จับตา! โควิดสายพันธุ์ใหม่ BA.5.2.1.7

26 ส.ค. 2565 – รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 631,116 คน ตายเพิ่ม 1,482 คน รวมแล้วติดไป 603,850,279 คน เสียชีวิตรวม 6,481,733 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และไต้หวัน เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 85.54 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 65.31

…สถานการณ์ระบาดของไทย จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 15 ของโลก และอันดับ 6 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

…อัปเดตสถานการณ์จาก WHO จากรายงานล่าสุด WHO Weekly Epidemiological Update ขององค์การอนามัยโลก วันที่ 24 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา Omicron สายพันธุ์ย่อย BA.5 นั้นครองการระบาดทั่วโลก โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากเดิม 71% เป็น 74%

ทั้งนี้หากวิเคราะห์ในสายพันธุ์ย่อย BA.5 จะพบว่าการระบาดในปัจจุบันมีหลากหลายโดย 3 ตัวหลักได้แก่ BA.5.1, BA.5.2 และ BA.5.2.1 ในสัดส่วนพอๆ กันราว 20+% นอกจากสายพันธุ์ย่อย BA.5 แล้ว สายพันธุ์อื่นๆ มีแนวโน้มลดลง อาทิ BA.2 เหลือเพียง 5.6% และ BA.4 เหลือ 6.1%

ในขณะที่สายพันธุ์ BF.7 หรือที่รู้จักในนาม BA.5.2.1.7 นั้นอยู่ในการจับตามอง เนื่องจากมีอัตราเพิ่มขึ้นจากเดิม 11% เป็น 14%

…Long COVID ในสวิสเซอร์แลนด์ Nehme M และคณะ จากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ได้เผยแพร่ผลการวิจัยในวารสารการวิทยาศาสตร์การแพทย์ Scientific Reports เมื่อวานนี้ 25 สิงหาคม 2565

โดยทำการศึกษาในประชากรวัยผู้ใหญ่จำนวน 1,383 คน อายุเฉลี่ย 44.3 ปี (±13.4 ปี) เป็นเพศหญิงราว 60% และราวครึ่งหนึ่งไม่มีประวัติโรคประจำตัว ทั้งนี้ได้ทำการประเมินติดตามอาการ ณ 7 และ 15 เดือน าระสำคัญพบว่า มี 767 คนที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 และมีถึง 37% ที่ประสบปัญหา Long COVID โดยมีอาการคงค้างหรือผิดปกติ ณ 7 เดือนหลังจากติดเชื้อ

ในผู้ป่วยที่ประสบปัญหา Long COVID หากติดตาม ณ 15 เดือน พบว่า 47.9% หายจากการป่วย แต่ทีเหลืออีก 52.1% ยังคงมีอาการผิดปกติเรื้อรัง ทั้งนี้ในกลุ่มที่มีอาการคงค้างเรื้อรังจะมีอัตราการต้องรับการดูแลรักษาพยาบาลมากกว่า โดยมีผลกระทบต่อสมรรถนะการดำรงชีวิตประจำวัน และมีคุณภาพชีวิตที่แย่กว่า

งานวิจัยนี้ยังชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยเสี่ยงที่สัมพันธ์กับการเกิดปัญหา Long COVID ระยะยาว ได้แก่ การที่มีอาการป่วยหลายอาการตอนพบว่าติดเชื้อ และการที่ประสบปัญหาไม่มีสมาธิ ณ 7 เดือน

…ผลกระทบของ Long COVID ต่อการทำงาน ข้อมูลล่าสุดจาก Brookings Institution เมื่อ 24 สิงหาคม 2565 ได้ทำการประเมินผลกระทบของ Long COVID ในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ปัจจุบันจะมีประชากรวัย 18-65 ปี จำนวนประมาณ 16 ล้านคนที่กำลังประสบปัญหา Long COVID โดย 2-4 ล้านคนไม่สามารถทำงานได้ คิดเป็นความสูญเสียจากการขาดรายได้ที่สูงถึง 170,000 ล้านเหรียญต่อปี

แม้ข้อมูลข้างต้นเป็นการประเมินระดับมหภาค แต่สำหรับไทยเราซึ่งมีจำนวนการติดเชื้อที่ผ่านมาในระดับสูงมากนั้น ควรตระหนักถึงความสำคัญของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจาก Long COVID ด้วยทั้งต่อระดับประเทศ ระดับกิจการห้างร้าน ครอบครัว และระดับบุคคล ไม่ใช่แค่งานที่ใช้แรงงาน แต่รวมถึงงานที่ต้องใช้สมองและทักษะด้วย

…ข้อมูลทางการแพทย์จากการศึกษาวิจัยทั่วโลกในปัจจุบันนั้นฟันธงให้เห็นชัดเจนว่า Long COVID is real เกิดปัญหาจากหลายกลไก ทั้งเรื่องการติดเชื้อเรื้อรังหรือการคงค้างของชิ้นส่วนไวรัสในร่างกาย, กระบวนการอักเสบเรื้อรัง, การทำงานผิดปกติของเซลล์ในอวัยวะต่างๆ ของร่างกายจากการถูกทำลายภายหลังการติดเชื้อ ฯลฯ

การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอนะครับ และระมัดระวังเรื่องการกินดื่มร่วมกับผู้อื่น จะช่วยลดความเสี่ยงไปได้มาก

อ้างอิง

1.WHO Weekly Epidemiological Update. WHO. 24 August 2022

2.Nehme M et al. The chronification of post-COVID condition associated with neurocognitive symptoms, functional impairment and increased healthcare utilization. Scientific Reports. 25 August 2022.

3.New data shows long Covid is keeping as many as 4 million people out of work. Brookings Metro. 24 August 2022.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โควิดพุ่งตามคาด! สายพันธุ์ไม่เปลี่ยน อาการคล้ายหวัด

กรมควบคุมโรคเผยสถานการณ์โรคโควิด 19 พบแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์ เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี สายพันธุ์ไม่เปลี่ยนอาการคล้ายหวัด แนะ กลุ่มเสี่ยง 608 ระมัดระวังหากมีอาการสงสัยป่วยควรปรึกษาแพทย์

โควิดสงกรานต์พุ่ง! ไทยติดเชื้อรอบสัปดาห์ 849 ราย

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 7 - 13 เมษายน 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) 849 ราย

โควิดยังพุ่ง! ไทยติดเชื้อรอบสัปดาห์ 728 ราย ผู้สูงอายุดับ 2 คน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 24 - 30 มีนาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่

อาจารย์หมอ เตือนอากาศร้อนมาก ผู้สูงอายุ-คนมีโรคประจำตัว ระวังการออกนอกบ้าน

คนสูงอายุ และคนที่มีโรคประจำตัว ควรระมัดระวังการออกไปข้างนอกบ้าน  ใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศ  ใช้หมวกหรือร่มบังแดด

โควิดพุ่ง! ไทยติดเชื้อใหม่รอบสัปดาห์ 630 ราย ดับเพิ่ม 5 คน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 17 - 23 มีนาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) 630 ราย