เครือข่ายชาวบ้านอีสานกระทุ้งนายกฯฟังข้อมูลรอบด้านก่อนเดินหน้าบิ๊กโปรเจคผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล แนะศึกษาความล้มเหลวโครงการเดิมก่อน
9 ก.ย.2566 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างวันที่ 8-9 กันยายน 2566 กรณีที่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย โดยเมื่อวันที่ 8 กันยายน นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีตลอดจนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมเขื่อนอุบลรัตน์และพบปะประชาชนอยู่ในและอยู่นอกพื้นที่ชลประทานเพื่อพูดคุยประเด็นปัญหาภัยแล้งผลกระทบจากเอลณีโญ่พื้นที่ทำกินและการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่ารัฐบาลนี้ต้องไม่ท่วม ไม่แล้ง เล็งผุดโครงการ โขง-เลย-ชี-มูล แก้ปัญหาภัยแล้งในภาคอีสาน ในขณะที่เครือข่ายประชาชนปกป้องแม่น้ำโขงให้ความเห็นว่าการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้จะต้องศึกษาให้รอบด้านหวั่นได้ไม่คุ้มเสียเหมือนบทเรียนโครงการโขง ชี มูล ที่ผ่านมา
นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปกป้องแม่น้ำโขง กล่าวว่า การลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อดูปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งอาจจะมีนักการเมืองในพื้นที่พานายกรัฐทนตรีลงพื้นที่ ร่วมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมชลประทานหรือหน่วยงาน สทนช. เป็นต้น สิ่งที่พบคือ ปริมาณน้ำในเขื่อนมีน้อย มีการกักเก็บน้ำที่น้อยลงซึ่งสาเหตุหนึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนำไปสู่การทำให้ปริมาณน้ำฝนลดลงนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ตนคิดว่ามันมีข้อมูลเชิงสถิติอยู่แล้ว
“ผมมองว่าประเด็นที่หนึ่ง หน่วยงานรัฐเองหรือนายกรัฐมนตรีที่ลงมาพื้นที่ก็พูดเองว่าต้องผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในภาคอีสาน โดยอ้างว่าเป็นการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง เดินหน้าผลักดันโครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล ซึ่งโครงการนี้จะเป็นโครงการที่จะผันน้ำมาจากแม่น้ำโขง โดยทำท่อสูบน้ำขึ้นมาจากแม่น้ำโขงในพื้นที่บริเวณปากแม่น้ำเลย อ.เชียงคาน จ.เลย แล้วก็มาที่อำเภอสุวรรณคูหา มาต่อที่ อ.เมืองหนองบัวลำภู อ.โนนสัง และ อ.อุบลรัตน์ จากนั้นมาลงที่เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เส้นทางหลายร้อยกิโล นี่คือโครงการผันน้ำโขงเลย ชี มูล ที่วางแผนไว้”นายสุวิทย์ กล่าว
นายสุวิทย์กล่าวว่า ประเด็นที่คณะทำงานครือข่ายของภาคประชาชนปกป้องแม่น้ำโขงอีสานลงพื้นที่ศึกษาเส้นทางตามแผนโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล พบว่า 1.หน่วยงานรัฐไม่ได้ทบทวนว่าจริง ๆ แล้วปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงมีเพียงพอหรือไม่ที่จะสูบเข้ามา 2. ความคุ้มค่าของโครงผันน้ำ โขง เลย ชี มูล ที่จะเกิดขึ้นมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือไม่ 3.การเข้าถึงการใช้น้ำที่เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างชาวบ้านต่อการเข้าถึงทรัพยากรน้ำ โดยเฉพาะน้ำที่อยู่ใต้เขื่อนพอน้ำแล้งหน่วยงานภาครัฐก็บอกชาวบ้านให้หยุดทำนาก่อนอันนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน แต่สิ่งสำคัญก็คือว่าเราไม่เคยพูดถึงการเข้าถึงการใช้น้ำทั้งหมดว่ามันมีความเท่าเทียมกันหรือไม่
อีกประเด็นหนึ่งก็คือว่าโครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูล สิ่งที่เราศึกษาและพบเห็นมาตลอดแม้แต่ในรายงานของคณะกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คือ (1) ให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติชะลอการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทบทวนความจำเป็นและเหมาะสมในการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำ โขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ทุกระยะ โดยมอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และกรมชลประทาน ประสานให้เกิดการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล องค์กรผู้ใช้น้ำ ประชาชนผู้ใช้น้ำในพื้นที่ทั้ง 3 ลุ่มน้ำ รวมทั้งผู้มีส่วนได้เสียและที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการ เพื่อร่วมกันปรึกษาหารือและทบทวนความจำเป็นเหมาะสมในการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำ โขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วงให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการเสนอทางเลือกการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาและวิถีชีวิตวัฒนธรรมการใช้น้ำในพื้นที่ของตน ภายใต้การสนับสนุนข้อมูลอย่างรอบด้านที่เพียงพอต่อการให้ข้อเสนอแนะและความเห็นก่อนการตัดสินใจ ทั้งนี้ ให้ดำเนินการทบทวนภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบนี้
(2) ให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เร่งรัดการจัดทำผังน้ำ และทบทวนผลการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ของลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล โดยใช้กลไกการมีส่วนร่วมตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ทั้งนี้ เพื่อให้คณะกรรมการลุ่มน้ำ องค์กรผู้ใช้น้ำ ผู้มีส่วนได้เสีย และประชาชนผู้ใช้น้ำ ได้มีส่วนร่วมอย่างครบถ้วน และเพื่อให้การกำหนดเป้าหมายการพัฒนาด้านทรัพยากรน้ำ สอดคล้องกับความต้องการ ภูมินิเวศ วัฒนธรรม จารีตประเพณี และวิถีชีวิตของประชาชนแต่ละพื้นที่อย่างยั่งยืน
(3) ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พัฒนาหลักเกณฑ์การพิจารณาเกี่ยวกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนสำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยนำหลักการและกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชน ผู้ใช้น้ำ องค์กรผู้ใช้น้ำ คณะกรรมการลุ่มน้ำ และผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 มาเป็นแนวทางประกอบการให้ความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ
ด้านนายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน กล่าวว่า การลงพื้นที่ภาคอีสานของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องนั้น มองว่า ก็เป็นแค่เพียงพิธีกรรมการลงพื้นที่เพื่อมาผลักดันโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล ถ้าเรามองถึงเส้นทางการลงพื้นที่ครั้งนี้ ทั้ง ๆ ที่บทเรียนการจัดการน้ำท่วม น้ำแล้งที่ผ่านมา ของโครงการโขง ชี มูล เป็นโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ของรัฐบาลไทยเมื่อ 30 ปีก่อน บทเรียนกรณีเขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา แม่น้ำมูน เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนยโสธร-พนมไพร แม่น้ำชี จนถึงวันนี้โครงการ โขง ชี มูน ไม่เป็นไปตามที่ผู้มีอำนาจกล่าวอ้างไว้ว่าจะแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ในภาคอีสาน เพราะการรวมศูนย์อำนาจการจัดการน้ำ อำนาจการตัดสินใจทางนโยบายถูกกำหนดอยู่ภายใต้ผู้มีอำนาจที่ไม่ได้เข้าใจภูมินิเวศ ประชาชนไม่มีส่วนร่วม ทุกพื้นที่ที่มีการดำเนินโครงการประชาชนกลับได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน เช่น การถูกอพยพโยกย้ายออกจากถิ่นฐานบ้านเกิด การสูญเสียที่ดินทำกิน น้ำท่วมขังพื้นที่ทำการเกษตรยาวนาน การสูญเสียอาชีพประมงพื้นบ้าน การพังทลายของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ดินเค็มแพร่กระจาย ผลกระทบที่เกิดยังทำลายโครงสร้างทางชุมชน ตลอดจนยังทำลายระบบสิทธิการจัดการทรัพยากรแบบดั่งเดิม ปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นได้สร้างความขมขื่นต่อประชาชนลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูนกัน
“ผมมีข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีคือให้แก้ไขปัญหาจากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เช่น โครงการโขง ชี มูล เดิมให้เสร็จสิ้นเป็นรูปธรรม และขอให้ยุติโครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล เพราะไม่ใช่คำตอบในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่จะใช้งบประมาณมหาศาลและอาจจะไม่คุ้มค่าการลงทุน และอาจจะจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน ระบบนิเวศน์ เหมือนโครงการโขง ชี มูล ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีจะต้องศึกษาข้อมูลให้รอบด้านจริง ทั้งนิเวศลุ่มน้ำอีสาน เพื่อจะได้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างคนกับทรัพยากรและรับฟังความคิดเห็นให้คลอบคลุม และการจัดการน้ำจะต้องมีหลากหลายรูปแบบที่เหมาะสมกับพื้นที่นั้น ๆ ไม่ใช่ฟังแต่นักการเมืองและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง แล้วกำหนดนโยบายขนาดใหญ่มายัดเยียดให้กับชาวบ้าน”นายสิริศักดิ์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โหรชื่อดัง ผ่าดวงชะตาบุคคลสำคัญ ปี 2567
คุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี-หากลัคนาสถิตราศีเมษ -ระหว่างวันเกิดที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567-15 กุมภาพันธ์ 2568 โปรดระวังพลาดเพราะ
สยบข่าว'อุ๊งอิ๊ง' ฝึกงานนายกฯ ลงพื้นที่ประกบ'เศรษฐา'ทำงานซอฟต์พาวเวอร์
“ภูมิธรรม” ชี้ นายกฯลงพื้นที่ต่อเนื่อง 2 สัปดาห์เพื่อรับฟังปัญหาด้วยตัวเอง ไม่มีนัยทางการเมือง ส่วน “อิ๊ง” ลงคู่ขนานดูซอฟต์พาวเวอร์ ไม่ตอบปูทางนายกฯคนต่อไป
นายกฯ บอก 'แป้ง นาโหนด' เข้ามอบตัว หวั่นเดือดร้อนทุกฝ่าย
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายเชาวลิต นาด้วง หรือ แป้ง นาโหนด อัดคลิปวิดีโอระบุไม่รับความ
จับตา นายกฯ นัดประชุม ก.ตร. ถกวาระ ผบ.ตร.ขออนุมัติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) จะเดินทางมาเป็น
ดูเอา 'เศรษฐา' นั่งจิบกาแฟ สูดอากาศ หน้าตึกไทย
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้ออกมาสูดอากาศ จิบกาแฟอเมริกาโนเย็น หน้าตึกไทยคู่ฟ้า อย่างอารมณ์ดี เนื่องจาก
โฆษกปชป. ชี้นายกฯทำผิดรธน. แทรกแซง แต่งตั้งผู้กำกับ
นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี