วงเสวนาคนรักษ์ป่า ชี้กะเหรี่ยงสนใจพื้นที่การเมืองมากขึ้น แนะรัฐกระจายอำนาจอย่างแท้จริง

17 มิ.ย.2566 - ที่สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย จ.เชียงราย ได้มีการเสวนา “จิตวิญญาณแห่งปกาเกอะญอ ข้าคือคน-รักษ์-ป่า” โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายพฤ โอโดเชา นายชัยธวัช จอมติ นายพงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ นายสรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ และมีนายปรัชญาณินทร์ วงศ์อทิติกุล เป็นผู้ดำเนินการ

นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่า ได้มีโอกาสไปอยู่กับชาวปกาเกอะญอและชอบในวิถีชีวิต ที่น่าประทับใจคือเครื่องแต่งกายเป็นธรรมชาติ ใช้การทอผ้าแบบดั้งเดิมสืบทอดภูมิปัญญามาจากบรรพบุรุษ การตำข้าวด้วยครก การขวัดข้าว การต้มเหล้าซึ่งเป็นภูมิปัญญาเช่นเดียวกัน ชาวปกาเกอะญอมีไร่หมุนเวียนเป็นอธิปไตยทางอาหารสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง และมีงานวิจัยพบว่าการทำไร่หมุนเวียนทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาค

“แทนที่ประชาชนจะได้ร่วมบริหารป่าหรือใช้ประโยชน์ยั่งยืน เพราะเป็นผู้ดูแลป่ามายาวนาน แต่คนรักษาป่าเหล่านี้กลับถูกลงโทษ ระบบไร่หมุนเวียนกลับไม่เป็นที่ยอมรับ จึงเกิดการรณรงค์ให้มีมติคณะรัฐมนตรีคุ้มครองวิธีชีวิตชาวกะเหรี่ยง”นางเตือนใจ กล่าว

ผศ.ดร.สุวิชาญ กล่าวถึงศักยภาพการเรียนรู้ การปรับตัวของชุมชนปกาเกอะญอในศตวรรษที่ผันผวน ซับซ้อนและคลุมเครือว่า ชาวปกาเกอะญอเข้าไม่ถึงสิทธิการใช้ทรัพยากร การพัฒนาและต่อยอดต่างๆ อย่างไรก็ตามพื้นที่ที่ปฎิเสธไม่ได้คือพื้นที่ทางการเมือง ทั้งในระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ ซึ่งชาวปกาเกอะญอได้เข้าไปเรียนรู้การใช้พื้นที่นี้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย ทั้งที่จ .แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องสัจจธรรม วิถีของปกาเกอะญอแต่ละยุคเปลี่ยนแปลง ทำอย่างไรจึงจะมีวิธีการกรองวัฒนธรรมที่รับเข้ามา ทำอย่างไรที่อุดมการณ์การอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับคนและคนกับธรรมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายคนรุ่นใหม่ในการออกแบบไม่ให้ถูกครอบถูกกดดหรือถูกชี้นำ แต่เป็นการอยู่ร่วมกันให้ตั้งอนาคตของลูกหลานได้ ถ้าจะมองว่าชุมชนปกาเกอะญอต้องอยู่เหมือน 50 ปีก่อน เป็นการมองแบบโรแมนติกเกินไป แต่ควรปรับเปลี่ยนที่เกิดจากการตัดสินใจจากข้างใน ถ้าให้คนข้างนอกมาทำให้ปรับเปลี่ยนจะทำให้ไม่ยั่งยืน

นายธวัชชัย จอมติ ตัวแทนปกาเกอะญอจากบ้านห้วยหินลาดใน จ.เชียงราย กล่าวถึงเศรษกิจคนรุ่นใหม่กับการจัดการดูแลป่า ว่าชุมชนปกาเกอะญอที่อยู่รอดต้องมีเศรษฐกิจที่มั่นคงด้วย ทรัพยากรที่มีต้องแปลงเป็นอาชีพที่ไม่เบียดเบียนธรรมชาติ โดยชุมชนห้วยหินลาดในสามารถยกระดับเศรษฐกิจได้พอสมควร เราอยู่ในยุคที่เท่าทันสถานการณ์โดยมีสินค้าชุมชนจากทรัพยากรที่เรามี เช่น น้ำผึ้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทำการตลาดได้โดยเชื่อมโยงเพื่อนๆกับธุรกิจเพื่อสังคม เราพยายามรักษาป่าเพื่อมีรายได้จากป่า มีการปลูกชา กาแฟ ใต้ต้นไม้และเลี้ยงผึ้ง ทำให้ชุมชนอยู่รอดได้ แต่ทุกวันนี้ยังไม่มีความมั่นคงเรื่องที่ดิน แม้จะมีการเรียกร้องเรื่องโฉนดชุมชน เพราะต้องการเปลี่ยนจากโฉนดที่เป็นของปัจเจกมาเป็นโฉนดหน้าหมู่ ตอนนี้ภัยคุกคามคือนายทุนเข้ามากว้านซื้อที่ดิน หากเกิดโฉนดชุมชนก็จะแก้ปัญหานี้ แต่รัฐทำงานช้าและมักใช้ความคิดของตัวเองสร้างชุมชน ทำให้ไม่ยั่งยืนและไม่สมดุล

“ความมั่นคงในเรื่องสิทธิในที่ดินต้องมี ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่ไหลออกจากชุมชน แต่เยาวชนของเราอยู่บ้าน 99% เรียนจนเขาก็กลับมาทำงานที่หมู่บ้าน คนที่เรียนก็เรียนไป แต่คนที่อยู่บ้านก็ช่วยกันพัฒนา ยุคนี้เราทำตลาดขายสินค้าง่ายขึ้น ข้อกังวลของเราคือกลัวคนรุ่นใหม่จะไม่สานต่อ เราจึงพยายามหาอาชีพให้คนรุ่นใหม่ มีพื้นที่ให้ได้”นายธวัชชัย กล่าว

นายพงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ ผู้แทนปกาเกอะญอจากสมาคมฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวถึงมนุษยธรรม อำนาจรัฐและสิทธิของกะเหรี่ยง 2 ฟากฝั่งว่า ตนอยู่ในพื้นที่ชายแดนซึ่งฝั่งตรงข้ามมีสถานการณ์สู้รบ คำว่ามนุษยธรรมจึงถูกนำมาใช้บ่อย คนสองฝั่งต้องเกี่ยวข้องกันแต่ระบบการปกครองแตกต่างๆ ดังนั้นประเทศใดมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นก็กระทบถึงกัน การใช้ทรัพยากรร่วมกัน เช่น แม่น้ำสาละวิน เมื่อมีกระแสเรื่องการสร้างเขื่อนก็ส่งผลกระทบร่วมกัน สาละวินไม่ใช่แค่แม่น้ำแต่เชื่อมโยงป่าและความเป็นอยู่ของผู้คน เราจึงตั้งคำถามกับปัจจุบันที่กำลังเปลี่ยนแปลงเพราะเกี่ยวข้องกับอนาคตของชุมชน ถ้านำหลักมนุษยธรรมให้ประชาชนจัดการตัวเองได้ อำนาจรัฐก็ควรเปลี่ยนเพื่อให้ปกป้องชุมชนอย่างแท้จริง

“ล่าสุดมีชาวกะเหรี่ยงแดงหนีข้ามมาหลบอยู่ฝั่งไทยกว่า 3 พันคน บางคนพิการ ผู้หญิงบางคนเพิ่งคลอดลูก สภาพความเป็นอยู่น่าเห็นใจ เราเป็นเพื่อนบ้านกันจึงต้องช่วยเหลือกัน ดังนั้นจึงต้องสร้างความเข้าใจสองฝั่งร่วมกัน”นายพงษ์พิพัฒน์กล่าว

นายพงษ์พิพัฒน์กล่าว การกระจายอำนาจในปัจจุบัน ยังไม่ได้เป็นการกระจายอำนาจที่แท้จริง อบต.แม่สามแลบที่ตนดูแลอยู่ ทุกหมู่บ้านมีความแตกต่างกันในแนวทางแก้ไขปัญหา แต่รัฐบังคับและกำกับให้ต้องทำเหมือนๆกัน จึงไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาของชาวบ้านโดยตรง ดังนั้นต้องมีการแก้ไขกฎหมาย ตอนนี้ทุกเรื่องเหมือนละครฉากหนึ่ง แต่ไม่ได้ให้อำนาจที่แท้จริง

นายพฤ โอ่โดเชา ผู้แทนปกาเกอะญอจาก อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงความเชื่อ พิธีกรรมในฤดูกาลแห่งชีวิตปกาเกอะญอ ว่ามีโอกาสเข้าไปในป่าแก่งกระจาน ได้เจอกับชาวบ้านที่ทำมาหากินในวิถีดั้งเดิม บ้านและข้าวไร่ของคนบางกลอยถูกทำให้มองว่าผิด ทั้งๆที่เป็นวิถีดั้งเดิมที่อยู่มาก่อนอุทยานฯ ถ้าจะให้เข้าใจปกาเกอะญอแบบง่ายๆ ต้องศึกษาพิธีกรรมต่างๆตลอด 12 เดือน โดยชาวปกาเกอะญอนอกจากให้ความสำคัญกับเรื่องป่าแล้วยังให้ความสำคัญกับน้ำและไฟ ถ้าสังเกตจะเห็นว่าบนบ้านเรือนจะมีกองไฟ และผู้เฒ่าผู้แก่มักนอนรอบกองไฟ

นายพฤกล่าวว่า ไฟของปกาเกอะญอที่นำมาเผาไร่หมุนเวียนนั้น ไฟต้องมีเจ้าของเพราะจะควบคุมได้ แต่ไฟที่ใหม่ป่าทุกวันนี้ไม่มีเจ้าของ ถ้าถามชาวบ้านพบว่าจะมีปฎิทินล้านนาที่มีกำหนดวันเผา เพราะไฟเป็นของร้อนห้ามเผามั่ว เราเลี้ยงสัตว์ หาของป่าซึ่งไฟไม่เกิด แต่พื้นที่ข้างนอกเกิดไฟและอุทยานฯบอกว่าเกิดจากคนเลี้ยงสัตว์ ดังนั้นไฟที่ไม่มีเจ้าของเหล่านี้จะแก้ไขอย่างไร

นายสรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าวถึงดนตรีชาติพันธุ์กับการสื่อสารสาธารณะ ว่าเราจะรักษาจิตวิญญาณร่วมสมัยอย่างไร จะรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์อย่างไร บางเรื่องอาจหายไปแต่บางเรื่องอาจสร้างใหม่ สถานการณ์การเลื่อนไหลของผู้คนที่มีการข้ามพรมแดนกันไป-มา บางครั้งคนปกาเกอะญอฝั่งไทยและพม่าอาจมีความต่างกัน แต่ต้องรักษาความหลากหลายภายในไว้ให้ได้ เราต้องมองความเป็นชาติพันธุ์ให้พ้นกรงขังของรัฐชาติ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พายุฤดูร้อนถล่ม 4 จังหวัดภาคเหนือ บ้านเรือนเสียหาย ต้นไม้ใหญ่โค่นล้มเพียบ

ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับรายงานจาก สอต.พะเยา สอต.เชียงใหม่ สอต.แพร่ และ สอต.เชียงราย เกี่ยวกับผลกระทบจากพายุฤดูร้อน วาตภัย เหตุการณ์เกิดเมื่อวันที่ 19 เม.ย.67 ในพื้นที่ ดังนี้

มท.2 ลงพื้นที่ จ.เชียงราย ตรวจตลิ่งริมแม่น้ำอิง ก่อนสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.2) พร้อมด้วย นางสาวพรพิมล ธรรมสาร ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสมเกียรติ กิจเจริญ คณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายเอกภพ เพียรพิเศษ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

"รมช.สุรศักดิ์" ลงพื้นที่เมืองเชียงราย​ ลุย​ รับฟังสภาพปัญหาอุปสรรคจากหน่วยงานทางการศึกษา​ ก่อนนำข้อมูลเสนอต่อ​ที่ประชุม​ ครม.

เมื่อวันจันทร์​ ที่ ​18 มีนาคม 2567 นายสุรศักดิ์​ พันธ์​เจริญ​ว​ร​กุล​ รัฐมนตรี​ช่วยว่าการ​กระทรวง​ศึกษาธิการ​ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ก่อนการประชุม​ ครม.สัญจร​ ณ โรงเรียนวัดพระเกิดคงคาราม อ.เทิง จ.เชียงราย​ โดยมี​ นายรังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (ประจำนายอนุทิน ชาญวีรกูล)