ปปช.ตรัง เร่งตรวจสอบประมูลรังนกยังไร้ข้อยุติ ลักลอบดูดทรายพื้นที่สาธารณะ

ปปช.ตรัง รุกหนัก สอบประมูลรังนกอีแอ่นพื้นที่ตรัง และการอนุญาตดูดทรายของน้องชายนักการเมืองระดับชาติ และอดีตกำนันคนดัง บุกรุกพื้นที่สาธารณะ 

31 มีนาคม 2565 - ที่ศาลากลางจังหวัดตรัง ชั้น 5 นายราม วสุธนภิญโญ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตรัง เปิดการประชุมคณะอนุกรรมการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริตจังหวัดตรัง ครั้งที่ 1 โดยมี นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังเป็นประธาน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดยมี 2 ประเด็น ที่ยังคงหาข้อสรุปและยุติไม่ได้คือ การสัมปทานรังนกอีแอ่น ที่ยังไม่สามารถหาผู้ที่สัมปทานได้ แม้ว่าเปิดให้มีการยื่นซองมาหลายครั้งแล้ว และ ท่าทรายที่มีการรุกล้ำลำน้ำจนได้รับความเสียหาย มีน้องชายนักการเมืองระดับชาติอยู่เบื้องหลัง พร้อมทั้งอดีตกำนันคนดังของจังหวัดตรัง

จากกรณีที่ ป.ป.ช.จังหวัดตรัง มีการลงพื้นที่สุ่มสำรวจเกาะที่มีการสัมปทานรังนกอีแอ่นที่ผ่านมานั้น นายขจรศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า การสัมปทานรังนกมี 2 พื้นที่ คือปะเหลียน และ กันตัง สิเกา ของปะเหลียนได้ผู้รับสัมปทานไปแล้ว การคิดตัวประมูล ส.ต.ง.เองเคยเข้าไปตรวจให้คำแนะนำเรื่องของการคิดว่ามันควรจะมีราคาเท่าไหร่ ในการประมูลขั้นต่ำแต่ละครั้ง ว่ามีกี่เกาะ อย่างปะเหลียนมี 10 เกาะ แต่เก็บได้ 9 เกาะ ซึ่งมีการฟ้องร้องว่าประมูล 10 เกาะแต่เก็บได้ 9 เกาะ ซึ่งมีเจ้าอุทยานฯดูแลอยู่

ล่าสุดที่ปะเหลียนได้ทำหนังสือถึง ผอ.อนุรักษ์ที่ 5 นครศรีธรรมราช ได้คำตอบยืนยันว่าอนุญาตให้เก็บ 9 เกาะ จากการตั้งยอดประมูลก็สูงให้ระยะเวลา 5 ปี แต่ไม่มีคนประมูล จนเปิดประมูลมาเป็นครั้งที่ 4 มีคนมาเสนอ 2 คน โดยคุณพิมลรัตน์ เทศนอก ประมูลไป 33 ล้านบาท ในระยะเวลา 6 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้ตั้งราคาประมูลที่ 26 ล้านบาท แต่เมื่อมีคู่แข่งก็ปรับราคาขึ้นเป็น 33 ล้าน เพราะผู้ประมูลเป็นคนในพื้นที่ และได้เริ่มเก็บเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา 3 เกาะ ได้ 10 กิโลกรัม ครึ่ง ซึ่งหลายคนอ้างว่าสาเหตุที่นกอีแอ่นลดลงเพราะมีคนเข้าไปเที่ยวเกาะจำนวนมาก ไปรบกวนการใช้ชีวิตของนก และการสร้างบ้านนกอีแอ่นเพิ่มขึ้น ในส่วนของพื้นที่กันตังและสิเกาครั้งที่ 4 แล้วยังไม่มีใครเข้ามาประมูล ก็ไม่ทราบว่าตั้งราคาสูงเกินไปหรือไม่ ส่วนการสำรวจถ้ำรังนกอีแอ่นมองว่ายากเพราะต้องใช้เงินเยอะในการจ้างไม่มีงบประมาณ แต่มีการเสนอให้ไปเฝ้าปากถ้ำในช่วงเย็นเพื่อดูจำนวนนกที่บินเข้าถ้ำ

ทั้งนี้มีการเสนอว่าในส่วนของการดูแลรังนกในระหว่างที่ไม่มีผู้สัมปทานต้องให้เป็นหน้าที่ของท้องถิ่นเนื่องจากท้องถิ่นได้รับการจัดสรรรายได้ที่เกิดจากอากรภาษีรังนกอีแอ่น โดยใช้เงินที่ อบจ.หักไป 5% แต่ทั้งนี้ยังมีการตั้งข้อสงสัยว่า พื้นที่ปะเหลียนเกาะหลาวเหลียงเหนือและเกาะหลาวเหลียงใต้เป็นพื้นที่มีจำนวนนกอีแอ่นมากที่สุด แต่เกาะหลาวเหลียงใต้ทางเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้เก็บ แล้วรังนกหายไปไหนหรือเสื่อมสลายไปกับธรรมชาติ และมีข้อมูลว่าที่ผ่านมามีการประมูลถึง 135 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าประมูลได้แล้วชิ่งหนี ทาง อบจ.ตรัง ได้เพียงแต่เงินประกันเท่านั้น ทั้งนี้มีการแนะนำว่าการตั้งราคาประมูลให้ยึดหลักจากความเป็นจริง

ในส่วนของประเด็นท่าทราย ที่ทาง ป.ป.ช. ลงพื้นที่สำรวจที่ผ่านมา ทางอุตสาหกรรมแจ้งว่า ท่าทรายที่ 1 พื้นที่ที่กลืนกับแม่น้ำจะยกให้เป็นที่สาธารณะประโยชน์ ส่วนท่าทรายที่ 2 อ้างว่าจากการเกิดสภาวะน้ำท่วมทำให้เกิดความเสียหายขอเวลาในการซ่อมแซม ทั้งนี้ได้ขอความร่วมมือจาก ป่าไม้ อุตสาหกรรม นายอำเภอ เจ้าท่า ต้องมามีส่วนร่วมและปฏิบัติตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ของอุตสาหกรรม ซึ่งใบอนุญาตบางรายมีเพียงใบอนุญาตโรงงานแต่ไม่มีอนุญาตดูดทราย มีทั้งดูดทรายใต้น้ำ และดูดทรายพื้นที่กรรมสิทธิ์ โดยส่วนใหญ่มีการลักลอบดูดตอนกลางคืน และการลอกเลียนแบบธรรมชาติดูดทรายน้ำลึกเพื่อให้ตลิ่งพังเพื่อดันทรายเข้ามาในพื้นที่สามารถทำธุรกิจได้ยาวนาน ทั้งนี้ด้านผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง สั่งเด็ดขาดให้ทางอุตสาหกรรมปฏิบัติหากเห็นว่ามีการลักลอบ ทำผิด รุกล้ำ ก็ไม่จำเป็นต้องทำตามขั้นตอน ไม่ต้องเตือนแล้วดำเนินการตามกฎหมายได้เลย เพราะส่วนใหญ่พอมีการเตือนก็อ้างว่าไม่รู้กฎหมาย ดังนั้นต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาด

ด้าน นายชัยวุฒิ สวัสดิรักษ์ ประธานชมรมตรังต้านโกง เครือข่ายภาคประชาชน กล่าวว่า จากการที่ภาคประชาชนมีความเข้มแข็งในการตรวจสอบมากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างโทรศัพท์ที่มีฟังชั่นการบันทึกเสียง การบันทึกภาพ มีการส่งต่อได้ง่าย ทำให้พี่น้องประชาชนได้มีการรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ของบ้านเมืองได้มากขึ้น ขณะเดียวกันพี่น้องประชาชนมีความรู้เพิ่มเติมจากการเรียนรู้สื่อเหล่านี้ ในลักษณะการเรียนรู้นอกห้องเรียนมากยิ่งขึ้น ทำให้พี่น้องที่ได้รับรู้ข่าวสารในการทุจริตก็ดี หรือช่วยกันปราบปรามการทุจริตก็ดี ก็ทำให้พี่น้องประชาชนส่วนหนึ่งมีจิตสำนึกอยากช่วยเหลือบ้านเมืองและประเทศชาติให้มีความโปร่งใส มีความสะอาดมากยิ่งขึ้น จึงได้นำสิ่งที่ตนพบเห็นในชุมชนใกล้เคียง ในพื้นที่ที่ตนเองได้รับทราบแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ ไม่ว่าจะเป็นทางชมรมตรังต้านโกงจังหวัดตรัง หรือ ทาง ส.ต.ง. หรือ ทาง ป.ป.ช. ตรัง ที่จะเข้าไปดูแลตรวจสอบและเข้าไปแก้ปัญหาในเรื่องของการทุจริต ทำให้พื้นที่ในจังหวัดตรังมีคดีที่บรรดานักการเมือง ข้าราชการ โดนดำเนินคดีในการทุจริตในการฉ้อราษฎร์บังหลวงมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าปัจจุบันมีผลของคดีมากขึ้น แต่ผู้ที่คิดจะทุจริตก็ยังมีอยู่จำนวนไม่น้อย ซึ่งภาคประชาชนต้องสร้างความเข้มแข็งในการที่จะสรรหาข้อมูลจากสิ่งเหล่านี้มาช่วยกัน เพื่อให้บ้านเมืองประเทศชาติดีขึ้น สะอาดมากยิ่งขึ้น ซึ่งภาพรวมสถิติความไม่โปร่งใสที่ทาง ป.ป.ช.จังหวัด หรือทางชมรมตรังต้านโกงได้รับสถิติพุ่งขึ้นเป็นจำนวนมาก เทียบกับ 3-4 ปี ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ในการร้องเรียน หรือการเข้าไปสอบสวนคดีในการทุจริตของ ป.ป.ช.หรือ ส.ต.ง.เพิ่มขึ้นอาจจะเป็นเท่าตัวเลยทีเดียว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ราเมศ' ย้ำจุดยืนประชาธิปัตย์ ไม่นิรโทษกรรมคดีทุจริต-ม.112

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงนายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม สภาฯ ออกมาระบุถึงมูลเหตุความขัดแย้งทาง

10 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (7) กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลนาหมื่นศรี จ.ตรัง “ห่วงใย ใส่ใจ ไม่ทอดทิ้ง สร้างสังคมพึ่งพิง ด้วยเงินวันละบาท”

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง เป็น 1 ใน 10 กองทุนสวัสดิการชุมชนจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ระดับชาติ”

'หมอวรงค์' เปิดใจ! ทำไมต้องมี 'พรรคไทยภักดี'

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ทำไมต้องมีพรรคไทยภักดี คำถามที่หลายคนต้องการคำตอบ เพื่อความชัดเจนว่า ทำไมต้องมีพรรคไทยภักดี ตั้งใจอ่านให้จบนะครับ