ลุ้นศาล รธน.ชี้ชัด “กม.ลูก” ก่อนทำศึกเลือกตั้งเต็มสูบ

ตั้งแต่วันที่ 25 ส.ค.จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 1 เดือนครึ่ง ที่ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ นำรายชื่อ ส.ส. ส.ว. จำนวน 106 คน ยื่นต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ขอให้ส่งร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น

บรรดาพรรคการเมืองและนักการเมืองต่างตั้งตารอว่าเมื่อไหร่จะมีความชัดเจนในเรื่องนี้ เพราะสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก่อให้เกิดความได้เปรียบ-เสียเปรียบกับพรรคขนาดต่างๆ ทั้งพรรคเล็ก พรรคใหญ่ พรรคเกิดใหม่ หากศาลชี้ออกมาทางใดทางหนึ่ง ส.ส. พรรคการเมืองก็จะได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่เตรียมไว้

แต่ปัจจุบันศาลยังไม่วินิจฉัยจึงเกิดความคลุมเครือ จึงเห็นนักการเมืองออกมาวิงวอนขอให้ศาลชี้เรื่องนี้โดยเร็ว ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าเร่งไม่ได้ เพราะจะกลายเป็นการกดดันศาล

ฉะนั้น พรรคการเมืองก็ได้แต่ขยับแบบเล็กๆ น้อยๆ เพราะอีกใจคิดว่าเกิดศาลวินิจฉัยสูตรหาร 100 ขัดรัฐธรรมนูญขึ้นมา งานจะงอกเอา ถ้าเป็นจริงตามที่คาดไว้ กูรูการเมืองบางฝ่ายประเมินถึงขนาดขั้นว่าจะไม่มีการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันก็มีเสียงวิเคราะห์วิจารณ์ว่าอาจได้เห็นการกลับไปแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้ง!!

อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าของศาลรัฐธรรมนูญขณะนี้คือ ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ส่งคำชี้แจงเรื่องกฎหมายลูกเลือกตั้ง ส.ส.ถึงตุลาการศาลฯ เรียบร้อยแล้ว 

ด้วยประการนี้ หลายพรรคการเมืองจึงค่อยๆ เดิน มีพรรคเดียวที่ชัดเจนคือ “พรรคกล้า” ตัดสินใจย้ายบุคลากรไปรวมกับ “พรรคชาติพัฒนา” โดยปัจจุบันใช้ชื่อพรรคว่า “ชาติพัฒนากล้า

ส่วนพรรคอื่นๆ ที่เกิดขึ้นใหม่ยังระวังหน้าระวังหลัง และมีเพียงข่าวลือว่าพรรคนั้นพรรคนี้จะรวมกัน เพื่อทำศึกสนามเลือกตั้งในคราวหน้าเท่านั้น

ยกตัวอย่างเช่น “พรรค 3 ส.” สร้างอนาคตไทย ไทยสร้างไทย และ เสรีรวมไทย ว่ากันว่าเปิดโต๊ะดีลกันแล้ว แต่ยังดีลไม่ลงตัวว่าจะให้ใครเป็นคนนำ

ส่วนปีก กปปส.เก่า มีข่าวว่า พรรครวมพลัง ของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะไปควบรวมกับ พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นหัวหน้า และมี นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เป็นเลขาธิการพรรค  

แม้จะมีเสียงจากฝั่ง “รวมพลัง” ออกมาปฏิเสธก่อนหน้านี้ว่าไม่ไป แต่ก็ยังคงต้องจับตา เพราะการเมืองไทยอะไรก็เกิดขึ้นได้ ที่สำคัญ ศาลก็ยังไม่ได้วินิจฉัย ฉะนั้น ความชัดเจนก็ยังจะไม่ชัดเจนต่อไป

ขณะที่ พรรคไทยภักดี ที่มี นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม เป็นหัวหน้าพรรค ยืนยันไม่รวมกับพรรคไหนไม่ว่าการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อจะเป็นสูตรหาร 100 หรือ 500 ล่าสุด นายถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ อดีต รมช.คมนาคม และแกนนำ กปปส.มานั่งประธานพรรคพร้อมสู้ศึกเลือกตั้งเต็มที่

สำหรับ “พรรคเศรษฐกิจไทย” ที่ก่อนหน้านี้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา แยกตัวออกจากพรรคพลังประชารัฐ พร้อมหนีบ ส.ส.ส่วนหนึ่งของพรรคไปบางส่วนเพื่อมาตั้งพรรคดังกล่าว ล่าสุด ร.อ.ธรรมนัสทิ้งเก้าอี้หัวหน้าพรรค และเจริญรอยตาม “พรรคกล้า” ตรงที่ยังคงรักษาพรรคเก่าไว้

ส่วนตัวสมาชิกพรรค หรือ ส.ส. เข้าสำนวนว่า “บ้านแตก” กระจัดกระจาย บ้างว่ากลับบ้านเก่าพลังประชารัฐ บ้างว่าไปฝากตัวรับใช้ นายใหญ่ ที่พรรคเพื่อไทย

ขณะเดียวกัน “พรรคเล็กที่อยู่ในสภาชุดปัจจุบัน” ที่ผ่านมาซ่ามาก โดนครหาลงมติแต่ละครั้งมีราคาค่างวด กินกล้วย จุกๆ สุดท้ายกล้วยเป็นพิษ เจอวางบิล มีใบเสร็จว่ารับเงินจริงๆ งานนี้เลยต้องสงบปากสงบคำ แกล้งตาย เพราะไม่รู้ว่าเลือกตั้งครั้งนี้ทั้งพรรคทั้งคนจะยังอยู่หรือไม่ หรือถ้ายังได้ไปต่อก็ไม่รู้ว่าจะมีสิทธิ์ตัดสินใจด้วยตัวเองไหม ว่าจะย้ายไปอยู่พรรคใด

พรรคสำคัญสุดท้าย “พลังประชารัฐ” สถานการณ์ง่อนแง่น ส.ส.พรรคโดดหนีตาย เล็งเข้าพรรคอื่นที่กระแสดีกว่า กระสุนเยอะกว่า เลือกตั้งรอบหน้าไม่รู้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรค และทีมยุทธศาสตร์จะแก้ไขสถานการณ์อย่างไร

ช่วงนี้แต่ละพรรคจึงรอลุ้นคำวินิจฉัยศาล รธน.ไปก่อน โดยเฉพาะพรรคเล็กยังหวังว่าสูตรหาร 100 จะขัด รธน.กลับไปใช้สูตรหาร 500 ส่วนพรรคขนาดกลาง ขนาดใหญ่ กำลังเดินหน้าสู้การเลือกตั้งแล้ว หากศาล รธน.มีความชัดเจนเมื่อไหร่ ทุกพรรคก็จะเดินหน้ากันเต็มสูบ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

7 เดือน ‘รัฐบาลเศรษฐา’ เผชิญแรงบีบรอบด้าน!

แม้จะยังไม่ผ่านโค้งแรกในการบริหารประเทศของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เริ่มต้นทำงานได้เพียง 7 เดือน แต่ก็เหมือนถูกบีบจากสถานการณ์รอบด้าน ที่เข้ามาท้าทายความสามารถของผู้นำประเทศ อีกทั้งยังมีภาพนายกฯ ทับซ้อนที่ทำให้นายกฯ นิดดูดร็อปลงไป

'ทักษิณ' เอฟเฟกต์! ส่อทำการเมืองไทยวนลูปเดิม

ช่วงที่ผ่านมาแม้จะมีประเด็นข่าวร้อนแรงมากมายแค่ไหน แต่มีบุคคลหนึ่งที่ถ้าอยู่ในหน้าข่าวเมื่อไหร่ มักจะสร้างประเด็นดรามาที่ต้องพูดถึงไม่หยุดกับพ่อใหญ่แห่งพรรคเพื่อไทย ทักษิณ ชินวัตร

สว.2567 เสี่ยงได้ วุฒิสภา สายพรรคการเมือง เชื่อมโยงผู้มีอิทธิพลในพื้นที่

เข้าสู่ช่วงเตรียมนับถอยหลังใกล้โบกมือลา สิ้นสุดการทำหน้าที่ของ สมาชิกวุฒิสภา ชุดปัจจุบันจำนวน 250 คน ที่จะหมดวาระลงในวันที่ 10 พ.ค. แต่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมี สว.ชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่

หาก ‘ไผ่’ วืด ‘เบนซ์’ เต็งหนึ่งรมต. เสียบแทน ‘โควตากลาง’ พปชร.

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ มั่นใจว่าคุณสมบัติของ นายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร และกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ยังนั่งเป็นรัฐมนตรีได้ แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติไม่รับคำร้อง กรณีนายไผ่ขอร้องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ถูก 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน ละเมิดจนไม่สามารถเป็นรัฐมนตรีได้ กรณีระบุว่า ขาดคุณสมบัติ

ครม.เศรษฐา 2 ทักษิณเคาะโผ ฉากทัศน์กองทัพยุค "บิ๊กนิด"

ชัดเจนแล้วว่า ครม.เศรษฐา 2 ที่จะเป็นการปรับ ครม.ครั้งแรกของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จะเกิดขึ้นแน่นอน โดยคาดว่า อาจจะเกิดขึ้นภายในปลายเมษายนนี้ หรือช้าสุดไม่เกินกลางเดือน พ.ค. เว้นแต่มีสถานการณ์แทรกซ้อนทำให้การปรับ ครม.อาจขยับออกไปได้

ลดความเสี่ยง‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ปรับ ครม.เค้นผลงานรัฐบาล

เรือธง ล้มไม่ได้ เพราะมีผลต่อเครดิตของพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะในปัจจุบันหรืออนาคต สำหรับโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท