ก้าวไกลมองข้ามช็อตเตรียม ช่วย"พิธา"สู้คดีชั้นศาลรธน.

เข้าสู่สัปดาห์ที่ 4 หลังการเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ตอนนี้เริ่มพบว่าเสียงเรียกร้องทางการเมืองให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เร่งประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งระบบเขตและบัญชีรายชื่อ เริ่มดังมากขึ้นเรื่อยๆ หลังผ่านมา 3 สัปดาห์ ยังไม่มีวี่แววว่า กกต.จะเริ่มรับรองผลการเลือกตั้งเมื่อใด

อย่างไรก็ตาม มีกระแสข่าวว่า กกต.จะเริ่มทยอยประกาศรับรองผลการเลือกตั้งในช่วงสัปดาห์หน้าเป็นต้นไป โดยอาจเริ่มจากรับรอง ส.ส.บัญชีรายชื่อก่อน และน่าจะทยอยรับรอง จนมี ส.ส.ครบตามจำนวน คือร้อยละ 95 หรือ 475 คน จนเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ภายในไม่เกินสิ้นเดือนนี้ หรืออย่างช้าต้นเดือน ก.ค.

และนอกจากเรื่องการรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.แล้ว อีกประเด็นที่คนทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่แวดวงการเมือง จับตามองก็คือ การพิจารณาเรื่องคำร้องคดีถือหุ้นสื่อบริษัทไอทีวี ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่าสุดท้ายแล้ว กกต.จะมีมติในเรื่องดังกล่าวออกมาเมื่อใด หลังสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะทำงานของ กกต.ที่พิจารณาเรื่องดังกล่าว ได้เริ่มขยับแล้วด้วยการเรียกผู้ร้องทั้ง เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ-ศรีสุวรรณ จรรยา ไปให้ข้อมูลเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม ประเมินสถานการณ์แล้ว คาดการณ์กันว่า กกต.น่าจะรับรองให้พิธา เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ไปก่อน จากนั้นถึงค่อยมาพิจารณาคำร้องคดีหุ้นสื่อของพิธา ว่าจะเอาอย่างไรในภายหลัง

ท่ามกลางการคาดหมายทางการเมืองที่ว่า หากดูจากลักษณะการทำงานของ กกต.ชุดปัจจุบัน โดยเฉพาะในคำร้องเรื่องให้ กกต.ตรวจสอบนักการเมือง-ส.ส.ถือหุ้นสื่อ จะพบว่าที่ไปร้อง กกต.พบว่า เกือบทั้งหมด กกต.ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีหุ้นสื่อของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือคำร้องคดีหุ้นสื่อของ ส.ส.ในสมัยที่แล้ว รวม 64 คน ที่มีทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล โดย กกต.ก็ส่งไปให้ศาลวินิจฉัยเช่นกัน

ทำให้คาดกันว่า คำร้องคดีหุ้นสื่อของพิธา ทาง กกต.ก็คงส่งไปศาลรัฐธรรมนูญเช่นกัน หากไม่ส่งหรือว่ายุติเรื่อง ถือว่าพลิกล็อกมาก

ส่วนว่าเรื่องนี้ กกต.จะพิจารณาแล้วเสร็จเมื่อใด ล่าสุด อิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวถึงความคืบหน้าในเรื่องนี้ว่า “อยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานจาก กกต. ซึ่งจะเข้าสู่การพิจารณาของ กกต.ในไม่ช้านี้ คดีหุ้นทุกคดีจะขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง พยานหลักฐานที่นำเสนอต่อเรา เราจะพิจารณาตัดสินไปตามหลักฐานที่มี ถ้าเห็นว่าพยานหลักฐานไม่พอก็ขอให้สอบเพิ่มหรือศึกษาเพิ่มได้”

นั่นคือท่าทีของประธาน กกต. ที่จะพบว่าพยายามให้สัมภาษณ์ถึงรูปคดีอย่างรัดกุม เพราะที่ผ่านมาก็จะพบว่า กกต.ชุดปัจจุบันมีปัญหากับ พรรคส้ม มาตั้งแต่ยุค พรรคอนาคตใหม่ ทั้งคดีหุ้นสื่อของธนาธรและคดียุบพรรคอนาคตใหม่ กรณีเงินกู้ 191 ล้านบาท

จนที่ผ่านมาเกิดการกระทบกระทั่งทางการเมืองระหว่างฝ่าย กกต.กับฝ่ายพรรคส้มมาตลอด ถึงขั้นธนาธรและพรรคอนาคตใหม่เคยยื่นฟ้อง อิทธิพรและ กกต. ต่อศาลศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง หลัง กกต.มีมติให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ และส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ แต่ศาลอาญาคดีทุจริตฯ มีคำตัดสินให้ยกฟ้อง

ด้วยเหตุนี้แม้คนจะมองว่า ยังไงคดีพิธา สุดท้ายทาง กกต.คงส่งคำร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ฝ่าย กกต.ก็ต้องพยายามวางตัวให้ดูว่ามีความเป็นกลาง เพื่อไม่ให้ถูกมองว่ามีธงในการเล่นงานพรรคก้าวไกลและสกัดพิธาไม่ให้เป็นนายกฯ หรือหากได้รับเลือกเข้าไปเป็นนายกฯ ก็ต้องหลุดจากตำแหน่งจากคดีหุ้นสื่อ แต่แม้จะพยายามอย่างไร สุดท้ายหาก กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ยังไง กกต.ก็ต้องโดน ด้อมส้ม ถล่มอย่างหนักแน่นอน

ด้วยเหตุนี้ เชื่อว่า พิธา-พรรคก้าวไกล คงมองข้ามช็อตไปแล้วสำหรับการสู้คดีเพื่อให้พิธารอดพ้นคดีหุ้นสื่อ

 เพราะหากพิธาไม่รอด ก็หมายถึงพิธาก็ต้องหลุดจาก ส.ส. และหากพิธาเกิดพลิกล็อกทางการเมือง ได้รับเสียงโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรี จากที่ประชุมร่วมรัฐสภาเกิน 376 เสียง จนได้เป็นนายกฯ แม้หลายคนจะเชื่อว่าจะมีสมาชิกวุฒิสภาโหวตให้จำนวนไม่มาก จนได้เสียงไม่ถึง แต่ถ้าเกิดพลิกล็อกขึ้นมา พิธา ได้เป็นนายกฯ แต่หากไม่รอดในคดีหุ้นสื่อ ก็หมายถึงพิธาจะต้องหลุดจากนายกฯ ด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 และ 160 อย่างไรก็ตาม หากสุดท้ายพิธาไม่ได้รับเสียงโหวตให้เป็นนายกฯ เป็นแค่ ส.ส.บัญชีรายชื่อธรรมดา แต่ด้วยความที่เป็นหัวหน้าพรรค และพิธาคือจุดขายสำคัญของพรรคก้าวไกลในยามนี้ ดังนั้นยังไงฝ่ายก้าวไกลก็ต้องสู้เต็มที่เพื่อให้พิธาคือผู้ชนะคดีในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ

ยิ่งหากคำร้องของ กกต.เอาด้วยกับที่ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ขอให้ กกต.วินิจฉัยกรณีพิธาที่เป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล แล้วถือหุ้นสื่อ อันเป็นการทำผิดข้อบังคับพรรคก้าวไกล แล้วตัวพิธาไปเซ็นรับรองผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคก้าวไกลทั้งระบบเขตและบัญชีรายชื่อ จึงน่าจะมีผลทำให้ผู้ชนะการเลือกตั้ง ส.ส.ระบบเขตของก้าวไกล 112 คน และคะแนน 14 ล้านเสียงของก้าวไกลในระบบบัญชีรายชื่อที่ทำให้ ก้าวไกลได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 39 คน เป็นโมฆะ

ซึ่งหาก กกต.เกิดรับลูกของเรืองไกร แล้วเขียนประเด็นดังกล่าวใส่เข้าไปในคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วย แบบนี้ ก็เป็น เดิมพันการเมืองนัดสำคัญ ของพรรคก้าวไกลในการสู้คดี เพราะมันไม่ใช่แค่ว่า ถ้าพิธาแพ้คดีแล้วหลุดจาก ส.ส.เท่านั้น แต่หมายถึงหากพิธาไม่รอดแล้วต้องมีการเลือกตั้งซ่อมใหม่ ที่ก็ยังไม่ชัดว่าก้าวไกลจะสามารถส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งได้หรือไม่ เพราะมีความเห็นทางข้อกฎหมายจากบางฝ่ายว่าอาจทำไม่ได้ แต่หากก้าวไกลส่งคนลงเลือกตั้งซ่อมได้ ก็คาดว่ายังไง 112 เขต ก้าวไกลก็น่าจะชนะกลับมาได้เกือบหมด และเผลอๆ คะแนนจะมากกว่าตอนเลือกตั้งปกติอีกก็ได้ แต่ที่จะกระทบกับก้าวไกลมากก็คือ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่จะหายไป 39 เสียง ที่จะทำให้ก้าวไกลสูญเสียการเป็นพรรคที่มีเสียงอันดับ 1 จนทำให้เพื่อไทยอาจพลิกขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทนทันที

โดยหาก กกต.ส่งประเด็นดังกล่าว ที่เรืองไกรส่งเข้ามา ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วย มันก็เป็นศึกหนักของก้าวไกล ที่จะ "แพ้ไม่ได้" ต้องสู้ให้ชนะสถานเดียว

ดังนั้นเส้นทางสู้คดีของพิธา ประเมินทางการเมืองไว้ว่า ฝ่ายก้าวไกลย่อมประเมินออกว่า กกต.คงส่งคำร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน ดังนั้นเป้าหมายการต่อสู้คดี จึงไม่ได้มองแค่ที่ต้องเตรียมเอกสารข้อมูลต่างๆ ให้พิธาเตรียมไปชี้แจงต่อ กกต.เท่านั้น แต่ต้องมองไปถึงการสู้คดีในชั้น ศาลรัฐธรรมนูญ ไปแล้วว่า จะตั้งหลักสู้อย่างไร เพื่อไม่ให้พิธาแพ้คดี

โดยคาดว่าฝ่ายก้าวไกลคงจะเซตทีมกฎหมาย-ทีมทนายความ มือดี ทั้งที่เป็นว่าที่ ส.ส.ก้าวไกลและไม่ได้เป็น มาช่วยสู้คดีให้กับพิธา ที่นอกเหนือจากแค่ฝ่ายกฎหมายปกติของพรรคก้าวไกลเท่านั้น โดยอาจจะดึงคนนอกที่เคยเป็นทนายความให้กับแกนนำพรรคมาก่อนหน้านี้ มาช่วยสู้คดีให้ด้วย เช่น กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความส่วนตัวของธนาธร และเป็นทนายตัวหลักให้กับแกนนำม็อบสามนิ้วในช่วงที่ผ่านมา เป็นต้น รวมถึงอาจจะดึงนักวิชาการที่เชี่ยวชาญเรื่องการประกอบธุรกิจสื่อ-เรื่องหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีความเห็นในเชิงบวกกับพิธา มาช่วยทำข้อมูลสู้คดีให้ด้วย พ่วงกับการส่งชื่อให้เป็นพยานบุคคลเพื่อให้ศาลเรียกไปเบิกความหรือให้ศาลทำหนังสือขอความเห็น เพื่อเพิ่มน้ำหนักการสู้คดีให้กับพิธา

เพราะเมื่อเป็นเดิมพันสูงทั้งกับพิธาและก้าวไกล การเดินหมากสู้คดี ทั้งในชั้น กกต.และศาลรัฐธรรมนูญ นับจากนี้จึงต้องรัดกุม ไม่ให้มีช่องโหว่ เพื่อปิดโอกาสแพ้นั่นเอง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

7 เดือน ‘รัฐบาลเศรษฐา’ เผชิญแรงบีบรอบด้าน!

แม้จะยังไม่ผ่านโค้งแรกในการบริหารประเทศของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เริ่มต้นทำงานได้เพียง 7 เดือน แต่ก็เหมือนถูกบีบจากสถานการณ์รอบด้าน ที่เข้ามาท้าทายความสามารถของผู้นำประเทศ อีกทั้งยังมีภาพนายกฯ ทับซ้อนที่ทำให้นายกฯ นิดดูดร็อปลงไป

'ทักษิณ' เอฟเฟกต์! ส่อทำการเมืองไทยวนลูปเดิม

ช่วงที่ผ่านมาแม้จะมีประเด็นข่าวร้อนแรงมากมายแค่ไหน แต่มีบุคคลหนึ่งที่ถ้าอยู่ในหน้าข่าวเมื่อไหร่ มักจะสร้างประเด็นดรามาที่ต้องพูดถึงไม่หยุดกับพ่อใหญ่แห่งพรรคเพื่อไทย ทักษิณ ชินวัตร

สว.2567 เสี่ยงได้ วุฒิสภา สายพรรคการเมือง เชื่อมโยงผู้มีอิทธิพลในพื้นที่

เข้าสู่ช่วงเตรียมนับถอยหลังใกล้โบกมือลา สิ้นสุดการทำหน้าที่ของ สมาชิกวุฒิสภา ชุดปัจจุบันจำนวน 250 คน ที่จะหมดวาระลงในวันที่ 10 พ.ค. แต่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมี สว.ชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่

หาก ‘ไผ่’ วืด ‘เบนซ์’ เต็งหนึ่งรมต. เสียบแทน ‘โควตากลาง’ พปชร.

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ มั่นใจว่าคุณสมบัติของ นายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร และกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ยังนั่งเป็นรัฐมนตรีได้ แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติไม่รับคำร้อง กรณีนายไผ่ขอร้องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ถูก 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน ละเมิดจนไม่สามารถเป็นรัฐมนตรีได้ กรณีระบุว่า ขาดคุณสมบัติ

ครม.เศรษฐา 2 ทักษิณเคาะโผ ฉากทัศน์กองทัพยุค "บิ๊กนิด"

ชัดเจนแล้วว่า ครม.เศรษฐา 2 ที่จะเป็นการปรับ ครม.ครั้งแรกของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จะเกิดขึ้นแน่นอน โดยคาดว่า อาจจะเกิดขึ้นภายในปลายเมษายนนี้ หรือช้าสุดไม่เกินกลางเดือน พ.ค. เว้นแต่มีสถานการณ์แทรกซ้อนทำให้การปรับ ครม.อาจขยับออกไปได้