กมธ.ที่ดินฯ เร่งสอบ 'ผันน้ำยวม' ขาดส่วนร่วมจากชาวบ้าน จ่อเสนอรัฐบาลชะลอ

กมธ.ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ เร่งตรวจสอบโครงการผันน้ำยวม ชี้ขาดการมีส่วนร่วมของชาวบ้านอย่างแท้จริง เตรียมเสนอรัฐบาลชะลอ รองอธิบดีกรมชลยันทำตามหลักวิชาการ แจงผลกระทบน้อยมาก นักวิชาการหวั่นผันน้ำข้ามลุ่มปนเปื้อนพันธุกรรม

4 ธ.ค.2564 - นายอภิชาติ ศิริสุนทร ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงผลการประชุม กมธ.ซึ่งพิจารณาเรื่องผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ้างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ว่า ในการประชุมเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา ได้เชิญชาวบ้าน นักวิชาการและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยงข้องร่วมชี้แจง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปและต้องพิจารณากันอีกครั้ง

นายอภิชาติกล่าวว่า ประเด็นหลักคือเรื่องการมีส่วนรวมของชาวบ้าน ซึ่งจากการชี้แจงพบว่ายังมีการนำเสนอข้อมูลให้ชาวบ้านน้อยไป และการเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากชาวบ้านก็ไม่ได้เปิดกว้างอย่างแท้จริง ทำให้ชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบไม่รู้ชะตากรรมของตัวเอง ซึ่งกมธ.ส่วนใหญ่เห็นว่าต้องมีพื้นที่สื่อสารกับชาวบ้านมากกว่านี้ เพราะส่งผลกระทบในวงกว้างจึงต้องเปิดเวทีสาธารณะอย่างทั่วถึง นอกจากนี้ยังพิจารณาเรื่องความคุ้มค่าซึ่ง กมธ.นำมาเปรียบเทียบพบว่าไม่คุ้มกับการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติเพราะโครงการนี้อยู่ในเขตป่าสงวน 5 แห่งและอุทยาน 1 แห่ง จึงไม่น่าจะคุ้มค่า

นายอภิชาติกล่าวว่า นอกจากการขุดอุโมงค์ผันน้ำแล้ว ยังมีแนวทางอย่างอื่นหรือไม่ ตนเห็นว่ายังมีหลายแนวทางในการบริหารจัดการน้ำ เช่น การดูแลสายน้ำที่เป็นเส้นเลือดฝอยในชุมชนให้ดีขึ้นซึ่งไม่กระทบกับประชาชนด้วย ขณะที่การสร้างเขื่อนเพื่อผันน้ำครั้งนี้ ยังจะทำให้ปลาหายากสูญพันธุ์ซึ่งน่ากังกลมาก อย่างไรก็ตามจะได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อมาหารืออีกอีกครั้ง

“เราจะเร่งประชุมและสรุปผลเสนอรัฐบาลเพื่อให้มีการทบทวน อยากให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของการศึกษาข้อเท็จจริง” ประธาน กมธ.ที่ดินฯ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม กมธ.ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา นายสะท้าน ชีววิชัยพงศ์ ชาวบ้านซึ่งเป็นผู้ร้อง กล่าวในที่ประชุมว่ารายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) มีข้อมูลที่พบว่าไม่ตรงกับความเป็นจริงกระบวนการมีส่วนร่วมและการตัดสินใจที่ดำเนินการหลายปีพบว่าไม่เคารพชุมชนผู้ได้รับผลกระทบ แต่กลับอ้างว่าชุมชนมีส่วนร่วมไปแล้ว ชาวบ้านในพื้นที่โครงการเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ที่อาจไม่กล้าแสดงออกเพราะว่าส่วนหนึ่งไม่มีสัญชาติ และในพื้นที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโผล่งและสะกอ ที่ผ่านมาหมู่บ้านไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานอย่างเพียงพอ

“นอกจากโครงการผันน้ำแล้ว ยังมีโครงการสายส่งไฟฟ้าที่จะใช้ในการสูบน้ำ ชาวบ้านก็ไม่ได้รับข้อมูล ทั้งๆที่พวกเราคัดค้านมาตลอด แต่ไม่ปรากฏในอีไอเอ 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งมหาวิทยาลัยนเรศรวร และกรมชลประทานเข้ามาในพื้นที่ ชาวบ้านพยามตั้งคำถามเรื่องที่อยู่ในเขตป่า ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่กับป่า กับน้ำ แต่การศึกษาผลกระทบไม่ครอบคลุม เราพยายามเสนอไป ทำหนังสือไป เพื่อให้มีการศึกษาให้ครอบคลุมแต่ไม่มีความคืบหน้า กรมชลประทานกำหนดพื้นที่เป้าหมายแคบมาก ที่ระบุว่าจะกระทบแค่หมู่บ้านแม่เงา อ.สบเมย เพียงบ้านเดียว ทั้งที่ผลกระทบเกิดขึ้นจริงกว่า 40 หมู่บ้าน ผมจึงต้องร้องไปที่กมธ. เพราะเรากังวลหลายประการ” นายสะท้านกล่าว

นายประจวบ ทองวาฤทธิ์ ตัวแทนจากบ้านแม่เงา อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่ามีข้อกังวลหลายเรื่อง โดยเฉพาะผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยซึ่งต้องคิดหนักมากทำให้สุขภาพกายและจิตไม่ดี ความดันขึ้น เพราะโครงการใหญ่มาก คิดถึงอนาคตลูกหลาน โครงการทุกอย่างสร้างได้ แต่แม่น้ำกับป่าสร้างไม่ได้ ตนและชาวบ้านให้ความสำคัญกับป่ากับธรรมชาติ

“ป่าของเราเต็มไปด้วยไม้สัก ระบบนิเวศสวยมาก โครงการมันมีอายุ แต่ธรรมชาติคืนกลับมาไม่ได้ กรณีกองดินที่จะขุดเจาะอุโมงค์ ซึ่งห่างจากบ้านแม่เงาเพียงประมาณ 100 กว่าเมตร ซึ่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ลงพื้นที่ไปดูแล้ว เขาบอกบ้านแม่เงาที่กระทบ 4 หลังคาเรือนซึ่งเป็นไปไม่ได้ แล้วชุมชนใกล้เคียงติดกันจะเป็นอย่างไร กรณีที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์และอยู่ในป่าสงวน ไม่มีกรรมสิทธิ์ อยู่มาตั้งแต่บรรพบุรุษ ถ้าโครงการเกิด จะไปอยู่ที่ไหนกัน ไม่มีคำตอบ” นายประจวบ กล่าว

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่ากระบวนการมีส่วนร่วมได้ทำตามหลักวิชาการ และลงพื้นที่โครงการ กรณีตัวเลขผลกระทบตรงๆ ที่เขื่อนน้ำยวมและทางน้ำออก มีรายชื่อที่ชัดเจน ถ้าเหนือขึ้นไป ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง จะมีการศึกษาที่เกี่ยวข้องตามเนื้อหาวิชาการต่างๆ ซึ่งมีการศึกษาทั้งลำน้ำทั้งโครงการ ในเรื่องการประมง พันธุ์ปลาต่างๆ ที่ชาวบ้านกล่าวว่าเป็นวิถีชีวิต เราก็ดู และมีความชัดเจนว่า ได้รับผลกระทบน้อยมาก เรามองว่าการบริหารจัดการน้ำในกรณีที่มีฝน และเกิดเหตุน้ำมาก ก็จะเก็บไว้

รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวในที่ประชุมด้วยว่า การจัดเวทีรับฟังความเห็นได้มีการดำเนินการโดยส่งข่าวไปตามผู้นำชุมชนให้เข้ามาร่วมรับฟังข้อมูล และฟังทั้งสองด้านว่ามีผู้ที่เห็นด้วยกี่เปอร์เซ็นและไม่เห็นด้วยกี่เปอร์เซ็น จุดที่ดำเนินการ สันเขื่อน สถานีสูบน้ำ แนวอุโมงค์ สายส่งไฟฟ้า ได้ทำงานร่วมกับกฟผ.(การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) ในการทำรายงาน EIA ให้ชัดเจน ดูแลผลกระทบเมื่อเกิดโครงการ ข้อกังวลเรื่องวิถีชีวิตการสูบน้ำ ประมง การอาศัยในพื้นที่ป่า จุดบรรจบแม่น้ำสองสี

“ผมได้ลงพื้นที่หลายรอบ และเห็นว่าจะเกิดเป็นกระทบในเชิงบวก จะมีเรือ มีรีสอร์ทเล็กๆ เพื่อการท่องเที่ยว เพิ่มน้ำมากขึ้น บรรเทาอุทกภัยในบางปีที่น้ำหลาก สำหรับประเด็นการเยียวยา กรณีพื้นที่เขตป่า มีมติครม.รองรับ สามารถดำเนินการเยียวยา ชดเชยได้ตามกฎหมาย กรณีที่มีเอกสารสิทธิ์และไม่มีเอกสารสิทธิ์ กรณีกองดินจะปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ และเอาชั้นใยสังเคราะห์วางรอง และมีตัวอย่างโครงการผันน้ำที่เชียงใหม่” นายเฉลิมเกียรติ กล่าว

ขณะที่นายเกื้อศักดิ์ ทาทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธา กรมชลประทาน กล่าวชี้แจงว่า โครงสร้างอุโมงค์จะอยู่ใต้ภูเขาทั้งหมด จนถึงห้วยแม่งูดโดยไม่มีส่วนที่อยู่บนดิน ปริมาณผันน้ำ ประมาณ 1800 ล้านลบ.ม. ช่วยพื้นที่ท้ายเขื่อนภูมิพล แม่น้ำปิง กรณีการดำเนินการสร้างการรับรู้ของประชาชน กรมชลได้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2559

นางอินทิรา เอื้อวงฉัตร ผู้อำนวยการ สผ.กองวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม กล่าวว่าโครงการเข้าข่ายต้องทำรายงาน EIA ผ่านลุ่มน้ำชั้น 1 A ซึ่งได้รับรายงานเมื่อ 30 พย. 2561 และนำเข้าพิจารณา ความเห็นเบื้องต้นและเสนอต่อคชก. และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กกวล.) และจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) โครงการนี้เข้าสู่สผ. 4 ครั้ง และพิจารณาโดยละเอียด มีผู้ทรงคุณวุฒิ 9 ด้าน

รศ.อภินันท์ สุวรรณรักษ์ อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า ทรัพยากรทางน้ำของลุ่มน้ำปิงและสาละวินมีปลาที่แตกต่างกันมากถึง 97-98 % และโอกาสปนเปื้อนทางพันธุกรรมสูงมาก ซึ่งชนิดพันธุ์และโครงสร้างประชากรที่สมดุลของแต่ละแหล่งน้ำ หรือแต่ละลุ่มน้ำ ไทยไม่เคยพูดเรื่องทรัพยากรทางน้ำ

นายมานพ คีรีภูวดล สส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่าจากที่ได้รับเรื่องจากประชาชน และรับฟังจากหน่วยงาน พบว่าระบบเอกสารที่ประชาชนตั้งคำถามว่าถูกอ้างอิงใน EIA และเรียกร้องให้มีการตรวจสอบ กลุ่มเป้าหมายในการทำ EIA โดยตนได้ลงพื้นที่ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ซึ่งในรายงานระบุว่าประชาชนร่วม 214 คน แต่ชาวบ้านบอกว่าเป็นการตอบแบบสอบถามเท่านั้น

“คนเหนือเขื่อนภูมิพลที่เสียสละให้ประชาชนลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตอนนี้ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ การพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมจะทำอย่างไรให้ไม่สร้างความขัดแย้ง การลักไก่ ถ้าจะมีการสร้างโครงการพื้นฐานแบบนี้ ต้องใช้ระยะเวลาและการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง” นายมานพ กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กมธ.ที่ดิน ลงพื้นที่ภูผาเหล็ก ยังไร้ข้อยุติความขัดแย้งชุมชน-อุทยานฯ

คณะกรรมาธิการ(กมธ.)ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร นำโดยนายอภิชาติ ศิริสุนทร ได้มาลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาและรับเรื่องร้องเรียนกรณีที่ชาวบ้านผลกระทบจากป่าสงวนแห่งชาติภูผาเหล็กทับซ้อนที่ดินทำกิน

กมธ.ที่ดิน บี้รัฐชี้แจงปมขนย้ายกากแคดเมียม ไฟไหม้โรงงานสารเคมีระยอง

คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร นำโดยนายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกมธ. , นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล สส.ภูเก็ต พรรคก้าวไกล

ชาวบ้านเขาค้อ ร้องผู้นำฝ่ายค้าน-กมธ. 2 คณะ เร่งสางปมพิพาทที่ดินทำกินทับซ้อนกองทัพ

ประชาชนเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร 2 คณะ ได้แก่ กมธ.การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กมธ.การทหาร กรณีพิพาทเรื่องที่ดินทำกิน ระหว่างประชาชนและกองทัพ

กมธ.ที่ดิน ถกปมพื้นที่พิพาทเขาใหญ่ แฉพบ 10 รายชื่อคนต่างถิ่นส่อได้ที่สปก.

ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายอภิชาติ ศิริสุนทร สส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เป็นประธาน กับกมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ

'เลขาฯก้าวไกล' มอง 'หนองวัวซอโมเดล' ไม่เป็นธรรม อ้างชาวบ้านถูกบังคับเช่าที่ราชพัสดุ

นายอภิชาติ ศิริสุนทร สส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณี ‘หนองวัวซอโมเดล’ ว่า ชาวบ้านมีการมาร้องเรียน ว่ามีการบังคับให้เช่าที่ดิน ทั้งที่มีหลักฐานว่าอยู่มาก่อน เช่น ใบตราจองหนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือ น.ส.3 ซึ่งไม่เป็นธรรมกับประชาชน

'กมธ.ที่ดิน' มอง สปก.มีช่องโหว่มาก เรียก 'ธรรมนัส' เข้าชี้แจง 6 มี.ค.นี้

คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสภาผู้แทนราษฎร นำโดย นายอภิชาติ ศิริสุนทร ประธาน กมธ.การที่ดินฯ นำคณะลงพื้นที่ศึกษาดูงานเกี่ยวกับปัญหาพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินทับซ้อน ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และเจ้าหน้าที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (ส.ป.ก.) จังหวัดนครราชสีมา