เปลือยความคิด 'ก้าวไกล'

ก็ชัดเจนครับ...

พรรคก้าวไกลมิได้ประสงค์ที่จะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เช่นในปัจจุบัน

แต่ต้องการให้มีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป

ประเด็นนี้ปรากฏชัดในคำแถลงร่วมของ "ชัยธวัช ตุลาธน" และ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคมที่ผ่านมา

"...แน่นอนว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในแต่ละประเทศย่อมมีลักษณะไม่เหมือนกัน และไม่ได้มีลักษณะหยุดนิ่งตายตัว การจัดระเบียบสังคม การออกแบบสถาบันทางการเมือง ระบบกฎหมาย วัฒนธรรม คุณค่าพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของแต่ละประเทศย่อมเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปตามวิวัฒนาการของสังคม

ความพยายามทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมีลักษณะหยุดนิ่ง ตายตัว พัฒนาเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ย่อมเป็นอันตรายต่อระบอบการปกครองของไทย เพราะจะทำให้สูญเสียความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับสมดุลใหม่ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขทางสังคมที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย เสียโอกาสที่จะรักษาสิ่งเก่าและเชื่อมประสานกับสิ่งใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ระบอบประชาธิปไตย กับสถาบันพระมหากษัตริย์แปลกแยกต่อกัน

การปกปักรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จึงไม่สามารถบรรลุได้ด้วยการใช้อำนาจกดปราบ ไม่ว่าจะด้วยกำลัง ในนามของกฎหมาย มีแต่ต้องสร้างสมดุลให้ได้สัดส่วน เหมาะสมกับยุคสมัย ระหว่างระบอบประชาธิปไตยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้ระบอบนี้มั่นคงยั่งยืน ด้วยความเชื่อมั่นศรัทธา และความยินยอมพร้อมใจของประชาชน

ทว่าหลายปีที่ผ่านมา การนำประเด็นเกี่ยวกับความจงรักภักดีมากล่าวหาโจมตีกันในทางการเมือง นำไปสนับสนุนหรือเกี่ยวพันกับการทำรัฐประหารทั้งโดยกำลังทหารและโดยกฎหมาย รวมถึงการแสดงความจงรักภักดีอย่างล้นเกินเพื่ออำพรางการแสวงหาประโยชน์ส่วนตนอย่างฉ้อฉลของคนบางกลุ่ม ประกอบกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางการเมืองตามยุคสมัยได้กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาการเมืองและความรู้สึกนึกคิดแบบใหม่ที่สังคมไทยในอดีตอาจไม่คุ้นเคย

แต่แทนที่ผู้มีอำนาจจะตระหนักถึงความผิดพลาดในอดีตและพยายามแสวงหากุศโลบายด้วยสติปัญญาเพื่อคลี่คลายแรงตึงเครียดในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของไทย และสร้างฉันทามติใหม่ที่สอดคล้องกับยุคสมัย กลับเลือกที่จะใช้อำนาจกดทับประชาชนมากยิ่งขึ้น รวมถึงการบังคับใช้มาตรา ๑๑๒ ในลักษณะเข้มงวดรุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน..."

อ่านจบมีประเด็นต้องทำความเข้าใจกันเยอะพอควร

ในคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า การกระทำของ "พิธา" และพรรคก้าวไกล กรณีหาเสียงแก้ไข ม.๑๑๒ เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง สั่งให้เลิกการแสดงความเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายอื่นโดยวิธีอื่นเพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย

แม้ในคำแถลงของ "พิธา" และ "ชัยธวัช" จะไม่มีคำว่า "ยกเลิก ม.๑๑๒"

แต่ในภาพรวม การอ้างว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีลักษณะหยุดนิ่ง ตายตัว พัฒนาเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ย่อมเป็นอันตรายต่อระบอบการปกครองของไทย ก็พอมองออกมาแนวคิดนี้จะพัฒนาไปสู่อะไร

 พอพิสูจน์ได้เบื้องต้นว่า "พิธา" และพรรคก้าวไกล ไม่เคยหยุดคิดเรื่องยกเลิกหรือแก้ไข ม.๑๑๒ ตามแนวทางที่วางไว้

คือ ลดโทษให้เท่ากฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา

รวมถึงความผิด ม.๑๑๒ ไม่ใช่ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ

การคิดมุมเดียวของพรรคก้าวไกลนับว่าอันตรายเป็นอย่างมาก

ความผิด ม.๑๑๒ ไม่สามารถอธิบายด้วยการอ้างว่า เป็นอำนาจกดปราบ ไม่ว่าจะด้วยกำลัง ในนามของกฎหมาย เพียงอย่างเดียวได้

เพราะคนที่กระทำความผิด ม.๑๑๒ ส่วนใหญ่ล้วนมีแนวคิดล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น

อาจมีบ้างที่ถูกกลั่นแกล้ง แต่แนวทางแก้กฎหมายเพื่อแก้ปัญหา ก็หาใช่ตามแนวทางที่พรรคก้าวไกลเสนอไม่

เนื่องจากการแก้ ม.๑๑๒ ตามแนวทางของพรรคก้าวไกลคือ ประตูเปิดไปสู่การล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์

ไม่หยุดยังไม่พอ "พิธา" และพรรคก้าวไกล ยังพูด ยังโฆษณาถึง ม.๑๑๒ ในมุมที่ตัวเองอยากให้เป็น

ยังคงขยายความสร้างความเข้าใจผิด ว่ามีการนำประเด็นเกี่ยวกับความจงรักภักดีมากล่าวหาโจมตีกันในทางการเมือง นำไปสนับสนุนหรือเกี่ยวพันกับการทำรัฐประหารทั้งโดยกำลังทหารและโดยกฎหมาย

นั่นคือความคิดที่ถูกจับยัดใส่สมองมานานนับแต่ยุคกึ่งพุทธกาล

ย้อนกลับไปปี ๒๕๖๐ ปาฐกถาพิเศษถ่ายทอดเรื่องราวจากความทรงจำของ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ในวันครบรอบ ๔๔ ปี เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ที่อนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลา แยกคอกวัว ที่คนรุ่นหลังพึงเปิดใจ รับรู้ข้อมูล

"...ท่านผู้ที่ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองของไทยคงจะจำได้ว่า บ้านเรานั้นแม้จะปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยก็มีอุบัติเหตุการเมือง เกิดรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่า ส่วนมากรัฐประหารก็ทำโดยผู้ถืออาวุธคือทหาร ทหารผลัดกันขึ้นมาปกครองบ้านเมือง จนกระทั่งแทนที่จะเจริญก้าวหน้า บ้านเมืองก็ย่อยยับลงครั้งแล้วครั้งเล่า

แต่ละครั้งที่เกิดการรัฐประหารขึ้น เพื่อที่จะให้ผู้ยึดอำนาจได้นั้นถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ เป็นรัฐบาลที่ถูกกฎหมาย ก็จะต้องวิ่งไปหาพระมหากษัตริย์ และในที่นี้ก็คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ก็ต้องเป็นผู้ที่ทำให้รัฐบาลนั้นถูกต้องตามกฎหมายขึ้นมาโดยไม่มีทางเลือก

มักจะมีผู้ที่ไม่เข้าใจและแสดงความข้องใจอยู่เสมอๆ ว่าเมื่อรัฐบาลยึดอำนาจวิ่งเข้าไปหา หากว่าพระองค์ไม่พระราชทานความถูกต้องให้กับรัฐบาล รัฐบาลนั้นก็เจ๊งใช่หรือเปล่า

มันไม่ง่ายอย่างนั้นนะครับ เพราะคนที่วิ่งเข้าไปขอพระราชทานความถูกต้องของรัฐบาลเป็นคนถืออาวุธ ถ้าหากว่าพระองค์ปฏิเสธ ก็แน่นอนเหลือเกินว่ามันจะต้องเกิดการต่อสู้ปะทะกันขึ้น เขาชนะอยู่แล้ว เพราะยึดอำนาจไปเรียบร้อยแล้ว ใครจะไปต่อสู้กับเขาอีก นอกจากพระองค์เองซึ่งไม่มีทหาร ไม่มีกองทัพ พระองค์ดำรงตำแหน่งเป็นจอมทัพตามรัฐธรรมนูญ แต่ก็เป็นตำแหน่งที่ถือเป็นเกียรติเฉยๆ อำนาจในการบังคับบัญชาไม่มี นี่คือเหตุผลว่าทำไมรัฐบาลที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหารจึงเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายเสมอมา

เมื่อเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับรัฐบาลก็ค่อนข้างที่จะตึงเครียด

รัฐบาลทหารช่วงต้นๆ เมื่อยึดอำนาจได้แล้วก็เกือบจะไม่เห็นความสำคัญของพระมหากษัตริย์เลย ตั้งแต่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยึดอำนาจ แม้จะให้ความเคารพก็เป็นเรื่องที่เคารพแต่ปาก ในทางปฏิบัตินั้นปรากฏว่ามีการกระทบกระทั่งขัดแย้งกันระหว่างพระมหากษัตริย์กับรัฐบาล

     แล้วมาถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัฐบาลเริ่มจะฟังพระเจ้าแผ่นดินมากขึ้น และรัชกาลที่ ๙ เป็นผู้ที่ทรงเห็นการณ์ไกล พระองค์สามารถที่จะประนีประนอมกับรัฐบาล และในขณะเดียวกันก็เข้าไปมีบทบาทในเรื่องของการพัฒนาประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามมากขึ้นๆ จนกระทั่งบัดนี้เป็นที่ยอมรับกันว่า ๗๐ ปีของการครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นมหาราชพระองค์หนึ่งที่ทำความเจริญมั่นคงให้แก่บ้านเมือง และทำให้ประชาชนมีความสุขอย่างที่ได้เห็นกันในปัจจุบัน..."

ครับ...พรรคก้าวไกล พึงตระหนักว่า ข้อมูลที่ปลูกฝังกันมานั้น...

มาจากความเกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์ของคนกลุ่มหนึ่งในอดีต ซึ่งมีความเข้าใจผิด คิดเอาเองว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศัตรูกับประชาชน

และการที่พรรคก้าวไกลอ้างว่าประชาชนต้องการให้เป็นไปตามแนวทางของตนเองนั้น จุดนี้หากไม่ระมัดระวัง นำไปพูดพร่ำเพรื่อ จะเป็นการจุดชนวนให้เกิดสงครามกลางเมืองได้

เพราะไม่ใช่เรื่องของคนสองสามคน แต่เป็นล้านๆ คน

แล้วจะรับผิดชอบกันไหวหรือไม่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เช็กบิล 'รัฐธรรมนูญ'

ข่าวดีสำหรับนักการเมือง วานนี้ (๑๖ กันยายน) รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย "ชูศักดิ์ ศิรินิล" บอกว่า... "...ผมได้รับการประสานกับพรรคประชาชน เขามีความคิดต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยเฉพาะมาตรฐานจริยธรรม และเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ที่เป็นปัญหาอยู่ขณะนี้

ทำไมต้องปกป้องสถาบันฯ

เผ่นไปอีกราย.. ที่จริงก็หนีไปพักหนึ่งแล้ว แต่เพิ่งจะมาประกาศเป็นทางการเมื่อวานนี้ (๑๕ กันยายน)

ทำแท้งดิจิทัลวอลเล็ต

แถลงนโยบายแล้ว...ไปได้ นายกฯ อิ๊งค์ ไปเชียงรายทันทีราวกับถูกกดปุ่ม ประเด็นกลัวทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๒ รัฐบาลต้องแถลงนโยบายก่อนเข้าบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ใช่เรื่องโจ๊กนะครับ เป็นเรื่องจริง

ท่วม 'แพทองธาร'

ก็จริงนะ... นายกฯ หญิงมักมากับน้ำ มหาอุทกภัย ต้นปี ๒๕๕๔ น้ำท่วมใหญ่ภาคกลางรวม ๑๗๕ วัน

'ทักษิณ' รอดคนเดียว?

นโยบายรัฐบาล หมายถึง ภารกิจที่รัฐบาลจะทำหลังเข้าบริหารประเทศ แต่โดยมากนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภานั้น แทบจะทุกรัฐบาลทำได้ไม่เกินครึ่ง