จบศึกชิงเก้าอี้ปธ.สภาฯ แมตช์หน้า'พิธา'ลุ้นโหวตนายกฯ

หลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันอังคารที่ 4 ก.ค. ให้ความเห็นชอบ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ เป็นประธานสภาฯ ที่จะเป็นประธานรัฐสภาโดยตำแหน่งไปแบบม้วนเดียวจบ ไร้คู่แข่ง ทำให้ไม่ต้องมีการโหวตลงมติ  

สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ก็คือ กระบวนการนำชื่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ขึ้นทูลเกล้าฯ และรอการโปรดเกล้าฯ ลงมา ถึงจะทำให้เป็นประธานสภาฯ อย่างเป็นทางการ ที่จะเป็นการรับตำแหน่งสมัยที่สอง

การขึ้นเป็นประธานสภาฯ ของวันมูหะมัดนอร์ มะทา ทำให้หลังจากนี้จะต้องลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาชาติ เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่า ไม่ให้ประธานสภาฯ-รองประธานสภาฯ มีตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคการเมือง แต่วันมูหะมัดนอร์ มะทา ก็จะยังเป็นเสาหลักของพรรคประชาชาติต่อไป และหลังจากนี้ ชื่อของเขาจะถูกจารึกและถูกพูดถึงทางการเมืองไปอีกหลายสิบปี กับการเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีเสียง ส.ส.ในสภาแค่ 9 ที่นั่ง และเป็นพรรคที่มี ส.ส.เป็นลำดับที่ 8 ในสภา แต่หัวหน้าพรรคได้เก้าอี้ประมุขนิติบัญญัติ 

ที่จะเรียกได้ว่า ส้มหล่น ก็คงไม่ผิดนัก ซึ่งทั้งหมดเป็นผลพวงจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างพรรคก้าวไกลกับเพื่อไทย ที่เปิดศึกแย่งเก้าอี้ประธานสภาฯ กันมาหลายสัปดาห์ จนหาข้อสรุปไม่ได้ เพราะทั้งสองพรรคต่างไม่มีใครยอมให้แก่กัน

จนสุดท้าย เพื่อไทยที่ถือไพ่ทางการเมืองเหนือกว่าพรรคก้าวไกล เพราะด้วยจำนวนเสียงที่น้อยกว่าก้าวไกลแค่สิบที่นั่ง และสามารถแยกตัวออกไปตั้งรัฐบาลกับพรรคการเมืองอื่น โดยถีบพรรคก้าวไกลออกจากการตั้งรัฐบาลได้ ผสมกับความเก๋าเกมทางการเมืองที่เหนือกว่าพรรคก้าวไกลหลายเท่า ทางเพื่อไทยเลยใช้วิธีหักคอก้าวไกลด้วยการดันวันนอร์ ที่ก็คือคนในเครือข่ายของเพื่อไทยมาก่อน ขึ้นเป็นประธานสภาฯ ชนิดพรรคส้มได้แต่กล้ำกลืนทางการเมือง เพราะหัวหน้าพรรค พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อยากเป็นนายกฯ และแกนนำพรรคก้าวไกลอยากเป็นรัฐมนตรี เลยยอมก้มหัวให้เพื่อไทยอย่างที่เห็น

ชนิดทำเอาแฟนคลับก้าวไกลหลายคนบ่นผิดหวังไปตามๆ กัน บางรายถึงกับบอกให้ก้าวไกลถอนตัวรอไปเป็นฝ่ายค้าน และรอการกลับมาในการเลือกตั้งรอบหน้า เพราะไม่แน่ เลือกตั้งรอบหน้า ก้าวไกลอาจได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง 250 เสียงก็ได้

ทว่าของแบบนี้ พิธาและแกนนำก้าวไกลไม่รับฟังแน่นอน เพราะการเมืองไม่มีอะไรแน่นอน ใครจะไปรู้ได้ ไม่แน่เลือกตั้งรอบหน้า ก้าวไกลอาจได้ ส.ส.ไม่เยอะเหมือนรอบนี้ก็ได้ ยังไงก็ต้องเอาความชัวร์ไว้ก่อน ก็เลยยอมให้เพื่อไทยขี่คออย่างที่เห็น   

อย่างไรก็ตาม เมื่อจบศึกชิงเก้าอี้ประธานสภาฯ แล้ว แมตช์การเมืองนัดสำคัญนัดต่อไปที่รออยู่ก็คือ การนัดประชุมร่วมรัฐสภาระหว่าง ส.ส.และสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. รวม 750 คน เพื่อลงมติเลือกหรือเห็นชอบบุคคลให้เป็นนายกรัฐมนตรี

ที่คาดว่า นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หลังได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นประธานสภาฯ ที่คงอีกไม่นานนับจากนี้ ก็จะนัดประชุมร่วมรัฐสภาในช่วงจังหวะที่เหมาะสม ด้วยการฟังสัญญาณจากแกนนำแปดพรรคตั้งรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล ว่าพร้อมหรือยังสำหรับการดันพิธาให้เข้าสู่การโหวตของที่ประชุม

โดยหากพร้อม คาดหมายกันว่าอาจจะมีการนัดประชุมรัฐสภาวันที่ 14 ก.ค. ตามที่พิธาบอกไว้ก่อนหน้านี้ แต่ก็อาจเร็วกว่าหรือช้ากว่านั้นก็ได้ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับกระบวนการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานสภาฯ และความพร้อมของก้าวไกลและพิธา ว่ามั่นใจในเสียงโหวตหรือยังว่าจะถึง 376 เสียง

ที่หากพร้อม ก้าวไกลคงขอลุย วัดใจกันไปเลย ให้มันรู้ พิธาจะฝ่าด่านสภาสูงไปได้หรือไม่ 

ซึ่งปัจจุบัน 8 พรรคการเมืองตั้งรัฐบาลมีเสียงอยู่ที่ 312 เสียง และต้องตัดไปอีกหนึ่งเสียงจากประธานรัฐสภา ที่ตามหลักจะงดออกเสียง ทำให้เหลือ 311 เสียง 

หากก้าวไกลไม่สามารถดึงเสียง ส.ส.จากพรรคอื่น นอกจากแปดพรรคตั้งรัฐบาลมาเติมได้ เท่ากับว่าพิธาต้องหวังพึ่งเสียง ส.ว.อีกร่วม 65 เสียง ถึงจะได้ 376 เสียง ตัวพิธาจึงจะได้เป็นนายกฯ คนที่ 30 

ท่ามกลางแรงต้านพิธาและก้าวไกลจากสภาสูง ที่จับกระแสแล้วพบว่าแรงต้านจาก ส.ว.ยังแรงไม่น้อย จากปัจจัยต่างๆ ที่ ส.ว.หลายคนไม่ยอมรับในตัวพิธาและก้าวไกล

อาทิ เรื่องแนวคิดทางการเมืองของพรรค เช่น การยืนยันจะเสนอแก้ไขมาตรา 112 ที่เพื่อไทยก็ยังไม่มีทีท่าจะลดราวาศอกหรือยอมลดเพดานในเรื่องนี้ หรือนโยบายปฏิรูปกองทัพและการเลือกตั้งผู้ว่าฯ โดยตรง ที่ ส.ว.มองว่าบางเรื่องเข้าข่ายเป็นการลดพระราชอำนาจ

ตลอดจนข้อเป็นห่วงของ ส.ว.หลายคนเกี่ยวกับการที่คนในเครือข่ายพรรคก้าวไกลเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับเหตุร้อนๆ ทางการเมือง เช่น กรณี หยก เยาวชนนักเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือการจัดกิจกรรมของนักศึกษาเรื่องการแยกจังหวัดปัตตานีที่เชื่อมถึงเครือข่ายก้าวไกล 

หรือแนวคิดการเสนอให้เปลี่ยนแปลงวันชาติ จาก 5 ธันวาคม เป็น 24 มิถุนายน ที่เป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง แม้คนในพรรคจะบอกว่าเป็นความเห็นส่วนตัวของรังสิมันต์ โรม ไม่ใช่จุดยืนของพรรคก็ตาม

ตลอดจนข้อกังขาเรื่องคุณสมบัติของพิธา ที่ถูก กกต.ไต่สวนเรื่องหุ้นไอทีวี เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดพิธาให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 4 ก.ค. แสดงความมั่นใจว่าตอนนี้มีเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.มากขึ้นเรื่อยๆ และการที่ก้าวไกลถอยเรื่องประธานสภาฯ แสดงให้เห็นถึง "การรุกได้ ถอยเป็น" ที่เป็นการส่งสัญญาณให้ ส.ว.ได้เห็น

แต่เรื่องนี้สวนทางกับ ประพันธ์ คูณมี ส.ว.คนดัง ที่ระบุว่า จากการพูดคุยกับเพื่อน ส.ว. ยืนยันได้ว่า ส.ว.จำนวนมากจะไม่โหวตให้พิธา จนทำให้พิธาได้เสียงไม่ถึง 376 ทำให้วืดเก้าอี้นายกฯ 

ประพันธ์ บอกด้วยว่า มีกระแสข่าวในสภาสูงว่ามีความพยายามที่จะใช้เงินไปซื้อเสียง ส.ว. ซึ่ง ส.ว.ด้วยกันเอง รวมถึงฝ่ายข่าวและฝ่ายความมั่นคงกำลังติดตามอยู่ โดยเฉพาะ ส.ว.ที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย มีใครบ้าง มีการมาร์กตัวเป็นรายบุคคล

ท่ามกลางกระแสข่าวที่ลือกันไปว่า ข่าวลือดังกล่าวมี เจ้าสัว ถูกโยงเข้ามา

จบศึกชิงเก้าอี้ประธานสภาฯ ไปแล้ว รอบหน้าถึงฉากไคลแมกซ์กับการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อลงมติโหวตนายกฯ

ที่บอกได้เลยว่า มันส์-ระทึก-เข้มข้น กว่าศึกชิงประธานสภาฯ หลายเท่า 

เพราะรอบนี้ด้อมส้ม-แฟนคลับก้าวไกล 14 ล้านเสียง รอจะฮึ่มๆ กันแล้ว หากพิธาวืดนายกฯ!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เศรษฐา1/1เร่งเครื่อง ปม'พิชิต'ทำติดหล่ม หวังศาลรธน.เคลียร์จบ

ครม.เศรษฐา 1/1 หลังจากนี้ก็สามารถเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นทางการ หลังเมื่อวันศุกร์ที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นำ รมต.ที่ได้รับการแต่งตั้ง ที่มีทั้งรัฐมนตรีหน้าใหม่

พิสูจน์ฝีมือ ‘ครม.เศรษฐา2’ ปรับทัพใหม่ รอดหรือร่วง?

หลังปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เรียบร้อย โดยมีรัฐมนตรีเข้าใหม่ 7 คน และออก 4 คน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ กว่าจะได้คนที่ถูกฝาถูกตัว ก็ต้องมีทั้งคนที่พอใจและไม่พอใจเป็นธรรมดา

คณะสอบวินัย"บิ๊กโจ๊ก"ส่อเค้าวุ่นไม่จบ “สราวุฒิ”จ่อเกษียณโยนเผือกร้อนสีกากี

สู้กันทุกกระบวนท่าเต็มสรรพกำลังอภิมหาศึก “สีกากี” สำนักงานตำรวจแห่งชาติ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.ที่ถูกคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนพัวพันคดีเว็บพนันออนไลน์ ระบุว่า “การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

จับตาระเบียบใหม่ กกต. สกัดฮั้วเลือก 'สว.'

เตรียมนับถอยหลังปิดฉากสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดบทเฉพาะกาลที่จะหมดวาระลงในวันที่ 3 พ.ค. 2567 แต่จะยังคงรักษาการจนกว่าจะมีวุฒิสภาชุดใหม่เข้ามาดำรงตำแหน่ง หากดูตามไทม์ไลน์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

จากวังสราญรมย์ถึงตึกไทยคู่ฟ้า “ทูตปู”เลขาฯส่วนตัวทักษิณ สู่ตัวเต็งรมว.ต่างปท.คนใหม่

ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้ารัฐบาล และเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ใช้เวลาแค่หนึ่งคืนก็เคาะออกมาแล้วว่าจะดัน ทูตปู มาริษ เสงี่ยมพงษ์ อดีตทีมงานหน้าห้อง นายกรัฐมนตรี ตึกไทยคู่ฟ้า สมัยทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

'เศรษฐา1/1'เศรษฐกิจ-การเมืองนำ เว้นระยะ'ความมั่นคง-กองทัพ'

โฉมหน้า “คณะรัฐมนตรีเศรษฐา 1/1” ที่ออกมา นอกจากจะเป็นการสับเปลี่ยนหมุนเวียนตัวบุคคลของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว เป้าหมายที่ฉายภาพชัดต่อทิศทางการบริหารงานของรัฐบาล