ตราดแล้งหนัก พื้นที่ปลูกทุเรียน-มังคุด อ.เขาสมิง ขาดน้ำช่วงใกล้เก็บผลผลิต

สถานการณ์การขาดแคลนน้ำทั้งในคลองสาธารณะและอ่างน้ำส่วนตัวของเกษตรกรชาวสวนผลไม้ในอำเภอเขาสมิง จ.ตราด กำลังได้รับความเสียหายแล้ว เกษตรกรตื่นตัวหาน้ำสำรอง

23 เม.ย.2567 - ที่ตำบลวังตะเคียน อ.เขาสมิง 2 หมู่บ้าน คือ หมู่บ้านแก่งหิน และหมู่บ้านหินดาษ อ่างน้ำสาธารณะ และคลองสาธารณะ รวมทั้งอ่างน้ำส่วนตัวในแต่ละสวนน้ำแห้งติดพื้นที่ เครื่องสูบน้ำของเกษตรกรที่สูบน้ำเข้าสวนผลไม้หัวโข่โผล่ขึ้นมาเหนือผิวน้ำ เนื่องจากระดับน้ำเหลือน้อย และเกือบแห้งจนไม่พอใช้ในอีก 7 วันข้างหน้า ซึ่งช่วงนี้ทุเรียน และมังคุดที่กำลังออกผลและใกล้เก็บผลได้ต้องการน้ำมารดต้นไม้เพื่อให้สุกและสามารถตัดขายได้ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2567 แต่ปัญหาก็คือ น้ำในอ่างสาธารณะและในคลองสาธารณะก็แห้ง บ้างแห่งเหลือเพียงติดพื้นเท่านั้น

นายสวิป อรุณมาตร สมาชิกสภาอบต.วังตะเคียน หมู่ 4 บ้านแก่งหิน ได้ออกสำรวจปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำสาธารณะของตำบล 2 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำช้างน้อย และฝายน้ำคลองเว้ บ้านแก่งหิน พบว่า น้ำในอ่างเก็บน้ำ และฝายแก่งหินเหลือน้ำน้อยมาก และหากไม่มีน้ำมาเติมอีกไม่เกิน 5-7 วันน้ำจะแห้งและหมดไป ส่วนอ่างมีน้ำจากคลองเขาสมิงมาเติมจากการที่อบต.วังตะเคียนใช้เครื่องสูบน้ำไฟฟ้าสูบน้ำมาเติมให้ตลอด 24 ชม.เนื่องจากอ่างเก็บน้ำช้างน้อย มีขนาดใหญ่และมีเกษตรกรสูบน้ำมาใช้ในการเกษตรกว่า 20-30 ราย

ขณะที่คลองเขาสมิงระดับน้ำเหลือติดเพียงระดับพื้น แต่น้ำยังคงไหลต่อเนื่อง ซึ่งโครงการชลประทานตราดกำลังสร้างเครื่องสูบน้ำเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาภัยแล้งใน 2 หมู่บ้าน โดยโครงการจะแล้วเสร็จในปี 2568 นี้

ขณะที่นายมานะ ผลศิริ นายกอบต.วังตะเคียน เปิดเผยว่า ปัญหาเรื่องน้ำในพื้นที่ตำบลวังตะเคียนเกิดจากความต้องการน้ำเพิ่มขึ้นมากจากการปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้น ซึ่งแต่ละสวนก็สร้างสระน้ำส่วนตัวไว้ใช้ โดยที่ผ่านมาได้ประชุมกับกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกทุเรียนไว้ล่วงหน้าแล้วในเรื่องการเตรียมน้ำเพื่อการเกษตร แต่เกษตรกรไม่ตระหนักในเรื่องนี้ ซึ่งวันนี้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ 2-3 แห่ง จึงได้ใช้เครื่องสูบน้ำ 6 ตัว สูบน้ำจากคลองส่งน้ำจากอ่างคลองโสนที่ห่างจากตำบลวังตะเคียนถึง 10 กม.มาเติมในอ่างที่น้ำพร่อง ซึ่งต้องยอมรับว่ากว่าจะสูบได้เต็มแต่ละอ่างต้องใช้เวลา จากนั้นก็จะระบายปล่อยมาจากด้านบนมายังด้านล่างเป็นทอดๆไป จากนั้นเกษตรกรต้องใช้เครื่องสูบน้ำส่วนตัวสูบน้ำเข้าพื้นที่เอง จะสามารถแก้ไขได้ระดับหนึ่ง จะให้อบต.วังตะเคียนทำทั้งหมดคงไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากงบประมาณมีจำกัดและต้องช่วยเหลือเกษตรกรในหลายพื้นที่ ที่ผ่านมาใช้งบประมาณค่าไฟฟ้าไปแล้วกว่า 6 แสนบาท ปีที่ผ่านมาก็ใช้ไป 3.6 ล้านบาท

“พนักงานอบต.วังตะเคียน และผมไม่ได้หยุดทำงานเลย ออกพื้นที่แก้ไขปัญหาให้ประชาชนต่อเนื่อง และใช้งบประมาณเท่าที่มี วันนี้เกินกำลังแล้ว ซึ่งต้องรองบประมาณจากจังหวัดมาช่วยเหลือซึ่งได้เสนอไปยังอำเภอเขาสมิงไปแล้วเหมือนที่หลายอบต.ในอำเภอเขาสมิงได้ทำไป แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งวันนี้ 8 ตำบลในอำเภอเขาสมิงขาดแคลนน้ำมาก ในส่วนชลประทานตราดก็ได้นำรถน้ำมาช่วยเหลือแต่ยังไม่เพียงพอ รวมทั้งรถน้ำขออบต.วังตะเคียนก็มี 1 คันที่พอช่วยเฉพาะหน้าได้ แต่ในปี 2568 สถานีสูบน้ำที่สร้างในพื้นที่หมู่ 4 ที่ใช้งบประมาณ 60 ล้านบาทที่ชลประทานตราดมาสร้างให้จะช่วยให้หมู่ 4 และหมู่ 7 ไม่ขาดแคลนน้ำซึ่งผมประสานงานมาดำเนินการตั้งแต่เป็นนายกอบต.วังตะเคียนสมัยที่ 2 “นายกอบต.วังตะเคียน กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตราดอ่วมระนาว วิกฤตแล้งหนักขาดแคลนน้ำ 10 วัน

ตำบลห้วยแร้ง จ.ตราด ขาดน้ำเข้าขั้นวิกฤต หลายหมู่บ้าน อ่วมหนัก 10 วันไม่มีน้ำ นายกอบต.ห้วยแร้งสูบน้ำอ่างเอกชนช่วยชั่วคราว สวนผลไม้ทุเรียน มังคุดกระทบรุนแรง

นายกฯ สั่ง ก.เกษตร - กองทัพ ระดมพลังทัพ เร่งผันน้ำช่วยเกษตรกรสู้ภัยแล้ง

นายกฯ ประสาน กษ.-กองทัพ เร่งผันน้ำช่วยเกษตรกรสู้ภัยแล้ง พร้อมเร่งอนุมัติงบฯ ช่วย อุตรดิตถ์ หลังเผชิญพายุฤดูร้อน

ทหารมาแล้ว! กองทัพไทย ส่งรถบรรทุกน้ำ ช่วยชาวสวนผลไม้ชุมพรแล้งหนัก

จังหวัดชุมพร และกองทัพไทย จัดพิธีปล่อยขบวนรถ ณ มณฑลทหารบกที่ 44 ค่ายเขตอุดมศักดิ์ โดยมี นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรเป็นประธานในพิธี โดยกองทัพไทย ประกอบด้วย กองบัญชาการกองทัพไทย

ชุมพรแล้งหนักนานกว่า 2 เดือน วัดไม่มีน้ำใช้ ชาวบ้านต้องช่วยขนมาให้

จากสถานการณ์ภัยแล้งในจังหวัดชุมพร ที่ฝนทิ้งช่วงไม่ตกมานานเกือบ 3 เดือนแล้ว ส่งผลให้ทั้ง 8 อำเภอของจังหวัด เกิดวิกฤตภัยแล้ง พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ทุเรียนที่กำลังออกลูกขาดน้ำทำให้ผลร่วงหล่นและเริ่มทยอยยืนต้นตาย

นายกฯ สั่งจับตาภัยแล้ง บูรณาการจัดการอย่างเป็นระบบ ดูแลประชาชนทุกพื้นที่

นายกฯ สั่งจับตาสถานการณ์ภัยแล้งเกิดแล้วในบางพื้นที่สั่งบูรณาการ จัดการอย่างเป็นระบบเพื่อบรรเทาและรับมือภัยแล้ง ดูแลประชาชนทุกพื้นที่