เดินหน้าเพิกถอนเอกสารสิทธิ 'เกาะหลีเป๊ะ' มท.สั่งสอบทุกแปลง กมธ.ที่ดินแนะ 8 ข้อ

เดินหน้าใช้ ม.61 ประมวลกฎหมายที่ดินเพิกถอน น.ส.3 ไม่ถูกต้องบนเกาะหลีเป๊ะ มท.สั่งจังหวัดสตูลเร่งดำเนินการโดยเร็ว-ตรวจสอบทุกแปลง ขณะที่ กมธ.ที่ดินช่วยขันน็อตแนะ 8 ข้อ พบพิรุธการออกเอกสารอื้อแถมมีการทำนิติกรรมอำพราง

3 ก.พ.2566 - ผู้สื่อข่าวรายงานถึงความคืบหน้ากรณีการแก้ไขปัญหาที่ดินและชุมชนชาวอูรักลาโว้ยบนเกาะหลีเป๊ะ อ.เมือง จ.สตูล ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริง กรณีปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะ ที่มีพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(รอง ผบ.ตร.) เป็นประธาน ได้สั่งดำเนินคดีกับเอกชนที่รุกล้ำที่ดินของอุทยานแห่งชาติตะรุเตา และได้ประสานกรมที่ดินเพื่อให้มีการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ น.ส.3 ในบางแปลง พร้อมทั้งตรวจสอบ น.ส.3 ทุกแปลง

นายณฐพร โตประยูร ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ได้สั่งให้ทางจังหวัดสตูลตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ตามมาตรา 61 ของประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อเพิกถอน น.ส.3 แปลงที่ 11 เนื่องจากมีผลคำวินิจฉัยของศาลระบุว่าที่ดินแปลงนี้ออกเอกสารโดยไม่ถูกต้อง ซึ่งคาดว่าคงเสร็จสิ้นในเร็ววันนี้

“ก่อนออก น.ส.3 ต้องมีเอกสารรับรองว่าเจ้าของที่ดินแปลงนี้ได้ทำประโยชน์จริงหรือไม่ ถ้าแจ้งการครอบครองไม่ถูก ถือว่าได้มาโดยมิชอบ ตอนนี้ให้ที่ดินจังหวัดตรวจสอบใหม่แล้ว คาดว่าได้ผลเร็วๆนี้ ผมเองจะลงพื้นที่ไปกำกับด้วยตัวเอง เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เราจะตรวจสอบ น.ส.3 บนเกาะหลีเป๊ะทุกแปลง หากพบว่ามีการออกเอกสารโดยมิชอบก็ต้องเพิกถอน เพราะอยากให้ที่ดินตรงนั้นเป็นของชาวเลจริงๆ”นายณฐพร กล่าว

ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า ส่วนเรื่องถนนและลำรางสาธารณะ ก็ได้สั่งการให้มีการพิสูจน์ตามระวางที่ดินไปแล้วเช่นกัน หากพบว่ามีการถมหรือบุกรุกก็จะเพิกถอนเอกสารสิทธิ์นั้นทันที ส่วนกรณีที่ตรวจพบมีโรงแรมและรีสอร์ทกว่า 100 แห่งไม่มีใบอนุญาตนั้น ก็ต้องร่วมกันหาทางออก เพราะคงสั่งให้รื้อทั้งหมดไม่ได้ เพียงแต่ต้องตรวจสอบด้วยว่าโรงแรมหรือรีสอร์ทเหล่านั้นเป็นเจ้าของที่ดินจริงหรือไม่ หรือมีต่างชาติเข้ามาถือครองด้วย หากเป็นเช่นนั้นก็ต้องรื้อ

“เราอยากเห็นเกาะหลีเป๊ะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ไม่ต้องหรูหรา แต่นักท่องเที่ยวได้เข้ามาดูวิถีวัฒนธรรมของชาวเลในพื้นที่ ปัจจุบันแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมากถูกทุนหลายชาติครอบงำ ขณะเดียวกันสถานประกอบการเหล่านี้ควรมีบ่อบำบัดน้ำเสีย และมีที่ทิ้งขยะถูกสุขลักษณะ เพราะอย่าลืมว่าชายหาดหลีเป๊ะสวยงามมาก แต่สิ่งปฎิกูลเหล่านี้ขัดกับความสวยงาม เรื่องนี้เป็นนโยบายของผู้ใหญ่ในรัฐบาลที่สั่งการมาด้วย”นายณฐพร กล่าว

ด้านคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ได้ออกรายงานผลการศึกษาเรื่องการแก้ปัญหาออกเอกสารสิทธิที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะ โดยระบุว่าตามที่ได้รับหนังสือร้องทุกข์ของ นางสลวย หาญทะเล ราษฎรเกาะหลีเป๊ะ เรื่องขอให้เร่งดำเนินการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะและ กมธ.ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ผู้แทนกรมที่ดิน ผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผู้แทนจังหวัดสตูล และภาคประชาชน ชี้แจงต่อ กมธ. ผลการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการ มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

ปัญหาสิทธิที่ดิน ที่อยู่อาศัย และวิถีชีวิตชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะ ในการแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) มีชาวเลจำนวนมากไม่ได้แจ้งการครอบครองที่ดิน เพราะความห่างไกล เดินทางลำบาก ความไม่รู้หนังสือ และชาวเลเองไม่ได้มีแนวความคิดในการถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จึงมีเพียง 41 รายเท่านั้น ที่ขอแจ้ง ซึ่งต่อมาได้มอบอำนาจให้กำนันในสมัยนั้น และคนไว้ใจอีกรายหนึ่งยื่นคำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส. 3) และพบข้อพิรุธการซื้อขายเปลี่ยนมือที่ดินจำนวนหลายแปลง

ในรายงานผลการศึกษาของ กมธ.ระบุว่า ต่อมาเกิดการการบุกรุกขยายที่ดินมากกว่าหลักฐานที่ดินที่เคยครอบครองและทำประโยชน์ เช่น น.ส. 3 เลขที่ 9, 10 และ 11 ไปทับที่ดินของชาวเลกว่า 200 หลัง และมีการฟ้องคดีขับไล่ชาวเลออกจากที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะแปลง น.ส. 3 เลขที่ 11 ซึ่งเป็นแปลงที่เกิดกรณีพิพาทจากการที่เอกชนสร้างรั้วปิดกั้นเส้นทางที่นักเรียนใช้เดินทางไปโรงเรียนรวมไปถึงการบุกรุกลำรางสาธารณประโยชน์ของเอกชนอีกด้วย

ในรายงานของ กมธ.ชุดนี้ได้พิจารณาศึกษาเอกสารข้อมูลผลการตรวจสอบเรื่องที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะของหน่วยงานต่างๆ โดยสรุปผลการพิจารณาศึกษาได้ดังนี้ 1.ปัญหาการออกเอกสารสิทธิที่ดิน พบข้อพิรุธการออก น.ส. 3 และกระบวนการทำนิติกรรมขายที่ดิน เมื่อผู้มีชื่อครอบครอง ส.ค. 1 มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจ ไปขอ น.ส.3 แต่กลับปรากฏว่าที่ดินได้ถูกขายให้กับผู้ที่รับมอบอำนาจในวันเดียวกัน ซึ่งจากการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พบว่า มีข้อพิรุธในการจดทะเบียนนิติกรรมการขอออก น.ส.3 โดยการขายที่ดินให้กับผู้รับมอบอำนาจในคำขอออก น.ส.3 โดยมีข้อพิรุธทะเบียนบ้านหรือชื่อบิดามารดาของผู้ยื่นขอออก น.ส.3 ไม่ตรงกับความเป็นจริง และภรรยา หรือบุตร หรือญาติ ยืนยันว่าผู้ยื่นขอออก น.ส. 3 ดังกล่าว มิได้ขายที่ดินให้กับผู้ใด

ขณะเดียวกันมีปัญหาเอกชนบุกรุกขยายที่ดินมากกว่าหลักฐานที่ดินที่เคยครอบครองและทำประโยชน์เกือบทุกแปลง โดยเฉพาะ น.ส.3 เลขที่ 11 ซึ่งเป็นแปลงที่เกิดกรณีพิพาทจากการที่เอกชนสร้างรั้วปิดกั้นเส้นทางที่นักเรียนใช้เดินทางไปโรงเรียนในกรณีล่าสุด และปัญหาการบุกรุกลำรางสาธารณประโยชน์ และการออกเอกสารสิทธิทับเส้นทางสัญจรของเอกชนอีกด้วย

ในรายงานของ กมธ.ระบุว่า พิจารณาแล้วเห็นว่า ที่ผ่านมากรมที่ดินยังมิได้มีการดำเนินการอ่าน แปล วิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศ มาใช้ประกอบผลการตรวจสอบความถูกต้องของการออกน.ส. 3 และส.ค.1 รวมถึงการดำเนินการตรวจสอบเกี่ยวกับข้อพิรุธในการจดทะเบียนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินให้กับผู้ได้รับมอบอำนาจ เพื่อขอออก น.ส.3 และการออก น.ส. 3 เกินกว่าหลักฐานเดิมจำนวนมาก รวมถึงการออกเอกสารสิทธิทับพื้นที่สาธารณประโยชน์ของชาวเล ได้แก่ เส้นทางสัญจรของชาวเล ลำรางสาธารณประโยชน์ และสุสานของชาวเล อันเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับชาวเลที่อยู่อาศัยมาแต่ดั้งเดิม ต้องสูญเสียสิทธิในที่ดิน และต้องถูกขับไล่ หรือถูกฟ้องร้องคดีจากเอกชนจำนวนมากในปัจจุบัน ดังนั้น กมธ.จึงเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมที่ดิน กรมอุทยานฯ กรมบังคับคดี จังหวัดสตูล และคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงคดีพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ พิจารณาดำเนินการ ดังต่อไปนี้

1.ตรวจสอบ น.ส.3 ทุกแปลงบนเกาะหลีเป๊ะ โดยเริ่มจากที่ดินแปลงที่มีเนื้อที่เกินกว่าหลักฐานเดิม หรือแปลงมีความขัดแย้งกับชาวเลจำนวนมาก เช่น แปลงที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 10, 11 และ ส.ค.1 เลขที่7 ว่าออกชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และเร่งรัดให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว

2. ตรวจสอบ ส.ค.1 ที่ยังมิได้มีการนำไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ว่า มีทิศและตำแหน่งสอดคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่ 3 ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกระบวนการทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินให้กับผู้รับมอบอำนาจเพื่อขอออก น.ส. 3 ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ รวมถึงการออกเอกสารสิทธิทับพื้นที่สาธารณประโยชน์ เช่น ถนนหรือทางสาธารณะ ที่ใช้เป็นเส้นทางสัญจรของชาวเล และปัญหาการบุกรุกลำรางสาธารณประโยชน์ของเอกชน

4. ให้มีการอ่าน แปล วิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายสมควรที่จะใช้ภาพถ่ายทางอากาศที่เก่าที่สุด คือ ภาพถ่ายทางอากาศปี พ.ศ. 2493 เป็นเครื่องมือในการพิสูจน์การครอบครองการใช้ประโยชน์ ประกอบกับหลักฐานอื่น เช่น ผลอาสิน (ต้นมะพร้าว) ประวัติศาสตร์ เป็นต้น

5. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมที่ดิน กรมอุทยานฯ จังหวัดสตูล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ดำเนินการตรวจสอบร่วมกัน โดยเฉพาะการอ่าน แปล วิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศ เพื่อให้ได้ข้อยุติที่ยอมรับร่วมกัน 6. สำหรับที่ดินของรัฐที่ได้คืนมาจากการตรวจสอบเห็นควรนำมาจัดเป็นที่พักอาศัยตามวิถีชีวิตของชาวเล และมีมาตรการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ตามมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553

7. ให้กรมอุทยานฯ ร่วมกับกรมบังคับคดี เร่งดำเนินการตรวจสอบบังคับรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างสำหรับที่ดินที่คดีสิ้นสุดแล้ว รวมทั้งตรวจสอบ บังคับรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ครอบครองเกินกว่าเอกสารสิทธิที่ดิน และนำไปจัดให้ชุมชนชาวเลอยู่อาศัย

8. กรมอุทยานแห่งชาติฯ ควรเร่งดำเนินการจัดทำโครงการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนในอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ตามความในมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 เพื่อให้ชุมชนชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะได้ประกอบอาชีพทำการประมงได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชาวบ้านเขาค้อ ร้องผู้นำฝ่ายค้าน-กมธ. 2 คณะ เร่งสางปมพิพาทที่ดินทำกินทับซ้อนกองทัพ

ประชาชนเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร 2 คณะ ได้แก่ กมธ.การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กมธ.การทหาร กรณีพิพาทเรื่องที่ดินทำกิน ระหว่างประชาชนและกองทัพ

กมธ.ที่ดิน ถกปมพื้นที่พิพาทเขาใหญ่ แฉพบ 10 รายชื่อคนต่างถิ่นส่อได้ที่สปก.

ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายอภิชาติ ศิริสุนทร สส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เป็นประธาน กับกมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ

'เลขาฯก้าวไกล' มอง 'หนองวัวซอโมเดล' ไม่เป็นธรรม อ้างชาวบ้านถูกบังคับเช่าที่ราชพัสดุ

นายอภิชาติ ศิริสุนทร สส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณี ‘หนองวัวซอโมเดล’ ว่า ชาวบ้านมีการมาร้องเรียน ว่ามีการบังคับให้เช่าที่ดิน ทั้งที่มีหลักฐานว่าอยู่มาก่อน เช่น ใบตราจองหนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือ น.ส.3 ซึ่งไม่เป็นธรรมกับประชาชน

'กมธ.ที่ดิน' มอง สปก.มีช่องโหว่มาก เรียก 'ธรรมนัส' เข้าชี้แจง 6 มี.ค.นี้

คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสภาผู้แทนราษฎร นำโดย นายอภิชาติ ศิริสุนทร ประธาน กมธ.การที่ดินฯ นำคณะลงพื้นที่ศึกษาดูงานเกี่ยวกับปัญหาพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินทับซ้อน ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และเจ้าหน้าที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (ส.ป.ก.) จังหวัดนครราชสีมา

กมธ.ที่ดิน-ความมั่นคง ไม่เชื่อ 2 กระทรวงยุติข้อพิพาทได้ ชี้กระบวนการสอบสิทธิผิดปกติ

นายอภิชาติ ศิริสุนทร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์หลังกมธ.เชิญหน่วยงานเข้าชี้แจงปัญหาเขตพื้นที่ปฏิรูปที่ดินทับซ้อน พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

พบ 'ออร์ฟิช' ปลาน้ำลึกหายากโผล่ทะเลสตูล ส่งเก็บรักษาที่ อพวช.

พบ ปลาออร์ฟิช ซึ่งเป็นปลาที่สามารถพบได้จากระดับน้ำลึก โดยเรือ ก.เทพเจริญพร 15 พบ ในทะเลพื้นที่อำเภอละงู จังหวัดสตูล ทั้งนี้สำหรับ ปลาออร์ฟิช (Oarfish) เรียกอีกอย่าง ว่า ปลาริบบิ้น หรือเรียก