'หมอธีระ' อัปเดตสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน ย้ำยังไม่มีทางรักษาป้องกันลองโควิด

2 พ.ค. 2565 – รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 414,237 คน ตายเพิ่ม 1,251 คน รวมแล้วติดไปรวม 513,219,474 คน เสียชีวิตรวม 6,260,260 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ อิตาลี เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 74.92 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 85.18 การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 37.61 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 40.37

…สถานการณ์ระบาดของไทย เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก ทั้งนี้จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานนั้นคิดเป็น 26.3% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย

หากดูจำนวนการติดเชื้อใหม่ต่อวัน รวม ATK ไทยเราจะติดอันดับ Top 10 ของโลกมาติดต่อกันยาวนานถึง 45 วันแล้ว ส่วนจำนวนการเสียชีวิตต่อวันนั้น ติดอันดับ Top 10 ต่อเนื่องมาแล้ว 16 วัน

…อัปเดตสายพันธุ์ย่อยของ Omicron

สายพันธุ์ที่พบเพิ่มขึ้นเร็วในอเมริกา BA.2.12.1 นั้นมีข้อมูลชี้ให้เห็นแล้วว่ามีสมรรถนะในการแพร่ไวขึ้นกว่าเดิม โดยแพร่ไวขึ้นกว่า BA.2 ซึ่งครองการระบาดทั่วโลกตอนนี้ถึง 25% (Credit: Topol E)

ในขณะที่อีกสองสายพันธุ์ย่อยที่องค์การอนามัยโลกเฝ้าระวังดูคือ BA.4 และ BA.5 นั้นก็มีรายงานจากทีมวิจัยแอฟริกาใต้และอเมริกา ชี้ให้เห็นว่าดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมของ Omicron อย่าง BA.1 หลายเท่า

ดังนั้นทั้ง BA.2.12.1, BA.4, และ BA.5 จึงมีสมรรถนะที่จะทำให้การระบาดในแต่ละประเทศรุนแรงขึ้นได้ แม้ช่วงนี้จะเป็นช่วงขาลงของประเทศต่างๆ ทั่วโลกอยู่ก็ตาม

การป้องกันตัวเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ

…อัปเดต Long COVID

Umesh A และคณะได้ทำการทบทวนข้อมูลวิชาการเกี่ยวกับ Long COVID ชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันเชื่อว่ามีหลายกลไกที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะ Long COVID ทั้งเรื่องผลจากการที่ไวรัสทำลายเซลล์โดยตรง (direct damage) การกระตุ้นภูมิคุ้มกันและกระบวนการอักเสบในร่างกาย (immune activation and inflammation) รวมถึงกระบวนการตอบสนองทางสรีรวิทยาของร่างกายภายหลังจากการติดเชื้อ (counter physiological response)

อาการผิดปกติเกิดขึ้นได้แทบทุกระบบในร่างกาย ทั้งระบบประสาท ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบต่อมไร้ท่อ ระบบทางเดินอาหาร ระบบสืบพันธุ์ และอื่นๆ

ปัจจุบันยังไม่มีแนวทางมาตรฐานในการรักษาหรือป้องกัน Long COVID การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีกว่าการติดเชื้อแล้วรอเสี่ยงดวงว่าจะเป็น Long COVID หรือไม่

โควิด…ติด…ไม่ใช่แค่คุณ

โควิด…ติด…ไม่จบแค่หายหรือตาย แต่อาจเป็นปัญหาเรื้อรังระยะยาว บั่นทอนสมรรถนะในการดำรงชีวิตประจำวันและการทำงาน รวมถึงเป็นภาระค่าใช้จ่ายทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว และสังคม

ใส่หน้ากากนะครับ สำคัญมาก

อ้างอิง 1.Khan K et al. Omicron sub-lineages BA.4/BA.5 escape BA.1 infection elicited neutralizing immunity. medRxiv. 1 May 2022

2.Umesh A et al. Evidence mapping and review of long-COVID and its underlying pathophysiological mechanism. Infection. 30 April 2022.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โควิดพุ่งตามคาด! สายพันธุ์ไม่เปลี่ยน อาการคล้ายหวัด

กรมควบคุมโรคเผยสถานการณ์โรคโควิด 19 พบแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์ เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี สายพันธุ์ไม่เปลี่ยนอาการคล้ายหวัด แนะ กลุ่มเสี่ยง 608 ระมัดระวังหากมีอาการสงสัยป่วยควรปรึกษาแพทย์

โควิดสงกรานต์พุ่ง! ไทยติดเชื้อรอบสัปดาห์ 849 ราย

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 7 - 13 เมษายน 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) 849 ราย

โควิดยังพุ่ง! ไทยติดเชื้อรอบสัปดาห์ 728 ราย ผู้สูงอายุดับ 2 คน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 24 - 30 มีนาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่

อาจารย์หมอ เตือนอากาศร้อนมาก ผู้สูงอายุ-คนมีโรคประจำตัว ระวังการออกนอกบ้าน

คนสูงอายุ และคนที่มีโรคประจำตัว ควรระมัดระวังการออกไปข้างนอกบ้าน  ใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศ  ใช้หมวกหรือร่มบังแดด

โควิดพุ่ง! ไทยติดเชื้อใหม่รอบสัปดาห์ 630 ราย ดับเพิ่ม 5 คน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 17 - 23 มีนาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) 630 ราย