ชาวบ้านริมโขงสุดปลื้ม 'ครูตี๋' คว้ารางวัลสิ่งแวดล้อมโลก ร่วมยินดีพร้อมต่อสู้ไปด้วยกัน

ชาวบ้านริมโขงสุดปลื้ม “ครูตี๋”รับรางวัล Goldman Environmental Prize เผยร่วมต่อสู้คัดค้านระเบิดแก่งแม่น้ำโขงมาด้วยกัน นักวิชาการรัฐดูตัวอย่างการรักษาธรรมชาติของคนเล็กคนน้อย

26 พฤษภาคม 2565 - ที่โฮงเฮียนแม่น้ำโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ได้มีพิธีมอบรางวัล Goldman Environmental Prize ให้กับนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ “ครูตี๋”ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ในฐานะที่มีบทสำคัญในการคัดค้านโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงที่ดำเนินการโดยรัฐบาลจีน จนรัฐบาลไทยมีมติคณะรัฐมนตรียอมยกเลิกโครงการ โดยพิธีจัดขึ้นทางออนไลน์จากสหรัฐอเมริก ซึ่งมีผู้ที่ได้รับรางวัลทั้งหมด 7 คน 6 ทวีป ซึ่งมีบุคคลสำคัญและชาวบ้านมาร่วมแสดงความยินดี อาทิ พระอภิชาต รติโก เจ้าอาวาสวัดสบกก ศ.สุริชัย หวันแก้ว ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางเตือนใจ ดีเทศ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และชาวบ้านริมแม่น้ำโขง นอกจากนี้ยังมีพิธีสงฆ์ทำบุญเปิดห้องสมุดอ้ายแสงดาว ศรัทธามั่น

หลังจากนั้นได้มีการตั้งวงเสวนาในหัวข้อ “รางวัลสิ่งแวดล้อมโลก Goldman Environmental Prize คัดค้านระเบิดแก่งแม่น้ำโขงกับก้าวต่อไปในการดูแลสายน้ำ” โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วยนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ศ.สุริชัย หวันแก้ว นางเตือนใจ ดีเทศน์ นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต นายเมือง สีสม ตัวแทนหมู่บ้านม่วงชุม วิฑูรย์ จำปาคำ ตัวแทนหมู่บ้านทุ่งงิ้ว นางพิมพ์พรรณ วงศ์ไชยา ตัวแทนหมู่บ้านบุญเรือง และดร.อภิสม อินทรลาวัณย์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

นายสมเกียรติกล่าวว่า เมื่อทราบว่ามีโครงการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงได้ร่วมลงพื้นที่กับครูตี๋เพื่อสอบถามชาวบ้านซึ่งต่างก็บอกว่าหากเกาะแก่งหินผาถูกทำลายก็เป็นการทำลายที่อยู่อาศัยของปลาและพันธุ์พืช และชาวบ้านก็อยู่ไม่ได้ ดังนั้นเราจึงต้องทำหน้าที่ปกป้องเกาะแก่งหินผาเพราะแม่น้ำโขงเป็นที่ทำมากหากินของชาวบ้าน ซึ่งถึงวันนี้เชื่อว่าการลุกขึ้นมาค้ดค้านทำให้ประชาชนได้รู้จักแม่น้ำโขงมากขึ้น และรางวัลที่ได้รับครั้งนี้ถือว่าประชาชนมีส่วนร่วมที่ครูตี๋เป็นตัวแทนของการได้รับ

“การได้รางวัลทำให้ต้นทุนทางใจเพิ่มขึ้น แต่วันนี้แม่น้ำโขงยังถูกพัฒนาไปเรื่อยๆ เรายังมีเรื่องต้องต่อสู้เพื่อปกป้องแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา”นายสมเกียรติ กล่าว

ครูตี๋กล่าวว่า ครั้งแรกเราไม่รู้ว่าจีนจะระเบิดแก่งแม่น้ำโขงจนวันหนึ่งมีน้องที่ทำงานกระทรวงมหาดไทยได้รับข่าวโดยมีหนังสือแจ้งว่าจะมีการระเบิดแก่งและให้ผู้นำหมู่บ้านแจ้งให้ลูกบ้านให้ระมัดระวังและอย่าเข้าใกล้ ซึ่งหนังสือฉบับนี้ทำให้รู้ว่าเขาจะเอาจริง ตอนแรกเราไม่รู้จะสู้อย่างไร คิดแค่ถ้าเขามาก็ต้องไปหา โดยได้ขึ้นเรือสำรวจของจีนไป 2 ครั้ง นัดชาวบ้านไปที่เรือและปีนขึ้นเรือเพื่อบอกเขาให้หยุดและออกไป ซึ่งเขาก็สะดุ้งสุดท้ายเราก็เริ่มขยับได้ โดยให้ชาวบ้านรู้เหมือนที่เรารู้เพราะเชื่อว่าเมื่อทุกคนรู้ข้อเท็จจริงคงไม่ยอมแน่เพราะต่างก็รักบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง

“ผมขอบคุณพี่น้องทุกคน ขอบคุณแทนแม่น้ำโขงที่พวกเราได้ช่วยกันด้วยการความรัก เรื่องระเบิดเกาะแก่งใหญ่มากเกินที่เราจะสู้คนเดียว บางครั้งการตัดสินใจมันบีบคั้นมาก เราต้องการความร่วมมือด้วยหัวใจและจิตวิญญาณ ไม่ได้ร่วมมือด้วยผลประโยชน์ แม่น้ำโขงต้องถูกรักษาด้วยจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ ขอบคุณทุกคน อย่างน้อยเราหยุดการระเบิดเกาะแก่ง เป็นตัวอย่างว่า ไม่ว่าจะยากเพียงไหน หากมีความศรัทธาในสิ่งที่ทำที่เป็นประโยชน์กับโลกทุ กคนทำได้ ผมอยากบอกว่าธรรมชาติคือลมหายใจของโลกไม่ใช่แค่ลมหายใจของมนุษย์ ถ้าคุณฆ่าและทำลายธรรมชาติ ลมหายใจของโลกก็หมดไป มนุษย์ก็จะหมดไป ทุกสิ่งทุกอย่างก็หมดไปด้วย” ครูตี๋ กล่าว

นายวิฑูรย์ จำปาคำ กล่าวว่า ตอนแรกไม่รู้จักว่าครูตี๋คือใครจนกระทั่งวันหนึ่งรัฐบาลจะเอาป่าชุมชนของหมู่บ้านไปทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งชาวบ้านก็ไม่รู้จะสู้อย่างไร จนกระทั่งพบครูตี๋และนางเตือนใจที่ไปลงพื้นที่ป่า ทำให้ชาวบ้านได้รับรู้แนวทางการต่อสู้ รางวัลนี้ถือเป็นเกียรติประวัติของคนเชียงของ ทำให้พวกเราเกิดความภาคภูมิใจและรู้สึกยินดี

“รางวัลที่ครูตี๋ได้รับเป็นความตื้นตันใจมาก เกิดความรู้สึกที่พูดไม่ถูก จากผู้ชายคนหนึ่งที่ผมรู้จักตั้งแต่ยังเป็นหนุ่ม แม้แม่น้ำโขงจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอด แต่ไม่ว่าครูตี๋ไปทางใด เราก็จะไปทางนั้น”นายวิฑูรย์ กล่าว

นายเมือง สีสม กล่าวว่า ป่าชุมชนบ้านม่วงชุมได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวเพราะครูตี๋และกลุ่มรักษ์เชียงของ ตอนนี้คนที่อื่นได้เข้ามาเที่ยว เราได้อนุรักษ์ป่าและวังปลา ทำให้มีปลากิน เมื่อก่อนปลาหายาก เพราะจีนสร้างเขื่อนทำให้น้ำโขงมีปัญหา เราต้องต่อสู้เพื่อบ้านเมืองของเราเพราะมีผลกระทบหลายอย่าง สมัยก่อนเมื่อแม่น้ำโขงสูงขึ้น ทำให้มีน้ำหนุนเข้าป่าชุ่มน้ำทำให้มีปลามากแต่พอจีนสร้างเขื่อนก็แทบไม่มีปลาที่ขึ้นจากแม่น้ำโขงไปแม่น้ำอิงเลย ส่งผลกระทบหลายอย่าง ตอนนี้รู้สึกยินดีและภูมิใจที่ครูตี๋ได้รับรางวัล

นางพิมพ์พรรณ วงศ์ไชยา กล่าวว่ารู้จักครูตี๋เพราะทางการจะเอาป่าชุมชนบ้านบุญเรืองไปทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ ช่วยบ้านช่วยกันคัดค้าน ถ้าไม่มีครูตี๋ป่าบ้านบุญเรืองคงไม่เหลือถึงวันนี้เช่นเดียวกับน้ำโขง จนกระทั่งป่าบุญเรืองได้รับรางวัลอิเควเตอร์ (Equator Prize)จากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) การได้รางวัลของครูตี๋ทำให้ชาวบ้านรู้สึกภูมิใจมากเป็นการการันตีว่าเราต้องสู้ และเครือข่ายต้องจับมือกันไว้ให้แน่น

ศ.สุริชัย หวันแก้วกล่าวว่า การที่ครูตี๋ได้รับการยอมรับระดับโลกเพราะมีความกล้าหาญ ความผูกพันกับพื้นที่ที่ไม่มีใครรู้เห็นซึ่งมีสัญญาณเตือนจากประเทศใหญ่ที่รัฐบาลไทยไม่กล้าทำอะไร แต่คนพื้นที่ได้ออกมาเรียกร้องจนสามารถแก้ไขมติคณะรัฐมนตรีได้ ขณะนี้โลกบิดเบี้ยวมากหากไม่ช่วยกันแก้ไข อะไรๆก็จะสายไปมากกว่านี้ ความตั้งใจเล็กๆแต่ยิ่งใหญ่เชื่อว่าต้องเรียนรู้จากคนที่ต่อสู้เรื่องราวเหล่านี้

“หากไม่มีน้ำก็ไม่มีชีวิต ขณะเดียวกันน้ำเป็นวิวัฒนาการของชีวิตด้วย การสร้างเขื่อนทำให้ปลาบางชนิดหายไปและสร้างขึ้นมาใหม่ไม่ได้ โอกาสที่ครูตี๋ได้รับรางวัล อาจทำให้คนที่เห็นแตกต่างได้มาสัมผัสหัวใจของแม่น้ำและความเชื่อมโยงของชีวิตที่ไม่ใช่เม็ดเงินหรือวัตถุ ขณะที่การเมืองก็ต้องเปลี่ยนจากการเมืองเรื่องของอำนาจมารับผิดชอบต่อธรรมชาติและวิถีชีวิตคนบ้าง”ศ.สุริชัย กล่าว

ผู้อำนวยศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง กล่าวว่า หัวใจที่เรามาพูดกันคือการตัดสินใจให้โลกเกิดสมดุลกว่าที่เป็นอยู่ คือต้องพัฒนาแต่ไม่ใช่บนความสูญเสีย แต่เป็นการพัฒนาที่บูรณปฎิสังขรณ์ไปด้วย ไม่ใช่ได้ห้าสิบแต่เสียห้าสิบ ต้องเป็นการพัฒนาที่ควบคู่ไปกับฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับมา เป็นความรับผิดชอบที่กว้างไกล และกลไกของรัฐต้องเรียนรู้จากความกล้าหาญของชาวบ้านและทบทวนที่เสียสมดุล โดยอำนาจการเมืองที่ตัดสินใจอย่างไม่รับผิดต่อระบบนิเวศต้องทบทวนใหม่ ขณะที่ผู้นำประเทศต้องใจกว้างเรียนรู้จากชุมชน

ศ.สุริชัย กล่าวถึงกรณีที่แม่น้ำโขงกลายเป็นสมรภูมิการเมืองระหว่างประเทศของจีนกับสหรัฐอเมริกา ว่าการเมืองระหว่างประเทศแบบนั้นเป็นการเอาเหตุผลภูมิรัฐศาสตร์เป็นตัวขับเคลื่อน ขณะที่ความจริงประเทศไทยคำว่าภูมิต้องคำนึงถึงพลังธรรมชาติด้วยและต้องดูว่าภูมิรัฐศาสตร์เราจะอยู่อย่างไร โดยเฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อยซึ่งขณะนี้เป็นโอกาสสำคัญในการจัดสมดุลในระดับภูมิรัฐศาสตร์โดยให้คนท้องถิ่นที่อยู่กับธรรมชาติได้มีส่วนร่วม ไม่ใช่การเมืองแบบบ้าเลือดหรือมีแต่ความขัดแย้ง เราต้องเอาการเมืองระบบนิเวศมาร่วมด้วย เพราะทุกคนต้องหายใจร่วมกัน จึงต้องมีช่องทางต่างๆร่วมมือกัน

นางเตือนใจกล่าวว่า เมื่อเกิดโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงได้เชิญคณะกรรมาธิการมาลงพื้นที่และสรุปว่าการระเบิดเกาะแก่งจะส่งผลกระทบต่อเขตแดนในที่สุดรัฐบาลก็ยอมถอย คิดว่าคนไทยควรตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ขณะที่คนที่อยู่กับแม่น้ำโขงต้องอยู่อย่างมีศักดิศรีความเป็นมนุษย์ เช่น คนที่มีปัญหาสัญชาติ และเรื่องธรรมชาติก็ต้องให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ห่วงปชช. 7 จ. ริมน้ำโขง หลังสารเคมีรั่ว สั่ง สทนช. เฝ้าระวังถึง 12 เม.ย.

'สมศักดิ์' ห่วงชาวไทย-ลาว หลังสารเคมีรั่วลงแม่น้ำโขง สั่ง สทนช. เกาะติดใกล้ชิด แจงตรวจคุณภาพน้ำ จ.เลย ใช้ได้ปกติ แต่ยังเฝ้าระวังถึง 12 เม.ย.

มท.2 ลงพื้นที่ จ.เชียงราย ตรวจตลิ่งริมแม่น้ำอิง ก่อนสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.2) พร้อมด้วย นางสาวพรพิมล ธรรมสาร ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสมเกียรติ กิจเจริญ คณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายเอกภพ เพียรพิเศษ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

"รมช.สุรศักดิ์" ลงพื้นที่เมืองเชียงราย​ ลุย​ รับฟังสภาพปัญหาอุปสรรคจากหน่วยงานทางการศึกษา​ ก่อนนำข้อมูลเสนอต่อ​ที่ประชุม​ ครม.

เมื่อวันจันทร์​ ที่ ​18 มีนาคม 2567 นายสุรศักดิ์​ พันธ์​เจริญ​ว​ร​กุล​ รัฐมนตรี​ช่วยว่าการ​กระทรวง​ศึกษาธิการ​ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ก่อนการประชุม​ ครม.สัญจร​ ณ โรงเรียนวัดพระเกิดคงคาราม อ.เทิง จ.เชียงราย​ โดยมี​ นายรังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (ประจำนายอนุทิน ชาญวีรกูล)