'นพ.ธีระ' ตอกย้ำความเสี่ยงเรื่อง Long COVID

'นพ.ธีระ' ยกผลวิจัยวารสารการแพทย์ตอกย้ำ Long COVID ชี้ส่งผลกับคนทุกประเภท โดยเฉพาะคนที่เคยติดเชื้อแล้วต้องนอน รพ.หรือไม่ได้นอน รพ.

03 มี.ค.2565 - รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ประจำวันว่า ทะลุ 440 ล้านแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,420,451 คน ตายเพิ่ม 6,489 คน รวมแล้วติดไปรวม 440,067,611 คน เสียชีวิตรวม 5,990,689 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ เยอรมัน รัสเซีย ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ/ใต้ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 96.16 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 98.11 ในขณะที่ยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 49.11 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 40.12 เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 10 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก

...สถานการณ์ระบาดของไทย เมื่อวานนี้หากดูเฉพาะจำนวนติดเชื้อยืนยัน จะสูงเป็นอันดับ 18 ของโลก
แต่หากรวม ATK ด้วย จะพุ่งไปถึงอันดับ 11 ของโลก และอันดับ 6 ของเอเชีย

...Long COVID วงการแพทย์มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นหลังติดเชื้อโรคโควิด-19 โดยทำให้เกิดภาวะผิดปกติของร่างกายและจิตใจในระยะเวลาหลังจากได้รับการดูแลรักษาช่วงแรกไปแล้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นเกิดกับหลายระบบของร่างกาย และส่งผลระยะยาว

ล่าสุดวารสารการแพทย์ JAMA ได้เผยแพร่บทความย้ำเตือนเรื่อง Long COVID ที่ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งมีผลการศึกษาขนาดใหญ่จากสหรัฐอเมริกา ชี้ให้เห็นว่าคนที่ติดเชื้อมาแล้วนั้น จะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงกว่าคนไม่ติดเชื้อหลายเท่า โดยประเมินหลังติดเชื้อไปราว 12 เดือน
ภาวะผิดปกติดังกล่าวมีการตั้งชื่อว่า COVID Heart หรือ Cardiovascular COVID

ที่น่ากังวลคือ ความเสี่ยงนั้นพบว่าเพิ่มขึ้นทั้งคนที่เคยติดเชื้อแล้วต้องนอน รพ.และไม่ต้องนอน รพ. ทั้งเพศชายและหญิง ทั้งวัยหนุ่มและวัยสูงอายุ ทั้งคนที่สูบบุหรี่และไม่สูบบุหรี่ ทั้งคนที่มีโรคประจำตัวเช่นเบาหวานและที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน ลักษณะข้างต้นชี้ให้เห็นว่าการติดเชื้อโรคโควิด-19 น่าจะส่งผลโดยตรง เพราะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดในทุกกลุ่มประชากรที่กล่าวมา

เรื่อง Long COVID นี้สำคัญมาก นอกจากรัฐจะต้องเตรียมระบบบริการดูแลรักษาและให้คำปรึกษาแก่ประชาชนผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อนอย่างเพียงพอและทันเวลาแล้ว ยังตอกย้ำถึงความจำเป็นที่คนที่เคยติดเชื้อมาก่อน แม้รักษาหายแล้ว ก็ควรหมั่นสำรวจ ตรวจสอบสมรรถนะทางร่างกาย สังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงการไปตรวจสุขภาพเป็นระยะหากทำได้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการตรวจพบความผิดปกติได้เร็วและเข้าสู่ระบบดูแลรักษาได้เร็ว

อ้างอิง
Abbasi J. The COVID Heart—One Year After SARS-CoV-2 Infection, Patients Have an Array of Increased Cardiovascular Risks. JAMA. 2 March 2022.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอธีระวัฒน์' แจง 5 ข้อ พูดเรื่องผลกระทบการวัคซีนโควิดทำไม ในเมื่อมันผ่านไปแล้ว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า

‘หมอมนูญ’ เตือนโควิดหลังสงกรานต์เปลี่ยนไป ใครมีอาการแบบนี้รีบตรวจ ATK

อาการของโรคโควิดเปลี่ยนไป ส่วนใหญ่เป็นอาการของทางเดินหายใจส่วนบน คอ จมูก มากกว่าทางเดินหายใจส่วนล่าง หลอดลม และปอด

'นิสิตเก่าจุฬาฯ' ตามบี้ 'วิทยานิพนธ์ณัฐพล' อุทธรณ์คำสั่ง ให้จุฬาฯเปิดเผยมติสอบสวน

นางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ ในฐานะนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ รุ่น 30 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก

‘หมอมนูญ’ เผยผลติดตามสถานการณ์ 5 โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ

ข้อมูลของโรงพยาบาลวิชัยยุทธที่ติดตามโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ไวรัสไข้หวัดใหญ่  ไรโนไวรัส (Rhinovirus) อาร์เอสวี (RSV) และ ฮิวแมนเมตะนิวโมไวรัส Human metapneumovirus (hMPV)