กมธ.กฎหมายลูกเจอตอ “คำนวณปาร์ตี้ลิสต์” สะดุด

ประเด็นสำคัญที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.เพิ่งลงมติผ่านไปหมาดๆ ก่อนช่วงเทศกาลสงกรานต์ คือ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้จัดตั้งพรรคการเมือง ผลสรุป (ยัง) คงให้ใช้ตามกฎหมายที่บังคับใช้ปัจจุบัน โดยเสียงส่วนใหญ่ในคณะ กมธ.ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ “อนันต์ ผลอำนวย” ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ เสนอมา แต่เห็นว่าทางเจ้าตัวและ ส.ส.บางฝ่ายจะขอสู้ต่อ โดยสงวนความเห็นไปอภิปรายในวาระ 2 อีก

อย่างไรก็ตาม ไทม์ไลน์หลังหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ เปิดมาคณะ กมธ.จะประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นใหญ่ 2 ประเด็น ได้แก่ การจัดทำไพรมารีโหวต และ “วิธีการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ” ซึ่ง “นพ.ระวี มาศฉมาดล” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ และ กมธ. ออกหน้าแทนพรรคเล็กอีกหลายพรรค คัดค้านวิธีการคำนวณของพรรคใหญ่ เพราะทำให้พรรคเล็กๆ เสียเปรียบ หรืออาจสูญพันธุ์ในการเลือกตั้งเที่ยวหน้า โดยอ้างเหตุผลการคิดคำนวณไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ปี 60 ที่ไม่ต้องการให้เสียงประชาชนตกน้ำ

ตอนนี้ “หมอระวี” ไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ศาลวินิจฉัยว่า บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เป็นโมฆะ เนื่องจากขัดเจตนารมณ์และขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 93, มาตรา 94 หรือไม่

ขณะเดียวกันมีข้อเท็จจริงปรากฏขึ้นว่า รัฐธรรมนูญได้ถูกแก้ไขเพิ่มเติมให้เป็นแบบบัตร 2 ใบตั้งแต่ปีที่แล้ว และการพิจารณาของคณะ กมธ.ชุดนี้ ก็ทำเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น

จะเหลือก็แต่การถกเถียงจะคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์อย่างไร???

ด้าน “หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่” เคยแถลงข่าวเปิดเผยว่า มี 3 แนวทาง คือ 1.สูตรของพรรคใหญ่ ที่ใช้คะแนนทุกพรรค หารด้วยจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ซึ่งจะทำให้มีผลลัพธ์คะแนนต่อ ส.ส. 1 คน ที่ 3.7 แสนคะแนน

2.สูตรที่เสนอให้ใช้คะแนนพรรค หารด้วยจำนวน ส.ส.ทั้งหมด 500 คน เพื่อให้ได้ ส.ส.พึงมี โดยมีคะแนน 7.4หมื่นคะแนน ต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน

3.สูตรพรรคเล็ก ให้นำคะแนนทั้ง ส.ส.บวกกับคะแนนพรรค จากนั้นหารด้วยจำนวน ส.ส.ทั้งหมด 500 คน เพื่อให้ได้ ส.ส.พึงมี โดยจะได้คะแนน 1.5แสนคะแนนต่อ ส.ส. 1 คน

พูดกันง่ายๆ สูตรของพรรคเล็กก็คือระบบจัดสรรปันส่วนผสมนั่นเอง ซึ่งใน กมธ.จำนวนมากเห็นแย้งว่าจะคำนวณตามนั้นได้อย่างไร เพราะขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ที่กำหนด ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ออกจากกันอย่างชัดเจน

                    ที่สำคัญ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ....ที่ที่ประชุมร่วมรัฐสภารับมาทั้ง 4 ฉบับ ทั้งของฝ่ายค้าน 2 ฉบับ ของคณะรัฐมนตรี และของพรรคร่วมรัฐบาล มีความชัดเจน บัญญัติไว้ในมาตรา 128 ว่าด้วยวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ “มาตรา 128 (2) ให้นำคะแนนรวมทั้งหมดที่ทุกพรรคการเมืองได้รับ หารด้วยหนึ่งร้อย ผลลัพธ์ที่ได้ให้ถือเป็นคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน”

                    แต่ๆๆ กมธ.ฟากฝั่ง ส.ว.ส่งเสียงว่า ต้องยึดตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด นอกจากมาตรา 91 แล้ว ในรัฐธรรมนูญยังคงมาตรา 93 และมาตรา 94

เมื่อกางมาตรา 93 อ่าน มาตราดังกล่าวระบุไว้ว่า “ในการเลือกตั้งทั่วไป ถ้าต้องมีการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ในบางเขต หรือบางหน่วยเลือกตั้งก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง หรือการเลือกตั้งยังไม่แล้วเสร็จ หรือยังไม่มีการประกาศ ผลการเลือกตั้งครบทุกเขตเลือกตั้งไม่ว่าด้วยเหตุใด การคํานวณจํานวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคการเมืองพึงมี และจํานวนแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละ ส.ส.พรรคการเมืองพึงได้รับ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

มาตรา 94 ภายใน 1 ปีหลังจากวันเลือกตั้งอันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ถ้าต้องมีการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดขึ้นใหม่ เพราะเหตุที่การเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้นําความในมาตรา 93 มาใช้บังคับโดยอนุโลม การเลือกตั้ง ส.ส.แทนตําแหน่งที่ว่างไม่ว่าด้วยเหตุใดภายหลังพ้นเวลา 1 ปี นับแต่วันเลือกตั้งทั่วไป มิให้มีผลกระทบกับการคํานวณ ส.ส.ที่แต่ละพรรคการเมือง จะพึงมีตามมาตรา 91

พอยต์สำคัญของ 2 มาตรา คือการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อยังต้องยึดโยงการเลือกตั้ง ส.ส.เขต!!! ฉะนั้น จึงเกิดเป็นคำถามที่ยังไร้คำตอบ ว่าสรุปแล้วหารด้วยจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 100 คน หรือ หารด้วยจำนวน ส.ส.ทั้งหมด 500 คนกันแน่ แล้วถ้าหาร 500 จะขัดกับมาตรา 91 หรือไม่ กลายเป็นความลักลั่นกันเองของรัฐธรรมนูญ

หลังสงกรานต์ต้องรอเซียนกฎหมายผสานเซียนคณิตศาสตร์สางปมหาทางออก ในทางตรงกันข้าม ถ้ายิ่งแก้ยิ่งยุ่งเป็นลิงแก้แหก็อาจเกิด “เดดล็อกการเมือง”.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ลากไส้องค์กร'สีกากี'ยิ่งแฉยิ่งเละ ถึงเวลาปฏิรูปตำรวจกู้ภาพลักษณ์

เละ! ตายตามกันไปข้าง ศึกภายในรั้ว “กรมปทุมวัน” ถึงแม้ “บิ๊กต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร.และ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.จะถูกโยกไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี แต่ศึก “นอมินี” แทงฟันกันเลือดสาดไม่มีใครยอมใคร อย่างที่ ทีมทนาย “รองฯ โจ๊ก” เตือนก่อนที่ความขัดแย้งจะบานปลายมาจนถึงปัจจุบัน “ไม่ยอมตายเดี่ยว”

เดินหน้าแจกดิจิทัลวอลเล็ต หลังเพิ่มทางเลือกแหล่งเงิน

หลังเมื่อวันจันทร์ที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง” เปิดแถลงข่าวไทม์ไลน์นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต โดยยืนยันว่ารัฐบาลจะเดินหน้านโยบายดังกล่าวต่อไป และจะสามารถแจกเงินให้ประชาชน 10,000 บาท ได้ภายในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ คือประมาณ ตุลาคม-ธันวาคม 2567

กางไทม์ไลน์‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ รัฐบาลได้‘ไฟเขียว’แจกเงิน?

โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท นโยบาย เรือธง ของพรรคเพื่อไทย โยกเยก ไร้ความชัดเจนตั้งแต่เข้ามาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ

ทักษิณรุกคอนโทรล พท. ยิ่งขยับ ยิ่งเข้าทาง ก้าวไกล

การเดินทางเข้าพรรคเพื่อไทยของ ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะ เจ้าของพรรค-หัวหน้าพรรคเพื่อไทยตัวจริง วันอังคารที่ 26 มี.ค.นี้ ถ้าไม่มีการยกเลิกเสียก่อน แต่ก็พบว่า กระแสข่าวดังกล่าวค่อนข้างคอนเฟิร์มว่าทักษิณไปแน่

สภาสูงVSเศรษฐา เปิดแผนสว.จัดทัพถล่ม

ระเบิดศึกการเมือง “สมาชิกวุฒิสภาVSรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน” กันในวันจันทร์ที่ 25 มีนาคมนี้แล้ว เพราะจะเป็นการประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณาญัตติให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153

ลายแทงอำนาจหลังศึก'สีกากี' ชิงจัดทัพเก้าอี้ตำรวจ-ทหาร

หลังจากนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งเด้ง บิ๊กต่อ-พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล