ชาวสาละวิน ร้อง กสม. หลังถูกอุทยานฯยึดที่ดิน-ดำเนินคดี เรียกค่าเสียหาย 2.3 แสน

ชาวบ้านสาละวินยื่นหนังสือร้องเรียน กสม. หลังถูกอุทยานฯ ยึดที่ดิน-ดำเนินคดี เรียกค่าเสียหาย 2.3 แสนบาท หัวหน้าอุทยานแจงเหตุมีการย้ายหมุด เผยอาจมีการใช้ พรบ.ปรับพินัย ให้บำเพ็ญประโยชน์ชดใช้แทนค่าปรับ

16 มี.ค.2567 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่าชาวบ้านหมู่บ้านแม่ก๋อน หมู่ที่ 5 ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอนกว่า 20 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงซึ่งอาศัยอยู่และทำกินในป่าบริเวณนี้มาก่อนอุทยานแห่งชาติสาละวิน ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นางปรีดา คงแป้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการจัดการที่ดินของโครงการแม่ฮ่องสอนโมเดล โดยทางอุทยานแห่งชาติสาละวินเข้ามายึดพื้นที่ทำกินของชาวบ้านจำนวน 6 แปลง และยังมีการดำเนินคดีกับชาวบ้านอีก 2 รายในข้อหาบุกรุกป่า

หนังสือร้องเรียนระบุว่า เมื่อปี 2562 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติสาละวิน กับผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านแม่ก๋อนแจ้งชาวบ้านให้ร่วมประชุมโครงการการจัดการที่ดินทำรูปแบบแม่ฮ่องสอนโมเดลในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำดินของราษฎรที่อยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติสาละวิน และชาวบ้านได้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เข้ามาทำข้อมูลและรังวัดที่ดินให้กับชาวบ้านครอบครัวละ 5 แปลง

ในปี 2563 เจ้าหน้าที่หน่วยฟื้นฟู สำนักบริหารจัดการพื้นที่ 16 สาขาแม่สะเรียง เข้ามาในหมู่บ้านแม่ก๋อนแล้วเอาเสาหลักเขตมาปักไว้ในพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ทำให้เจ้าหน้าที่อุทยานฯตรวจสอบพบว่าปักเสาหลักไม่ถูกต้อง จึงดำเนินการขอคืนพื้นที่ ยึดที่ดินทำกินของชาวบ้าน และดำเนินคดีกับชาวบ้าน ซึ่งปัจจุบันมีการยึดพื้นที่ชาวบ้านไปแล้ว 6 แปลง โดยทางอุทยานฯจะทำการขอคืนพื้นที่บ้านแม่ก๋อนจำนวน 20 แปลง

หนังสือร้องเรียนระบุว่า ในขณะที่อุทยานฯยังดำเนินคดีบุกรุกป่ากับชาวบ้าน 2 ราย คือนายหน่อง ไม่มีชื่อสกุล กับนางสาวแดง สุขอุดมสีโรจน์ เป็นสามีภรรยากัน อยู่บ้านเลขที่ 24/2 หมู่ที่ 5 ต.แม่คง ทางอุทยานฯได้เข้ายึดพื้นที่ทำกินเมื่อปี 2566 คิดค่าเสียหายของรัฐจำนวน 230,000 บาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการประกันตัว คนละ 20,000 บาท โดยทั้ง 2 คนทำกินในพื้นที่เดิมเป็นพื้นที่ไร่หมุนเวียนในโครงการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินแม่ฮ่องสอนโมเดล

ทั้งนี้ ชาวบ้านบ้านแม่ก๋อน หมู่ที่ 5 ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน จึงยื่นหนังสือร้องเรียนขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน และช่วยยุติการดำเนินคดีกับชาวบ้านทั้ง 2 ราย

ทางด้านนางปรีดา กล่าวว่า กสม.รับเรื่องที่ชาวบ้านมายื่นหนังสือร้องเรียน ทราบมาว่ายังมีปัญหาขอคืนพื้นที่ ยึดพื้นที่และจับกุมชาวบ้าน หลังจากนี้ กสม.รับเรื่องและจะประสานข้อมูลไปยังอุทยานแห่งชาติสาละวินเพื่อให้มาชี้แจง

“ที่ผ่านมา กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนหลายเรื่องที่บอกว่าสำรวจที่ดินแล้ว แต่ชาวบ้านไม่เห็นชอบด้วย การพิจารณาขยายพื้นที่อุทยานฯมาจากนโยบายขอคืนพื้นที่ป่าเมื่อปี 2562 การขยายอุทยานต้องมาตกลงแผนที่กับชาวบ้านก่อน อุทยานต้องคุยกับชาวบ้านด้วย กระบวนการต่างๆต้องให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม 100 เปอร์เซ็นต์ การทวงคืนผืนป่าได้สร้างคดีให้ชาวบ้านแล้ว 24,000 ราย หลายฝ่ายจึงมีความต้องการที่จะให้รัฐบาลออกกฎหมายนิรโทษกรรมทวงคืนผืนป่า อย่างไรก็ตาม ทางกสม. จะต้องติดตามเรื่องนี้ต่อไป” นางปรีดา กล่าว

ด้าน นายลิขิต ไหวพรม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติสาละวิน กล่าวถึงกรณีข้อพิพาทพื้นที่แก้ไขปัญหาที่ดินทำกินโครงการแม่ฮ่องสอนโมเดล กับชาวบ้านบ้านแม่ก๋อน ว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2563 หลังจากสำนักบริหารจัดการพื้นที่เขต 16 สาขาแม่สะเรียง เข้าไปปักเสาหลักหมุดในหมู่บ้าน ซึ่งตนเพิ่งมารับตำแหน่งหัวหน้าอุทยานฯเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 จึงไม่ทราบเรื่องที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกรณีของนายหน่อง 1 ในผู้ที่ถูกดำเนินคดีนั้นไม่ทราบข้อมูลมากนัก แต่กรณีนางแดงนั้นเคยได้ยินมาบ้าง

“เมื่อประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีหน่วยงานรัฐจากอีกกรมหนึ่งมาเจรจาเรื่อง พรบ.ปรับเป็นพินัย ผมเพิ่งมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าอุทยานฯ การดำเนินคดีที่มีมาก่อนหน้านี้ก็ต้องว่าไปตามขั้นตอน กรณีของนางแดง อาจจะมีการใช้ พรบ.ปรับเป็นพินัย ถ้าไม่มีเงินจ่ายก็ให้ทำประโยชน์เพื่ออุทยานเป็นการชดใช้ แต่ตอนนี้ขึ้นอยู่กับอัยการ เพราะขั้นตอนทางกฎหมายได้พ้นจากอุทยานไปแล้ว” หัวหน้าอุทยานฯ กล่าว

นายลิขิต กล่าวว่า ตามเงื่อนไขของกรมอุทยานฯ ถ้ามีการบุกรุกเพิ่มเติมก็จะขอยึดพื้นที่ เพราะว่าผิดเงื่อนไข ในกรณีนี้ก็ว่าตามเหตุและการณ์ที่ผ่านมา

“ผมเองก็มาไม่ทัน เหมือนกรณีนี้เขาจะไปขยับแนวเขตเสาออกไปเพื่อที่จะรุกป่าต่อ เหตุการณ์วันนั้นเห็นเขาว่ามีการขัดขืน เหมือนกลัวเจ้าหน้าที่เข้าไปทำร้ายก็เลยเปลื้องผ้าโชว์ กลัวจะเข้าไปกุมก็เลยทำแบบนั้น ผมไม่รู้เหมือนกันเพราะว่ายังไม่ได้มาเป็นหัวหน้า” นายลิขิต กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า สาเหตุเกิดจากสำนักบริหารจัดการพื้นที่ 16 สาขาแม่สะเรียง เข้าไปปักเสาหลักเขตไม่ถูกต้องจึงทำให้อุทยานแห่งชาติสาละวินมีการขอคืนพื้นที่ทำกินของชาวบ้านใช่หรือไม่ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า ในปี 2562 แม่ฮ่องสอนโมเดล กรมอุทยานได้เข้าไปสำรวจพร้อมกับชาวบ้านนำชี้ ณ ตอนนั้น ทางพิกัดอาจจะมีคลาดเคลื่อนบ้างแต่หลักหมุดต้องอยู่บนพื้นที่ที่เคยมีการทำกินมาก่อน

“เมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาผมไปทำงานที่บ้านโพซอ ต.เสาหิน อ.แม่สะเรียง ก็ได้รับเรื่องจากทางชาวบ้านพูดว่าเขาแอบมีขยับหมุด ซึ่งกรณีที่เจ้าหน้าที่ไปปักก็ไปตามพิกัดนำชี้เมื่อปี 2563 ที่ผมมองก็คือความคลาดเคลื่อนของตัวพิกัดอาจจะมีบ้าง แต่หมุดที่ไปปักควรจะอยู่บนร่องรอยเดิมที่มีการทำกินอยู่จริง แต่ก็มีบางแปลงที่ชาวบ้านขยับเพื่อจะรุกต่อก็มีในเขตนี้ เมื่อดูตามไฟล์เดิมที่คุณนำแจ้งว่าอยู่ตรงนี้ สุดท้ายเขาก็ยอมรับกับผู้นำเขาเองว่าเขาย้ายหมุด ก็เป็นบางเคส ไม่ได้หมายความว่าทุกแปลง ผมทำงานกับชาวบ้านผมเข้าใจ ผมไม่ได้อยากไปเบียดบังอะไรเขาหรอก ถ้าคุณอยู่ในกรอบในกติกาที่คุณนำชี้แล้วไม่ได้รุกเพิ่ม เราก็ไม่ไปรังแกอะไรแบบนั้น” นายลิขิต กล่าว

หัวหน้าอุทยานฯยังกล่าวถึงการนำแผนที่มาใช้ในการแบ่งเขตพื้นที่อุทยานกับที่ดินทำกินของชาวบ้านว่า เมื่อชาวบ้านเข้าไปนำชี้ร่วมกับอุทยานฯ แล้ว จะนำมาขึ้นรูปแปลงให้คณะกรรมการอีก 2 ชุดพิจารณา ซึ่งเจ้าหน้าที่อุทยานไม่ใช่ผู้ตัดสินใจว่าแผนที่เขตที่ทำกินของชาวบ้านจะเป็นไปตามที่นำชี้หรือไม่ และแผนที่จะเสร็จเมื่อไหร่นั้นก็ขึ้นอยู่กับปัญหาในแต่ละหมู่บ้านด้วย

“คนที่พิจารณาก็เป็นคณะทำงานระดับสำนักอีกชั้น จะเป็น ผอ.ส่วนอุทยาน พิจารณาร่องรอยว่าเคยมีการทำกิน ไม่ใช่บุกป่าใหม่ หรือเป็นกรณีที่คุณยอมโยกจากป่าไร่หมุนเวียนเดิมไม่เอาตรงนั้นแล้วมาเลือกพื้นที่หัวไร่ปลายนา เรายอมรับได้กับต้นไม้ขนาดเล็กดูแล้วไม่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม เราพิจารณาร่องรอยปี 2545 และ ปี 2557 ก่อน ให้คณะกรรมการพิจารณา 2 ชั้น พอเสร็จจากขั้นตอนนี้ก็จะมีการบันทึกทำ MOUแล้วเอาข้อมูลให้ผู้นำชุมชนนำกลับมาได้ดูในหมู่บ้านเขาอีกทีหนึ่ง ส่วนบ้านไหนจะช้าจะเร็วอยู่ที่เวลาเข้าไปทำงานและปัญหาที่มีข้างใน ถ้าแก้เสร็จเร็ว ผ่านคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดเร็ว ชาวบ้านก็จะได้เห็นแผนที่ตรงนี้ แต่ในทางปฏิบัติเมื่อทำเสร็จที่ผมเคยเข้าไปทำ เดินเสร็จตอนเย็นฉายแผนที่ในโปรแกรมภูมิศาสตร์ให้ชาวบ้านดูว่าหมุดที่เขาไปนำเดินชี้เป็นอย่างไรบ้าง ถ้าตรงกับที่ชี้ก็จบ ถ้าบุกรุกก็จะได้คุยกันตรงนั้นเลย” นายลิขิต กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

10 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (3) กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่ฮี้ จ.แม่ฮ่องสอน “คนเมืองปายสุขภาพดี 80 ปียังแจ๋ว”

ในปี 2567 ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ระบุว่าในปี 2566 ประเทศไทยมีประชากรอายุ

ชาวเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน ร้องศาลปกครองเพิกถอน 'อีไอเอ' โครงการแสนล้าน 'ผันน้ำยวม'

นายวันไชย ศรีนวน ผู้ใหญ่บ้านแม่งูด ต.นาคอเรือ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่าประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล (แนวผันน้ำยวม) ใน จ.เชียงใหม่ และ จ.แม่ฮ่องสอน

จังหวัดแม่ฮ่องสอน-กระทรวง พม.ช่วยผู้ประสบภัยน้ำป่า เตรียมสร้างบ้านชั่วคราว 49 หลังที่บ้านแม่ตอละ อ.สบเมย

แม่ฮ่องสอน / จากเหตุการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมเป็นต้นมา จนถึงวันที่ 3 สิงหาคม

หนุน “Smart Grid” ด้วย “Smart Energy” ชูโซลาร์และแบตเตอรี่ ช่วยระบบไฟฟ้าแม่ฮ่องสอนมั่นคง

หากใครเคยไปเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน คงจะคุ้นกับชื่อตำบล “ผาบ่อง” กันอยู่บ้าง เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นชุมชนที่มีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ ทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่และปกาเกอะญอ

อุตฯ จ.แม่ฮ่องสอน เดินหน้าจัดเวทีรับฟังความเห็น ชี้หากชาวบ้านไม่เข้าร่วมอาจเสียโอกาสค้าน

ความคืบหน้ากรณีสำนักงานอุตสาหกรรม จ.แม่ฮ่องสอน ปิดประกาศการขอประทานบัตรของ บริษัทเอกชน ในพื้นที่หมู่ 3 ต.แม่สะเรียง และ หมู่ 13 ต.บ้านกาศ เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบในที่ดินทำกินมาแสดงตัวภายใน 30 วัน ซึ่งทำให้ชาวบ้านรวมตัวยื่นหนังสือผ่านนายอำเภอแม่สะเรียง ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดและสำนักงาน