กระทรวง พม.เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) พ.ร.บ. ‘การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ…..’ ครั้งแรก ภาคประชาชนระดมเสียงค้านไม่เห็นด้วยให้ยกเลิก พ.ร.บ.ทั้งฉบับ

ส่วนหนึ่งของผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นจากทั้งหมดกว่า 300 คน

พอช / กระทรวง พม.เปิดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) ... การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร     .…..’ ครั้งแรก  โดยมอบหมายให้ พอช.จัดเวทีรับฟังผ่านระบบ Zoom  โดยมีผู้แทนภาคประชาชน  ประชาสังคม  Ngo ผู้นำชุมชน   ฯลฯ  กว่า 300 คนร่วมแสดงความคิดเห็น  เสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ...ฉบับนี้  เสนอให้ยกเลิกทั้งฉบับ  เพราะซ้ำซ้อนกับกฏหมายที่มีอยู่  และเป็นกฎหมายที่ควบคุมภาคประชาชน

ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 เห็นชอบแนวทางการยกร่าง พระราชบัญญัติ (...) การดำเนินกิจกรรมขององค์กร ไม่แสวงหากำไร พ.. ….’ ของคณะกรรมการกฤษฎีกา และมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและวิเคราะห์ผลกระทบของร่างกฎหมายตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ  และตาม พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ก่อนเสนอ ครม. ต่อไป  โดยกระทรวง พม.มอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นนั้น

3 หน่วยงานภาคีชี้แจงร่าง ...ครั้งแรกผ่านระบบ Zoom

ล่าสุดวันนี้ (17 กุมภาพันธ์)  ระหว่างเวลา 08.00-12.30  น.  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบ zoom cloud meeting  ครั้งแรก  โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมชี้แจงวัตุประสงค์  ความเป็นมา  สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. …. โดยเบื้องต้น ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีทั้งหมด 28 มาตรา  มีผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบล  กองทุนสวัสดิการชุมชน  ผู้นำชุมชน  องค์กรพัฒนาเอกชน  ภาคประชาสังคม  ฯลฯ จากทั่วประเทศกว่า 300 คนร่วมรับฟัง

นายปฏิภาณ  จุมผา  รักษาการผู้อำนวยการ พอช.

นายปฏิภาณ  จุมผา  รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ    รักษาการผู้อำนวยการสถาบันฯ  กล่าวว่า   ตามที่มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา  เห็นชอบแนวทางการยกร่างพระราชบัญญัติการดําเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากําไร พ.ศ. …. และกระทรวง พม. ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดจัดให้มีช่องทางการรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึง  รอบด้าน  และเป็นระบบ

เวทีในวันนี้เป็นเวทีที่จัดขึ้นตามนโยบายของ รมว.พม.  และขอย้ำว่าเวทีครั้งนี้เป็นการจัดเวทีอย่างสร้างสรรค์  ไม่มีธง  เพื่อที่จะรับฟังพี่น้องประชาชนและประชาสังคมอย่างเป็นธรรมและเป็นกลาง  พอช. เป็นกลไกของรัฐ เป็นเครื่องมือของประชาชน  เป็นหน่วยงานกลางที่เป็นเครื่องมือของพี่น้องประชาชนที่แปลล่างสู่บน  แปลบนสู่ล่าง  เพื่อให้เกิดนโยบายที่เกิดขึ้น  ที่ต้องเอื้อต่อความเข้มแข็งของคนข้างล่าง เป็นพลังที่จะส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็ง  สอดรับกับนโยบายของท้องถิ่นไปด้วยกัน  วันนี้มีพี่น้องสภาองค์กรชุมชนตำบล สวัสดิการชุมชน  และพี่น้องเครือข่ายพัฒนาที่อยู่อาศัยทั้งเมืองและชนบททั่วประเทศ  รวมถึงพี่น้องประชาสังคมที่เป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาและร่วมพลังในการขับเคลื่อน  สิ่งสำคัญในวันนี้ต้องเกิดการอธิบายความ  เกิดการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่  การรับฟังครั้งนี้เป็นหน้าประวัติศาสตร์ของภาคประชาชนที่มีการรับฟังอย่างเป็นกลาง  มองถึงอนาคตของลูกหลาน  เพราะกฎหมายฉบับนี้มีความเกี่ยวข้องกับพี่น้องประชาชนทุกคน นายปฏิภาณกล่าว

นางสาวนุชนาถ  เกษมพิบูลย์ไชย   ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา  

นางสาวนุชนาถ  เกษมพิบูลย์ไชย  ผู้อำนวยการกองกฎหมายต่างประเทศ  สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา  กล่าวชี้แจงสาระสำคัญ “ร่าง พ.ร.บ. การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ..…’  ว่า  ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นเรื่องการส่งเสริม  หลักการกำกับดูแล  มีการกำหนดหน้าที่องค์กรไม่แสวงหากำไรได้ปฏิบัติ  ส่วนความหมายขององค์กรไม่แสวงหากำไร   คือเป็นองค์กรที่ทำกิจกรรมทางสังคมไม่มุ่งแสวงหากำไร 

ตัวอย่าง  มาตรา 19  การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับองค์กร  ชื่อ  วัตถุประสงค์  วิธีดำเนินงาน  แหล่งที่มาของเงินทุน รายชื่อผู้รับผิดชอบดำเนินงาน  เพื่อให้หน่วยงานของรัฐและบุคคลทั่วไปเข้าถึงข้อมูลนั้นโดยง่าย  

หากองค์กรไม่แสวงหากำไรแห่งใดไม่เปิดเผยข้อมูล  ให้นายทะเบียนแจ้งเตือนให้องค์กรไม่แสวงหากำไรแห่งนั้น

ดำเนินการเปิดเผยข้อมูลภายในเวลาที่กำหนด  หรือภายในเวลาที่องค์กรไม่แสวงหากำไรขอผ่อนผันการดำเนินการ  หากพ้นกำหนดเวลาแล้วยังมิได้ดำเนินการเปิดเผย  ให้นายทะเบียนมีอำนาจออกคำสั่งให้องค์กรไม่แสวงหากำไรแห่งนั้นหยุดการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไรจนกว่าจะดำเนินการเปิดเผยข้อมูล

มาตรา 20  องค์กรไม่แสวงหากำไรต้องไม่ดำเนินงานในลักษณะดังต่อไปนี้  (1) กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ  รวมถึงความมั่นคงของรัฐด้านเศรษฐกิจ  หรือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  (2) กระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  หรือก่อให้เกิดแตกแยกในสังคม  ฯลฯ

มาตรา 21 องค์กรไม่แสวงหากำไรแห่งใดที่ได้รับเงินอุดหนุนหรือเงินบริจาคจากแหล่งเงินทุนต่างประเทศให้ดำเนินการ  ดังต่อไปนี้  (1) แจ้งชื่อแหล่งเงินทุนต่างประเทศ  บัญชีธนาคารที่จะรับเงิน  จำนวนเงินที่จะได้รับ  และวัตถุประสงค์ของการนำเงินไปใช้จ่ายต่อนายทะเบียน

(2) ต้องรับเงินผ่านบัญชีของธนาคารตามที่องค์กรไม่แสวงหากำไรแจ้งไว้ต่อนายทะเบียน  (3) ต้องใช้เงินที่ได้รับจากแหล่งเงินทุนต่างประเทศเฉพาะตามวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งต่อนายทะเบียนตาม (1)   และ (4) ต้องไม่ใช้เงินที่ได้รับจากแหล่งเงินทุนต่างประเทศเพื่อดำเนินกิจกรรมในลักษณะการแสวงหาอำนาจรัฐ  หรือเอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมือง

ขอย้ำว่า  ตามร่าง ...ฉบับนี้ยังไม่ใช่ร่างฉบับสุดท้าย   หากมีการให้ความคิดเห็นต่าง ๆ จะนำมาวิเคราะห์   โดยทางกระทรวง พม.จะตั้งคณะกรรมการมาพิจารณาว่าจะต้องปรับปรุงหรือไม่อย่างไร  ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากล่าว

เบญจวรรณ  บุตรเพชรรัตน์   ผู้แทนกระทรวง พม.

เบญจวรรณ  บุตรเพชรรัตน์  ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม  กระทรวง พม.  กล่าวชี้แจงช่องทางการรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ของกระทรวง พม. และกติกาการรับฟังความคิดเห็นว่า   กระทรวง พม.มอบให้กรมการพัฒนาสังคมและสวัสดิการเป็นหน่วยงานหลักดำเนินการเรื่องนี้   มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการ

รับฟังความคิดเห็น ร่าง พ.ร.บ.ตามกฎหมายมาตรา  77 ของรัฐธรรมนูญ  และตาม พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562

ส่วนขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นมี 5 ช่องทาง  คือ 1.ระหว่างวันที่ 18 มกราคม-25 มีนาคม 2565  ผ่านทางเว็บไซต์กระทรวง พม. เช่น  www.m-society.go.th  2.การรับฟังผ่านอีเมล์  [email protected]  3.นำส่งด้วยตนเองที่กองส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม  กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ  กระทรวง พม.  4.การประชุมรับฟังความคิดเห็นผ่านเวที onsite และ online  สำหรับประชาชนทั่วไปและผู้มีส่วนได้เสีย  และ 5.การรับฟังความคิดเห็นระดับพื้นที่ทั้ง 77 จังหวัด      หลังจากนั้นจะมีการวิเคราะห์ผลกระทบร่างกฎหมาย  โดยกระทรวง พม.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  และนำข้อมูลที่ได้มาเปิดเผยต่อสาธารณะ  จากนั้นจะนำเสนอผลการรับฟังความคิดเห็นต่อคณะรัฐมนตรี  ซึ่งร่าง พ...ฉบับนี้ยังไม่ใช่ร่างสุดท้าย  เราต้องรวบรวมผลการรับฟังทั้งหมดเพื่อให้ ครม.ตัดสินใจพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ผู้แทนกระทรวง พม.กล่าว

ภาคประชาชนระดมเสียงค้านร่าง พ...

จากนั้น ดร. ศักดิ์ณรงค์  มงคล  มหาวิทยาลัยรังสิต   ประธานกรรมการรับฟังความคิดเห็น  เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทั่วประเทศผ่านระบบ Zoom  Meeting   โดยในช่วงแรกมีเข้าร่วมประชุมกว่า 300  คน  ใช้เวลารับฟังความคิดเห็นประมาณ 2 ชั่วโมง   ผู้แสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่แสดงความเห็นคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้   โดยเสนอให้ยกเลิก พ.ร.บ.ทั้งฉบับ  และไม่ต้องอภิปรายเป็นรายมาตรา

ดร. ศักดิ์ณรงค์  มงคล   ประธานกรรมการรับฟังความคิดเห็น

นายสุริยันต์  ทองหนูเอียด  ผู้ช่วยมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ  กล่าวว่า  พ.ร.บ.นี้  ไม่มีความจำเป็นที่จะออกมาในสถานการณ์ปัจจุบัน  เพราะมีกฎหมายอื่นรองรับอยู่แล้ว  ไม่เอากฎหมายที่ออกโดยรัฐบาลเผด็จการ  ลากตั้ง  รัฐบาลแบบนี้จะเข้าใจองค์กรไม่แสวงหากำไรได้อย่างไร  เป็นกฎหมายมัดมือมัดเท้า  ให้อำนาจพนักงานปิดกิจกรรมขององค์กรภาคประชาชนที่มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน   หลักกฎหมายต้องคุ้มครองประชาชนเป็นหลัก   ต้องเป็น civil law ขอคัดค้านทั้งฉบับ

นายเอกนัฐ  บุญยัง  ผู้แทนในที่ประชุมระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล  กล่าวว่า  กฎหมายฉบับนี้เร่งรีบปราศจากเหตุผล  นอกจากนัยยะทางการเมือง  คือ 1. การบัญญัติกฎหมายต้องผ่านกระบวนการนิติบัญญัติ  ไม่ใช่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่วินิจฉัย  บทบัญญัติใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่มีหลักการ   2. การควบคุมระบบข้อมูลของประชาชน  ใช้อำนาจโดยมิชอบ เป็นการละเมิดสิทธิ  การกำหนดบทลงโทษทางอาญาสูงมาก  การกำหนดแบบนี้บ่งชัดว่าต้องการปรามองค์กรที่เห็นต่างกับภาครัฐ

นางสาวอรษา โภคบุตร  ตัวแทนขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดพังงา  กล่าวว่า  ขอคัดค้านและให้ยกเลิก พ.ร.บ.ฉบับนี้ทั้งฉบับ   เพราะจากการศึกษารายละเอียดแล้วเห็นว่าไม่มีประโยชน์กับการทำงานขององค์กรชุมชน  ไม่เอื้อต่อการให้ภาคประชาชนได้มีหุ้นส่วนในการพัฒนาประเทศ  ไม่ได้สร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม  อีกทั้งยังให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ในการวินิจฉัยองค์กรชุมชนแทนการตัดสินของศาล  และกำหนดโทษไว้สูงเกินกว่าเหตุ  ซึ่งในต่างประเทศยังไม่ทำกันมากขนาดนี้  การออก พ.ร.บ.ฉบับนี้เพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพของภาคประชาชนโดยตรง  เราจึงขอคัดค้านและให้ยกเลิกทั้งฉบับ

ขณะเดียวกันมีความคิดเห็นที่สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้   โดยนายสาโรจน์  สินธู  ตัวแทนคณะกรรมการสนับสนุนสวัสดิการชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช  กล่าวว่า  ในฐานะที่เป็นองค์กรขับเคลื่อนกิจกรรมในรูปแบบไม่แสวงหาผลกำไร  คิดว่าไม่กระทบ  ถ้าติดตามสถานการณ์ปัจจุบันจะเห็นว่ามีการทำกิจกรรมที่กระทบสถาบันอย่างรุนแรง  กระทบต่อความมั่นคง  ถ้ามี พ.ร.บ.นี้ก็ไม่น่ากลัว  ถ้าเราทำงานที่ไม่กระทบต่อความมั่นคง  ถ้ามี พ.ร.บ.รองรับก็เป็นสิ่งดี  ในอนาคตเราจะมาเรียกร้องหากฎหมายรองรับ  มองว่า พ.ร.บ.นี้เป็นเรื่องก้าวสำคัญที่มารองรับการทำงาน

ทั้งนี้ในตอนท้ายของการเปิดรับฟังความคิดเห็น  ที่ประชุมเสนอให้งดการอภิปรายเป็นรายมาตรา  และให้มีการโหวตเสียงว่าใครจะเห็นคัดค้านหรือสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้   ผลปรากฏว่ามีผู้ที่คัดค้านไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้  รวม  210 คน   มีผู้เห็นด้วย 5 คน  โดยหลังจากนี้กระทรวง พม.จะเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านช่องทางต่างๆ  เช่น  เว็บไซต์  อีเมล์  รวมทั้งเปิดรับฟังความเห็นในพื้นที่ทั่วประเทศ  รวม 77 จังหวัดต่อไป

รัฐบาลแจงเหตุผลเสนอร่าง พ...

ก่อนหน้านี้  นายธนกร  วังบุญคงชนะ  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ได้เปิดเผยหลัง ครม.มีมติเห็นชอบ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว  เมื่อวันที่  4  มกราคมที่ผ่านมาว่า   ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มุ่งเน้นส่งเสริมองค์กรไม่แสวงหากำไร  ให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการดำเนินกิจการให้เป็นไปอย่างเปิดเผย  โปร่งใส  และเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ  รวมทั้งมีการกำหนดกลไกการกำกับดูแลเท่าที่จำเป็น  ไม่ให้เป็นภาระแก่องค์กรไม่แสวงหากำไร  

ขณะเดียวกันก็ให้ความคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ รักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อบและศีลธรรมอันดีของประชาชน  ทั้งนี้การดำเนินกิจกรรมขององค์กรต่างๆ  ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 25 ของรัฐธรรมนูญ

นายธนกรกล่าวด้วยว่า  พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงเป้าหมายสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว  เพื่อประโยชน์สาธารณะ  โปร่งใส  และเป็นประโยชน์  ซึ่งยังต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชน ซึ่งข้อกำหนดต่างๆ เป็นไปตามมาตรฐานสากลว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน  ป้องกันการสนับสนุนด้านการเงินในการต่อต้านการก่อการร้าย  ซึ่งหลายประเทศก็มีกลไกและกฎกติกาเช่นนี้  ขณะที่รอร่าง พ.ร.บ. เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภาก็ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้กฏหมายที่มีอยู่  พร้อมขอสนับสนุนจากวิปรัฐบาลในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฯ เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาต่อไป

เครือข่ายภาคประชาชนร่วมยื่นหนังสือคัดค้านที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2564            

สำหรับบทกำหนดโทษตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้  เช่น  มาตรา 25  องค์กรไม่แสวงหากำไรแห่งใดไม่หยุดการดำเนินกิจกรรมตามคำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา 19 วรรคสี่ หรือมาตรา 22  ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท และปรับอีกวันละหนึ่งพันบาท  ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

มาตรา 26 องค์กรไม่แสวงหากำไรแห่งใดไม่ยุติการดำเนินงานตามคำสั่งของนายทะเบียนตามมาตรา 20 วรรคสอง หรือมาตรา 21  ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท  และปรับอีกวันละหนึ่งหมื่นบาท  ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

แถลงการณ์ เครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชน

ขณะเดียวกัน  ภาคประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้านมาอย่างต่อเนื่อง  เช่น  เครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชน ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง ประชาชนต้องมีสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มทางสังคม  เพื่อร่วมกำหนดอนาคตของตนเองในการพัฒนาประเทศ"  มีเนื้อหาสรุปว่า  มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2565  แสดงให้เห็นถึงความไม่สนใจใยดีต่อเหตุผลที่เครือข่ายภาคประชาชนพยายามนำเสนอเพื่อให้รัฐบาลได้พิจารณาทบทวนความคิดในการตรากฎหมายฉบับดังกล่าว

เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับเสรีภาพในการรวมกลุ่ม  การชุมนุมสาธารณะ  การแสดงออก และสิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร  มีการใช้อำนาจรัฐเกินขอบเขต  โดยเฉพาะอำนาจข้าราชการในการใช้ดุลพินิจว่ากิจการใดขัดต่อความสงบเรียบร้อย  ขัดต่อความมั่นคงของรัฐได้ตามอำเภอใจ  มีอำนาจสั่งห้ามไม่ให้มีการกระทำนั้นๆ ได้โดยไม่สามารถฟ้องร้องศาลปกครองได้

เครือข่ายองค์กรชุมชนคัดค้านร่าง พ.ร.บ.

โดยร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีเจตนาและเนื้อหาต้องการควบคุม  กำกับ  และเข้าข่ายคุกคามการรวมกลุ่มของประชาชนในทุกรูปแบบ  โดยอ้างเหตุผลว่าต้องการจัดระบบกลุ่มองค์กรทางสังคมในประเทศให้มีความสงบเรียบร้อยมากขึ้น  ทั้งที่ในความจริงแล้ว  ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายหลายฉบับ ได้ทำหน้าที่กำกับดูแลและตรวจสอบการรวมกลุ่มทางสังคมเพื่อสาธารณประโยชน์อยู่แล้ว   และองค์กรเหล่านี้ก็ได้ปฏิบัติตามกฎหมายฉบับต่างๆ  ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดเสมอมา

ดังนั้นความพยายามของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันกฎหมายฉบับนี้  กำลังส่อเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์และกำลังใช้ระบบราชการอำนาจนิยมแบบเผด็จการทหาร  ในการกำกับ  ควบคุมภาคประชาชนให้ดำเนินกิจกรรมอยู่ภายใต้การรวมศูนย์อำนาจของตนเองเท่านั้น  อันเป็นภัยคุกคามการรวมกลุ่มของประชาชน  มากกว่ามองเห็นเป็นหุ้นส่วน  ซึ่งเป็นปฏิปักษ์และบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมอย่างสิ้นเชิง  และขัดต่อหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ  

เครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมภาคประชาชน  ขอยืนยันว่าพวกเราไม่ได้ปฏิเสธการถูกตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส  แต่เราไม่ยอมรับและขอคัดค้านร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้อย่างถึงที่สุด  จนกว่าจะมีการถอนร่างกฎหมายฉบับนี้ตามเหตุผลที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น  ทั้งนี้จะมีการนัดหมายองค์กรและเครือข่ายภาคประชาชนทั่วประเทศที่ได้มีการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันแล้ว 1,800 กว่าองค์กรให้ออกมาคัดค้านรัฐบาลในเรื่องนี้  ก่อนที่จะมีการนำร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีครั้งต่อไป แถลงการณ์คัดค้านระบุ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'กลุ่มผู้สูงวัย' จี้ 'วราวุธ' เพิ่มเบี้ยคนชรา 1,000 บาทถ้วนหน้าในปีนี้ จ่อบุกทำเนียบฯหลังสงกรานต์

กลุ่มเครือข่ายผู้สูงอายุประมาณ 35 คน นำโดย น.ส.อรุณี ศรีโต ประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ ได้เดินทางไปยังกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ตั้งแต่เวลา 10.00 น. โดยได้มีการชูป้ายเรียกร้องให้รัฐเห็นความสำคัญของการเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ

'ผู้สูงวัย' นัดรวมตัวบุก พม. ทวงถามเบี้ยคนชรา 1,000 บาทถ้วนหน้า

ศูนย์ประสานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ ได้ทำหนังสือถึงนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐ เพื่อทวงถามถึงมติเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุถ้วนหน้า 1,000 บาท/คน/เดือน ที่ประกาศไปเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2567

รมว.พม. ยันไม่ส่งตัวเด็กต่างด้าว 19 คนกลับประเทศต้นทาง

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงกระแสข่าวโจมตีกระทรวง พม.ในขณะนี้ เกี่ยวกับกรณีการส่งตัวเด็กต่างด้าว 19 คน ที่อยู่ในบ้านพักเด็ก

19 เด็กไร้สัญชาติ ถูกออกเรียนกลางคันอีก รัฐส่งกลับพม่าหลังไปเรียนอยู่ลพบุรี

19 เด็กไร้สัญชาติถูกออกเรียนกลางคันอีก พม.จับมือตม.เตรียมส่งกลับฝั่งพม่าหลังพบไปเรียนอยู่ลพบุรี มูลนิธิบ้านครูน้ำยื่น กสม.สอบด่วนเผยละเมิดสิทธิเด็กซึ่งหนีภัยการสู้รบ-ยาเสพติด

‘วราวุธ’ รมว.พม. เยี่ยมชุมชนริมคลองเปรมประชากร ด้าน ‘พอช.’ เดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัย-คุณภาพชีวิตแล้ว 17ชุมชน 1,699 ครัวเรือน

คลองเปรมประชากร/ ‘วราวุธ ศิลปอาชา’ รมว.พม.ลงพื้นที่เยี่ยมชาวชุมชนริมคลองเปรมประชากร โดยลงเรือบริเวณท่าเรือชั่วคราวสะพานสูง เขตบางซื่อ