้ ให้สอดคล้องกับชื่อตำบลที่ใช้อยู่เดิม คือคำว่า "ห้วยทราย” หมายถึงห้วยของเนื้อทรายซึ่งเป็นกวางชนิดหนึ่ง จึงได้ทรงนำคำว่า "มฤค” มาใช้ และเพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่สถานที่ ได้ทรงนำเอาชื่อสถานที่ในพุทธประวัติมาตั้ง คือ “มฤคทายวัน” สถานที่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา ณ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

พระองค์เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานประทับแรม 2 ครั้งในปี พ.ศ.2467 และปี พ.ศ.2468

เมื่อเสด็จฯ ครั้งสุดท้าย ประทับจนถึงวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2468 เสด็จฯ กลับมากรุงเทพฯ และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2468

พระราชนิเวศน์ก็สิ้นสุดเรื่องราวในยุคที่เจริญรุ่งเรือง ถูกทิ้งร้างตลอดมา

ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองมีความพยายามส่งมอบพระราชนิเวศน์ให้อยูในความรับผิดชอบ กระทรวงวัง กระทรวงธรรมการ กระทรวงเศรษฐการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการรถไฟ

แต่ไม่มีหน่วยใดรับ อ้างว่าไม่มีเงินบำรุงรักษา ที่ตั้งอยู่ไกลและทุรกันดาร กันดารน้ำ ที่ดินเป็นทรายเพาะปลูกอะไรไม่ได้

สำนักพระราชวังจึงต้องเป็นหน่วยงานดูแลรักษามาตลอด มีหลายหน่วยงานผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาใช้ประโยชน์ เป็นสถานที่ฝึกอบรม

แต่ไม่มีหน่วยงานใดรับเป็นเจ้าภาพในการดูแลปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้นพระราชนิเวศน์ชำรุดทรุดโทรมลงทุกขณะ จนไม่เหลือเค้าเดิมอันงดงามต่อไปอีก

ปี พ.ศ.2490 รัฐบาลได้มอบหมายให้ตำรวจตระเวนชายแดนเข้าไปใช้พื้นที่และอาคารภายในบริเวณพระราชนิเวศน์ เป็นสถานฝึกอบรมกำลังพลเพื่อไปปราบปรามการก่อการร้ายและการแผ่อิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์

ปี พ.ศ.2508 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระราชทานให้กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนใช้พระราชนิเวศน์เป็นศูนย์ฝึกอบรมข้าราชการตำรวจตามหลักสูตรการรบพิเศษ

และเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2523 พระองค์ได้เสด็จฯ ทรงเปิดค่ายพระราม 6 กองกำกับการฝึก กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ที่ตั้งอยู่ในบริเวณพระราชนิเวศน์แห่งนี้

ปี พ.ศ.2524 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนพระราชนิเวศน์เป็นโบราณสถานแห่งชาติ ตำรวจตระเวนชายแดนจึงได้เริ่มทำการบูรณะซ่อมแซมอย่างจริงจัง

พระราชนิเวศน์เสื่อมโทรม ถูกทิ้งร้างไม่ได้ใช้มานานกว่า 60 ปี ด้วยระยะเวลาที่ยาวนาน สีที่ทาทับไม้ไว้หลุดร่อนออก เนื้อไม้สัมผัสกับลมทะเล น้ำฝน และแสงแดดโดยตรง เนื้อไม้สักถูกกัดกร่อนลงโดยเฉพาะด้านรับลมทะเล หลังคากระเบื้องว่าวแตกร้าวรั่ว น้ำฝนไหลลงเพดาน

การบูรณะเป็นไปด้วยความยากลำบาก และมีอุปสรรคปัญหานานัปการ ในส่วนลวดลายฉลุรอบอาคารต้องลอกแบบสร้างขึ้นใหม่ ลูกกรงนับร้อยนับพันรอบตัวอาคารถูกแกะขึ้น ขณะที่ภาพเขียนสีบนเพดานได้รับการลอกใหม่จากเค้าเดิมที่เลือนราง

ไม้สักทองต้องขอรับการอนุเคราะห์ไม้ของกลางจากกรมป่าไม้ บางส่วนต้องเดินทางไปติดต่อขอรับบริจาคเรือนไม้สักเก่าจากชาวบ้านที่จังหวัดแพร่

ตั้งแต่อดีต ผู้บังคับบัญชาตำรวจตระเวนชายแดนหลายท่านทุกระดับได้สนองพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ร่วมกันบูรณะพระราชนิเวศน์อย่างเต็มกำลังความสามารถ ต่อเนื่องกันมาตลอด

อดีตผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ได้แก่ พล.ต.ท.มโน สมิตะพินทุ, พล.ต.ท.วิภาส วิปุลากร, พล.ต.ท.ชาติชาย ฉายอรุณ, พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ และ พล.ต.ท.สมศักดิ์ แขวงโสภา ฯลฯ

พล.ต.ท.ธีระเดช รอดโพธิ์ทอง เป็นผู้หนึ่งซึ่งสมควรได้รับการยกย่องชื่นชม เพราะเป็นผู้ทุ่มเท เสียสละ ด้วยความอดทน ดำเนินการ ประสานงานทุกภาคส่วนในการบูรณะพระราชนิเวศน์ตั้งแต่เริ่มต้นจนสำเร็จเรียบร้อย

ได้บันทึกเรื่องราว "เบื้องหลังการบูรณะซ่อมแซมพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน” ข้อความสำคัญบางตอนว่า

“ไม่ทราบว่าเป็นพระราชประสงค์ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ที่จะทรงทดสอบขีดความสามารถของตำรวจตระเวนชายแดน ในการบูรณะพระตำหนักหรืออย่างไร ก็เกินวิสัยที่จะตอบได้ แต่มีข้อที่น่าสังเกตว่า มีความพยายามถึง 3 ครั้ง ที่จะผลักดันการบูรณะพระราชนิเวศน์ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณแผ่นดิน แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ”

นายอรรคศิษฐ์ วิริยะกุล ผู้ควบคุมการบูรณะจากกรมศิลปากร ได้บันทึกเรื่อง "การจัดหาไม้สักทองครั้งสุดท้าย” ข้อความสำคัญบางตอนว่า

“ได้ร่วมกับ พ.ต.อ.ธีระเดช รอดโพธิ์ทอง (ยศขณะนั้น) เดินทางไปเจรจาขอซื้อไม้สักทองเรือนเก่าจากชาวบ้านที่ตำบลสะเอียบ จังหวัดแพร่ ได้มีการประสานงานกับทุกฝ่าย เจรจาต่อรองกันหลายวัน ต้องนอนพักแรมที่บ้านกำนัน ในที่สุดชาวบ้านเห็นความสำคัญการอนุรักษ์พระราชนิเวศน์ร่วมกัน บริจาคไม้มาให้จำนวนหนึ่ง”

นอกจากนี้ ยังมีบุคคลภายนอกหลายท่านได้ร่วมกันสนับสนุน อาทิ ท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทำเรื่องขอสนับสนุนไม้สักทองจากกรมป่าไม้ ผู้สนับสนุนภาคเอกชนรายใหญ่ เช่น บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย ฯลฯ จนการบูรณะสำเร็จเรียบร้อยไปได้ระดับหนึ่ง

ได้มีการจัดตั้งมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนเป็นประธานมูลนิธิ ผู้บังคับบัญชาในกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนเป็นกรรมการ ผู้กำกับ 1 กองบังคับการฝึกเป็นเลขามูลนิธิ

วัตถุประสงค์เพื่อบูรณะพระราชนิเวศน์ให้มีสภาพดี ดำรงไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์และอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ รวมทั้งการจัดเงินทุนเพื่อบูรณะซ่อมแซมด้วย

ตำรวจตระเวนชายแดนได้ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมพระราชนิเวศน์อยู่ประมาณ 13 ปี จึงแล้วเสร็จ

ในวันที่ 31 มีนาคม 2537 ได้เปิดให้ประชาชนเข้าชมความสวยงามของพระราชนิเวศน์อีกครั้ง

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2541 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการแสดงแสงสีเสียง "จากฟากฟ้าสุราลัย สู่แดนดิน” ณ พระราชนิเวศน์

ตั้งแต่บูรณะเสร็จเรียบร้อย พระบรมวงศานุวงศ์ พระราชวงศ์ และพระราชอาคันตุกะจากต่างประเทศ ได้เสด็จไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจ เสวยพระกระยาหาร หรือทัศนศึกษาพระราชนิเวศน์อยู่เป็นประจำ

ปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ได้พระราชทานที่ดินค่ายพระรามหก พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ให้กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน 2 ครั้ง

ครั้งแรก เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 จำนวน 1,244 ไร่ 24.2 ตารางวา ด้านหลังโฉนดระบุข้อความ "เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำงานของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และพิพิธภัณฑ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว”

ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2563 ได้พระราชทานเพิ่มเติมอีก 275 ไร่ 57.20 ตารางวา ด้านหลังโฉนดระบุข้อความ "ใช้เพื่อประโยชน์ในราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ”

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงสุดแก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติและตำรวจตระเวนชายแดนเป็นอย่างยิ่ง

ขอเชิญชวนประชาชนผู้สนใจ สัมผัสกลิ่นอายประวัติศาสตร์ เข้าเยี่ยมชมพระนิเวศน์มฤคทายวัน ซึ่งได้รับการขนานนามว่า “พระราชวังแห่งความรักและความหวัง” อาคารไม้สักที่ยาวที่สุดในโลก พระราชนิเวศน์ที่สวยงามอย่างมหัศจรรย์แห่งหนึ่งของประเทศไทย

พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เปิดทำการทุกวัน ยกเว้นวันพุธ ระหว่างเวลา 08.30-16.30 น. ติดต่อสอบถามหมายเลขโทรศัพท์ 0-3250-8444-5, 08-1941-2185

(ขอขอบคุณ พ.ต.อ.ศุภวัฒน์ ศรีชัยชนะ อดีต ผกก.1บก.กฝ.บช.ตชด.ผู้สนับสนุนข้อมูล)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตำรวจนักเก็บกู้ระเบิด (EOD)

สถานการณ์ของโลกปัจจุบัน การก่ออาชญากรรม ก่อวินาศกรรม หรือก่อการร้าย หากคนร้ายใช้วัตถุระเบิดเป็นอาวุธ แรงระเบิด สะเก็ดระเบิดและความร้อน จะเป็นภยันตรายก่อให้เกิดความเสียหายกับชีวิตร่างกายและทรัพย์สินอย่างร้ายแรงที่สุด

ตำรวจ ศชต.

“ท่ามกลางสถานการณ์ก่อความไม่สงบในพื้นที่ที่ทรงตัวมานานเกือบ 20 ปี สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาการก่อการร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ และบางอำเภอในจังหวัดสงขลา ต้องอาศัยการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น”

ตชด.กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

“เศรฐกิจพอเพียงจริงๆ คือหลักการดำเนินชีวิตที่จริงแท้ที่สุดกรอบแนวคิดและปรัชญามุ่งเน้นความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนาคือ สามารถประยุกต์ใช้ในทุกระดับ ตลอดจนให้ความสำคัญกับคำว่าพอเพียง ที่ประกอบด้วยความพอประมาณ ความมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวภายใต้เงื่อนไขของการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมที่ต้องอาศัยเงื่อนไข ความรู้และเงื่อนไขคุณธรรม”

ตำรวจพลร่ม

ตำรวจพลร่มเป็นตำรวจซึ่งมีการฝึกอบรมอย่างหนัก ทำให้ตำรวจหน่วยนี้มีวินัย เข้มแข็ง กล้าหาญ อดทน ปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจสำคัญที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ชื่นชมและยกย่องตลอดมา

หมอนิติเวชตำรวจ

พลตำรวจโทนายแพทย์ประเวศน์ คุ้มภัย อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ (ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว) จบการศึกษาคณะแพทยศาสตรบัณฑิต

เครื่องจับเท็จ

มหากาพย์คดีฆาตกรรม น้องชมพู่ เป็นคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ สื่อมวลชนให้ความสนใจ