
กระแสรักษ์โลก เกณฑ์การค้าด้านสิ่งแวดล้อมโลกที่เข้มข้น และเทรนด์ผู้บริโภคสีเขียวเร่งให้ไทยต้องปรับตัวสู่เกษตรคาร์บอนต่ำ โดยเฉพาะการผลิตข้าวที่ปล่อยก๊าซมีเทนสูง ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ภาคเกษตรไทยจะถูกบีบมากขึ้นจากเทรนด์โลกที่ส่งสัญญาณเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หากไทยยังไม่ยกระดับไปสู่เกษตรคาร์บอนต่ำ ด้วยแรงกดดันของโลกใน 2 ด้านหลัก คือ ด้านอุปทาน จากการที่หลายประเทศได้ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่รวมถึงภาคเกษตร และเกณฑ์การค้าด้านสิ่งแวดล้อมโลกที่เข้มข้น โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป หรือ EU ที่ระยะข้างหน้าอาจมีการนับรวมภาคเกษตรไว้ในระบบการซื้อขายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ EU จนนำไปสู่กติกาการค้าสินค้าเกษตรกับ EU ที่เข้มงวดขึ้น
ส่วน ด้านอุปสงค์ ด้วยกระแสผู้บริโภคสีเขียวใน EU ที่มาแรง พร้อมกับการตระหนักถึงการมีฉลากสะอาดรับรอง ปัจจัยเหล่านี้จะกดดันให้ไทยซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรต้องเร่งปรับตัวสู่เกษตรคาร์บอนต่ำ เนื่องจากไทยก็มีการส่งออกสินค้าเกษตรไป EU ด้วย
อย่างไรก็ตามภาคเกษตรปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงอันดับต้นๆ ส่วนใหญ่มาจากการปลูกข้าวที่มีน้ำขัง ซึ่งปล่อยก๊าซมีเทนสูงที่สุด โดยภาคเกษตรไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นอันดับ 2 ราว 16% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทุกสาขา ซึ่งมาจากการปลูกข้าวมากที่สุดถึง 51% ของกิจกรรมในภาคเกษตรทั้งหมด และการปลูกข้าวจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมามากที่สุดจากปัญหาการทำนาแบบดั้งเดิมที่มีน้ำขังในนาข้าว คิดเป็น 80% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในการปลูกข้าว ซึ่งจะปล่อยก๊าซมีเทนสูงสุดกว่า 78%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังระบุอีกว่า ข้าวไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าเวียดนาม ไทยจึงต้องมุ่งผลิตข้าวคาร์บอนต่ำ เพื่อรักษาการแข่งขันในตลาดสหภาพยุโรประยะข้างหน้า โดยการผลิตข้าวไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นอันดับ 2 จากผู้ผลิตหลักของโลก ขณะที่คู่แข่งสำคัญอย่างเวียดนามปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าอยู่ที่อันดับ 7 ประกอบกับไทยส่งออกข้าวไป EU ราว 3% ของมูลค่าส่งออกข้าวทั้งหมด แม้จะเป็นสัดส่วนไม่มากและ EU ยังไม่ได้บังคับใช้เกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมเป็นกติกาการค้าข้าวในปัจจุบัน แต่ไปข้างหน้า EU ก็อาจบังคับใช้เกณฑ์นี้ได้
นอกจากนี้ การที่เวียดนามเป็นคู่แข่งในตลาด EU ซึ่งเดิมข้าวเวียดนามก็ได้เปรียบไทยอยู่แล้ว ทั้งต้นทุนการผลิต ผลผลิตต่อไร่ ราคาขาย และพื้นที่ปลูกที่อยู่ในเขตชลประทานกว่า 70% อีกทั้งเวียดนามยังจริงจังในการผลิตข้าวคาร์บอนต่ำและมีเป้าหมายที่ชัดเจน
และเมื่อเทียบฟอร์มข้าวคาร์บอนต่ำของไทยกับเวียดนาม จะพบว่าศักยภาพการผลิตข้าวคาร์บอนต่ำของไทยยังตามหลังเวียดนาม โดยไทยเริ่มต้นด้วยพื้นที่ปลูกที่น้อยกว่าเวียดนามไม่มากนักราว 0.55 ล้านไร่ แต่ด้วยผลผลิตต่อไร่ที่ต่ำของไทยและการที่ไทยยังไม่มีเป้าหมายชัดเจนมากนักในเรื่องข้าวคาร์บอนต่ำ ทำให้แม้ไทยจะพยายามขยายพื้นที่ปลูกไปในเขตชลประทานที่เหมาะสมมากขึ้น แต่ก็ยังทำให้ศักยภาพการผลิตข้าวคาร์บอนต่ำของไทยทำได้เพียง 4 ล้านตัน
ขณะที่เวียดนามมีเป้าหมายชัดเจนในปี 2030 ที่จะมีพื้นที่ปลูกข้าวคาร์บอนต่ำให้ได้ 6.25 ล้านไร่ จากการสนับสนุนของภาครัฐอย่างจริงจัง ผนวกกับผลผลิตต่อไร่ที่สูงกว่าไทยเกือบ 2 เท่า ทำให้เวียดนามมีศักยภาพการผลิตข้าวคาร์บอนต่ำได้มากกว่าไทยถึง 1.6 เท่า หรืออยู่ที่ 6.3 ล้านตัน
อย่างไรก็ตามแม้ข้าวคาร์บอนต่ำจะเป็นเทรนด์โลกระยะยาว แต่ไทยยังคงทำได้ไม่ดี ด้วยข้อจำกัดบางประการ โดยเฉพาะเรื่องระบบชลประทานที่ไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวในเขตชลประทานเพียง 20% นอกจากนี้ เงินลงทุนเริ่มต้นที่สูงเพื่อปรับไปเป็นแปลงนาข้าวคาร์บอนต่ำ เช่น การปรับหน้าดิน การจัดการระบบน้ำ เป็นต้น ประกอบกับเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเพียงรายย่อยที่ไม่มีเงินทุนเพียงพอ ทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตข้าวคาร์บอนต่ำของไทยจะต้องใช้เวลาและคงไม่ง่ายนัก
หากยิ่งไปข้างหน้า EU มีการบังคับใช้เกณฑ์ค้าข้าวคาร์บอนต่ำ ซึ่งไทยก็คงประคองปริมาณส่งออกไปได้จากผลผลิตข้าวคาร์บอนต่ำที่มีเพียงพอ แต่ไทยจะต้องแข่งขันด้านราคากับเวียดนามที่ได้เปรียบไทย โดยปี 2019-2024 ราคาข้าวหอมมะลิไทยเฉลี่ยที่ 964 ดอลลาร์ต่อตัน ข้าวหอมเวียดนามเฉลี่ยที่ 521 ดอลลาร์ต่อตัน ขณะที่ในด้านปริมาณก็ลดลงเช่นกัน โดยปี 2019-2023 ปริมาณส่งออกข้าวไทยไป EU ลดลงเหลือ 0.24 ล้านตันจากปี 2014-2018 ที่ 0.27 ล้านตัน ขณะที่เวียดนามเพิ่มขึ้นเป็น 0.074 ล้านตันจาก 0.067 ล้านตัน ตามลำดับ
ในเรื่องนี้จะถึงเวลาหรือยังที่รัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวง ทบวง กรมที่เกี่ยวข้อง จะหันหน้ามาเร่งส่งเสริมและยกระดับภาคการเกษตรทั้งระบบ ไม่ใช่เฉพาะการผลิตข้าวคาร์บอนต่ำเท่านั้น เพื่อลดผลกระทบจากการแข่งขันที่รุนแรงในระยะข้างหน้า
ก็คงได้แต่หวังว่าจะทำกันอย่างจริงจัง อย่าดีแต่พูดเหมือนที่ผ่านๆ มา.
บุญช่วย ค้ายาดี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดทีเด็ดความสำเร็จ
จากร้านขนมเล็กๆ ผลิตหลังร้านขายยาสู่แบรนด์ขนมไทยชั้นนำแบรนด์ “คุณเก๋ขนมหวาน” เริ่มต้นในปี 2540 และพลิกโอกาสครั้งสำคัญเมื่อได้ออกบูธในงาน Thaifex ปี 2549 จนนำไปสู่การวางจำหน่ายใน 7-Eleven เป็นครั้งแรกในปี 2551
ไทยทำรถไฟใช้เอง
หลังจากที่กระทรวงมีนโยบายผลักดันการขนส่งทางรางให้เป็นขนส่งหลักของประเทศ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนค่าขนส่งของประเทศถูกลง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ (Mega Project)
ล้อมคอกซ้ำซาก
ซ้ำซากครั้งแล้วครั้งเล่าสำหรับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนถนนพระราม 2 นับแต่เกิดเหตุโครงเหล็กพังถล่มลงมาด้านล่างพร้อมกับคานปูนขนาดใหญ่ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 6 ราย และบาดเจ็บหลายราย เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2567 ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา เกิดเหตุคานขวางระหว่างก่อสร้างถล่ม ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย
หนุน“SME”เร่งลงทุนเทคโนโลยี
ปี 2568 เศรษฐกิจไทยยังเติบโตภายใต้ปัจจัยท้าทายทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งหลายปัจจัยกดดันการเติบโตของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ “เอสเอ็มอี” ที่การเติบโตถูกกดดันมาอย่างต่อเนื่อง
ดิจิทัลคอนเทนต์เทรนด์โลก
เดี๋ยวนี้มองไปทางไหนก็มีแต่สื่อดิจิทัลเต็มไปหมด ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้การนำเสนอสื่อก็เปลี่ยนตามไปด้วย สังคมดิจิทัลจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการนำเสนอสื่อ ขายของ ติดต่อสื่อสาร และอีกหลายๆ กิจกรรม ด้วยเหตุนี้เองกลุ่มผู้ประกอบการในยุคปัจจุบันจำเป็นต้องมีการปรับตัวให้ทันกับเทรนด์และความต้องการที่เปลี่ยนไป
ล้อมคอกจัดโซนนิ่งคุมรถสองชั้น
จากกรณีอุบัติเหตุรถโดยสารไม่ประจำทางหมายเลขทะเบียน 30-0040 บึงกาฬ บรรทุกเจ้าหน้าที่คณะดูงานเทศบาลพรเจริญ จังหวัดบึงกาฬ จำนวน 49 ราย (รวมคนขับรถ) ประสบอุบัติเหตุเสียหลักพลิกคว่ำตกข้างทางบน ทล.304 บริเวณตำบลบุพราหมณ์ อำเภอนาดี