แผนสยายปีก บิ๊กตู่-รทสช. หลัง "ประยุทธ์" ลงปาร์ตี้ลิสต์

การเข้าสู่การเมืองในการเลือกตั้งรอบนี้ของพลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี เส้นทางเริ่มชัดมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า รอบนี้ปักหลักแน่น เอาจริง แนวโน้มเล่นการเมืองยาว

หลังล่าสุดเตรียมลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ในลำดับที่ 1 ที่ถือว่าเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์ทางการเมืองพอควร

พ่วงไปกับการเข้าไปมีบทบาทในรวมไทยสร้างชาติมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่สมาชิกพรรคและว่าที่แคนดิเดตนายกฯ แต่ยังเป็น “ประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรค”

ที่หลายพรรคการเมืองก็มีคณะกรรมการชุดดังกล่าว และบางพรรคให้บทบาทมากกว่าคณะกรรมการบริหารพรรคเสียด้วยซ้ำ จนแวดวงการเมือง บัญญัติศัพท์ให้ว่าเป็นเหมือน “โปลิตบูโรพรรค” ที่หากเป็นแบบนี้ เท่ากับบิ๊กตู่คุมโปลิตบูโรรวมไทยสร้างชาตินั่นเอง 

ส่วนกรรมการคนอื่น ประกอบด้วยแกนนำพรรค รทสช.ทั้งสิ้นคือ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรคและเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค, ไตรรงค์ สุวรรณคีรี ประธานคณะกรรมการนโยบายพรรค, วิทยา แก้วภราดัย อดีต รมว.สาธารณสุข, สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน, ชัชวาลล์ คงอุดม หรือชัช เตาปูน, เสกสกล อัตถาวงศ์, ธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, วิสุทธิ์ ธรรมเพชร นายก อบจ.พัทลุง

โดยพรรค รทสช.ให้บทบาทคณะกรรมการชุดดังกล่าวไว้ว่า ให้ทำหน้าที่วางยุทธศาสตร์การบริหารจัดการ เพื่อให้กรรมการบริหารพรรคไปดำเนินการ โดยการดำเนินการของกรรมการบริหารพรรคนั้นจะต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรคก่อนทุกครั้ง

เรียกได้ว่าเป็น "บอร์ด รทสช." ที่มีบทบาทอำนาจไม่ธรรมดา และทำให้ พลเอกประยุทธ์เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์การเมืองของพรรคค่อนข้างสูง

แบบนี้เห็นชัดว่า การลงเลือกตั้งครั้งนี้ พลเอกประยุทธ์เลิกขาลอย แบบตอนเลือกตั้งปี 2562

ซึ่งรอบที่แล้วบิ๊กตู่ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์การเมืองใดๆ กับพลังประชารัฐ ถึงขนาดไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคด้วยซ้ำ จะมีก็แค่ตอนหาเสียงโค้งสุดท้าย ที่บิ๊กตู่ไปขึ้นเวทีปราศรัยพลังประชารัฐเวทีใหญ่เวทีสุดท้าย ที่สนามกีฬาเทพหัสดิน เมื่อค่ำวันที่ 22 มีนาคม ก่อนวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 เพียงแค่ 2 วันเท่านั้น  

และแม้ต่อมา หลังเลือกตั้ง ส.ส.พลังประชารัฐ พร้อมใจโหวตเลือกพลเอกประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ รอบ 2 แต่พลเอกประยุทธ์ยังคงแสดงท่าที รักษาระยะห่างจากคนในพลังประชารัฐเหมือนเช่นเคย เว้นแค่บางช่วงเท่านั้นที่เข้าไปคลุกคลีด้วย เช่น ตอนศึกซักฟอก ที่จำเป็นต้องอาศัยเสียง ส.ส.พลังประชารัฐโหวตไว้วางใจให้ ทำให้พลเอกประยุทธ์ไม่ได้มีความผูกพันการเมืองมากนักกับพลังประชารัฐ

อันแตกต่างอย่างสิ้นเชิงในยุคปัจจุบัน ที่มาอยู่กับรวมไทยสร้างชาติ ที่จะเสนอชื่อบิ๊กตู่เป็นแคนดิเดตนายกฯ ที่พลเอกประยุทธ์ เป็นทั้งสมาชิกพรรค และวันแรกที่เข้าเป็นสมาชิกพรรค ก็ขึ้นกล่าวปราศรัยยาวเหยียด กลางเวทีใหญ่พรรคที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ท่ามกลางกระแสข่าวที่ออกมาตลอดก่อนหน้านี้ว่า พลเอกประยุทธ์วางแผนการเมืองและสนับสนุนการจัดตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติมาแต่แรก ดีกว่าที่จะอยู่ใต้เงาพลเอกประวิตร ที่พรรคพลังประชารัฐ

มาถึงวันนี้จึงเห็นแล้วว่า ที่พลเอกประยุทธ์เป็นทั้งสมาชิกพรรค-ว่าที่แคนดิเดตนายกฯ-เตรียมลงสมัคร ส.ส.ครั้งแรก-การนั่งเป็นประธานบอร์ดที่มีอำนาจมากที่สุดในพรรค ทั้งหมด ชัดเจน

“บิ๊กตู่ปักหลักลุยการเมืองยาว”

ผลที่ตามมา จับทิศทางได้ไม่ยาก มีผลกับคนในพรรครวมไทยสร้างชาติตามมาสูง เพราะทำให้คนในพรรค-ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคทั้งหมด มั่นใจและฮึกเหิมการเมืองว่า บิ๊กตู่เอาจริง ไม่ได้มาเล่นๆ และพร้อมจะลุยไหนลุยกันแบบยาวๆ กับคนในพรรค

ถือเป็นการซื้อใจคนในพรรคให้สู้ตายการเมือง ลงสนามรบเลือกตั้งไปด้วยกันกับพลเอกประยุทธ์

ขณะเดียวกัน นายทุน-กลุ่มทุน ต่างๆ ที่จะหนุนหลังรวมไทยสร้างชาติ ก็มั่นใจมากขึ้นในการจะเข้าไปซับพอร์ตพรรค หลังเห็นบิ๊กตู่เอาจริง ไม่ขาลอย หลังมีกระแสข่าวว่า เริ่มมีกลุ่มทุนหลายกลุ่มเตรียมเข้ามาสนับสนุนพรรค รทสช. แต่อาจยังลังเลอยู่ แต่เมื่อพลเอกประยุทธ์ลุยการเมืองเต็มตัวแบบนี้ ก็คงทำให้ทุนต่างๆ ที่จะเข้ามา น่าตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

ที่สำคัญ การที่บิ๊กตู่ลงสมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จะมีผลอย่างมากในการสร้างแรงจูงใจให้คนลงคะแนนเสียงในบัตรปาร์ตี้ลิสต์ ด้วยการเลือกรวมไทยสร้างชาติแบบไม่ต้องลังเล ซึ่งจะทำให้ รวมไทยสร้างชาติได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์แบบเป็นกอบเป็นกำ และคาดหวังจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ได้มากขึ้นกว่าการไม่มีบิ๊กตู่ลงสมัครอย่างมาก

 จนแกนนำพรรค ดร.ไตรรงค์ ประเมินว่า หลังบิ๊กตู่จะลงปาร์ตี้ลิสต์ จะมีผลทางบวกต่อพรรค ทำให้น่าจะได้ ส.ส.มากขึ้น ขั้นต่ำก็ 70 เสียง

ขณะเดียวกัน หากหลังเลือกตั้ง พลเอกประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ เป็นสมัยที่ 3 พร้อมกับการเป็น ส.ส. และหากพ้นจากตำแหน่งหลังเป็นนายกฯ 2 ปี เพราะครบเทอม 8 ปี พลเอกประยุทธ์ก็ยังมีสถานะ ส.ส.ในสภาฯ รองรับ ทำให้คนในรวมไทยสร้างชาติอุ่นใจทางการเมืองได้ว่า บิ๊กตู่ยังอยู่ในการเมือง เป็นเสาหลักให้กับพรรคต่อไป ไม่ได้หลุดวงโคจรการเมืองไปทันที

ท่ามกลางกระแสข่าวว่า รวมไทยสร้างชาติมีไพ่การเมืองอีกหลายใบที่จะเปิดออกมาต่อจากนี้ เพื่อทำให้พรรคสยายปีก มี ส.ส.เข้าสภาฯ มากที่สุดเท่าที่จะทำได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ลากไส้องค์กร'สีกากี'ยิ่งแฉยิ่งเละ ถึงเวลาปฏิรูปตำรวจกู้ภาพลักษณ์

เละ! ตายตามกันไปข้าง ศึกภายในรั้ว “กรมปทุมวัน” ถึงแม้ “บิ๊กต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร.และ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.จะถูกโยกไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี แต่ศึก “นอมินี” แทงฟันกันเลือดสาดไม่มีใครยอมใคร อย่างที่ ทีมทนาย “รองฯ โจ๊ก” เตือนก่อนที่ความขัดแย้งจะบานปลายมาจนถึงปัจจุบัน “ไม่ยอมตายเดี่ยว”

เดินหน้าแจกดิจิทัลวอลเล็ต หลังเพิ่มทางเลือกแหล่งเงิน

หลังเมื่อวันจันทร์ที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง” เปิดแถลงข่าวไทม์ไลน์นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต โดยยืนยันว่ารัฐบาลจะเดินหน้านโยบายดังกล่าวต่อไป และจะสามารถแจกเงินให้ประชาชน 10,000 บาท ได้ภายในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ คือประมาณ ตุลาคม-ธันวาคม 2567

กางไทม์ไลน์‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ รัฐบาลได้‘ไฟเขียว’แจกเงิน?

โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท นโยบาย เรือธง ของพรรคเพื่อไทย โยกเยก ไร้ความชัดเจนตั้งแต่เข้ามาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ

ทักษิณรุกคอนโทรล พท. ยิ่งขยับ ยิ่งเข้าทาง ก้าวไกล

การเดินทางเข้าพรรคเพื่อไทยของ ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะ เจ้าของพรรค-หัวหน้าพรรคเพื่อไทยตัวจริง วันอังคารที่ 26 มี.ค.นี้ ถ้าไม่มีการยกเลิกเสียก่อน แต่ก็พบว่า กระแสข่าวดังกล่าวค่อนข้างคอนเฟิร์มว่าทักษิณไปแน่

สภาสูงVSเศรษฐา เปิดแผนสว.จัดทัพถล่ม

ระเบิดศึกการเมือง “สมาชิกวุฒิสภาVSรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน” กันในวันจันทร์ที่ 25 มีนาคมนี้แล้ว เพราะจะเป็นการประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณาญัตติให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153

รทสช. ยัน 4 รัฐมนตรีพรรค พร้อมแจงข้อสงสัย สว. ในการอภิปราย 25 มี.ค.นี้

โฆษกรวมไทยสร้างชาติเผยรัฐมนตรีของพรรคพร้อมชี้แจงข้อสงสัยของสว.ในการเปิดอภิปรายทั่วไปตาม รธน.153 ดักคอสว.เป็นผู้ใหญ่รู้รัฐธรรมนูญดีว่าขอบเขตการอภิปรายทำได้แค่ไหน เนื่องจากไม่ใช่อภิปรายไม่ไว้วางใจ